Wednesday, June 25, 2014

อียิปต์โมเดลที่เป็นจริง



เพียงชั่วข้ามคืนหลังจากที่นายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแถลงข่าวในกรุงไคโรว่าอเมริกาพร้อมที่จะกลับไปอุดหนุนอียิปต์ทางการทหารปีละ ๑,๓๐๐ ล้านดอลลาร์ใหม่ รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันก็จำต้องออกแถลงการณ์อีก เพื่อแสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่งยวด (deep concerns) กับการที่ศาลอียิปต์ตัดสินจำคุกผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่า ๓ คนในความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกับขบวนการภราดรภาพมุสลิม

นายแคร์รี่พลิกผันกลับลำมาตรการงดความช่วยเหลือทางทหารเพื่อลงโทษต่อการที่คณะทหารอียิปต์ทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนายโมฮาเม็ด มอร์ซี ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการภราดรภาพมุสลิมอียิปต์ ไม้เบื่อไม้เมายาวนานของฝ่ายทหาร

เพราะหมายให้คณะทหารอียิปต์มาเข้าแถวร่วมสกัดกั้นสถานการณ์คับขันในอิรัก ที่กองกำลังติดอาวุธ ไอซิส ของขบวนการมุสลิมซันนี่สามารถยึดพื้นที่รุกคืบเข้าไปใกล้กรุงแบกแดดเต็มทีแล้ว

นายแคร์รี่แวะพบนายพลอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี ประธานาธิบดีคนใหม่ของอียิปต์ระหว่างเดินทางไปอิรัก แล้วเปิดแถลงข่าวหลังเสร็จจากการสนทนา ๙๐ นาฑี ว่าสหรัฐพร้อมที่จะกลับมาให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลใหม่อียิปต์ โดยจะเริ่มจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารงวดแรก ๖๕๐ ล้านเหรียญ อันรวมถึงเครื่องบินเฮลิค้อปเตอร์จู่โจมแบบอะปาเช่ ๑๐ ลำไปให้อียิปต์ในเร็วๆ นี้

แม้จะยอมรับว่านายพลเอล-ซิซีเพิ่งเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยคะแนนท่วมท้นเกือบ ๙๗ เปอร์เซ็นต์ของตัวเลขผู้ไปใช้สิทธิ ๒๕ ล้านคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐก็ยังไม่วายกล่าวถึงคำมั่นของผู้นำอียิปต์ในอันที่จะ “กลับไปพิจารณาตรวจสอบตัวบทกฏหมายเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งย่อมรวมถึงการตัดสินลงโทษประหารชีวิตสมาชิกภราดรภาพมุสลิม ๑๘๓ คน เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายนนี้เองด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้เพราะผลจากการที่นายพลเอลซิซีและคณะทหารทำการยึดอำนาจทางการเมืองแล้วกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งตรากฏหมายกำหนดให้ขบวนการมุสลิมเป็นองค์กรก่อการร้ายนอกกฏหมาย ทำให้มีสมาชิกภราดรภาพมุสลิมถูกกำจัดเสียชีวิตไปพันกว่าราย อีกทั้งไม่สามารถเข้าแข่งขันรับเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้ จึงปรากฏว่าคนไปใช้สิทธิโหรงเหรงตามสังเกตุการณ์ขององค์กรนานาชาติ

แต่คณะทหารก็สามารถทำให้จำนวนผู้ใช้สิทธิมีถึง ๔๗ เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่ประกาศอย่างกระทันหันในวันที่สองของการเลือกตั้งยืดเวลาลงคะแนนออกไปอีกหนึ่งวัน อันเป็นที่วิจารณ์ทั่วไปในกระแสสื่อตะวันตกว่าเพราะคณะทหารต้องการให้ปรากฏปริมาณความชอบธรรมจำนวนมาก ต่อการเลือกตั้งที่เป็นเสมือนตรายางรับรองความเป็นผู้นำในตำแหน่งประธานาธิบดีของนายพลเอล-ซิซี หัวหน้าคณะรัฐประหารนั้นเอง

นายพลซิซีซึ่งในอดีตเป็นผู้นำทหารฝ่ายเสนาธิการและด้านข่าวกรอง มาถึงจุดนี้ในวิถีการเมืองจากการที่เป็นหนึ่งในกลุ่มนายทหารซึ่งแอบวางแผนกำจัดประธานาธิบดีมูบารัค ด้วยการแปรพักตร์ไปยืนข้างประชาชนในช่วงที่อาหรับสปริงกำลังเบ่งบานเมื่อสามปีที่แล้ว

จากนั้นนายพลซิซีรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาลมอร์ซีอย่างเงียบขลึม แต่เบื้องลึกเขาทำการชักใยและจัดฉากให้ชนชั้นกลาง ปัญญาชน และกลุ่มประชาชนหัวสมัยใหม่ประท้วงต่อต้านรัฐบาลมอร์ซี สร้างภาพการเมืองอันร้อนแรงเดือดพล่าน เปิดทางให้คณะทหารเข้ายึดอำนาจ จนเป็น โมเดลให้ทหารไทยได้เอาอย่าง

ประเด็นนี้เป็นที่ยืนยันได้จากกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำการประท้วงต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ (Shutdown Bangkok) อันยืดเยื้อกว่าหกเดือน บังเอิญไปคุยโวว่ารู้เห็นกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา วางแผนทำรัฐประหารมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ แม้นว่าคณะรัฐประหารไทย (ในนาม คสช.) จะออกมาปฏิเสธอย่างทันควันก็ตามที

ลองมาดูความเป็นไปในอียิปต์กันต่ออีกหน่อย ว่าจะเป็นโมเดลให้แก่รัฐไทยในยุคประหาร การเมืองได้อย่างไร หลังจากที่หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติของไทยแสดงอากัปอาการอันแสนจะเด็ดขาดกับผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามว่าท่านต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตนเองหรือไม่ จากนั้นก็ได้มีการออกคำสั่ง คสช. ห้ามนักข่าวไม่ให้ตั้งคำถามอย่างนั้นอีก

ในการแถลงข่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ในชุดขาวเต็มยศ ที่เขายุติกลางคันแล้วเดินลงจากโพเดี้ยมไปเมื่อนักข่าวเซ้าซี้อยากรู้กำหนดแน่นอนว่าเขาจะคืนอำนาจแก่ประชาชน ยอมให้มีการเลือกตั้งเมื่อไร เขาได้กล่าวบรรยายสรรพคุณของการยึดอำนาจโดยทหารว่า เขาแสดงบทบาทของพ่อที่มีความห่วงใยต่อลูกๆ พวกสีต่างๆ ทางการเมืองที่กำลังทะเลาะเบาะแว้ง ด้วยการส่งไปเข้ามุม 'สงบจิตสงบใจ'

เขาพูดถึงศักดิ์ศรีของตนเองและสถาบันทหารอย่างละม้ายคล้ายกันกับเมื่อนายพลอัล-ซิซีของอียิปต์พูดไว้ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน

ตามรายละเอียดคำพูดของนายพลอัล-ซิซีต่อบรรดานายทหารและผู้สนับสนุนทางการเมืองสายเอกชนของตนเมื่อเดือนธันวาคมหลังจากยึดอำนาจเมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งปกปิดเป็นความลับเพิ่งรั่วออกมาไม่นานนี้ เขากล่าวถึงศักดิ์ศรีส่วนบุคคลของตนเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีว่า จะไม่ยอมรับการวิพากษ์ที่ก้าวร้าวใดๆ เขาถือว่านั่นเป็นการจ้วงจาบส่วนตัวที่ต้องถูกดำเนินคดี อันจะถือเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างหนึ่งของการแสดงความเห็นทางการเมืองในรัฐสมัยของเขา

ในอุดมการณ์การเมืองของซิซีนั้นถือว่า รัฐ มีความสำคัญเหนือกว่าประชาชนอย่างสิ้นเชิง แม้แต่เสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างก็มิอาจเผยอหน้าได้ เขาบอกว่า “ใครก็ตามที่คิดแย้ง ต้องถูกถือว่ามีเจตนาล้มล้างรัฐ” ขณะที่หัวหน้าคณะรัฐประหารไทยใช้อ้างอย่างเป็นรูปธรรมด้วยสถาบันกษัตริย์

ซิซีมองตนเองในฐานะผู้นำฝ่ายทหารที่จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีหลังเลือกตั้ง ว่าดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมสูงส่งประดุจบิดาของประชาชน ผู้มีพันธะรับผิดชอบต่อการชี้ช่องทางและแก้ไขความผิดพลาดต่างๆ ของบ้านเมือง ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องใช้ไม้แข็งเข้าจัดการ

ดังเช่นมาตรการหนึ่งที่เขาระบุว่าจะดำเนินการทันทีภายใต้อำนาจในตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื้อรังในอียิปต์เรื่องพลังงานขาดแคลนก็คือ จะสั่งให้ประชาชนทุกครัวเรือนเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟแบบประหยัดพลังงาน “ข้าพเจ้าไม่ยอมปล่อยให้ประชาชนทำกันตามใจหรอก” แม้ต้องถึงกับส่งเจ้าหน้าที่รัฐออกไปทำการหมุนใส่หลอดไฟชนิดใหม่ให้ทุกบ้านก็จะทำ

ในภาวะการณ์ที่เศรษฐกิจของอียิปต์ถดถอยไม่เป็นท่า นโยบายเกื้อหนุนผู้บริโภคพลังงานทำให้การคลังใกล้ล้มละลาย โชคดีที่อียิปต์ยุคคล้อยหลังอาหรับสปริงได้รับเงินสนับสนุนจากประมุขราชาธิปไตยในอ่าวเปอร์เซีย เช่นกษัตริย์แห่งซาอุดิอาราเบีย ซึ่งต้องการให้กำจัด บราเธอร์ฮู้ด อย่างสิ้นซาก และจะไม่มีอาหรับสปริงเกิดขึ้นได้อีก ถึงขณะนี้วงเงินช่วยเหลือหมดไปแล้ว ๒๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หนทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในความคิดของประธานาธิบดีคนใหม่อยู่ที่ ทุกคนต้องขยันหมั่นเพียรทำการงาน “ข้าพเจ้าจะทำงานหามรุ่งหามค่ำ พวกท่านก็ต้องทำอย่างนั้นเหมือนกัน” นายพลซิซีกล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ตอนหนึ่ง “เราต้องมุ่งมั่นกันอย่างไม่ต้องพัก”

จะเป็นการบังเอิญหรืออย่างไรก็สุดแท้แต่ การตอกกลับผู้สื่อข่าวที่ตั้งคำถามซึ่งเขาไม่พอใจด้วยการขึ้นเสียงดัง วาจากร้าว หลุดออกมาจากปากนายพลทหารบกที่พวกผู้สนับสนุนยกย่องให้เป็นวีรบุรุษประดุจนาวารัฐบุรุษ ในเนื้อเพลงใหม่ชื่นชมหัวหน้า คสช. ของนายยืนยง โอภากุล ละก็ อัล-ซิซีได้ทำมาแล้ว

ทั้งๆ ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เวลาเขาพูดปราศรัยในที่สาธารณะมักจะยกเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เขามักอ้างว่าประชาชนมอบหมายให้เขาเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง เขาถึงกับใช้วลีโรแมนติกที่ว่าประชาชนอียิปต์นั้นเป็น “แสงสว่างในดวงตาของข้าพเจ้า” นั่นเลยทีเดียว

ส่วนแนวทางในการปกครองประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารไทยที่มีคำสั่งและเอกสารออกมาแล้วใกล้ร้อยฉบับ โดยเฉพาะในส่วนที่จะทำการปฏิรูปก่อนจะนำไปสู่การเลือกตั้งซึ่งกำหนดเป็นโร้ดแม้พว่าใช้เวลาราวๆ ๑๕ เดือนเพื่อไปสู่สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น

ศาสตราจารย์ ดันแคน แม็คคาร์โก แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ ลอนดอน และโคลัมเบีย นิวยอร์ค บอกว่าเหมือนแผนการยกเครื่องประเทศไทยของ กปปส. ไม่มีผิด

อีกทั้งตลอดเวลาหนึ่งเดือนหลังรัฐประหารปรากฏมีการทักท้วงจากองค์กรนานาชาติต่างๆ ต่อสิ่งที่ คสช. ปฏิบัติต่อผู้ที่เคยรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยในนามเสื้อแดง และไม่เห็นชอบกับการทำรัฐประหารจำนวนมาก ด้วยการเรียกไปรายงานตัว และ/หรือนำตัวไปควบคุมไว้โดยไม่แจ้งให้ครอบครัวและญาติของพวกเขาทราบ

ไม่ว่าจะเป็นคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เรื่องการควบคุมตัว และกักกันบุคคลตามอำเภอใจ หรือข้อเรียกร้องของฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ต่อกรณีการบุกเข้าจับกุมนักกิจกรรมเสื้อแดงอย่างน.ส.กริชสุดา คุณะเสน รายหนึ่ง นายสิงห์ทอง บัวชุ่ม อีกรายหนึ่ง แล้วปิดเงียบเป็นแรมเดือน แสดงถึงการปฏิบัติขัดแย้งต่อหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างจะแจ้ง ทั้งๆ ที่โฆษก คสช. มักกล่าวอ้างทางตรงข้ามอยู่เสมอ

เช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดกับสมาชิกภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์จากการกวาดล้างโดยคณะทหารตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา จนสถานการณ์ราบคาบ และนำมาสู่การเลือกตั้งประทับตรายางให้กับนายพลเอล-ซิซีในตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด

การเดินสายช่วงสัปดาห์นี้ของนางคริสตี้ เค็นนี่ย์ เอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เข้าพบระดับบัญชาการ คสช. บางคน รวมทั้งการเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งให้การสนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้อย่างแน่ชัด อาจถูกตีความว่าเป็นสัญญานการยอมอ่อนข้อของสหรัฐให้กับคณะรัฐประหารไทย เช่นเดียวกับที่คืนความไว้วางใจให้แก่คณะรัฐประหารอียิปต์ขณะนี้

และจะเป็นโมเดลให้กับการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างชอบธรรมของหัวหน้ารัฐประหารไทยในบั้นปลายนั้น ยังจะต้องมองถึงปัจจัยที่ผิดแผกกันในบางอย่าง ระหว่างสภาพการณ์ของการครองอำนาจรัฐประหารในประเทศไทยกับในอียิปต์ด้วยว่า

คณะทหารไทยกับอียิปต์แม้จะเป็นลูกหม้อสหรัฐมาเหมือนกัน แต่ว่าความผูกพันของอียิปต์แนบแน่นแม่นแฟ้นยิ่งกว่าไทยหลายเท่า การที่ระดับบัญชาการ คสช. ไปเยือนจีน แล้วได้รับการต้อนรับอย่างชื่นมื่น มิได้หมายถึงว่าสหรัฐจะต้องรีบมาเอาใจไทยจนเกินไป

การเดินสายของทูตคริสตี้น่าจะเป็นท่าทีในการตีตัวออกห่างเพื่อรักษาระยะเหมาะสม (Equidistance) ไว้กับคณะเสรีไทย (พลัดถิ่น) ที่เพิ่งประกาศก่อตั้งโดยนายจักรภพ เพ็ญแข และนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ เสียมากกว่า

คณะเสรีไทยใหม่นี่เองก็เป็นเครื่องชี้บ่งถึงความแตกต่างระหว่างสถานการณ์อียิปต์กับไทยในข้อที่ว่า ฝ่ายต่อต้านคณะทหารอียิปต์ซึ่งก็คือขบวนการภราดรภาพมุสลิมนั้นเป็นองค์กรติดอาวุธมาก่อน จึงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนโดยนานาชาติมากนัก ครั้นเมื่อถูกปราบปรามกวาดล้างหนักหน่วง ที่เหลืออยู่พากันลงใต้ดินอย่างเดิมเสียหมด ไม่อาจเป็นพลังทางเลือกการเมืองให้ชัดเจนได้

แต่ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารไทยได้ประกาศชัดแจ้งว่าจะเป็นองค์กรพลัดถิ่น ใช้วิธีกดดันทางการเมืองต่อสู้ในเวทีนานาชาติ และเชื่อว่าจะมีฐานดำเนินงานศูนย์กลางอยู่ในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะยุโรป หากเน้นเรื่องหลักการประชาธิปไตย ความเสมอภาคทางความคิด และสิทธิมนุษยชนอย่างเหนียวแน่น ก็จะเสาะหาการสนับสนุนในระดับสากลได้ไม่ยาก

จะทำให้คณะทหารไทยมีข้อจำกัดในการทำตามอำเภอใจได้ไม่เท่าทหารอียิปต์

ถ้อยแถลงของสมัชชากิจการระหว่างประเทศประชาคมยุโรปก็จัดว่าเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการใช้อียิปต์โมเดลรุ่นล่าสุดในไทย

มติสมัชชาประชาคมกล่าวว่า โร้ดแม็พคณะรัฐประหารไทยยังไม่ได้พิกัดที่จะนำไปสู่การปกครองด้วยระบบรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งยังไม่เห็นว่าคณะทหารละเว้นการจับกุมและควบคุมตัวประชาชนลงเลย เช่นนี้ทำให้อียูระงับการปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับประเทศไทยเอาไว้จนกว่าจะเห็นภาพชัดเจนของการปกครองที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และต่อนี้ไปสมาชิกประชาคมทั้งหมดกว่ายี่สิบประเทศจะคอยตรวจสอบท่าทีประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ

ข้อสรุปจึงลงได้ว่า แม้รัฐประหารไทยจะมีต้นตอและปลายทางที่ต่างกับอียิปต์ หากแต่สิ่งที่เป็นไปหลายอย่างก็คล้ายคลึงกัน จนพอที่จะเป็นเหตุก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนจำนวนมากที่ไม่คล้อยตามคณะทหาร ดังเช่นที่สมาชิกภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ต้องจำทนรับเคราะห์กรรมกันอยู่ทุกวันนี้

No comments:

Post a Comment