Friday, January 16, 2015

โศกนาฏกรรมชาร์ลี เอ็บโด สะท้อนอะไรในสังคมไทย



การออกมาชุมนุมของผู้คนจำนวนกว่าล้านกลางกรุงปารีสเมื่อวันอาทิตย์ที่สองของปีใหม่ ได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวางว่าเป็นการแสดงพลังอย่างเป็นประวัติการณ์ สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งที่โดยนัยยะข้างเคียงถือเป็นการรับรองจุดยืนของนิตยสารการ์ตูนชื่อดังในฝรั่งเศส (ซึ่งเพิ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกขณะนี้) ในอันที่จะเขียนถึงศาสดาแห่งศาสนาอิสลามในทางเหน็บแนม และ/หรือล้อเลียนได้

กองบรรณาธิการ ชาร์ลี เอ็บโด เพิ่งถูกผู้ก่อการร้ายสามคนบุกเข้าไประดมยิงปืนกลใส่ ตายไป ๑๒ ราย รวมทั้งตัวบรรณาธิการและนักเขียนการ์ตูนคนสำคัญๆ อีกสองสามคน คนร้ายหนึ่งในสามถูกจับในเย็นวันดียวกัน ได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับอีกสองคนที่เสียชีวิตจากการบุกเข้าจับกุมของตำรวจยังสถานที่หลบซ่อนในวันรุ่งขึ้น

แน่นอนความสำเร็จในการปราบปรามอย่างฉับพลัน และความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อการสูญเสียชีวิตของสื่อมวลชนในสังกัดชาร์ลี เอ็บโด ทำให้ผู้คนจำนวนมากแสดงภราดรภาพร่วมกับนิตยสารฉบับนี้ด้วยการยกวลี ‘Je suis Charlie’ (ฉันเป็นชาร์ลี) มาใช้กันอย่างเอิกเกริก

โดยเฉพาะในกรณีกลุ่มชาตินิยมราชาธิปไตยในประเทศไทยที่ออกโรงสนับสนุน ชาร์ลี กันอย่างย้อนแย้งกับพฤติกรรมของพวกเขา ในการไล่ล่า กวาดล้างผู้เห็นต่าง โดยใช้กฏหมาย วายร้าย อาญา มาตรา ๑๑๒ กับคนที่วิจารณ์หรือไม่แสดงความจงรักภักดีอย่างล้นพ้นต่อสถาบันกษัตริย์

การนี้ก็มีบทความในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์สองรายโยงใยถึงการปฏิพัทธ์ ระหว่างโศกนาฏกรรมชาร์ลี เอ็บโดกับลัทธิเชิดชูกษัตริย์เป็นล้นพ้น เอาไว้อย่างน่าสนใจ

หนึ่งนั่นคือ Atiya Achakulwisut ผู้ซึ่งมีข้อเขียน อ็อป-เอ็ดปรากฏบนวารสารออนไลน์ 'Political Prisoners of Thailand' อยู่เนืองๆ ได้เปรียบเทียบการปกป้องสิ่งที่กลุ่มคนยึดมั่นว่าศักดิ์สิทธิ์ (อย่างศาสดาโมฮัมหมัดของอิสลาม) กับสถาบันกษัตริย์ในความเชื่อของคณะทหารผู้ปกครองและ ขบวนการขวาจัดสุดโต่ง (เช่น องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน –ผู้เขียน)

บทความชื่อ  'Balancing Lese Majeste with free speech' ของเธอ เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคมชี้ว่า สำหรับพวกที่ถือว่าสถาบันกษัตริย์มีความศักดิ์สิทธิ์ จะไม่สนใจว่ามีการบังคับใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (หรือมาตรา  ๑๑๒ ในประมวลกฏหมายอาญา) อย่างรุนแรงเพียงไร หรือไม่แคร์ว่ากฏหมายนี้มีข้อเสียหนักอยู่ที่ เปิดให้ใครก็ได้ฟ้องใครก็ได้

(แถมเมื่อฟ้องแล้ว ในธรรมเนียมปฏิบัติทั้งตำรวจ อัยการ และศาล ต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด อีกทั้งไม่ยอมให้ผู้ต้องหาได้รับการประกันให้ปล่อยตัวชั่วคราวเสมอ –ผู้เขียน)

ข้อเขียนของอทิยาบ่งว่า ปัญหาขัดข้องแก้ไม่ตกระหว่างกฏหมายปกป้องการหมิ่นกษัตริย์กับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมไทยอย่างกว้างขวางแล้วนี้ จะก่อให้เกิดความรุนแรงแบบโศกนาฏกรรมชาร์ลี เอ็บโด ตัวอย่างของการเข่นฆ่าล่าสังหารเพราะการถือมั่นจะต้องปกป้องสถาบันศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

อีกข้อเขียนเป็นของ อัญชลี คงกรุต ผู้ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติแวดล้อมอีกโสตหนึ่งด้วย เธอเสนอในบทความชื่อ 'Je suis Nattanan' เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคมนี้เอง ริเริ่มกระบวนการ ฉันเป็นณัฐนันท์นักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายวัย ๑๗ ปี ที่ตั้งคำถามต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติว่า

“จะแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้อย่างไร ในเมื่อการเข้ามาสู่อำนาจของพวกท่าน เป็นการขโมยหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงจากประชาชนไป ซึ่งก็คือการคอรัปชั่นทางอำนาจ ที่ไม่ได้เลวร้ายน้อยไปกว่าคอรัปชั่นทางการเงินเลย”

เพราะคำถามเช่นนั้น น.ส. ณัฐนันท์ วรินทรเวช ถูกระงับไม่ให้ออกรายการเจาะประเด็นร้อน ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ ซึ่งเธอได้รับเชิญให้ไปร่วมซักถามความเห็นต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ด้วยข้ออ้างว่า "เชิญมาผิดคน"

อัญชลีให้เหตุผลว่า กระบวนการ ฉันเป็นณัฐนันท์ของเธอคือการรณรงค์เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกสำหรับประเทศไทย เพราะ “เราอาจเป็นเหมือนเด็กผู้หญิงคนนี้มากกว่าที่เราจะตระหนัก” และ “เราก็เหมือนกับคนที่ถูกขับออกไปจากงานใดงานหนึ่งเพราะเราส่งเสียงหือ ไม่ยอมสยบง่ายๆ”

“ดังนั้น เราจึงเป็นณัฐนันท์ เพราะเราไม่สามารถจะตั้งคำถามได้ ไม่ว่าเราจะพอใจหรือไม่” เธอลงท้าย

ลองกลับไปที่ประเด็นเกี่ยวข้องชาร์ลี เอ็บโดโดยตรงดูบ้าง ผู้ก่อการร้ายมุสลิมที่ลงมือบุกถล่มยิงอ้างว่านิตยสารลงภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดาโมฮัมหมัดจึงได้กระทำการร้ายแรงล้างแค้น อันนี้ชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากมายย่อมเห็นคล้อย อย่างน้อยในประเด็นไม่พอใจการล้อเลียน แต่อาจไม่ถึงล้างแค้น

นักเขียนอีกคนหนึ่งที่เอ่ยถึงเหตุก่อการร้ายสังหารกองบรรณาธิการชาร์ลี เอ็บโดไว้น่ารับฟัง เขาอ้างว่าตนเองเป็นชาวฝรั่งเศส เป็นนักรบฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง (a radical left militant) ข้อเขียน ‘On Charlie Hebdo :A letter to my British friends’ ของเขาปรากฏบน http://blogs.mediapart.fr/blog/olivier-tonneau/110115/charlie-hebdo-letter-my-british-friends ในวันอาทิตย์เดียวกันที่มีคนกว่าล้านไปชุมนุมกลางกรุงปารีส

“เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาเริ่มไหลหลากทั่วเว็บต้านทานชาร์ลี เอ็บโด ซึ่งถูกบรรยายว่าเป็น ผู้รังเกียจอิสลาม (Islamophobia) เหยียดเชื้อชาติ และหยามเพศ”  Olivier Tonneau อารัมภบทในจดหมายของเขา

ความรู้สึกทำนองเดียวนี้ปรากฏในที่อื่นๆ อาทิ อาดัม แช้ทซ์ เขียนไว้ใน London Book of Review:  ว่า

“ถ้าฝรั่งเศสยังคงปฏิบัติต่อผู้คนเชื้อสายอาฟริกาเหนือเหมือนดั่งว่าเป็นภัยคุกคามต่ออารยะธรรม ของเรา แล้วละก็ จะมีคนเหล่านี้ประกาศตัวเป็นภัยคุกคามแบบเดียวกับสองพี่น้องโคอาชีกันมากขึ้น นี่จะเป็นของขวัญให้แก่มารีน เลอเพ็นและพวกจิฮาดที่ปฏิบัติการบนจุดยืนเดียวกัน ที่ว่ากำลังมีสงครามจำบังระหว่างยุโรปกับอิสลามดำเนินอยู่”



โอลิวิแอร์ ทอนนูว์ อธิบายจำกัดความลักษณะของ ชาร์ลี เอ็บโด ไว้คล้ายคลึงกัน เขาว่า เป้าหมายเบื้องต้นของชาร์ลี เอ็บโด อยู่ที่พรรค Front National อันเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดโต่งของฝรั่งเศส นำโดยนางมารีน เลอ เพ็น

นอกเหนือจากนั้นชาร์ลีไม่ได้เพียงงัดข้อกับอิสลาม หากแต่ต่อต้านกระบวนการศาสนาที่ผูกมัดความเชื่อและศรัทธาเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ชาร์ลีล้อเลียนทั้งสันตปาปา ยิวออร์โธด็อก และมุสลิม ด้วยน้ำเสียงและน้ำหนักไม่เบาเท่าๆ กัน อารมณ์ขันในการเสียดสีของชาร์ลีอยู่ในขอบข่ายที่เป็น ฝรั่งเศส แม้จะไม่รื่นหูคนชาติอื่น แต่ก็แสดงออกสำหรับสายตาของชาวฝรั่งเศสโดยตรง

โอลิวิแอร์ สรุปว่าสิ่งที่ชาร์ลี เอ็บโดพยายามทำเป็นการปกป้องแนวคิดแบบสาธารณรัฐนิยม (La république) ที่ว่า “มันไม่ใช่ศาสนาที่จะมากำหนดความมุ่งมั่นของคน หากแต่เป็นระบบยุติธรรมนั่นต่างหาก”

“การยึดมั่นประเพณีเหนียวแน่น (aggressive fundamentalism) ที่เรียกร้องให้ทุกคนแสดงจุดยืนของตนในทางจริยธรรม การเมือง และถิ่นฐาน ในมาตรการทางศาสนา...มีอันตรายและน่าเย้ยหยัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด..”

โอลิวิแอร์เชื่อว่ากลุ่มการเมืองขวาจัดจะต้องฉวยโอกาสนำเหตุก่อการร้ายต่อชาร์ลีไปขยายผลเพื่อโฆษณาขบวนการของตน ซึ่งก็ตรงกับการวิเคราะห์ของสตีเว็น เออร์แลงเจอร์ แห่งหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์ ที่ว่า 'In cold political term, Far right and French President both gain'.

ทั้งนี้เนื่องจากผู้ก่อการร้ายซึ่งเป็นพลเมืองฝรั่งเศสแต่เชื้อชาติอาหรับ เช่นสองพี่น้องซึ่งบุกเข้าไปกราดยิงในกองบรรณาธิการชาร์ลี เอ็บโด ด้วยมาดการจู่โจมเหมือนในสนามรบที่ได้รับการฝึกอาวุธมาอย่างดีนี้ กำลังเป็นปัญหาทางการเมืองให้พรรคแนวหน้าแห่งชาติของนางเลอเพ็นใช้เป็นเป้าหมายหลักในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. ๒๐๑๗ จากประธานาธิบดีฟรังซัวส์ อัลลองด์ แห่งพรรคสังคมนิยม ที่กำลังคะแนนนิยมตกต่ำมาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศ

สำหรับประธานาธิบดีอัลลองด์เองแม้จะได้หน้าได้ตาขึ้นมาพอดูจากการจัดให้มีการชุมนุมใหญ่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ มกราคม โดยที่ผู้นำประเทศในยุโรปไปร่วมกันมากหน้า รวมทั้งนางแองเจล่า เมอร์เกิล ของเยอรมนี เดวิด แคเมอรอน ของอังกฤษ เบ็นจามิน นาธันยาฮู ของอิสรเอล และมาริอาโน ราจอย ของสเปน

แต่การที่ไม่ยอมเชิญนางเลอเพ็นของพรรคฝ่ายขวา ซ้ำร้ายประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าของสหรัฐ ก็พลาดที่จะเดินทางไปร่วมอย่างน่าละอาย ล้วนจะเป็นน้ำหนักถ่วงคะแนนนิยมทางการเมืองของประธานาธิบดีอัลลองด์ให้ไม่อาจกระเตื้องขึ้นได้มากนักจากโศกนาฏกรรมชาร์ลี เอ็บโด

แต่ในสายตาของโอลิวิแอร์นั้น โศกนาฏกรรมชาร์ลี เอ็บโด เกิดจากการคุกคามของลัทธิยึดมั่นประเพณีเหนียวแน่น (ฟันดาเม็นทัลลิซึม) กับลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์ ที่มากระหน่ำคู่กันเป็นแฝดในขณะที่สภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะฝืดเคือง ความเสมอภาคก็ถูกจำกัด เสรีภาพในเวลานี้เป็นเพียงหน้าไหว้หลังหลอก ในเมื่อภาคส่วนของประชากรฝรั่งเศสยังถูกเอารัดเอาเปรียบ 

"ภราดรภาพสลายหายไปเมื่อศาสนาเข้าครอบงำการเมืองด้วยการยกให้เป็นหลักการพื้นฐานของสังคม"

บนจุดยืนของโอลิวิแอร์สภาพสังคมฝรั่งเศสขณะนี้แปลกแยกแบ่งฝ่ายอย่างหนักหน่วง ทางออกแคบๆ ของเขาก็คือการต่อสู้เพื่อให้หลักการสาธารณะรัฐยืนหยัดเป็นเด่นมั่นคง นั่นคือชู Liberté, Egalité, Fraternité หรือ หลักการสามนิ้วแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ

ซึ่งในประการสาม ที่ว่าภราดรภาพนั้นนิยามตรงคำได้ว่า “รักใคร่ปรองดองฉันพี่ฉันน้อง” และนี่เป็นสิ่งที่สังคมไทยเรียกร้องต้องการมาช้านานใช่หรือไม่ มิหนำซ้ำยังใช้เป็นข้ออ้างของคณะทหารในการยึดอำนาจการปกครองไปจากรัฐบาลที่ได้อาณัติคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชากรจากการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน

ครั้นเมื่อทหารหักดิบยึดอำนาจเพื่อการปรองดอง และจัดการลากตั้งคณะนายพลเข้าไปเป็นผู้ผู้บริหารประเทศ อุปโลกฝูงชนเป็นโขยงเข้าไปออกแบบกฏหมาย วาดฝัน พวกเราเหล่ามาชุมนุมผู้ปรับเปลี่ยนแบบแผนของการอยู่ร่วมกันในนามการปฏิรูป เสร็จแล้วทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดโดยผู้ปกครองในทางดิ่งทางเดียว

ดังเช่นให้มีกฏหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่จัดให้แต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมากำกับ ควบคุม และมีอำนาจเด็ดขาดไร้การตรวจสอบ สามารถลบล้างเนื้อหาที่ประชาชนนำขึ้นเผยแพร่บนไซเบอร์ได้อย่างเด็ดขาด นี่ไม่ต่างอะไรกับลักษณะ บิ๊กบราเธอร์ในนิยายของออร์สัน เวลล์

เลวร้ายกว่านั้นยังเป็นการคุกคามทำลายแบบแผนสังคมในหลักการสามนิ้วอีก ด้วยการโหมกระหน่ำจากลัทธิฟันดาเม็นทอลควบกันกับฟาสซิสต์ ทำให้สังคมแตกแยกไม่มีการปฏิสัมพัทธ์ของประชากร และภราดรภาพย่อมไม่มีความหมายดังนิยามที่โอลิวิแอร์ให้ไว้

ผู้ชุมนุมกว่าล้านในกรุงปารีสที่ออกมาตามเห่อกับสมัยนิยม ‘Je suis Charlie’ จึงอาจจัดได้ว่าหลงประเด็น เว้นแต่จะเน้นอ้างแต่เพียงสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างพอเหมาะ ไม่ขยายออกไปถึงการแข็งกร้าวและท้าทายเกินไป

ดังมีผู้ชี้ให้เห็นว่าหน้าปกนิตยสารฉบับใหม่ของชาร์ลี เอ็บโดที่ขายดีหมดเกลี้ยงต้องตีพิมพ์เพิ่ม นั่นเป็นภาพการ์ตูนศาสดาโมฮัมหมัดถือป้าย ฉันเป็นชาร์ลีภายใต้ข้อความพาดหัวว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างให้อภัยหมด” นั้นลายเส้นใบหน้าแฝงลักษณะองคชาติเอาไว้อย่างแก้ตัวไม่ขึ้นเช่นกัน

อันท่าที่ของนิตยสารชาร์ลีนั้นภายนอกประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีรสนิยมในการรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์และการล้อเล่นล้อเลียนต่างออกไป หลายแห่งไม่ได้มีอารมณ์ขันลึกล้ำเท่า บางที่ก็มีน้ำอดน้ำทนไม่พอด้วยซ้ำไป (คงต้องขอใช้คำภาษาอังกฤษที่ว่า less inclined และ intolerant มาประกอบ)

เดวิด บรู๊คส์ นักเขียนบทวิจารณ์สายอนุรักษ์นิยมประจำหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์คไทมส์ เขียนถึงปรากฏการณ์ ฉันเป็นชาร์ลี เอ็บโดทันใดในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุในฝรั่งเศสว่า "I am not Charlie Hebdo" เขาบอกว่าถ้ามีใครในอเมริกาพยายามจะตีพิมพ์วารสารแบบชาร์ลี เอ็บโดในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งของสหรัฐในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา “รับรองอยู่ได้ไม่ถึง ๓๐ วินาฑี”

การตามเห่อ (Hoop la) อ้างตัวเป็นชาร์ลี เอ็บโดในอเมริกาในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น เดวิดบอกว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง “พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้หมกมุ่นกับการใช้อารมณ์ขันแสบคันวิพากษ์วิจารณ์อย่างก้าวร้าวแบบที่ชาร์ลี เอ็บโดช่ำชอง” และ  “พวกเราส่วนใหญ่มุ่งไปทางรับฟังแนวคิดซับซ้อนของสิ่งที่เป็นจริง และพร้อมให้อภัยผู้อื่น”

“การเย้ยหยัน (ridicule) กลายเป็นเรื่องไม่สนุกเสียแล้วเมื่อตัวเองเริ่มตระหนักว่าอาการน่าขันของตนนั้นมันชักเกิดขึ้นบ่อยๆ” เดวิดเขียนถึงนักเสียดสีล้อเลียน (satirist) และพวกที่ชอบกระแซะเยอะหยัน (ridiculer) ว่าพวกนี้เปิดโปงจุดอ่อนและความจองหองลมๆแล้งๆของเรา ทำให้วิมานในอากาศของเราล่มสลาย

“พวกที่ชอบกระซุ่นจุ้นจ้าน (provocateurs) กับพวกที่ชอบเย้ยหยัน (ridiculers) เหล่านี้แหละที่กระชากหน้ากากให้เห็นความโง่เขลาของพวกที่คลั่งไคล้ยึดมั่นประเพณีเหนียวแน่น (fundamentalists)" ผู้ซึ่งเดวิดให้อัตถาธิบายต่อไปว่า เป็นพวกไม่สามารถรับฟังความคิดหลากหลายได้

ในแนวคิดของเดวิด นักเสียดสีไม่เพียงแต่เปิดโปงผู้ที่ไม่สามารถหัวเราะตัวเองได้เท่านั้น ยังสอนให้คนอื่นๆ ได้คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่เราควรทำด้วย นี่เองทำให้มาถึงเส้นแบ่งอันเรียวบางระหว่างอารมณ์ขันสร้างสรรค์กับการก้าวร้าว ที่เขาเสริมว่า

“เราต้องการรักษามาตรฐานของความสุภาพและการให้เกียรติเอาไว้ ในขณะที่ปล่อยให้มีที่ว่างสำหรับการสร้างสรรค์และการท้าทาย จากประดาผู้ที่ไม่มักคุ้นกับเรื่องมารยาทและรสนิยมสุนทรีย์” ที่ซึ่งเดวิดชี้ว่านี่แหละคือความสมดุลที่สังคมโลกส่วนมากสามารถรักษาไว้ได้

“ถ้าหากคุณพยายามที่จะดึงเอาความสมดุลอันเปราะบางนี้ออกไปด้วยการนำเอากฏหมาย เกณฑ์การแสดงความเห็น และการห้ามผู้ปาฐกถาเฉพาะกรณี เข้ามากำกับแทน มันก็จะไปลงเอยด้วยวิธีการเซ็นเซอร์ที่กร้าวหยาบ”

“ความมีน้ำอดน้ำทนในเชิงกฏหมาย (legally tolerant) ต่อเสียงวิพากษ์ที่แกร่งกร้าว นั่นแหละคือคุณลักษณะของสังคมที่มีสุขภาพ (จิต) สมบูรณ์”

คณะทหารและพวกชาตินิยมราชาธิปไตยในประเทศไทยดูจะไม่มีน้ำอดน้ำทนในเชิงกฏหมายเท่าไรนัก หากพวกเขาถือตนเป็นเสียงส่วนน้อยที่ดังกว่า ( a.k.a. มีคุณภาพมากกว่า) ละก็ ประเทศไทยคงเป็นสังคมที่สุขภาพจิตไม่สมบูรณ์เป็นแน่

No comments:

Post a Comment