Monday, March 10, 2014

อ่านเวเนซูเอล่า เรื่องไทยๆ



เมื่อใกล้สิ้นเดือนที่แล้วขณะม็อบนกหวีดปิดกรุงเทพฯ ทำทีจะเข้าไคล้ตามมโนของแกนนำ ก็มีเหตุการณ์ในต่างประเทศสองแห่งที่เหมือนว่าจะคล้ายไทยแต่แล้วกลับไม่ใช่ นอกจากการประท้วงในยูเครนยังมีเหตุฝีแตกในเวเนซูเอล่าที่ระบมมาตั้งแต่ปลายปี

ความขัดแย้งทางการเมืองในเวเนซูเอล่าดูไม่น่าจะเหมือนไทยเพราะเป็นประเทศสังคมนิยม แต่ทำไปทำมาทำท่าจะเป็นกรณีศึกษาเก็บไว้ใช้อ่านเอาเรื่องเมืองไทยได้เหมือนกัน

อย่างน้อยๆ ในประเด็นที่ผู้นำการประท้วงรัฐบาลเขาแน่จริง ในเมื่อกล้าต่อต้านอำนาจรัฐแต่ไม่สามารถจุดติดการกบฏ เขาก็กล้าแอ่นอกรับความจริงยอมมอบตัวให้เจ้าพนักงานควบคุมไปฐานที่ก่อให้เกิดความรุนแรง

ในประวัติศาสตร์การปกครองของไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีย้อนขึ้นไปถึงยุคอโยธยาการเปลี่ยนรัชกาลหลายครั้งเกิดจากการยึดอำนาจและ/หรือสังหารเจ้าองค์เก่าแล้วตั้งตัวเป็นเจ้าองค์ใหม่ โดยธรรมเนียมปฏิบัติที่ยอมรับกันมาว่าถ้าการยึดอำนาจสำเร็จผู้ชนะจะเป็นองค์อธิปัตย์คนใหม่ ผู้แพ้ก็ต้องกลายเป็นกบฏไป no matter what

คงรู้กันพอสมควรแล้วว่าเวเนซูเอล่าเป็นประเทศอุดมน้ำมันในอเมริกาใต้ที่การเมืองการปกครองอยู่ภายใต้ ระบอบชาเวซ หรือสังคมนิยมสไตล์คิวบา โบลิวาเรียซึ่งมีรัฐบาลประชานิยมเครือข่ายของอดีตประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ได้รับเลือกตั้งติดต่อกันมาหลายครั้ง แม้กระทั่งเคยถูกรัฐประหารแล้วก็ยังกลับไปเป็นรัฐบาลได้ใหม่ด้วยคะแนนเสียงที่ประชาชนรากหญ้ามอบหมายให้

แต่ว่าหลังสุดเมื่อนายชาเวซจบชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง รัฐบาลใหม่จากชัยชนะเลือกตั้งอย่างสูสีของนายนิโคลาส มาดูโร (ซึ่งนายชาเวซคัดตัวให้มารับช่วงต่อจากตน) นอกจากเผชิญกับคู่แข่งที่แม้จะแพ้คะแนนเสียงแต่ก้ไม่ยอมแพ้เกมชิงอำนาจ ประจวบกับปัญหาเศรษฐกิจทรุดโทรม ค่าเงินตกฮวบ อาหารขาดแคลน และไม่สามารถทำรายได้จากทรัพยากรน้ำมันมากอย่างเคย

การประท้วงบนท้องถนนภายใต้การชักใยของฝ่ายค้านจึงเกิดขึ้น โดยมีผู้สนับสนุนและร่วมชุมนุมเป็นพวกชนชั้นสูงและชั้นกลาง ทำนองเดียวกับม็อบนกหวีดของไทย และใช้สโลแกนการประท้วงว่า 'ลา ซาลิด้า' หรือ ทางออก เรียกร้องให้ประธานาธิบดีสละตำแหน่งในทันที

การประท้วงรัฐบาลในเวเนซูเอล่าแม้จะจุดกระแสโค่นรัฐบาลไม่ติดเพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศซึ่งอยู่ในข่ายยากจนไม่สน ไม่หนุน ไม่เอาด้วย คนจนที่เป็นฐานเสียงของรัฐบาลเหล่านี้พึงพอใจกับนโยบายประชานิยม เช่นค่าโดยสารขนส่งสาธารณะรถรางถูกมากแล้วยังมีเครือข่ายกว้างขวาง ค่าน้ำค่าไฟอยู่ในอัตราต่ำ แถมในย่านสลัมมีไวฟายอินเตอร์เน็ตบริการฟรีจากรัฐ

ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมาดูโรที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วนำโดย เฮ็นริเก้ คาปริเลส หัวหน้าฝ่ายค้านซึ่งแพ้เลือกตั้งอย่างเฉียดฉิวต่อนายมาดูโรเมื่อเดือนเมษายนนั้น แม้จะต่อเนื่องแต่ก็มีคนร่วมน้อยครั้งละเพียงสองสามพัน

จนกระทั่งเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากอย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์ภายใต้การขึ้นมานำอย่างโดดเด่นของ ลีโอโปลโด โลเปซ นักเศรษฐศาสตร์จบจากฮาวาร์ด ที่ท้ายสุดยอมมอบตัวต่อตำรวจเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ หลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นระหว่างการประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตมากหลายราย บาดเจ็บนับร้อย

ฝ่ายประท้วงในเวเนซูเอล่าประกอบด้วยสามกลุ่มที่ร่วมมือกันอย่างหลวมๆ ได้แก่พรรคฝ่ายค้านที่คับแค้นด้วยความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งหลายครั้งหลายหน ทั้งในระดับเทศบาล สภาผู้แทน และการเลือกตั้งประธานาธิบดี กับกลุ่มนักศึกษาที่เริ่มจากความไม่พอใจรัฐบาลในระบอบชาเวซ หรือ ชาวิสต้า ที่ใช้วิธีการบีบคั้นเข้าควบคุมสื่อ และเมื่อเดือนพฤศจิกายนยังได้รับอำนาจพิเศษเด็ดขาด ๑ ปีในการจัดการปัญหาเศรษฐกิจ อันไปพ้องกับความไม่พอใจของอีกกลุ่มตัวแทนชนชั้นสูงซึ่งโจมตีรัฐบาลว่าทำให้สินค้าราคาแพงและขาดตลาด

สภาพขาดแคลนที่ชนชั้นสูงอ้างบางครั้งก็เพ้อพกเสียจนน่าขัน ดังหนังสือพิมพ์ออนไลน์ อัลจาซีร่าอเมริกา รายงานความรู้สึกของผู้ประท้วงนางหนึ่งในกลุ่มชนชั้นสูงซึ่งสนับสนุนนางมาเรีย คอรีน่า มาชาโด เศรษฐีนีของตระกูลเจ้าของเครือข่ายสื่อสารยักษ์ใหญ่ในประเทศ ที่บอกว่า มีอย่างที่ไหน ราคาอาหารหมากิโลละตั้ง ๔๐๐ โบลิวาร์ (ราว ๑,๙๐๐ บาท) เหลวไหลสิ้นดี

ขณะที่ลูกชายของหล่อนเป็นสมาชิกขบวนการนักศึกษา (ORDEN) ให้การสนับสนุนแก่กลุ่มประท้วงของนายลิโอโปลโด เขาบอกว่าพรรคฝ่ายค้านนั้นเชื่องช้ายืดยาดไม่ทันใจ นักศึกษาเหล่านี้เองที่หันไปใช้วิธีการรุนแรง เช่นขึงลวดกั้นถนนเพื่อดักมอเตอร์ไซค์อันเป็นยานพาหนะนิยมใช้ในหมู่ชนชั้นรากหญ้าสมาชิกชาวิสต้า จนทำให้ผู้ขับขี่จักรยายนต์วัย ๒๙ ปีคนหนึ่งถูกลวดตัดหัวขาด

วิธีการชั่วช้านี่ก็มาจากคำแนะนำบนเฟชบุ๊คของอดีตนายพลที่สนับสนุนฝ่ายค้านคนหนึ่ง

ฝ่ายประท้วงสองกลุ่มหลังคือนักศึกษาชนชั้นกลางและพวกนักธุรกิจชนชั้นสูงนั้นมีความใกล้ชิดกันอยู่ แม้จะไม่ได้ดำเนินยุทธวิธีไปในแนวเดียวกันก็ตาม ดังจะเห็นว่าพวกนักศึกษามักประท้วงอย่างเร่าร้อนและรุนแรง ขณะที่ชนชั้นสูงเพียงแต่ออกไปชุมนุมปิดกั้นถนนถ่ายรูป เซ้ลฟี่ กันเหมือนเที่ยวงานมาดิกรา ดังปรากฏ ภาพข่าวในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทมส์ ผู้ประท้วงในท้องที่ซาน คริสโตบอลสร้างเครื่องกีดขวางถนนเหมือนรั้วริมหาด แล้วมีสตรีนางหนึ่งปูผ้านอนอาบแดดในชุดบิกินี่

ความคล้ายคลึงระหว่างการประท้วงในกรุงคารากัสกับในกรุงเทพฯ อย่างหนึ่งก็คือการแบ่งแยกด้วยสีเสื้อ ผู้สนับสนุนฝ่ายค้านใช้สีขาว กลุ่มของพวกชนชั้นสูงชอบใช้สีธงชาติ ส่วนพวกชาวิสต้าของรัฐบาลมีสีแดงเป็นเอกลักษณ์ 

แต่นี่เป็นแค่ความเหมือนที่เปลือกนอก เช่นเดียวกับการแบ่งฝ่ายตามชนชั้น และการแตกแยกทางอุดมการณ์

แม้ฝ่ายค้านเวเนซูเอล่าจะออกไปประท้วงบนท้องถนนให้รัฐบาลลาออกเพราะเอาชนะด้วยการเลือกตั้งไม่ได้เสียทีเช่นเดียวกับของไทย แต่รายงานของอัลจาซีร่าบ่งว่า การโค่นรัฐบาลในเวเนซูเอล่าไม่มีทางเป็นไปได้ถ้าหากไม่ได้รับความร่วมมือจากคนยากจนที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

แม้แต่แกนนำฝ่ายประท้วงคนหนึ่งคือ เฮ็นริเก้ คาปริเลส ก็ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงในเวเนซูเอล่าเป็นไปไม่ได้ถ้าคนในสลัมไม่เข้าไปมีส่วนร่วม

ทั้งเอ็นริเก้ และอีกสองแกนนำ (ลีโอโปลโด โลเปซ กับ มาเรีย คอรีน่า มาชาโด) ล้วนอยู่ในเครือข่ายนักธุรกิจชนชั้นผู้มีอันจะกิน แถมมีแบ็คดีดังที่ข้อมูลวิกิลี้คเปิดเผยว่า กลุ่มประท้วงเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์จากเงินทุนเกื้อหนุนประชาธิปไตยของสหรัฐเป็นจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ โดยฝ่ายรัฐบาลก็ยึดมั่นอุดมการณ์ปฏิวัติโบลิวาร์เหนียวแน่นมาตลอด

จึงแสดงถึงอิทธิพลจากภายนอกต่อการแบ่งแยกภายในชัดแจ้ง ดังข้อสรุปของขบวนการนักศึกษาที่ว่า เวเนซูเอล่าถูกควบคุมโดยผลประโยชน์นานาชาติ ฝ่ายค้านถูกสหรัฐควบคุม ฝ่ายรัฐบาลโดยคิวบา หนทางออกอยู่ที่วิถีชาตินิยมเท่านั้น

ขณะที่ผู้ประท้วงในคาราคาสตะโกนก่นด่า เผด็จการแบบคิวบา ภาวะเศรษฐกิจก็กำลังกัดกร่อนความไว้วางใจในรัฐบาลลงไป แต่เดวิด สมิลเด กรรมการอาวุโสของสำนักงานวอชิงตันเกี่ยวกับลาตินอเมริกา (WOLA) ซึ่งเป็นองค์กรพลเรือน (NGO) ให้ความเห็นว่า ฝ่ายค้านทำแค่นั้นไม่พอ ทางที่ดีควรจะยื่นมือเข้าไปหาพวกคนยากจนเพื่อขยายฐานเสียงของตนด้วย จึงจะพร้อมเข้าไปแทนที่ได้เมื่อฝ่ายรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำในทางใดทางหนึ่ง

ส่วนสถานการณ์ในไทยนั้นต่างออกไป ฝ่ายประท้วงในกรุงเทพฯ ดูจะไม่คำนึงถึงเรื่องฐานเสียงในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นล่าง (ดูได้จากการที่ผู้ขึ้นอภิปรายบนเวทีชุมนุมส่วนมากมักบอกว่าคนรากหญ้าเป็นพวกบ้านนอกด้อยการศึกษา ไม่เหมาะแก่การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการปกครอง เพราะถูกหลอกถูกจูงจากนักเลือกตั้งได้ง่าย) จึงทำให้ม็อบนกหวีดไม่แยแสกับการเลือกตั้ง มุ่งแต่เสนอการปกครองโดยคนดีที่อิงกับสถาบันกษัตริย์ และคุ้มครองโดยอิทธิฤทธิ์พวกทหาร

แต่ว่าโดยทฤษฎีการปกครองประชาธิปไตยตะวันตก กับตัวอย่างในอเมริกาใต้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนมือผู้บริหารประเทศโดยปราศจากแรงสนับสนุนของคนรากหญ้า ถึงจะดันทุรังไปได้สมใจก็ไม่สามารถปกครองต่อไปได้อย่างราบรื่น

ในเวเนซูเอล่าใช่ว่าจะไม่มีความรุนแรงอย่างของไทย แต่ละฝ่ายมีสัดส่วนภายในกระบวนการของตนที่พร้อมจะใช้ความรุนแรงอยู่ทั้งคู่ ฝ่ายค้านมีกลุ่มนักศึกษา ฝ่ายรัฐบาลก็มีคอมมูน (Collectivos) ที่เคยถึงกับรัฐบาลต้องออกมาประณามกันในบางครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นจนถึงบัดนี้ ๑๘ รายไล่เลี่ยกับไทย แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยังมีการเลือกตั้งเป็นสรณะ ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งจะอิงคิวบาอีกฝ่ายอิงอเมริกา

ข้อสำคัญนายลีโอโปลโดแกนนำฝ่ายประท้วงซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มที่ใช้ความรุนแรงด้วยซ้ำ ยังพอมีความกล้าหาญทางสติปัญญาและซื่อตรงต่อการกระทำของตนเอง เมื่อเกิดความเสียหายมีคนตายในความรับผิดชอบก็ทรนงพอที่จะเดินเข้าไปมอบตัวต่อทางการ ไม่ได้เสแสร้งปัดสวะพ้นตัว หรือหวังให้พวกลูกไล่ต้องรับเคราะห์แทน

No comments:

Post a Comment