Tuesday, February 4, 2014

ประเทศไทยเป็น 'loser' ไปแล้วจริงหรือ



พลันเมื่อการเลือกตั้งวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๕๗ ผ่านไป เสียงวิจารณ์จากสื่อมวลชนนานาชาติก็ตามมาอย่างระงม ว่าการขัดขวางการเลือกตั้งของฝ่ายค้าน ที่นอกจากบอยคอตการเลือกตั้งแล้วยังจัดประท้วงต่อเนื่องมากว่าสามเดือน โดยพยายามก่อความรุนแรงถึงเลือดตกยางออก นั้นเป็นการกระทำของเด็กดื้อ ที่แม้จะมีศาลรัฐธรรมนูญคอยให้ท้ายก็จะยิ่งทำให้ตกต่ำลงไปกว่าเดิม

บ้างกล่าวว่าการต่อต้านเลือกตั้งโดยอ้างความต้องการปฏิรูปการเมืองเสียก่อน และพยายามทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ (เช่นกันโดยอาศัยองค์กรอิสระและศาล) แล้วจะนำกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งมาสวมแทนรัฐสภาละก็ จะทำให้ประเทศแตกแยกยิ่งขึ้น เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจของชาติยาวนาน*(1)

หากแต่คำวิจารณ์อันทำให้ต้องเป็นห่วงต่ออนาคตของประเทศมากไปกว่านี้อยู่ที่ข้อเขียนซึ่งตีพิมพ์ในสื่อมวลชนต่างประเทศอันเป็นกระบอกเสียงสำคัญของชุมชนเศรษฐกิจการเงินนานาชาติสองแห่ง นั่นคือสำนักข่าวบลูมเบิร์ก และนิตยสารฟ้อร์บ

ในบทความโดย นิสิด ฮาจารี เรื่อง 'Only Losers in Thailand' นักเขียนของบลูมเบิร์กฟันธงว่า ความเป็นจริงก็คือชัยชนะใดๆ ของฝ่ายค้านโดยอำนาจตุลาการ ที่ไม่ส่งผลให้เกิดความมั่นคง และไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้อย่างกว้างขวางแล้วละก็ ถือว่าไม่ได้เป็นชัยชนะแต่อย่างใด

บทความบลูมเบิร์กอ้างถึงการบอยคอต และก่อกวนขัดขวางการเลือกตั้งโดยฝ่ายค้าน ที่มุ่งมั่นให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ได้ ขณะเดียวกันบรรดาองค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการก็โหมกำลังกันดำเนินคดีต่อรัฐบาล ด้วยจุดมุ่งหมายเอาชนะโดยกรรมวิธีเลวร้ายต่างๆ นั้นเป็นความเพ้อฝันซึ่ง ณ เวลานี้เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

ข้อเขียนชี้ว่าฝ่ายค้านเองก็ต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าตนเองก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ผู้สนับสนุนของพรรคเพื่อไทยอดทนมามากนักแล้วกับการหยามหมิ่นสติปัญญาว่าถูกชักจูงด้วยสินบนที่มาทางนโยบายประชานิยม กับการโค่นรัฐบาลที่พวกเขาเลือกลงไปถึงสามครา การกำจัดรัฐบาลชุดนี้ด้วยวิธีการไม่เป็นประชาธิปไตยอีกครั้งรังแต่จะทำให้แรงหนุนส่งรัฐบาลเพิ่มเป็นสองเท่า

พร้อมกันนั้นการคว่ำรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยชั้นเชิงตุลาการจะยิ่งทำให้การลงทุนทางการเงินของต่างชาติที่ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาถอนออกไปแล้วไม่ต่ำกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท จะไหลออกต่อเนื่องยิ่งกว่านี้ ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ลดลงไปถึงสองคราวในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นก็ไม่มีโอกาสกระเตื้องได้ ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างพม่าและเวียตนามจะยังคงก้าวล้ำหน้าต่อไป

บลูมเบิร์กเสนอให้หันเข้าหาจุดกลาง*(2) ที่ต่างฝ่ายให้ความสำคัญแก่การเจรจาเพื่อเดินไปข้างหน้า ทั้งคู่ต้องยอมรับว่าไม่มีฝ่ายใดขยับเคลื่อนต่อไปได้ด้วยตนเอง เสียงส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมมากกว่าไม่อาจที่จะยกเอาคะแนนเสียงในหีบเลือกตั้งมากลบลบข้อขัดแย้งของเสียงข้างน้อยได้ ทางด้านเสียงข้างน้อยก็ไม่อาจที่จะสร้างความชอบธรรมได้ด้วยวิธีการก่อกวนป่วนปั่นต่อเสียงส่วนใหญ่

บทความจากสื่อต่างชาติอีกชิ้นหนึ่งมาจากนักเขียนบล็อกของนิตยสารฟ้อร์บ ดั๊ค แบนดาว ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้ช่วยพิเศษของประธานาธิบดีรอแนลด์ เรแกน ปัจจุบันเป็นนักวิจัยประจำสถาบันเคโต เขาเขียนบทความเรื่อง In Thailand - Opposition assaults democracy as voters reelect government :Yellow shirt protestors act like Mussolini's Black shirts.อย่างค่อนข้างกลั่นกร้าว ว่าประเทศไทยกำลังมุ่งไปสู่การจมปลักการเมืองที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

นายแบนดาวอ้างถึงผู้ประท้วงในอียิปต์และยูเครนเรียกร้องการเลือกตั้งใหม่แต่ฝ่ายค้านไทยกลับไม่เชื่อถือการเลือกตั้งอีกต่อไปแล้ว แม้ว่าผู้ประท้วงสวมเสื้อเหลืองอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ไทย แต่พวกนี้เทียบเคียงได้กับขบวนการเชิ้ตดำยุคใหม่ ซึ่งเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๒ เป็นผู้สนับสนุนเบนิโต้ มุสโสลินี ยึดอำนาจการปกครองด้วยการชุมนุมอันอื้อฉาวในกรุงโรม

ดั๊คอ้างอิงข้อเขียนของ เนอร์มอล ก๊อสช์ แห่งหนังสือพิมพ์เดอะสเตรทส์ไทม์ ที่บอกว่าความขัดแย้งของประเทศไทยเต็มไปด้วยความสับสนและซับซ้อน มันรวมเอาความขัดแย้งในบุคคลิกส่วนตัว การล้างแค้นทางการเมือง การต่อสู้ของชนชั้น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การแก่งแย่งทรัพยากร และความหวาดระแวงของชนชั้นกลางในเมืองว่าในเวลาอันใกล้จะถูกปกครองโดยนักการเมืองฉ้อฉลที่มีอิทธิพลสูง โดยปราศจากการทรงอยู่ของพลังยึดเหนี่ยวอันเข้มแข็งทางจริยธรรมและคุณธรรมล้ำเลิศของสถาบันกษัตริย์

จากการที่ฝ่ายค้านเป็นผู้พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งติดต่อกันมาสองทศวรรษ ทำให้พวกนี้มองการไปหย่อนบัตรออกเสียงเลือกตั้งเป็นตัวปัญหามากกว่าหนทางแก้ แกนนำของ กปปส. อย่างเช่นนางอัญชะลี ไพรีรัก บอกกับนิวยอร์คไทมส์ว่าการเลือกตั้ง ไม่ใช่จุดหมายของเรา นายเทพไท เสนพงษ์ ยอมรับว่า เราเอาชนะเขาไม่ได้ นายสาธิต วงศ์หนองเตย พวกผู้ประท้วงอีกคนก็สรุปว่า พวกเขาจะกลับมามีอำนาจอีก เรายอมให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้

ดังนั้นพวกเชิ้ตดำจึงพากันไปขัดขวางผู้สมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งที่มีกำลังตำรวจถึง ๑๓๐,๐๐๐ นายรักษาการ ผู้ประท้วงไปปิดกั้นการเลือกตั้งตามหน่วยต่างๆ ในหลายจังหวัดกับในบางท้องที่ของกรุงเทพฯ แล้วนี่ก็ยังหวังว่าจะคัดค้านผลการเลือกตั้งได้

การเป็นไปดังที่สื่อต่างประเทศเหล่านี้คาดหมาย เช่นเดียวกับที่สื่อไทยหลายแหล่งฟันธงกันไว้ โดยเฉพาะในการวิเคราะห์ของสื่อออนไลน์ที่ใกล้ชิดกลุ่มชนชั้นนำของประเทศบอกว่า แม้การเลือกตั้งจะผ่านไปได้อย่างทุลักทุเล สถานะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยอื่นๆ ก็ยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย เนื่องจากมีเขตเลือกตั้งที่ถูกม็อบขัดขวางไม่สามารถเลือกตั้งได้ถึง ๒๘ เขต จะต้องรอให้ กกต. จัดเลือกตั้งซ่อมให้ครบภายใน ๑๘๐ วัน

สำนักข่าวอิศราประมวลอุปสรรคการกลับมาเป็นรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไว้ว่ามีด้วยกัน สี่ดาบ คือหนึ่งเป็นการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติว่า ส.ส.และส.ว. ๓๑๐ คนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ ที่ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญกรณีที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ถ้า ปปช.ชี้มูลให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอน ส.ส.กับส.ว.เหล่านั้นก็จะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ วุฒิสภาจะเหลืออยู่แต่สมาชิกที่นิยมการสรรหาและคัดค้านการแก้ไขเกือบทั้งสิ้น

ดาบสองเป็นการชี้มูลความผิดในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่ง ปปช. มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว. พาณิชย์แล้ว ซึ่งมีปมผูกพัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ทั้งในการถอดถอนและดำเนินคดีอาญา แม้ในประเด็นหลังเรื่องการดำเนินคดีมักใช้เวลานานเป็นปีหรือสองปี แต่สำนักข่าวแห่งนี้ก็ตั้งข้อสังเกตุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจเหมือนที่พี่ชายเคยถูกศาลอาญาแผนกคดีการเมืองวินิจฉัยหรือไม่

ดาบสามตามที่สำนักข่าวอิศราระบุเป็นกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับนายวิรัตน์ กัลยาสิริ อดีต ส.ส. สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่ารัฐบาลออกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นขัดต่อมาตรา ๑๘๑ (๔) ถ้าศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบก็จะมีการชงเรื่องให้ ปปช. ไต่สวนชี้มูลต่อไป

สุดท้ายเป็นดาบสี่ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. เพิ่งแถลงว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และตัดสิทธิทางการเมืองของรัฐบาล รวมไปถึงการยุบพรรคเพื่อไทยด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ นายวิรัตน์ในฐานะหัวหน้าทีมกกหมายของพรรค ปชป. ได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหารัฐบาลรักษาการดึงดันจัดเลือกตั้งทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญและกกต. ชี้แจงไว้แล้วให้เลื่อนออกไปก่อน จึงขอให้ศาลตัดสินความผิดตามมาตรา ๖๘ แห่งรัฐธรรมนูญ

ทั้งมวลเหล่านี้เป็นความพยายามด้วยเล่ห์กลของพรรคฝ่ายค้าน พร้อมด้วยเครือข่ายในองค์กรอิสระและตุลาการที่กระทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดกวาดล้างและทำลายกลุ่มการเมืองที่โยงใยอยู่กับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มุ่งหวังเปิดทางสะดวกแก่การเข้ามาเป็นรัฐบาลโดยไม่จำเป็นต้องอิงกับคะแนนเสียงประชาชนส่วนใหญ่มากนัก

หากแต่ถ้าอ้างว่าให้เป็นไปตามราชประชาสมาสัย ดังที่นาย พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีเคยกล่าวไว้ในงานคืนสู่เหย้า ลูกวชิราวุธ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๕

รวมไปถึงการเปิดตัวกลุ่มอดีตนายทหารและนักวิชาการที่เรียกตนเองว่า รัฐบุคคล’ (Man of the State) อาทิ พล.อ.สายหยุด เกิดผล พล.อ.วิมล วงศ์วานิช พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ พล.ร.อ. วิเชษฐ์ การุณยวนิช ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช นายปราโมทย์ นาครทรรพ และ นายสุรพงษ์ ชัยนาม เรียกร้องให้ทหารออกมาทำการยึดอำนาจแล้วจัดตั้งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๗
 
ทั้งนี้โดยที่ ดร.อมร ซึ่งเป็นนักกฏหมายปกครองชั้นนำของไทย ได้อ้างอิงความชอบธรรมให้กับการไม่ยอมรับวิธีการเลือกตั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบอบประชาธิปไตยไทย เสนอให้แก้ตัวกับฝรั่งว่ากฏหมายเลือกตั้งของไทยกำหนดให้ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งแตกต่างไปจากที่ไหนๆ ในโลก ดร.อมรบอกว่าถ้าอ้างอย่างนี้ฝรั่งจะยอมเชื่อ

อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าการอ้างหลักกฏหมายหลายกรณีโดยฝ่ายค้านและกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่ปฏิเสธคะแนนเสียงส่วนใหญ่อันทำให้พรรคการเมืองในเครือข่ายของตระกูลชินวัตรชนะเลือกตั้งสามสี่ครั้งติดกันตลอดเวลานับสิบปีที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นการอ้างเหตุผลอย่างเลี่ยงบาลีแทบจะทั้งสิ้น การอ้างมาตรา ๖๘ อย่างพร่ำเพรื่อนั้นประการหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะขานรับเกือบตลอดเวลาก็ไม่ทำให้เกิดความชอบธรรมอย่างมั่นคงได้ ในทางกลับจะยิ่งทำให้ตัวบทกฏหมายเสื่อมสภาพ เช่นเดียวกับที่ตุลาการเสื่อมศักดิ์ศรี

ในที่นี้ผู้เขียนขอยกเอาประเด็นข้อกฏหมายที่มีผู้รู้ให้ข้อคิดเห็นไว้ต่อการยื่นคำร้องพยายามให้การเลือกตั้งวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ แม้ข้อโต้แย้งในทางกกหมายในระบบตุลาการไทยจะต้องไปสิ้นสุดที่ศาลซึ่งมีเอกสิทธิ์ในการชี้ขาดทั้งเบื้องต้นและสุดท้าย มักไม่ได้รับฟังความเห็นสาธารณะอย่างระบบตุลาการในประเทศตะวันตก

หากแต่การรับฟังข้อคิดด้านกฏหมายจากภายนอกศาลต่อกรณีนี้จะช่วยให้เห็นว่าฝ่ายค้านและพวกต่อต้านประชาธิปไตยแท้จริงต่างก็ตะแบงมารกันเพียงใด

ตามความเห็นของ นายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักกฏหมายรุ่นใหม่ที่มีมุมมองในทางอุดมการณ์ก้าวหน้า กล่าวถึงแนวคิดอ้างอิง ม. ๖๘ เพื่อร้องศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะว่า รัฐธรรมนูญ ม. ๖๘ เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองนอกรัฐธรรมนูญ การจัดเลือกตั้งเป็นการกระทำตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ จึงไม่เข้าข่ายความผิดโดยนัยนี้

ส่วนการที่นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาล โดยผ่านทางผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ยังพยายามจะจัดเลือกตั้งซ่อมในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์นี้อีกนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา ๙๓ วรรคหกระบุชัดแจ้งให้ ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

และต่อการอ้างมาตรา ๑๕๗ เพื่อยื่นต่อ ปปช. เอาผิดต่อนายกฯ และ ครม. ฐานที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เลื่อนการเลือกตั้งนั้น ความจริงก็คือศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าจะต้องให้เลื่อนการเลือกตั้ง เพียงแต่แสดงความคิดเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นสามารถเลื่อนได้ มิพักจะต้องพิจารณาให้ลึกยิ่งขึ้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาตั้งแต่แรกเสียด้วยซ้ำ นายพุฒิพงศ์ระบุ

สำหรับประเด็นการจัดเลือกตั้งซ่อม ๒๘ เขตที่นายอภิสิทธิ์ชี้ว่าถ้า กกต. ไม่เห็นด้วยจะกลายเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่จะต้องกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยอีกว่าเป็นการเลือกตั้งอันมิชอบ นายพุฒิพงศ์เห็นว่าทั้ง กกต. และพรรคประชาธิปัตย์นั่นเองที่เป็นตัวปัญหาทำให้การเลือกตั้งมิชอบด้วยการตีรวนต่างๆ นานา รวมความว่าสิ่งที่นายอภิสิทธิ์กล่าวหารัฐบาลหลายแหล่นั้น ล้วนเข้าเนื้อตัวเองทั้งสิ้น

เช่นนี้จึงย้อนไปถึงปรากฏการณ์ โลกล้อมไทยในความหมายคล้ายกับความโดดเดี่ยวของเกาหลีเหนือ ที่บรรดาสื่อต่างประเทศทั้งปวงไม่เฉพาะแต่ในซีกโลกตะวันตก ไม่เพียงแค่พวกขวาหรือซ้าย ล้วนเตือนว่าสิ่งที่เสียงส่วนน้อยแต่เหนือชั้นกระทำความเจ็บช้ำให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ด้วยความหวังว่าเมื่อหายปวดจะรู้สึกเหมือนขึ้นสวรรค์ นั้นล้าหลังทั้งโลกไปหลายขุม

หากประเทศไทยได้เป็นสังคมทุนนิยมที่เติบโตแล้วสักนิด อะไรๆ อาจจะแผกแปลกไปบ้างเล็กน้อย อังเดร โวลท์เช็ค นักเขียนฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าของตะวันตกวิพากษ์ไว้ในบทความ 'Down and Out in Thailand'
ของเขาบนเว็บไซ้ท์เค้าเตอร์พั้นช์ เขาบอกว่า ไม่ถึงขนาดยิ่งใหญ่ ไม่เพียงดีอยู่แล้ว แต่แค่ไม่เหมือนเดิมเท่านั้น

ไทยแลนด์เป็นแดนแห่งข่าวลือ และการเมินเฉยอันแสนนาน ของการคุกคามที่เกิดได้โดยไม่มีการบอกกล่าว ประเทศไทยยังไม่ใช่ทุนนิยม อย่างน้อยในแบบของฟิลิปปินส์กับอินโดนีเชีย นายโวลท์ชิคเขียนตอนหนึ่ง แต่เป็นสังคมที่ศักดินาอย่างเข้าเนื้อ โดยที่ไม่เคยทำการปฏิรูปตัวเองได้เลยอย่างจริงจัง ไม่แม้กระทั่งจะก้าวไปข้างหน้า

โวลท์ชิคยังบอกด้วยว่า คนไทยมักจะอ้างตนเป็นคนเก่งกาจเหนือใครๆ เสมอ มีคุณค่าเลิศล้ำ ความเห็นเช่นนี้มักคาบเกี่ยวกับการเหยียดหยามผู้อื่น มันเป็นวัฒนธรรมที่สามารถเข่นฆ่านักศึกษา ยิงทิ้งกลางถนน หรือในแม่น้ำเชี่ยวติดกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ...วัฒนธรรมทางการปกครองนี่เองทำให้ประเทศมีอัตราอาชญากรรมสูงกว่าสหรัฐเสียอีก...

นี่แหละคือระบบที่เป็นศักดินาที่สุดแห่งหนึ่งของเอเซีย แต่กลับเชิดชูกันเหลือล้นว่าเป็นประชาธิปไตย

คนไทยทั้งในและต่างประเทศจำนวนหนึ่งที่เป็นส่วนน้อยไม่เคยสำนึกในสิ่งที่คนภายนอกสังคมโดมแก้วแห่งนี้มองเห็นดังกล่าว แต่ยังมีผู้ที่เป็นไทยอีกจำนวนส่วนมากตระหนักถึงด้วยการตื่นตัว ตาสว่างแล้วว่า ทำไปทำมาการคลั่งไคล้ดึงดันจะพาลให้ทั้งชาติกลายเป็น ‘losers’ ไปเสียหมดทั้งยวงในที่สุด


*(1) ทั้งสองประเด็นสะท้อนมาจากบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดอะวอลสตรีทเจอร์นอล เรื่อง
Thailand Votes for Democracy และเดอะนิวยอร์คไทม์ เรื่อง Democracy in Thailand, Interupted.ซึ่งสรุปความไว้โดยหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เรื่อง บท บก. สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ทิศทางหลังการเลือกตั้งไทย 
*(2) บลูมเบิร์กได้เสนอไว้ในบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๕๗ เรื่อง Can an embattled Thailand find compromise? ให้สองฝ่ายร่วมกันตั้งคณะกรรมการปฏิรูปโดยมีฝ่ายที่สาม (หรือคนกลาง) เข้าร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิรูปต่างๆ ซึ่งก็ปรากฏว่าฝ่ายค้านปฏิเสธแนวนี้โดยสิ้นเชิงไปแล้ว

No comments:

Post a Comment