ตีพิมพ์ครั้งแรก ๕ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ http://thaienews.blogspot.com/2013/09/blog-post_6559.html
มาตรการโจมตีด้วยกำลังทางอากาศอย่าง “เป็นสัดส่วน
มีลักษณะจำกัด และไม่ส่งกำลังเกือกบู๊ตสู่พื้นสนาม” ของประธานาธิบดีบารัค
โอบาม่า เป็นที่ถกเถียงอย่างมากถึงผลลัพท์ที่จะตามมา แม้ว่า (ทั้งที่ไม่จำเป็น) จะมีการนำเข้าปรึกษาเพื่อขอมติจากสภาคองเกรส
ก็ได้รับการขานรับจากทุกฝ่ายในเบื้องต้น
ท่ามกลางคำวิจารณ์ว่าโอบาม่าตัดสินใจโจมตีซีเรียครั้งนี้เพื่อรักษาหน้า
หรือเครดิตผู้นำเพราะได้ขีดเส้นตายเอาไว้ ว่าหากมีการใช้อาวุธแก๊สพิษสังหารประชาชนจริง
จะต้องใช้มาตรการทางทหารสั่งสอนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสสาดให้รู้สึก หลังจากที่ประธานาธิบดี
และรัฐมนตรีต่างประเทศแถลงยืนยันว่ารัฐบาลซีเรียได้ใช้อาวุธแก๊สพิษร้ายแรงกับฝ่ายตรงข้ามในสงครามกลางเมือง
นับแต่ปี ๒๕๕๕ เรื่อยมาจนกระทั่งหนักหน่วงที่สุดในวันที่ ๒๑ สิงหาคมปีนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนทั้งสิ้น
๑,๔๒๙ คน อันรวมถึงเด็กเล็กกว่าสี่ร้อย
จอห์น เบเนอร์ กับประธานาธิบดีโอบาม่า |
ก่อนถึงการอภิปรายในคองเกรสเมื่อเปิดประชุมสมัยสามัญวันที่
๙ กันยายน จากการที่ประธานาธิบดีนำรายละเอียดข้อมูลหลักฐานข่าวกรอง (รวมทั้งในส่วนที่ได้มาจากการดักฟังการสื่อสารทางทหารของซีเรีย)
นำร่องเสนอต่อผู้นำคองเกรส รายงานข่าวกรองยังระบุว่าหน่วยรบที่นำอาวุธแก๊สพิษออกใช้เป็น
หน่วย ๔๕๐ซึ่งเป็นกองกำลังวงในใกล้ชิดประธานาธิบดีอัดสาด
โดยมีเหตุผลสำคัญร่วมกันว่าเพื่อไม่ให้รัฐบาลซีเรียใช้อาวุธแก๊สพิษทำร้ายประชาชนของตนเองได้อีกต่อไป
หากแต่ว่าการโจมตีทางอากาศอย่างจำกัดขอบข่ายจะสามารถยุติพฤติกรรมของรัฐบาลอัสสาดได้ไหม
มิพักที่จะพูดถึงเรื่องยับยั้งการใช้อาวุธแก๊สพิษเหล่านั้นได้เพียงใด
ด้วยข้อคำนึงว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้ที่มีกำลังอาวุธแก๊สพิษมากที่สุดกว่าใครในโลก
อีกทั้งข้อเท็จจริงที่ว่าการโจมตีทางอากาศถึงจะแม่นยำเพียงไหน ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์บนพื้นดินได้
ส่วนจะมากหรือน้อยไม่ต้องพูดถึง
ในเมื่อมาตรการโจมตีซีเรียเดินหน้าแน่นอนแล้ว
โดยที่พันธมิตรนาโต้สองแห่ง คืออังกฤษ กับเยอรมนี ขอนั่งดูเฉยๆ (กรณีอังกฤษนั้นเพราะรัฐบาลพ่ายโหวตต่อฝ่ายค้าน)
ขณะที่ฝรั่งเศสยังแบ่งรับแบ่งสู้ และอิสรเอลกับซาอุดิอาราเบียกระตือรือล้นอยากให้ลุยเร็วๆ
สิ่งที่ทั้งรัฐบาลโอบาม่า
และรัฐสภาคองเกรสต้องคิดหนักในช่วงหนึ่งอาทิตย์ข้างหน้า
ก็คือจะตีอย่างไรให้การสั่งสอนได้ผล สามารถทำลายคลังอาวุธแก๊สพิษ
หรือตัดกำลังจนกระทั่งซีเรียไม่อาจใช้อาวุธเหล่านั้นได้อีก
(โดยการทำให้แสนยานุภาพทางทหารของซีเรียง่อยเปลี้ยไป)
ทั้งนี้โดยตระหนักถึงยุทธวิธีเกี่ยวกับการใช้อาวุธแก๊สพิษในซีเรียที่ว่า มีการทิ้งมาจากเฮลิค็อปเตอร์
และยิงด้วยจรวดขนาดเล็ก
ข้อสำคัญที่สุดซึ่งรัฐบาลโอบาม่ายังไม่ได้เอ่ยถึง แต่นายพลมาร์ติน
เด็มซี่ย์ ประธานเสนาธิการทหารทำบันทึกถึงสภาคองเกรสเมื่อสองอาทิตย์ก่อน และแวดวงสื่อสารวิพากษ์วิจารณ์กันขรมแล้วว่า
จะสามารถจำกัดความผูกพันในสงครามกลางเมืองซีเรียได้จริงหรือ อเมริกาภายใต้การนำของบารัค
โอบาม่าจะไม่ลงไปจมปลักในสงครามภายในของประเทศอื่นอย่างสิ้นเปลืองแล้วขายหน้าภายหลัง
ดังกรณีเวียตนามในยุคเค็นเนดี้-จอห์นสัน หรืออาฟกานิสถานยุคบุสช์ (ผู้พ่อ) หรืออิรักยุคบุสช์
(คนลูก) อีกไหม
ความหวังอย่างเลอเลิศว่าการโจมตีซีเรียของรัฐบาลอัสสาดจะได้ผลชงัดเหมือนการทิ้งระเบิดโคโซโวในสมัยประธานาธิบดีบิล
คลินตันเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๙ ซึ่งใช้การทิ้งระเบิด ๗๘ วันบีบให้รัฐบาลของผู้เผด็จการสโลโบดาน
มิลโลโซวิค แห่งเซอร์เบียซึ่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชาชนยอมจำนนนั้น อาจกลายเป็นเลื่อนลอย
ดังที่ แพ็ตทริก ค็อกเบิร์นเขียนวิจารณ์ไว้ใน เดอะอินดีเพ็นเด๊นซ์ ว่า
ข้อแตกต่างอันยิ่งยวดอย่างหนึ่งอยู่ที่
อัดสาดอยู่ในฐานะที่มั่นคงกว่าเมื่อครั้งมิลโลโซวิคในเซอร์เบีย
ซัดดัม ฮุสเซนในอีรัก หรือมูอัมมาร์ กัดดาฟีในลิเบีย
ผู้นำทั้งสามที่กล่าวถึงนั้นล้วนถูกโดดเดี่ยวในเวทีนานาชาติ
แต่อัดสาดไม่ถึงขนาดนั้น เขายังได้รับการหนุนหลังจากรัสเซียอย่างเหนียวแน่น
จะเห็นได้จากทันทีที่โอบาม่าประกาศว่ามีหลักฐานเชื่อได้แน่ว่าอัดสาดใช้อาวุธแก๊สพิษจริง
ประธานาธิบดีวราดิเมียร์ ปูติน แถลงค้านทันควันว่าไม่จริง
และอ้างว่าเป็นฝีมือของพวกต่อต้านอัดสาดสร้างสถานการณ์ให้ตะวันตกเข้าไปแทรกแซงในซีเรีย
ถึงแม้ทูตสหรัฐประจำมอสโคว์ไปมอบเอกสารหลักฐานสารพิษซารินในเส้นผม และตัวอย่างเลือดที่เก็บจากบริเวณถูกถล่มโดยแก๊สในท้องที่ดามัสกัสตะวันออกให้แก่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียโดยตรง
นายเซอร์ไก แล็ฟร้อฟ กลับบอกว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่มีอะไรใหม่ไปกว่าที่ตนรู้ “ไม่มีข้อเท็จจริงยืนยันว่าการเก็บรวบรวมตัวอย่างหลักฐานได้มาโดยมืออาชีพ”
ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศนี้เองเป็นเหตุจูงใจไม่มากก็น้อยให้ทั้งในฝ่ายรัฐบาล
พรรคเดโมแครท
และเสียงข้างมากรีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรคล้องจองกันหนุนหลังมาตรการส่งกำลังทางอากาศไปโจมตีซีเรียให้จงได้
ประธานาธิบดีเองก็เอ่ยโดยอ้อมๆ ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร (ที่ ๓
ก.ย.)
นั่นคือถ้าหากไม่ทำอะไรก็จะเป็นช่องให้อิหร่านซึ่งวางตนเป็นพี่เอื้อยของรัฐบาลอัดสาดได้ใจ
หากการทิ้งระเบิดซีเรียบานปลายออกไป อิหร่านซึ่งมีความใกล้ชิด
และให้การช่วยเหลือสนับสนุนปฏิบัติการต่อสู้ และต่อต้านอิสรเอลโดยกลุ่มเฮซโบลล่าห์ในเลบานอน
อาจตัดสินใจเข้าไปร่วมจมปลักเป็นฝักฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐ พร้อมกันนั้นก็จะฉวยโอกาสเร่งรัดโครงการผลิตอาวุธปรมาณูของตนด้วย
แม้นว่านับแต่นายจอห์น
แครี่เข้าไปเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ การพูดคุยเพื่อให้อิหร่านยุติโครงการผลิตอาวุธปรมาณูเป็นมาด้วยดี
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐทำการติดต่อเจรจากับรัฐบาลใหม่อิหร่านของประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ในทางลึกโดยมีสุลต่าน คาบู้ส บินซาอิด อัลซาอิด
แห่งโอมานเป็นตัวกลาง ทั้งนี้เนื่องจากประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านมีแนวคิดต้องการปรับกระบวนการเมืองถ้อยทีถ้อยเจรจากับสหรัฐมากขึ้น
แม้ในกรณีซีเรียประธานาธิบดีรูฮานีก็ยังเขียนเฟชบุ๊คของเขาเป็นภาษาอังกฤษว่าไม่เห็นด้วยที่ซีเรียใช้อาวุธแก๊สพิษกับประชาชน
เช่นนี้มาตรการตีซีเรียของประธานาธิบดีโอบาม่าจึงตกอยู่ในสภาวะที่ ‘ช้าไป และน้อยไป’ ในความคิดของสายเหยี่ยวที่ดูจะมีพลังเหนี่ยวรั้ง และยับยั้งมากกว่าตัวตนของคะแนนเสียงที่ปรากฏ
ประธานาธิบดีอิหร่านเองก็ยังวิเคราะห์สถานะของโอบาม่าเปรียบเทียบกับตนเองว่าคล้ายคลึงกัน
คือทั้งที่ชนะเลือกตั้งเข้ามาก็ยังทำตามแนวคิดของตนไม่ได้เต็มที่ ถ้านโยบายนั้นถูกต่อต้านจากพวกอนุรักษ์นิยม
ธอมัส ฟรี้ดแมน
คอลัมนิสต์อเมริกันที่ได้รับความนิยมสูงคนหนึ่งเสนอว่า
ประธานาธิบดีโอบาม่าจะร้อยด้ายเข้ารูเข็มในมาตรการสกัดกั้นการใช้อาวุธแก๊สพิษในซีเรีย
โดยไม่เข้าไปจมปลักสงครามภายในยืดเยื้อ และไม่เป็นผลพลอยได้กระตุ้นให้อิหร่านกับเฮชโบลล่าห์กร้าวกร่างขึ้นมากว่าเดิมละก็
ไม่ควรใช้วิธีตีให้สะดุ้งจังงัง (shock and awe) ต้องใช้การ ‘arm
and shame’ (ติดอาวุธ และทำให้อาย) แทน
ในบทความเรื่อง 'อาร์ม แอนด์ เชม'ของนายฟรี้ดแมนเมื่อวันพุธที่ ๔ ก.ย.
เขาแนะให้รัฐบาลอเมริกันใช้วิธีการฝึกฝนทักษะการรบ และสนับสนุนทางยุทโธปกรณ์แก่กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัดสาดแทน
อันรวมถึงการติดอาวุธหนักอย่างจรวดต่อสู้อากาศยาน และปืนใหญ่ปะทะรถถัง
โดยจะก่อผลให้ซีเรียถูกแบ่งเป็นเขตอิทธิพลของสองฝ่ายที่ไม่สามารถเอาชนะต่อกันและกันได้
ประธานาธิบดีอัดสาดแห่งซีเรีย |
เพราะถึงอย่างไรก้นบึ้งของปัญหาในซีเรียเป็นความขัดแย้งพื้นฐานเรื่องเชื้อชาติระหว่างชนสองเผ่าพันธุ์
คือพวกอลาไว้ท์ที่รายล้อมตระกูลอัดสาด และชนชั้นปกครอง
ซึ่งเป็นเชื้อสายอาหรับมุสลิมชีไอ๊ท์
กับพลเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นอาหรับเผ่าพันธุ์ซันนี่
โดยมีชนเชื้อสายเคิ้ร์ดตามชายแดนร่วมแจมอยู่ด้วย
ในหมู่ชาวอาหรับซันนี่ที่รวมตัวกันเป็นกองกำลังต่อสู้กับรัฐบาลอัดสาดก็ยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ
พวกนิยมตะวันตกของ ‘กองทัพปลดแอกซีเรีย’
กับพวกมุสลิมหัวแข็งที่ใกล้ชิดกับขบวนการจีฮัด และอัลไคดาห์ของ ‘แนวหน้านูสรา’
เมื่อตอนสงครามกลางเมืองซีเรียอายุสองปีครึ่งถึงขีดสุดของความรุนแรงกลางปีที่แล้ว
ฝ่ายกองกำลังประชาชนเรียกร้องให้อเมริกาสนับสนุนทางทหาร
แต่รัฐบาลโอบาม่าไม่กล้าช่วยเต็มที่เพราะเห็นว่าปฏิบัติการกองโจรในซีเรียปะปนยุ่งเหยิง
สหรัฐหวั่นว่าอาวุธจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มอัลไคดาห์
มาบัดนี้ชัดเจนแล้วว่าใครเป็นใครในฝ่ายต่อสู้กับอัดสาด
การติดอาวุธหนักให้กับกลุ่มกองทัพปลดแอกนอกจากจะยับยั้งฝ่ายอัดสาดได้แล้วยังป้องปรามอัลไคดาห์ไปด้วย
นอกเหนือจากนั้นนายฟรี้ดแมนเสนอให้ทำการประจานความชั่วร้ายของอัดสาด
กับภรรยาของเขา และน้องชาย โดยไม่เพียงกล่าวโทษในสภาความมั่นคงสหประชาชาติเท่านั้น
ยังต้องฟ้องร้องกับศาลอาญาระหว่างประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก ว่าคนกลุ่มนี้ได้ก่ออาชญากรรมไว้แก่มวลมนุษยชาติ
รัฐบาลโอบามาใช้หลักฐานการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเพียงครั้งเดียวกับอ้างหลักการว่าทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อโจมตีซีเรีย โดยละทิ้งกระบวนการของสหประชาชาติ กฎเกณฑ์ ระบบความมั่นคงของโลก
ReplyDeletehttp://www.chanchaivision.com/2013/09/Obama-weight-war-Syria-2-130908.html
ขอบคุณคุณชาญชัยที่นำมาแลกเปลี่ยน ที่จริงประเด็นการตีซีเรียของอเมริกา เป็นการเมืองมากกว่าการทูตครับ
ReplyDelete