ตีพิมพ์ครั้งแรก ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ที่ เว็บบล็อกไทย-อีนิวส์
ระหว่างรอฟังการแจงเหตุผล ๑๐๘
ประการว่าทำไมต้องปลดปล่อยนักโทษการเมืองในประเทศไทย
ที่รวมดาวนักประชาธิปไตยมากมายถึง ๑๓ ท่านมาเป็นผู้อภิปราย ณ ห้องราชา
โรงแรมรัตนโกสินทร์ ราชดำเนิน ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคมนี้
พร้อมทั้งกำลังลุ้นกันว่าจะมีการอภิปรายร่างกฏหมายนิรโทษกรรมผู้ต้องข้อหากระทำผิดจากการชุมนุมทางการเมืองในการเปิดสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎร
๑ สิงหาคมที่จะถึงหรือไม่
ก็มีอันเกิดปัญหากับแนวทางการนิรโทษกรรมผู้ได้รับราชทัณฑ์จากผลของการสลายชุมนุมเมื่อ
๑๐ เมษายน และ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ที่แม้จะเป็นการถกเถียงประเด็นถ้อยคำอันจะส่งผลต่อเนื้อหา
ในร่าง พ.ร.บ. สองฉบับ ซึ่งเห็นกันในหมู่ผู้ฝักใฝ่วิถีประชาธิปไตยเนื้อแท้ (ไม่ใช่ชนิดดัดแปลงเสียจนรุ่มร่าม)
ว่าจะเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด โดยไม่แฝงทางเลี่ยงให้คนสั่งการ และพวกแอบอิงสวมรอยได้ลอยนวล
แต่ก็เป็นผลให้เกิดอาการสะเทือนต่อกระบวนการขอคืนความเป็นธรรม
จนดูเหมือนว่าเกิดเหตุจิกกันเองของไก่ในเข่งสีแดง เพราะต่างดิ้นรนกระเสือกกระสนให้พ้นภาวะบีบคั้นกดดัน
แล้วเกิดกระทบกระทั่ง และกระแทกต่อกัน
ซึ่งกระบวนการที่ว่านี้มีการเสนอไว้เป็นร่างกฏหมายจำนวนทั้งสิ้น
๙ ฉบับด้วยกัน ในจำนวนนี้ ๕ ฉบับอ้างว่าเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรืออาจเรียกง่ายๆ
ได้ว่า ‘ขอให้เจ๊ากันไป’ แล้วอดีตนายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะได้กลับบ้านเสียทีด้วย
โดยที่ฉบับเจ๋งของ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งมีเนื้อความง่ายๆ
สั้นๆ แค่ ๖ มาตรา แต่ว่า ส.ส.เข้าชื่อสนับสนุนกันถึง ๑๖๒ คน นั้นก็ยังไม่ได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภา
อีก ๔ ฉบับมุ่งหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้เสียหาย
บ้างสูญเสียชีวิต อิสรภาพ แล้วยังถุกข่มเหงทางกฏหมาย คือผู้ร่วมชุมนุม
ร่วมสนับสนุน และแสดงออกต่างๆ ทางการเมืองนับแต่เกิดการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
เป็นต้นมาถึง ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ที่ยังติดค้างรับทุกข์กันอยู่ในคุก
หรือที่มีโทษติดตรึงไปถึงสัมปรายภพถ้าบังเอิญวิ่งเอาหัวไปชนกระสุนลูกซอง
และสไน้เปอร์ของทหารหาญผู้สลายการชุมนุมล้มตายไปเสียก่อนแล้ว
ซึ่งสองในสี่ฉบับนี้ยังไม่ได้มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา
(ฉบับนิติราษฎร์ และฉบับญาติผู้สูญเสีย) เช่นกัน
ปัญหาของ พ.ร.บ. ปรองดองต่างๆ ทั้งห้า
(รวมทั้งร่างนิรโทษกรรมของนายนิยม วรปัญญา) อยู่ที่ว่าฝ่ายค้าน และเครือข่ายต่อต้านทักษิณปักหลักปฏิเสธหัวชนฝาไม่เล่นด้วย
ไม่ยอมรับ และจับพลัดจับผลูอาจพลิกผันเปิดทางไปสู่การรักษาความสงบแห่งชาติโดยคณะทหารอีกครั้งหนึ่งได้
จึงยังคาราคาซังอยู่ในคิววาระการประชุมสภา
อีกทั้งฐานเสียงประชาชน
และฝ่ายประชาธิปไตยไม่เห็นชอบที่จะปรองดอง ‘เกี๊ยเซี้ย’ กันอย่าง
‘เหมาเข่ง’ ทั้งพรรคเพื่อไทย และฝ่ายการเมืองเกี่ยวเนื่องทักษิณทั้งหลายเลยทำเฉยกันไว้ไปก่อน
ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เสนอโดยคณะนิติราษฎร์นั้นทั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์
และพรรคเพื่อไทยเมินเฉยมาแต่ต้น แถมไม่ยอมแบะท่าให้เลยแม้แต่นิดว่าโอกาศหน้าพอมีหวังหรือไม่
กับร่างฯ ของญาติผู้สูญเสียที่นำร่างเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคณะนิติราษฎร์มาปรับแก้บางส่วน
และแต้มแต่งด้วยความเห็นของนางนิชา (ธุวธรรม) หิรัญบูรณะ ภรรยา พ.อ.ร่มเกล้า
นายทหารผู้เสียชีวิตด้วยระเบิดขว้าง (เอ็ม ๖๗)
ระหว่างบัญชาการสลายการชุมนุมที่สี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ซึ่งนี่ก็คงจะยังเนิ่นเกินไปสำหรับรัฐบาล
และพรรคเพื่อไทยจะแสดงกิริยาใดๆ ตามยุทธวิธีใช้ความระมัดระวังเป็นเลิศ เพื่อยุทธศาสตร์การเป็นรัฐบาลนานๆ
มีแต่ร่างฯ นิรโทษกรรมฉบับของนายวรชัย เหมะ เท่านั้นที่ท่านนายกฯ
ในดวงใจ พี่ชายนายกฯ ผู้งดงามนัก ประกาศสนับสนุนเอาไว้แล้ว
แต่ก็ยังเป็นปัญหาอีกแหละว่าเมื่อมาถึงกระบวนการขับเคลื่อนแล้วจะมีแรงผลัก แรงยื้อกันอย่างไร
เมื่อการเปิดประชุมสามัญวันแรกกลางปี ๒๕๕๖ มาถึง เพราะว่าแม้แต่การเลื่อนลำดับขึ้นมาบรรจุเป็นวาระแรกของการอภิปรายก็ยังเป็นที่กังขา
ทางประธานวิปพรรครัฐบาลบอกว่าในกำหนดการไม่มีการพิจารณาร่างกฏหมายนิรโทษกรรมในวาระแรก
แต่จะมีการเลื่อนร่างฯ ใดขึ้นมามิอาจทราบได้ แต่นายวรชัยเจ้าของร่างฯ ยืนยันว่าจะมีการดันร่างฯ
นิรโทษกรรมขึ้นมาอภิปรายก่อนแน่นอน ตน และเพื่อน ส.ส. ๔๑
คนไม่เห็นด้วยกับฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยที่จะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี ๒๕๕๗
ขึ้นมาพิจารณาอันดับแรก ตามด้วยร่างฯ เงินกู้ ๒.๒ ล้านล้านบาท เพราะทั้งสองร่างยังชงไม่ได้ที่สำหรับการเปิดอภิปราย
(ล่าสุดขณะตีพิมพ์บทความ ณ ที่นี้มีข่าวจากพรรคเพื่อไทยว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่เสนอโดยนายวรชัย
เหมะ ได้รับการจัดเวลาเริ่มอภิปรายแล้วในวันที่ ๗ สิงหาคม)
ตานี้ปัญหามันเกิดตรงที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาโป๊ะเช้งสนับสนุนร่างฯ
นิรโทษกรรมของญาติผู้สูญเสีย โดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคแถลงว่า “ร่างดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์
เนื่องจากไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้สั่งการ คนทำผิดกฎหมายอาญา”
แล้วโฆษกฉายา ‘ปลาบู่ชนตึก’ สาธยายต่อว่า
“แต่คนที่มีพฤติกรรมหรือมีเหตุอันเชื่อว่า
มุ่งหมายต่อชีวิต การวางเพลิงเผาทำลายทรัพย์สิน ประทุษร้ายต่อชีวิตประชาชน และทหาร
จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม”
พร้อมทั้งให้ข่าวยัดปากสองผู้ประสานสำคัญของร่างฯ
คือนางพะเยาว์ อัคฮาด ‘แม่น้องเกด’ และนายพันธุ์ศักดิ์
ศรีเทพ ‘พ่อน้องเฌอ’ ว่า“อาจมีประเด็นปลีกย่อยบางประการที่ต้องระบุให้ชัด เช่น
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไม่ควรจะได้รับการนิรโทษกรรม
กรณีผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ซึ่งจะต้องมานั่งคุยกัน”
ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต |
จากนั้นโฆษกฝ่ายค้านจัดการสอดไส้หลักการนิรโทษกรรมในข้อเสนอของญาติผู้สูญเสียด้วยความเนียนเป็นที่สุดว่า
“หลังจากที่เราตกลงระบุรายละเอียดให้ชัดแล้ว
ขอให้กลุ่มประชาชนเดินไปบอกรัฐบาลให้ถอนร่างทั้งหมดในสภาออก แล้วเรามาร่วมกันพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้”
จึงเห็นชัดในชั้นเชิงในความหวังดีแต่ประสงค์ร้ายของพรรคประชาธิปัตย์ว่า
อาศัยช่องนิชาเข้าไปใช้ญาติผู้เสียหายเป็นเครื่องมือป่วน
และถ่วงกระบวนการนิรโทษกรรม
ครั้นมีเสียงวิพากษ์หนักเข้าพรรคประชาธิปัตย์พอเจอสันดอนเลยออกสันดาน
ปฏิเสธตาใสหน้าตายว่า "ไม่ได้สนับสนุนร่าง
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน"
ด้วยถ้อยตระบัดของโฆษกคนเดียวกันนั่นเองว่า “เป็นความเข้าใจผิด
เพราะจุดยืนของพรรคตั้งแต่แรก คือ นิรโทษกรรมตามฐานความผิด”
อย่างไรก็ดี damage has been done ผลจากการสอดไส้พยายามชักใยป่วนร่างฯ
ของญาติผู้เสียหายทำให้เกิดการโต้เถียงในเชิงวิชาการ
และเปรียบเทียบระหว่างสองร่างที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด คือร่างฯ ผู้เสียหาย
กับร่างฯ นายวรชัย
ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชน
แสดงความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรติงร่างฯ ญาติผู้สูญเสียว่า “ข้อเสนอให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ต้องโทษฝ่าฝืน
พรก.ฉุกเฉิน กำลังทำให้ข้อเรียกร้องการนิรโทษกรรมบิดเบี้ยว”
ดร.พวงทองอ้างถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และดร.วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักวิชาการอิสระที่ต่างสนับสนุนการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้กระทำผิด พ.ร.บ. ฉุกเฉิน (ส่วนกรณีอื่นๆ
ดร.วีรพัฒน์เสนอให้แยกไปพิจารณาพิเศษอีกฉบับหนึ่ง) ว่า
“ก่อนที่ใครจะเสนออะไรนั้น
ควรต้องทำความใจข้อมูลเบื้องต้นเสียก่อน” นั่นคือ
“ประการแรก บรรดาผู้ชุมนุม ๑,๐๑๙
คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ในขณะนี้ พวกเขาได้พ้นโทษไปหมดแล้ว
(มีทั้งโทษปรับ จนถึงจำคุก ๖ เดือน – ๑ ปีครึ่ง)...แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ก็สมควรได้รับนิรโทษกรรม
‘ลบล้างความผิด’ ให้กับพวกเขา
เพราะข้อมูลที่ ศปช.รวบรวมขึ้นมาชี้ว่าขั้นตอนการจับกุมและดำเนินคดีมีปัญหามาก
มีการซ้อมทรมานในระหว่างการจับกุม...
ข้อหาที่ติดตัวคนเหล่านี้จะกลายเป็นตราบาป
สร้างความลำบากในอาชีพการงานให้กับพวกเขาอย่างยิ่ง
จึงสมควรนิรโทษกรรมให้กับคนเหล่านี้ด้วย...
แต่เป้าหมาย ‘เร่งด่วน’ ของการนิรโทษกรรมคือชาวบ้านธรรมดาที่ยังติดอยู่ในคุกอีก
๒๐ คน ที่โดนฟ้องด้วยข้อหาหนัก เช่น เผาทำลายสถานที่ราชการ เผาเซ็นทรัลเวิลด์
ก่อการร้าย มีอาวุธในครอบครอง ก่อความวุ่นวาย บุกรุก ฯลฯ ในจำนวนนี้ศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว
๑๘ คน ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง ๖ – ๓๕ ปี ส่วนอีก ๒คนอยู่ในศาลชั้นต้น
การบอกว่า
‘คนเผา’ ไม่สมควรได้รับนิรโทษกรรมเป็นการพูดโดยไม่สนใจข้อเท็จจริงหลายประการ ดังข้อมูลจากรายงาน
‘ความจริงเพื่อความยุติธรรม’ ของ ศปช. อาทิ “กรณีเผาศาลากลางในต่างจังหวัด
ประชาชนจำนวนมากถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตกเป็นจำเลยเพียงเพราะมีภาพถ่ายอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเท่านั้น”
กับคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ จากคำให้การของ พ.ต.ท.ชุมพล
บุญประยูร เลขาธิการสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย
และที่ปรึกษาด้านอัคคีภัยของกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลฯ มากว่ายี่สิบปี
ชี้ว่าผู้ถูกจับกุม ๙ คนเป็นผู้ที่เข้าไปอาศัยหลบอยู่ในห้าง ไม่มีอาวุธ พวกมีอาวุธเป็นกลุ่มคนชุดพรางที่ไล่เจ้าหน้าที่
รปภ. ของห้างออกไปหมดก่อนเกิดไฟไหม้ในเวลาต่อมา
ดังนี้ “ข้อหาเผาบ้านเผาเมืองอาจเปลี่ยนจากจำเลยคนเสื้อแดงไปเป็นชายในชุดพรางกายแทนก็ได้
แต่สังคมก็เชื่อกันไปแล้วว่าเป็นฝีมือของคนเสื้อแดงอย่างแน่นอน” ทั้งที่จำเลยบางคนหลุดพ้นคดีโดยศาลยกฟ้องไปแล้ว
แต่อัยการก็ได้ยื่นอุทธรณ์ไว้ ถ้าไม่ได้รับนิรโทษกรรมก็คงต้องถูกจองจำต่อ
นอกจากนี้ ดร.พวงทองยังแสดงความเห็นประเด็นการเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่
และกระชับวงล้อมสลายการชุมนุมว่า ข้อความในร่างนิรโทษกรรมฉบับประชาชนที่ว่า “หากการกระทำนั้นไม่สมควรแก่เหตุ
และ/หรือเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมาย”
นี้อาจถูกตีความรวมถึงนายทหารระดับสั่งการที่อ้างว่าปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และผู้อำนวยการ ศอฉ. (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) จึงสมควรแก่เหตุ
และชอบด้วยกฏหมายก็ได้
อีกประเด็นที่สองแกนคนสำคัญผู้เสนอร่างฯ ฉบับประชาชนอ้างเหตุจูงใจว่าเพราะตำหนิร่างฯ
ฉบับนายวรชัยที่ระบุไว้แต่เพียงกว้างๆ ว่า การนิรโทษกรรมจะ “ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ
ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าว” อาจหมายถึงให้เอาผิดแต่เฉพาะนายอภิสิทธิ์
และนายสุเทพเท่านั้น
ดร.พวงทองกับเห็นแย้งว่า “ข้อความกว้างๆ
นี้เปิดโอกาสให้ตีความว่า ‘บรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ’ สามารถหมายถึงผู้นำกองทัพที่มีอำนาจในการวางแผน
และตัดสินใจสั่งเคลื่อนกำลังพลได้ด้วย
แน่นอนว่า ณ
ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยไม่กล้าที่จะขัดแย้งกับกองทัพ
จึงกันผู้นำกองทัพออกจากการดำเนินคดี แต่ในอนาคต อาจจะเป็นสิบปี หรือยี่สิบปีข้างหน้าเมื่อดุลอำนาจทางการเมืองเปลี่ยน
ฝ่ายประชาธิปไตยสามารถรุกคืบทางการเมืองได้มากขึ้น
กฎหมายที่ผ่านสภาแล้วนี้จะเปิดโอกาสให้เราสามารถนำผู้นำกองทัพมารับโทษก็ได้”
ทางด้านผู้ที่ออกมาสนับสนุนร่างนิรโทษกรรมของญาติผู้สูญเสีย
คือ ดร.สมศักดิ์
เจียมธีรสกุล แห่งคณะศิลปศาสตร์ มธ. บอกว่า “อันทีจริงร่างนี้ดีกว่าร่างนิติราษฎร์ในแง่หนึงคือ
มีข้อความทีทำให้รวม ๑๑๒ ไว้ด้วย”
ซึ่งหมายถึง มาตรา ๓ (๓)
ที่กล่าวถึงการกระทำ “ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางการเมือง
ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง”
ถึงกระนั้น ดร.สมศักด์ก็แย้งกรณีที่แม่น้องเกด
และพ่อน้องเฌอแสดงความเห็นต่อสื่อว่าร่างนิรโทษฉบับนายวรชัยหมกเม็ดการไม่เอาโทษทหารระดับบังคับบัญชาเอาไว้ว่า
“ตามร่างวรชัยนั้น ทหารระดับปฏิบัติการจะได้รับการนิรโทษกรรมแน่นอน
เพราะคงรวมอยู่ในข้อความทีว่า....ให้บรรดาการกระทำใดๆ
ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง...ไม่รวมถึง ..ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการ
ปัญหาคือคำว่า ‘ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการ’ ของร่างวรชัยนั้น จะรวมถึงเฉพาะอภิสิทธิ์-สุเทพ หรือ
จะรวมนายทหารระดับบังคับบัญชาไว้ด้วย
เรืองนี้ส่วนหนึ่งกลายเป็นเรืองการเมืองไป นั่นคือในภาวะทีรัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์เอาใจทหาร
และดำเนินการทางกฎหมายโดยผ่าน DSI
(ธาริต) เฉพาะกับอภิสิทธิ์-สุเทพเท่าน้ัน ในทางปฏิบัติก็เท่ากับไม่นับรวมนายทหารระดับบังคับบัญชาไว้ด้วย”
ประเด็นนายทหารระดับสั่งการจะได้รับนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ ใบตองแห้ง ประชาไท ออกมาให้ความเห็นด้วยอีกคนว่าร่างฯ
ของนายวรชัยไม่สามารถตีความให้รวมถึงทหาร-ตำรวจที่เป็นผู้สั่งการในการสลายชุมนุมให้ได้รับนิรโทษกรรมด้วยได้
ใบตองแห้งชี้ให้เห็นมาตรา ๓ ของร่างฯ วรชัยที่ว่า
“การกระทำใดๆ
ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง” ไม่ได้ลอยอยู่โดดๆ
แต่มันประกอบ และขยายการกระทำไปอีกว่า "โดยการกล่าววาจา.. โฆษณา...
ให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน ต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ.....การชุมนุมประท้วง..(ซึ่งเป็นพฤติกรรมของประชาชนล้วนๆ)
ฉะนั้นอ่านทั้งมาตราแล้วแสดงว่าไม่ได้มีเจตนารมณ์นิรโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐ
ก็บอกอยู่ชัดๆ ว่าการกระทำนั้นต่อต้านรัฐ ต่อสู้ขัดขืนเจ้าหน้าที่รัฐ
มันเป็นเจตนารมณ์นิรโทษให้ประชาชน”
ใบตองแห้งสรุปว่าร่างฯ
ของนายวรชัยไม่น่ามีปัญหาอย่างที่ญาติผู้สูญเสียคิด
ปัญหาอยู่ที่นายวรชัยเองดันไปให้สัมภาษณ์ว่าร่างฯ ของตนนั้นนิรโทษกรรมแก่ทหารระดับผู้ปฏิบัติการด้วย
“และว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของตนนั้นจะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพ้นจากความผิดหรือไม่
ให้เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการวิสามัญที่จะพิจารณาในอนาคต”
ยังมีนักกิจกรรมเสื้อแดงระดับแนวหน้าอีกสองคนที่ออกมาสนับสนุนร่างฯ
ของนายวรชัยมากกว่าร่างฯ ของญาติผู้สูญเสีย
ดร.สุดสงวน
สุธีสร หรือ ‘อาจารย์ตุ้ม’ แห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง
คู่กับ ‘อาจารย์หวาน’ ดร.สุดา
รังกุพันธุ์ แห่งกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล บอกว่าร่างฯ ของนายวรชัย “ดูแล้วเหมาะสมที่สุด”
อจ. ตุ้ม |
อจ.ตุ้มวิจารณ์ร่างฯ
ฉบับญาติผู้สูญเสียว่ากรณีละเว้นไม่นิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมที่ใช้อาวุธประทุษร้ายผู้อื่นสามารถตีความ
และอาจครอบคลุมถึงบุคคลที่เรียกว่า ‘ชายชุดดำ’ ซึ่งในกระบวนการไต่สวนคดีไม่ปรากฏว่ามีบุคคลลักษณะนี้
ที่สำคัญก็คือ
การยอมรับชายชุดดำนี่ไปเข้าทางข้ออ้างให้ตนพ้นผิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ซึ่งเป็นผู้ต้องหาสั่งการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธร้ายแรงทำให้ประชาชนเสียชีวิต ๙๑
ราย
อีกทั้งการมายื่นร่างฯ
ฉบับประชาชนในขณะนี้อีกฉบับจะเป็นการถ่วงเวลาการพิจารณาร่างฯ ฉบับนายวรชัย
โดยเฉพาะเมื่อมีข้อเสนอให้ปรับสองร่างฯ เข้าด้วยกัน จะยิ่งเยิ่นเย้อไปใหญ่
ทางด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้รณรงค์ในเชิงสัญญลักษณ์เพื่อเสื้อแดงโดยเรียกตัวเองว่า
‘แกนนอน’
หลังจากแกนนำระส่ำระสายหลังถูกสลายชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อ ๑๙ พ.ค. ๕๓
ให้ความเห็นว่า
ร่างฯ
ของนายวรชัยจะสามารถช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ต้องคดีได้มากกว่า กว้างกว่า
ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีอะไร การเสนอร่างฯ ฉบับญาติผู้สูญเสียนี้ “ยอมรับว่าสับสนกับกระบวนการเสื้อแดง” และร่างฉบับใหม่ต้องใช้เวลาในการรวบรวม
และตรวจสอบรายชื่อ ไม่ทันการประชุมสภาสมัยนี้ ขณะที่ร่างฯ
ของนายวรชัยได้รับการบรรจุในคิววาระรออยู่แล้ว
ปฏิกิริยาที่ (อาจจะ) ทำให้คนที่อยู่ห่างๆ จะเรียกว่าวงนอก
หรือชายขอบก็ได้ชักจะรู้สึกว่ามันจะกลายเป็นไก่จิกกันในเข่ง นั้นมาจากการตอบสนอง
เท่าที่สามารถหยิบฉวยมาเป็นตัวอย่างได้สองราย
หนึ่งนั้นโดย Uchane Cheangsan นักกิจกรรมคร่ำหวอดมาแต่ครั้งเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันมาจนกระทั่ง
‘คนเหมือนกัน’ เขาอ้างถึงข้อความที่
อจ.ตุ้มเอ่ยถึงชายชุดดำในร่างฯ ฉบับผู้สูญเสียที่ว่า “เจตนาของร่างดังกล่าวจึงเป็นที่น่าสงสัย
เพราะจะไปเพิ่มน้ำหนักคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารว่าคนก่อเหตุรุนแรงคือชายชุดดำ อาจเป็นคนสั่งการตัวจริงพ้นผิดได้”
เขาตบท้ายบนเนื้อความสเตตัสก่อนเที่ยงวันอังคารที่ ๒๓ ก.ค.
๕๖ ว่า “ผมขอท้าอาจารย์สุดสงวน สุธีสร
ว่าถ้าผมเอาคลิปชายชุดดำให้อาจารย์ดูได้ ขอให้ อาจารย์กราบขอโทษญาติที่ไม่ใช่วีรชน
และถ้าผมหาให้ไม่ได้ ผมจะไปกราบอาจารย์ผ่านรายการที่อาจารย์จัดทางเอเชียอัพเดท”
อีกปฏิกิริยามาจากกูรูคนสำคัญ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก่อนหน้าอุเชนทร์สัก ๑๑ ชั่วโมง คัดมาให้อ่านกันเต็มๆ ดังนี้
“ถ้าใครอ่านเพจผมประจำคงเห็นไม่ยากว่า
ผม ‘ยั้ง’ ไม่พยายามตอบโต้คนที่ออกมาวิจารณ์ในลักษณะโยนความผิดให้ญาติในลักษณะที ‘เลยเถิด’ เหลือเชือ (ถึงขั้นหาว่าเขาต้องการไถเงิน
หรือกระทั่งพูดเป็นนัยว่า คนตายทีญาติออกมาไมใช่เสื้อแดง หรือประเภท ‘บังเอิญ’ ไปอยู่ตรงนั้นเลยตาย หรือแม้แต่ ‘อาสาพยาบาล’ ก็เพราะอาสาไปงั้นเองไมใช่ต้องการช่วยเสื้อแดง
...ไปถึงหาว่าพวกญาติไม่เห็นแก่คนติดคุก ฯลฯ)
อันที่จริง ผมเห็นว่าการพูดในลักษณะนี้ offensive มากๆ แต่ที่ยั้งไม่ตอบโต้ เพราะเห็นแก่คนพูดเหล่านั้นเอง ไม่ต้องการให้พวกคุณนั่นแหละ ‘เสีย’ มากไปกว่านี้่ (เพราะผมยังเชือในวิจารณาญาณคนอ่านว่า แค่เห็นก็ควรรู้ว่าการพูดแบบนี้มันเลยเถิด เสียต่อตัวคนพูดขนาดไหน)
แต่ถ้ายังไม่หยุดบิดเบือน โยนความผิดให้ญาติที่ไม่เกียว และไมใช่คนรับผิดชอบ เรื่องคนติดคุกมานาน ถึงตอนนี้ หรือความสำเร็จล้มเหลวของ พรบ.นิรโทษกรรม
ผมจะตอบโต้เต็มๆ บ้างแล้ว เพราะเห็นว่าชักจะมากไปแล้ว ตกต่ำทางคุณธรรม และสามัญสำนึกมากเกินไปหน่อยแล้ว”
อันที่จริง ผมเห็นว่าการพูดในลักษณะนี้ offensive มากๆ แต่ที่ยั้งไม่ตอบโต้ เพราะเห็นแก่คนพูดเหล่านั้นเอง ไม่ต้องการให้พวกคุณนั่นแหละ ‘เสีย’ มากไปกว่านี้่ (เพราะผมยังเชือในวิจารณาญาณคนอ่านว่า แค่เห็นก็ควรรู้ว่าการพูดแบบนี้มันเลยเถิด เสียต่อตัวคนพูดขนาดไหน)
แต่ถ้ายังไม่หยุดบิดเบือน โยนความผิดให้ญาติที่ไม่เกียว และไมใช่คนรับผิดชอบ เรื่องคนติดคุกมานาน ถึงตอนนี้ หรือความสำเร็จล้มเหลวของ พรบ.นิรโทษกรรม
ผมจะตอบโต้เต็มๆ บ้างแล้ว เพราะเห็นว่าชักจะมากไปแล้ว ตกต่ำทางคุณธรรม และสามัญสำนึกมากเกินไปหน่อยแล้ว”
น่าเสียดายที่ประเด็นผู้ต้องขังด้วยข้อหา
และคำพิพากษาความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ยังไม่ได้รับการถก
(หรือกระทั่งทะเลาะ) กันให้เห็นกระจ่างทางหนี หรือวิธีทะลวงทางตันแต่อย่างใด
ไม่แต่เพียงผู้ได้รับทัณฑ์ต่อการนี้จะถูกปฏิเสธการประกันตัว
ตัดสินโทษรุนแรง ถูกซ้อมเป็นพิเศษในระหว่างคุมขัง (การเปิดเผยของ 'หนุ่ม เร็ดนนท์' เป็นหลักฐาน) บางคน เช่นนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แม้จะมีพระราชทานอภัยโทษแล้วก็มีข่าวว่าจะมีการขุดค้นแจ้งความเก่านำมาฟ้องคดีใหม่อีก* เหมือนจะตั้งใจให้ตายในคุกแบบเดียวกับ ‘อากง’ นั่นแล้ว
แม้กระทั่ง
ดร.สมศักดิ์เองได้แตะเอาไว้ที่ว่า “ประเด็น ๑๑๒
ทียากจะได้รับการรวมไว้ใน ‘มูลเหตุจูงใจทางการเมือง’ (ดังปรากฏในข้อเสนอเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมของคณะนิติราษฎร์)
ถ้ามีการให้กรรมการทีมาจากนักการเมืองเป็นคนตัดสิน”
หวังแต่ว่าประเด็นข้อเสนอนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองตามความผิด
ม. ๑๑๒ คงจะได้รับการนำขึ้นมาอภิปรายโดย ๑๓ อรหันต์นักประชาธิปไตย ที่จะไปถกเรื่อง
'๑๐๘ เหตุผล
ทำไมต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง' ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ศุกรที่ ๒๖ ก.ค. นี้
อย่างน้อยๆ พอให้เห็นหนทางบ้างว่า ทางตันที่ยอมรับกันว่ายากกว่ายากนั้น
มันอุดไว้ด้วยวัสดุชนิดใด จะได้มีช่องเพื่อไปคิดค้นวิจัยหาวิธีทะลวงทะลาย
ได้เริ่มนับหนึ่งเสียทีก็ยังดี
(* ประเด็นนี้ ส.ส. นครสวรรค์พรรคเพื่อไทย ดร.
สุนัย จุลพงศธร กล่าวถึงไว้ในปาฐกถาที่ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
ในนครซาน ฟรานซิสโก เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ศกนี้)
No comments:
Post a Comment