ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ 'ออน เดอะ ไบร๊ท์ ไซ้ด์' by Rayib
“ผ่านวันเวลาจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังมีผู้ถูกจับกุมคุมขังด้วยมาตรา
๑๑๒ อยู่มากมาย คงไม่ต้องถามว่า วันนี้ประเทศไทยมีเสรีภาพพอหรือยัง -Pruay
Salty Head, 27 มิถุนายน 2556”
นั่นเป็นข้อเขียนลงท้ายบทความครบรอบสามปีของผู้ใช้นาม
'ปรวย ซ้อลตี้เฮด' อดีตนักเล่นเว็บบอร์ดที่ถูกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์ไทยเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งบัดนี้สามปีผ่านไปยังคงเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยในข้อหาเดียวกันจำนวนไม่น้อยที่รอคอยการเปลื้องมลทิน
อันความระคายเคืองจะได้รับการปลดเปลื้องได้เมื่อมีการปรับปรุง
(ปฏิรูป) เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกมาตรา ๑๑๒
ในประมวลกฏหมายอาญาของไทยให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
และสะท้อนหลักเกณฑ์ความถูกต้องของกฏหมาย ที่ในทางสากลเรียกว่า Rule
of Law และในประเทศไทยเรียก ‘นิติธรรม’
แน่ละในสถานการณ์ขณะนี้
ที่รัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งของประชาชน (ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ต้องการเห็นการปกครอง
การทำมาหากิน และการใช้ประโยชน์ทรัพยากร สะท้อนถึงสิทธิ
และเสรีภาพของมวลมหาประชาชนอย่างสมบูรณ์เสียที) นั้นเองยังแอบเปรยๆ ว่า
“เอาตัวไม่ค่อยจะรอด”
ความเปลี่ยนแปลงจึงออกจะหวังได้ยากแม้กระทั่งในขั้นต่ำสุดคือการปรับปรุง
ม.๑๑๒
เช่น ให้ระวางโทษสมจริงไม่สุดโต่ง
สมน้ำสมเนื้อกับความผิด ไม่ต้องมีโทษขั้นต่ำ ๓ ปี
เพื่อที่ผู้ถูกกลั่นแกล้งด้วยการบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้มี ‘สิทธิ’ พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนแล้วศาลยกฟ้องไม่ต้องลงอาญา หรือว่าโทษขั้นสูงสุด ๑๕ ปีรุนแรงเสียยิ่งกว่าโทษฆ่าคนตาย
ด้านตัวบทแห่งกฏหมายไม่ควรที่จะเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ยื่นฟ้องใครก็ได้
อันเป็นหนทางให้ ก.ม.ถูกใช้เป็นเครื่องมือห้ำหั่นเอาชนะกันทางการเมือง ดังเช่นทหารฟ้อง
ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ในข้อหาที่ผู้ถูกอ้างว่าเสียหายคือเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์
มิได้เข้าข่ายบุคคลใน ม. ๑๑๒
หรือนายวิพุธ สุขประเสริฐ ผู้ใช้นาม 'ไอแพ้ด' เที่ยวฟ้องใครต่อใครเป็นสิบๆ
รายรวมทั้ง ดร.สุรพศ ทวีศักดิ์ ‘นักปรัชชญาชายขอบ’ และปรวย ซ้อลตี้เฮด หรือกระทั่งกรณีที่ พี่ชายฟ้องน้องชาย
ในความผิด ม.๑๑๒ แต่ว่ามูลเหตุความไม่พอใจมาจากขัดแย้งผลประโยชน์ส่วนตัว
จึงเป็นความระเหี่ย
อ่อนเปลี้ยของผู้ที่คอยความเป็นธรรมจำนวนมากที่บางคนอยู่ในคุก
บางคนอยู่ในระหว่างประกันตัว และอีกบางคนอยู่ในระหว่างหลบหนี-ลี้ภัย ทั้งหมดล้วนแต่ได้แสดงออกทางความคิดตามสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของตน
หลายคนเคยเป็น หรือแม้แต่กำลังเป็นผู้ที่คนทั่วไปรู้จักดี (High
profiles) อีกหลายคนมีแต่ชื่อปรากฏในเอกสารข้อเขียนบางแห่ง
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีของปรวย
ซ้อลตี้เฮด เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า แม้เขาจะเป็น ‘ชนชั้นกลาง’ ที่ในมาตรฐานแบบไทยๆ ‘ไม่น่าจะ’ มีความคิดก้าวหน้า (progressive) และกล้าแสดงออกมากกว่าเพื่อนร่วมชนชั้นอื่นๆ จึงต้องกลับกลายเป็นผู้ลี้ภัยที่แม้นจะไม่ถูกจำกัดอิสรภาพ
ก็ยังประสพกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ราบรื่นนัก ดัง ข้อเขียนของเขาเอง
ในตอนหนึ่ง
“เมื่อผมโพสเรื่องราวที่ผมโดนจับครั้งแรกนั้น
แม่ผมกับน้องก็โดนเรียกไปสอบ นั้นทำให้ครั้งนี้
พวกเขาถึงขนาดเอ่ยปากฝากมาว่าให้ผมเลิกโพสอะไรเสียทีเถอะ
เพราะคนที่อยู่ในประเทศเดือดร้อน
นี่มันก็เหมือนเจ้าหน้าที่ทำอะไรผมไม่ได้ก็เที่ยวไปกดดันคนที่ผมรักแทน
เพื่อจะให้ผมหยุดต่อสู้”
ภาพโปสเตอร์จากเฟชบุ๊ค Junya Lek Yimprasert |
ปรวย ซ้อลตี้เฮดเป็นใคร
ในเบื้องต้นขอเชิญทำความรู้จักเขาแบบเดียวกับที่ผู้เขียนได้รู้จักจากข้อความสั้นๆ
ที่เขียนโดย จรรยา
ยิ้มประเสริฐ ผู้ต้องหา ม. ๑๑๒
ที่ลี้ภัยอยู่อีกคน ดังนี้
“ปรวย Salty Head ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาที่สนใจการเมือง และโพสต์ข้อคิดเห็นทางการเมืองในเวบบอร์ดประชาไท
และฟ้าเดียวกัน (คนเหมือนกัน) หลังจากถูกจับกุม และสอบสวนในเดือนพฤษภาคม 2553
โดยสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เขาพบว่าตำรวจได้ติดตามเขามาตั้งแต่ปี
2551 ทั้งนี้ตำรวจ DSI 12
คนเข้าตรวจค้นที่บ้านพักของเขาในปลายเดือนพฤษภาคม 2553
และนำตัวเขาพร้อมเครืองคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว 2 เครื่องไปยังสำนักงาน DSI ซึ่งเขาถูกสอบสวนหลายชั่วโมง
...เขาออกจากงาน
ตัดสินใจขายรถและเดินทางออกจากประเทศไทย”
และจากที่เขาตอบข้อซักถามของนายตำรวจดีเอสไอตอนหนึ่งว่า
“ผมนี่โคตรชนชั้นกลางเลย ชีวิตถ้าไม่มายุ่งกับเรื่องนี้ก็โคตรสบายเลย
ทำงานมีเงินใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลาง สบาย มีตังค์ก็ไปกินเหล้า เที่ยวผับ ตีหม้อ
เลี้ยงเด็ก ช้อปปิ้ง รากหญ้า ชาวบ้านจะเป็นยังไงก็ไม่ต้องสนใจ
เพราะกูเป็นชนชั้นกลาง เอามั๊ยละ ท่านอยากให้พลเมืองของประเทศเป็นแบบนั้นหรือเปล่าเอามั๊ยละ
ให้พลเมืองของประเทศไม่ต้องสนใจบ้านเมือง หาความสุขใส่ตัวอย่างเดียว เอามั๊ย
ผมประชด”
การที่เขาเล่าถึงสิ่งที่เกิดกับตัวด้วยข้อเขียนของตนเองสี่ครั้ง
ทำให้สรุปว่าเขาก็คือคนไทยวัยทำงานที่มีการศึกษาดี (แล้วยังมีความรู้เยี่ยมด้วย)
มีการงาน และรายได้พอมีอันจะกิน มีความคิดอ่านแบบเสรีนิยม
และสำคัญที่สุดรักความจริงจนอดไม่ได้ที่จะโพทนาความเท็จ ประจานความชั่ว
ไม่ยอมให้น้ำท่วมปาก ไม่อยากเสแสร้งกราบกรานใครในเมื่อไม่ได้รัก-ศรัทธาแท้จริง
เขาเล่าถึงระหว่างถูกนำตัวไปสอบสวนที่สำนักงานดีเอสไอว่า
“ผมนึกไว้แล้วว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นผมจะพูดความจริง
เพราะในยามขับขันแบบนี้ขืนไปโกหกตัวเราเองนั่นแหละที่จะจำไม่ได้ว่าเราโกหกอะไรไป
ผมเชื่อในความบุริสุทธิใจของผม ผมไม่ได้ไปโกงใคร ไม่ได้ไปฆ่าใคร ไม่ได้ปล้นใคร
เพราะฉะนั้นผมจะพูดความจริงที่ผมทำ และจะพูดความจริงที่ผมคิดอย่างไม่ปิดบัง”
เขาถูกดีเอสไอซักเรื่องที่เคยลงรูปคณะรัฐประหารปี
๒๕๔๙ (คมช.) เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลางดึก กับข้อความที่เขาลงไว้ในปี
๒๕๕๑ เกี่ยวกับพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวฯ ต่อคณะผู้พิพากษาหลังการเลือกตั้งเดือนเมษายน
๒๕๔๙ ที่ว่า “มีทางทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้มั๊ย”
ซึ่งในความเห็นของปรวยที่ตอบดีเอสไอไปว่า “พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่าทุกข์ให้ดับที่เหตุ
คุณไม่อยากให้คนวิจารณ์สถาบันแต่ปล่อยให้สถาบันลงมายุ่งการเมือง
ปล่อยให้อีกฝ่ายเอามาอ้างทำลายอีกฝ่าย แล้วคุณมาไล่จับคนวิจารณ์
ผมถามว่ามันจะหมดมั๊ยครับ คุณจะจับหมดมั๊ยครับ”
แล้วยังกรณีการเสียชีวิตของนางสาวอังคณา
ระดับปัญญาวุฒิ ที่เขาตอบดีเอสไอว่า “โห
ท่านเคยได้ยินวันตาสว่างแห่งชาติหรือเปล่าครับ” กับ “คนไทยไม่โง่นะครับ เขาดูออกว่าทำไมมันถึงสองมาตรฐาน
ฝ่ายนึงโดนไล่ล่า ฝ่ายนึงทำผิดยังไงก็ได้ ไม่มีใครทำอะไร
คนไทยรับรู้เรื่องแบบนี้ได้ง่ายครับ เพราะมันอยู่ในชีวิตประจำวัน”
เหล่านี้อาจทำให้ตำรวจที่สอบสวนเขาตอบสนองว่า
“เออ คุณมีความคิดดีนะ” บ้างก็ว่า “ผมอ่านแล้วผมก็ชอบแนวคิดของพี่นะ แต่ว่า….” มีวลีหนึ่งที่เขาได้ยินทั้งวันนับเป็นสิบหนตลอดการสอบสวนคือ “ยังไงมันก็ผิดกฎหมาย”
มันจึงกลายเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า
กฏหมายเป็นที่พึ่งให้แก่สิทธิมนุษยชนหรือเปล่า กฏหมายกลายเป็นสัตว์ดุร้าย กลายเป็นอาวุธน่าสะพรึงกลัวไว้กดขี่ชาวบ้านชาวช่องหรือไม่
กฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ของไทยเป็นที่กล่าวถึงอย่างสยองขวัญในประชาคมโลกว่า Draconian
Law เพราะอะไร
เพราะตัวบทของมันโหดเหี้ยม
รุนแรงประดุจสัตว์ร้ายใช่ไหม
คำของนายตำรวจดีเอสไอที่ตอบกลับปรวยระหว่างการสอบสวนช่วงหนึ่งว่า “คุณรู้ใช่มั๊ย ยังไงประเทศนึงมันต้องมีสถาบันหลักเป็นหลักของประเทศ”
นั่นอาจเป็นการอ้างอิง out of contexts เพราะการมีกฏหมายที่โหดเหี้ยม
และไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนไว้ปกป้องสถาบันหลักของประเทศ ย่อมทำให้ความน่ารัก
น่าศรัทธาของสถาบันหลักเสื่อมลงไป
‘ออน เดอะ ไบร๊ท์ ไซ้ด์’
จึงอยู่ที่การแก้ไขซึ่งกล่าวได้ว่าไม่ใช่เรื่องยากอันใด ก่อนอื่นขึ้นอยู่กับผู้ที่มีพันธะหน้าที่
มีความรับผิดชอบ และมีอำนาจ (Authority) ที่ได้รับมอบหมายโดยอธิปไตยของปวงชน
จะต้องมีเจตนาทำให้สิ่งที่ยังขาดตกบกพร่องดีขึ้น ด้วยการลงมือดำเนินการ
อย่าพะว้าพะวังรั้งรอเท่านั้นเอง
แน่นอนว่าในหนทางย่อมมีอุปสรรค และมีปัญหาขัดข้องที่ต้องแก้ไขพร้อมไปด้วยตามกระบวนการ
ในที่นี้คือทำให้กฏหมายที่มักอ้างอิงกันอยู่เสมอนั้นชอบธรรม และมีคุณธรรม
ตั้งแต่กฏหมายลูกๆ อย่าง อาญา ๑๑๒ และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ๒๕๕๐ไปจนกระทั่งกำจัดปัจจัยอันทำให้สิทธิของมนุษยชนไทยไม่เท่าเทียม
ดังเช่นกฏหมายพ่อ-แม่ เช่น ก.ม.รัฐธรรมนูญ
๒๕๕๐ ซึ่งถึงจะมีบทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประดับไว้สวยหรู แต่เนื้อในหลายส่วนในรัฐธรรมนูญสอดใส้แฝงไปด้วยองค์กรพิเศษต่างๆ
ซึ่งมีอำนาจวินิจฉัย และบังคับไปทางปรปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีผลต่อการใช้สิทธิมนุษยชนของพลเมืองทั้งทางตรง
และทางอ้อม
การได้มาซึ่งสมาชิกสภาสูงจำนวนเกือบครึ่งโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
หรือการเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ องค์กรอิสระ
และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตุลาการเหนืออำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร กับการคงอยู่ขององคมนตรีในที่ทางสูงเด่นของรัฐธรรมนูญ
เป็นตัวอย่างความลักลั่นที่หลักการสิทธิมนุษยชนสากลถูกเบียดบัง
หมวดพระมหากษัตริย์ มาตรา ๑๒ ถึง ๑๖ เกี่ยวกับความสูงส่งแห่งองคมนตรีจนเป็นช่องทางให้เกิดการอ้างอิง
บดบัง และครอบงำไม่ให้ประชาชนถ้วนหน้าสามารถใช้สิทธิมนุษยชนได้อย่างสมบูรณ์ตามเนื้อหาหลักการ
ดังนั้นจึงสมควรยกออกไปเสียจากตำแหน่งแห่งหนในกฏหมายสูงสุดของประเทศ
ไปสู่ที่ทางอันเหมาะสม คือในระเบียบปฏิบัติแห่งสำนักพระราชวัง
เช่นนี้ไม่เพียงจะทำให้หลักการสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญไทยสง่างามสมจริง
แล้วยังเป็นอาณิสงค์แก่ผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดั่งการโปรดสัตย์ (ย้ำ-‘สัตย์’) ในนัยยะที่ปรวย ซ้อลตี้เฮดสาธยายไว้แก่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอนั่นแล
No comments:
Post a Comment