ผู้ที่เกาะติดสถานการณ์อียิปต์ช่วงนี้คงอดคิดไม่ได้ว่า
“เขาเอาอย่างไทยนี่หว่า”
บ้างอาจคิดเลยเถิดไปถึงว่าอาจมาจากทฤษฎีเดียวกันในฐานที่ทั้งสองประเทศมีสิ่งเหมือนกันอย่างหนึ่ง
คืออำนาจการเมืองล้นหลามอยู่ที่ทหาร และผู้ชักใยลึกล้ำที่ปลายเชือกคือเอ็นเอสซี
และ/หรือเพ็นตากอน
แต่ช้าก่อน
ข้อคิดนั้นอาจผิด หรือถูกนิดเดียวก็ได้ ในเมื่อคณะทหารอียิปต์ที่แสดงอำนาจอย่างก้าวร้าวเวลานี้แทบไม่เห็นมีสายใยผูกโยงกับอดีตผู้เผด็จการสูงสุดของตนเหลืออยู่
ในสภาพที่อดีตประธานาธิบดีฮอสนิ มูบารัค ถูกควบคุมตัว (ในโรงพยาบาล) จากคำตัดสินจำคุกตลอดชีวิตข้อหาสมรู้กับการเข่นฆ่าประชาชน
แถมสุขภาพทรุดหนัก ลูกเมีย และบริวารใกล้ชิดหมดสิทธิเหี้ยนหือเหมือนเก่า
อีกทั้งสภาความมั่นคง
(National
Security Council) และกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ผู้ที่ได้รับการวิพากษ์คาดเดาว่าจับปลายเชือกชักใยคณะทหารอียิปต์อยู่ไกลๆ
นั้นแสดงท่าทีเห็นชัดว่าตัดเชือกมูบารัคไปแล้ว แต่อาจยังถือหางคณะทหารชุดที่กุมอำนาจปัจจุบันอยู่ในที
ด้วยการไม่ค่อยว่ากล่าวติเตือนในฐานะที่เป็นพี่เอื้อยเท่าไรนัก แม้เมื่อคณะทหารอียิปต์จะออกนอกแถวประชาธิปไตยไปไกลพอสมควรก็ตาม
ดังเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากระทรวงวางแผน
และความร่วมมือต่างประเทศของอียิปต์เปิดฉากจับกุมดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่นานาชาติขององค์การส่งเสริมประชาธิปไตยในไคโร
๔๓ คน ที่เป็นชาวอเมริกันเสีย ๑๖ คน (อีกสามคนไม่ถูกจับกุมเพราะอยู่นอกอียิปต์) ในข้อหาดำเนินการเปิดชั้นเรียนให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยแก่ชาวอียิปต์โดยไม่มีใบอนุญาต
เรื่องนี้เป็นที่วิจารณ์กันมากว่ารัฐบาลชั่วคราวอียิปต์กระทำการอย่างไม่ไว้หน้าพี่เอื้อย
ในเมื่อเป้าหมายหลักของสหรัฐในการเกื้อหนุนอียิปต์ด้วยงบประมาณช่วยเหลือมาเป็นเวลาสามสิบปีมูลค่ากว่า
๕ หมื่นล้านเหรียญ โดยเฉพาะความช่วยเหลือทางการทหารปีนี้ ๑,๓๐๐ ล้านเหรียญ*(1) นอกจากผลทางด้านความมั่นคงสามารถประคองรักษาดุลยภาพระหว่างอียิปต์
อิสรเอล และสหรัฐในภูมิภาคได้ดีแล้ว
ยังมีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย
นับแต่การโค่นล้มผู้เผด็จการมูบารัคโดยขบวนการ
“อาหรับสปริง” สำเร็จมาเป็นเวลาปีกว่า
ปรากฏว่าความสำเร็จที่เรียกกันในอียิปต์ว่าการปฏิวัติประชาชนกลับถูกฉกฉวย (Highjack)
เอาไปเสียเกือบสิ้นเชิงโดยคณะทหาร เมื่อมีสภากลาโหมเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศแทนรัฐบาลรักษาการ
และดูแลการเลือกตั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการมูบารัคไปสู่ประชาธิปไตยโดยตัวแทนประชาชน
สภากลาโหมอันเป็นศูนย์บัญชาการของคณะทหารแทนที่จะประคับประคองการเลือกตั้ง
และการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการปกครองของกลุ่มตัวแทนประชาชน กลับพยายามกินรวบ ครอบงำ
และกระชับอำนาจของตนอย่างไม่รั้งรอ จนกระทั่งถึงจุด “หักดิบ” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔
มิถุนายนด้วยการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบสภาผู้แทนราษฎร ในคำพิพากษาคดีเกี่ยวกับร่างกฏหมายที่สภาอนุมัติห้ามนายทหาร
และอดีตข้าราชการการเมืองของรัฐบาลมูบารัคลงสมัครรับเลือกตั้งในสัดส่วนของผู้สมัครอิสระ
สภาผู้แทนฯ
ที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim
Brotherhood) ครองเสียงข้างมากนั้นได้ผ่านกฏหมายออกมาฉบับหนึ่งเป็นผลให้นายอาห์เม็ด
ชาฟิค อดีตนายพลอากาศผู้ที่มูบารัคแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายจะต้องหมดสถานะผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
สองวันก่อนการออกเสียงเลือกตั้งรอบสุดท้ายระหว่างผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสองคน
คือนายชาฟิคกับนายโมฮาเม็ด มอร์ซี ตัวแทนมุสลิมภราดรภาพ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างลุกลี้ลุกลนว่า
การอนุมัติกฏหมายของสภาไม่สอดคล้องกับธรรมนูญชั่วคราวที่สภากลาโหมได้ประกาศใช้เป็นแนวทางสำหรับช่วงเปลี่ยนผ่านของรัฐบาลรักษาการ
จึงตัดสินให้นายชาฟิคยังคงมีสถานะผู้สมัครต่อไป
และสั่งยุบสภาผู้แทนฯ ทันที อันเป็นการตัดสินที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการสกัดกั้นตัดตอนสถาบันนิติบัญญัติอย่างอุกอาจ
ในลักษณะที่คล้ายคลึงอย่างยิ่งกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยสั่งให้รัฐสภาระงับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสาม
เป็นที่กล่าวขานกันไปทั่วโลกว่าศาลรัฐธรรมนูญอียิปต์ซึ่งล้วนประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มาจากการแต่งตั้งของมูบารัคทั้งสิ้นนั้น
ได้ทำการรัฐประหารแบบนุ่มๆ เสียแล้ว
เท่านั้นไม่พอ
สองวันให้หลังระหว่างที่รอการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี
และปรากฏคะแนนของฝ่ายภราดรภาพมุสลิมนำอย่างสูสี แต่มั่นใจได้ว่าโมฮาเม็ด มอร์ซี
คงจะเป็นผู้ชนะ สภากลาโหมอียิปต์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวของตนขึ้นมา
โดยมีเนื้อหาสำคัญที่กำหนดอำนาจในการควบคุมการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี
กำกับการด้านนิติบัญญัติ ดูแลการจัดงบประมาณแผ่นดิน และอนุมัติการประกาศสงคราม ให้ขึ้นอยู่กับสภากลาโหมทั้งสิ้น
ถ้าบอกว่าก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญอียิปต์เลียนแบบไทย
ถึงจุดนี้สภากลาโหมอียิปต์ดูเหมือนจะแซงหน้าไปไกลแล้วทีเดียว หวังแต่ว่านายทหารไทยที่ไปประชุมกันที่อยุธยาเมื่อวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ในชุดทหารบกเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับการถวายที่ดินทุ่งมะขามหย่องจากตระกูลชินวัตร
ตามรายงานของนักวิชาการมหาวิทยาลัยอะเดลเลด ออสเตรเลียนั้น*(2) คงจะไม่คิดเอาอย่างบ้างหรอกนะ
เนธาน
บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญกรณีศึกษาอียิปต์แห่งมหาวิทยาลัยจ๊อร์จ
วอชิงตันวิเคราะห์ไว้ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวของสภากลาโหมอียิปต์เป็นการ “ทำให้รัฐประหารเสร็จสมบูรณ์อย่างที่น่าจะเป็นมาแล้วหลายครั้ง....มันนำเอากฏอัยการศึกกลับมา
ปกป้องคณะทหารจากการตรวจสอบโดยสาธารณะ โดยประธานาธิบดี หรือโดยรัฐสภา
มันทำให้การครอบงำการเมืองโดยทหารยังคงดำรงอยู่ต่อไป”*(3)
อันที่จริงคณะทหารอียิปต์ผ่านทางศาลรัฐธรรมนูญมีความพยายามที่จะล้มล้างองค์กรนิติบัญญัติ
และรวบอำนาจเบ็ดเสร็จมาก่อนหน้านี้แล้วอย่างน้อยสองครั้ง ในปีค.ศ. ๑๙๘๗ และ ๑๙๙๐*(4) ด้วยข้อกล่าวหาอย่างเดียวกันในเรื่องที่ว่าสภาใช้อำนาจเกินขอบข่าย
แต่ละครั้งก็ถูกสภาปฏิเสธที่จะรับคำตัดสินเช่นเดียวกับครั้งนี้ ซึ่งตัวแทนเสียงข้างมากในสภา
(โฆษกของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม) ประกาศว่าจะไม่รับฟังคำตัดสินของศาล
สภากลาโหมจึงได้ประกาศรัฐธรรมนูญใหม่ชั่วคราวออกมาข่ม
คณะทหารอียิปต์ชุดที่กุมอำนาจอยู่ปัจจุบันน่าจะขาดสายป่านกับมูบารัคไปแล้วดังกล่าวข้างต้น
และพยายามที่จะจัดตั้งว่านเครือ (Dynasty) ผู้ปกครองสายใหม่ ด้วยการรวบรัดอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่าน
หลังจากที่ฉกชิงผลพวงของอาหรับสปริงไปจากพวกนักปฏิวัติประชาชนที่ไม่มีกำลังแสนยานุภาพทางอาวุธ
จึงใช้ยุทธวิธีทุกวิถีทางที่จะปิดฝาโลงอุดมการณ์แห่งการมีส่วนร่วมทางการปกครองของคนส่วนใหญ่ในประเทศ
ที่เรียกรวมๆ ว่าประชาธิปไตย
คณะทหารของไทย
และกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงอำนาจทางการเมืองที่เรียกกันว่า “อำมาตย์” ก็ไม่น่าจะต่างไปเท่าใดนัก ต่างแต่ว่าคณะทหารอียิปต์มิได้มีภูมิคุ้มกันไว้อ้างอิงเพื่อผลักพันธะรับผิดชอบไปพ้นตัว
เหมือนอย่างฝ่ายตรงข้าม กลุ่มอิสลาม (Islamist) และภราดรภาพมุสลิม
ที่ย่อมอ้างอิงพระเจ้าเป็นสรณะ
ขณะที่กลุ่มทหาร-อำมาตย์ไทยก็สามารถเบี่ยงตัวเลี่ยงความรับผิดได้ด้วยการอ้างทศพิธราชธรรมแห่งสถาบันกษัตริย์อยู่เสมอ
การอ้างอิงความจงรักภักดีบ้าง พระมหากรุณาธิคุณบ้าง
บ่อยครั้งเป็นนามธรรมที่ลอยฟ่องเสียจนมองไม่เห็นตัวตน
แต่ครั้นการกระทำเกิดขึ้นจริง
มีผู้เสียหาย มีคนตายจริง ดังกรณีสลายชุมนุม และการดำเนินคดี ม. ๑๑๒ กลับไม่มีตัวตนรับผิดชอบ
ต้นตอของการกระทำไปตกอยู่กับ “นามธรรม” ของตัวบทกฏหมายบ้าง
พระราชกำหนดบ้าง พระราชบัญญัติบ้าง เรื่อยเลยไปถึงการตีความรัฐธรรมนูญ
จึงเกิดวลี
“มือที่มองไม่เห็น” และ “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาใช้แทนตัวตนที่ลอยฟ่องเสียจนมองไม่เห็นนั้น
แท้จริงแล้วไม่ต่างอะไรจากผู้กระทำการในความหมายของคำว่า
“อีแอบ” ซึ่งมักจะเอาแต่ได้ ไม่รับผิดชอบการกระทำของตน ให้ผู้อื่นออกหน้า
รับแรงปะทะ รับผลร้าย รับโทษ และไปตายแทน ตนนั้นอยู่เบื้องหลังคอยรับแต่ผลดีถ่ายเดียว
ปัญหาทางการเมืองของไทยที่รำไรจะไปถึงการห้ำหั่นครั้งใหญ่
ก็เป็นเพราะมีอีแอบที่ให้ทุกข์แก่คนมากมายแต่รับลาภแบ่งปันเฉพาะบริวารหมู่น้อยนี้เอง
ทำให้เกิดอาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ขึ้น โดยที่ผู้ลงมือกระทำลอยตัวเพราะอ้าง “นามธรรม” ดังกล่าว
*(1)
รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินคดีกลุ่มอาสาสมัครอบรมประชาธิปไตยในอียิปต์
ดูได้ที่ http://www.nytimes.com/egypt-will-try-19-americans-on-criminal-charges.
และ http://www.nytimes.com/opinion/friedman-fayzas-last-dance.
*(2) เรื่องราวเต็มดูได้จาก http://thaipoliticalprisoners.wordpress.com/2012/06/12/a-coup-missed/
*(3) http://www.nytimes.com/egyptian-presidential-vote-enters-second-day.
*(3) http://www.nytimes.com/egyptian-presidential-vote-enters-second-day.
*(4) เนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญอียิปต์อ่านได้จากข้อเขียนของเดวิด
เคิร์กแพ็ตทริก ที่ http://www.nytimes.com/new-political-showdown-in-egypt.และ
No comments:
Post a Comment