ไม่ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเช่นไร
เป็นไปตามที่วิปรัฐบาล นายอุดมเดช รัตนเสถียร คาดหมายไว้ข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อหรือไม่ก็ตาม
ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่พ้นจากการกระทำผิดฐานกบฏตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๓ อยู่ดี*(1)
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำหนดวันวินิจฉัยคำร้องกล่าวหารัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ม. ๒๙๑ ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอื่นๆ
ในวันศุกร์ที่ ๑๓ กรกฎาคมนี้ เป็นที่กล่าวขวัญว่าจะนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทย
แกนหลักของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ/หรือ
อาจนำมาซึ่งมิคสัญญีในชาติครั้งใหญ่ที่สุด
เนื่องจากนางธิดา
ถาวรเศรษฐ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ออกมาประกาศว่าจะมีการชุมนุมของมวลชนเสื้อแดงไม่น้อยกว่าสองแสนคน เพื่อคัดค้านการที่ตุลาการซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง
และ นพ. ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสีก็ประกาศเช่นกันว่าจะจัดชุมนุมปกป้องศาลรัฐธรรมนูญสี่มุม
โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๑ กรกฎาเลยทีเดียว
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่าทีของ
ตลก. รธน. ในคดีนี้ ปรับใช้กฏหมายรัฐธรรมนูญ ม. ๖๘ เกินขอบข่ายอำนาจ และละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการล่วงล้ำการดำเนินงานอันเป็นเอกสิทธิ์ของสถาบันนิติบัญญัติ
จากการที่มีนักกฏหมาย
และนักวิชาการในสาขาต่างๆ
ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของตุลาการในกรณีนี้ไว้มากมาย*(2) ส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ข้ามขั้นตอน และพิจารณาด้วยอารมณ์เพ้อฝันทางการเมืองมากกว่าข้อเท็จจริงกับข้อกฏหมาย
รวมทั้งคำกล่าวที่ว่าเป็นการทำ “รัฐประหารโดยตุลาการ”
ต่อการนี้ผู้เขียนขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับการตัดสินคดีสำคัญโดยศาลสูงสุดสหรัฐที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปอย่างพลิกความคาดหมายมาเทียบเคียงเป็นวิทยาทานแก่ศาลไทย
ศาลสูงสุดสหรัฐยกคำร้อง
(Strike down) คำฟ้องฝ่ายโจทก์ในประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ศาลพิพากษาว่ากฏหมายประกันสุขภาพพอเพียง
(Affordable Healthcare Act) ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากกำหนดให้ประชาชนต้องมีการประกันสุขภาพถ้วนหน้ามิฉะนั้นถือว่ามีความผิดตามบทกฏหมายเกี่ยวกับการพาณิชย์
ต้องถูกปรับไหม
แต่ปรากฏว่าคำพิพากษาออกมาอย่างพลิกล็อคเมื่อผู้พิพากษาหัวหน้าศาลสูงสุด
จอห์น รอเบิร์ต
ไปร่วมกับกลุ่มผู้พิพากษาฝ่ายเสรีนิยมสี่ท่านเป็นเสียงข้างมากตัดสินให้บทว่าด้วยข้อบังคับ
(Individual Mandate) อันเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในทางสาธารณะมามากแล้วนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในบริบทแห่งกฏหมายเกี่ยวกับอำนาจในการเก็บภาษีของรัฐบาลกลาง
การที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลสูงสุดรอเบิร์ตชักนำให้ผู้พิพากษาสายเสรีนิยมอีกสี่ท่านคล้อยตามหลักเกณฑ์วินิจฉัยตามบริบทว่าด้วยภาษี
(Tax) แทนที่บทเกี่ยวกับการพาณิชย์
(Commerce) ในการให้เหตุผลสนับสนุนบทบังคับประชาชนรายบุคคลต้องมีประกันสุขภาพ
เป็นที่งงงันของอเมริกันชนสายอนุรักษ์นิยม ในเมื่อตลอดการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลสูงสุด
ท่านรอเบิร์ตไม่เคยเลยที่จะวินิจฉัยคดีผิดเพี้ยนไปจากแนวอนุรักษ์
มิหนำซ้ำก่อนหน้าการตัดสิน
ในระหว่างไต่สวนปากคำคู่กรณีช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นที่คาดหมายว่าหัวหน้าศาลฯ
จะต้องเป็นผู้นำทีมอนุรักษ์อีกสี่ท่านตีตก ก.ม.ประกันสุขภาพที่ได้รับฉายาว่า “โอบาม่าแคร์” นี้แน่นอน แต่ปรากฏว่าท่านหัวหน้ากลับทำเซอร์ไพร้ส์เสียเอง
แทนที่จะเป็นผู้พิพากษา
แอนโธนี่ เค็นเนดี้ ไปเข้ากับฝ่ายเสรีนิยมอย่างที่เคยทำหลายครั้ง
และทุกคนคาดหมายเอาไว้ว่าเป็นทางเดียวที่โอบาม่าแคร์จะรอดจากปากเหยี่ยวได้ ทว่าผู้พิพากษาเค็นเนดี้นั้นแหละกลับต้องมาพยายามดึงหัวหน้าให้กลับเข้าจารีตเดิม
แต่ก็ไม่ได้ผล
รายงานข่าว
โดยแจน ครอว์ฟอร์ด หัวหน้าข่าวภาคกฏหมายของสำนักข่าวซีบีเอสอ้างแหล่งข่าวนิรนามจากภายในคณะเสมียนศาลสูงสุดสองคนว่า
ท่านหัวหน้าฯ รอเบิร์ตเปลี่ยนใจในช่วงสุดท้ายของการไต่สวนความ
แล้วพยายามชักชวนผู้พิพากษาเค็นเนดี้ให้มาร่วมวงกับท่านให้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด
พร้อมทั้งโน้มน้าวผู้พิพากษาสายเสรีนิยมให้เปลี่ยนเหตุผลอ้างอิงเรื่องอำนาจกำกับการพาณิชย์
มายอมรับหลักการเรื่องภาษีแทน*(3)
รายละเอียดเหล่านี้ถ้านำมาเทียบเคียงกับท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญไทย
โดยเฉพาะบทบาทของท่านประธานฯ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ในฐานะที่ท่านชอบอ้างอิงภาษาอังกฤษ
(กรณีที่นายวสันต์บอกให้ไปอ่านภาคภาษาอังกฤษของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘
ว่าประชาชนสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลได้ ไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดตรวจสอบดังการตีความตามลายลักษณ์อักษรโดยนักกฏหมายหลายคน)
หากประธานศาลไทยเรียนรู้การใช้ชั้นเชิงทางกฏหมายอย่างหัวหน้าศาลสูงสุดสหรัฐ
ท่านอาจไม่ต้องออกอาการบ่นบนบัลลังก์ว่าภายนอกศาลเขาด่ากันขรม
ไม่ต้องแอบเก็บความอับอายไว้ภายในเมื่อถูกอัยการสูงสุดสอนมวยเรื่องการวินิจฉัยตามหัวข้อกฏหมาย
แล้วไปเที่ยวออกอาการบนบัลลังก์ อย่างที่กล่าวว่า “การจัดงานพบสื่อไม่ใช่เป็นการจัดเพื่อหาเสียงให้สื่อหันมาสนับสนุน
เพราะสื่อถล่มศาลรัฐธรรมนูญอยู่ทุกวัน” และ “จะว่าเป็นคนมืออ่อนหรืออย่างไรก็ว่ากันไป
แต่ตลกที่มีคนที่ไม่ได้จบกกหมายออกมาวิจารณ์ด่าศาลรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์”*(4)
นั่นเป็นการแสดงให้เห็นถึงอัตตะวิสัยอันตื้นเขินเกินไปสำหรับตำแหน่งสูงส่งเช่นประธานศาล
จึงน่าจะหันมาเรียนรู้จากประธานศาลสูงสุดสหรัฐเอาไว้บ้าง โดยทั้งที่ศาลสูงสุดสหรัฐด้วยจำนวนข้างมาก
๕ ท่านเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ถูกโจมตีว่าตลอด ๔-๕
ปีที่ผ่านมาล้วนแต่พิพากษาตามอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวาอยู่เสมอ
มีการหักล้างแนวทางเสรีนิยมตามกฏหมายดั้งเดิมบางอย่างหลายครั้ง*(5)
แต่ศาลสูงสหรัฐก็ยังสามารถรักษาศักดิ์ศรีในฐานที่เป็นองค์กรสูงสุดทางด้านกฏหมาย
และเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญอย่างชอบธรรมมาได้โดยตลอด
ดังเช่นคดีกฏหมายประกันสุขภาพพอเพียงนี้
ถ้าตุลาการข้างมากยังคงดันอุดมการณ์อนุรักษ์ต่อไปโดยรวมหัวกันตัดสินให้กฏหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ
ก็จะเป็นที่ครหายิ่งขึ้นกว่าเดิมว่าไม่เป็นกลาง
และไม่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้มีรายได้ต่ำไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพได้
เนื่องจากเบี้ยประกันสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็วทุกปี จะกลายเป็นชนักติดไปกับกลุ่มผู้พิพากษาอนุรักษ์ที่ได้สมยา
“ศาลรอเบิร์ต” นี้ตลอดไป ว่าทับถมความเดือดร้อนให้แก่คนยากจน
ด้วยท่าทีของผู้พิพากษากลุ่มอนุรักษ์ในระหว่างการไต่สวน
โดยเฉพาะผู้พิพากษาเค็นเนดี้แสดงชัดว่าต้องการตีตกฏหมายโอบาม่าแคร์แน่นอน โดยที่ความพยายามปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านับแต่สมัยประธานาธิบดีบิล
คลินตัน โดยการนำของนางฮิลลารี่ คลินตัน
สตรีหมายเลขหนึ่งขณะนั้นถูกฝ่ายอนุรักษ์คว่ำไม่เป็นท่า ต่อมาวุ ฒิสมาชิกเท็ดดี้
เค็นเนดี้ พยายามรื้อฟื้นการปฏิรูปขึ้นมาอีก ยังไม่ทันสำฤทธิ์ผลท่านก็มีอันจบชีวิตไปเสียก่อน
ความหวังของการปฏิรูประบบประกันสุขภาพอเมริกันที่ล้าหลังประเทศเจริญแล้วในยุโรปอยู่หลายขุม
มาเป็นจริงได้ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า นี่เอง เมื่อกฏหมายผ่านสภา
และประธานาธิบดีลงนามประกาศใช้ในปี ค.ศ. ๒๐๐๙ แต่ก็ยังไม่วายถูกฝ่ายขวารณรงค์ที่จะถอนรากให้จงได้
รวมไปถึงการฟ้องร้องจนไปถึงศาลสูงสุดดังกล่าว
แม้เป็นเรื่องคาดไม่ถึงว่าหัวหน้าฯ
รอเบิร์ตจะกลับตาลปัตร แต่ว่าก่อนหน้านั้นก็มีการวิจารณ์อยู่บ้างว่าท่านหัวหน้านี่แหละเป็นความหวังสุดท้ายของการปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ในตำแหน่งสูงสุดฝ่ายตุลาการท่านรอเบิร์ตมีโอกาสที่จะบันทึกชื่อตนเองไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้
“หัก” หรือ “อุ้ม”
การปฏิรูประบบประกันสุขภาพได้
มีสื่อบางรายเขียนชี้แนะช่องทางไว้แล้วด้วยว่า
บทบังคับซื้อประกันที่พวกอนุรักษ์พากันโจมตีนักหนานั้น
รัฐบาลโอบาม่าวางหมากไว้อย่างแยบยลให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายตรงข้าม*(6) อย่างน้อยในภาคธุรกิจกลุ่มบริษัทประกันสุขภาพทั้งหลาย
ด้วยเหตุที่ต้นทุนการอำนวยการด้านสาธารณะสุขสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
จำนวนผู้มีความสามารถซื้อประกันอย่างพร้อมมูลจึงลดน้อยลง ทำให้ตลาดผู้ใช้อุปโภคด้านประกันหดตัวตามไปโดยปริยาย
ในเมื่อกฏหมายประกันสุขภาพบังคับทุกคนต้องซื้อประกัน
ก็เท่ากับสร้างตลาดลูกค้าให้แก่อุตสาหกรรมประกันสุขภาพได้อย่างดี หาที่เปรียบมิได้
เช่นนี้ในเชิงธุรกิจ
และการตลาดเสรี อันเป็นอุดมการณ์หลักส่วนหนึ่งในสายอนุรักษ์นิยมอเมริกัน บทว่าด้วย
Individual Mandate ย่อมเป็นที่พอใจของภาคส่วนทางการเมืองฝ่ายอนุรักษ์ไม่มากก็น้อย ทั้งๆ
ที่ในแง่ของเสรีภาพส่วนบุคคลดูจะเป็นการบีบบังคับประชาชนก็ตามที
เห็นได้ว่าการเปลี่ยนใจของหัวหน้าศาลสูงสุดสหรัฐหันไปเข้ากับฝ่ายเสรีนิยมเพื่อสนับสนุนกฏหมายประกันสุขภาพนั้นทำให้เกิดคุณค่าเพิ่ม
และเชิดชูศักดิ์ศรีของคณะตุลาการในฐานะที่เป็นทางออกอันน่าเชื่อถือของความขัดแย้งทางการเมือง
(เรื่องประกันสุขภาพ) ได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการหันไปหาข้อกฏหมายอื่นในรัฐธรรมนูญมาสนับสนุน
ขณะที่ปฏิเสธเหตุผลของฝ่ายรัฐบาล
และยังสามารถแสดงจุดยืนอนุรักษ์นิยมต่อไปด้วยการตีตกบทสำคัญอีกหนึ่งในกฏหหมายประกันสุขภาพว่าด้วยการขยาย
“เมดิเคด” (Medicaid) อันเป็นระบบของรัฐบาลกลางที่อำนวยสุขภาพถ้วนหน้าโดยเฉพาะแก่คนยากจน
ส่วนประธานศาลรัฐธรรมนูญของไทยนั้นเล่ากลับประพฤติไปอีกทางอย่างศรีธนญชัย
นอกจากจะให้คำอธิบายข้างๆ คูๆ พร่ำเพ้อคาดหมายว่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้
เมื่อมีผู้นำข้อกฏหมายที่ศาลอ้างนั้นเองมาใช้โต้แย้ง
แล้วยังออกอาการลุกลี้ลุกลนเร่งดำเนินการให้คำร้องของกลุ่มฝ่ายค้านกับอดีตคณะรัฐประหารเกิดผล
โดยไปคว้าเอาประมวลวิธีพิจารณาความกฏหมายแพ่งมาใช้สั่งการอย่างลุล่วงแก่อำนาจ ก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ
แต่ก็อีกนั่นแหละ
จะหวังอะไรกับวุฒิภาวะของลิ่วล้อ (Surrogate) เผด็จการ ดูจากต้นกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ไม่ต่างจากลูกนอกสมรสที่คนอังกฤษโบราณเรียกว่า
Bastard นั่นคือเกิดจากบทเฉพาะกาลก่อนการจุติรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐
ครั้นเมื่อ รธน. ฉบับนี้สามารถ “ผ่านๆ ไปก่อน ไว้แก้ทีหลัง” ได้แล้ว ก็มีการโยนกลอง ตลก. ต่อมาจนบัดนี้คณะรัฐประหาร คมช.
พ่อที่แท้จริงตามสายเลือดล่มสลายไปนานแล้ว
เชื้อไม่ทิ้งแถวก็ยังกระทำปู้ยำระบอบประชาธิปไตยต่อไปไม่ลดละ
เป็นที่น่าเสียดายรัฐบาลของกลุ่มการเมืองซึ่งเคยถูกปู้ยี่ปู้ยำอย่างช่ำโชกโดยผู้บังเกิดเกล้าของ
ตลก. รธน. ชุดนี้
และสามารถกลับมาลืมตาอ้าปากอีกครั้งด้วยน้ำแรงของประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร
และคัดค้านการครอบงำโดยกลุ่มอภิสิทธิ์อำมาตย์
ไม่เพียงแต่ไม่กล้ายืนหยัดชูอธิปไตยของประชาชน หากยอมนบนอบตอบรับการล่วงล้ำจาก
ตลก. โดยดีเสียด้วย
ขณะที่ประชาชนฐานเสียงของตนต่างร้องแรกแหกกระเฌอประจานความผิดของศาล
รัฐบาลกลับแถลงแจ่มแจ้งว่าจะยอมรับคำวินิจฉัยของ ตลก. โดยดุษฎี
เทียบเคียงกันไม่ได้เลยกับรัฐบาลใหม่ของอียิปต์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด
มอร์ซี ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งมาอย่างสดๆ ร้อนๆ ท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนัก ของฝ่ายทหาร
และคณะตุลาการ อันยังคงเป็นศูนย์อำนาจทางการเมืองแท้จริงภายหลังการปฏิวัติประชาชน “อาหรับสปริง” ก็ยังกล้าเชิดชูอำนาจอธิปไตยของประชาชนด้วยการสั่งเปิดประชุมสภาใหม่อีกครั้ง
หลังจากที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบไปเมื่อเดือนที่แล้ว*(7)
เห็นแล้วน่าอิจฉาทั้งประชาชนอียิปต์
และชาวอเมริกัน สงสารก็แต่ประชาชนไทยที่รักประชาธิปไตย ถึงแม้บางคนเปลี่ยนมาหลงใหล
“คนเก่ง” มากกว่า “คนดี” แล้วก็ตามที
*(1) มาตรา ๑๑๓ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย
หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (๒) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร
หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ
หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้...ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกบฏ
ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
ส่วนความคาดหมายของวิปรัฐบาล อ้างว่าทีมกฏหมายพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์แนวทางตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็น
๓ กรณีคือ ๑. ยกคำร้อง ๒. แก้ไขทั้งฉบับตาม ม.๒๙๑ ไม่ได้
ต้องไปยกร่างใหม่เป็นรายมาตรา และ ๓. ผู้ถูกร้องมีความผิด
และนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยโปรดดูรายงานข่าวไทยรัฐ http://www.thairath...._medium=twitter
*(2) ตัวอย่างโดยสังเขปจากการอภิปรายของอดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ที่นี่ http://www.youtube.com/พนัส ทัศนียานนท์ และการแถลงข่าวของนายจาตุรนต์
ฉายแสง อดีตรักษาการพรรคไทยรักไทย ที่นี่ http://www.youtube.com/จาตุรนต์ ฉายแสง
*(4) http://www.oknation.net/blog/kobkab/2012/07/02/entry-1
*(6) http://www.nytimes.com/2012/04/01/opinion/sunday/douthat-the-genius-of-the-mandate.html
*(7) http://www.nytimes.com/2egypts-president-orders-return-of-dissolved-parliament/
No comments:
Post a Comment