Thursday, June 14, 2012

เมื่อตุลาการริอ่านทำรัฐประหาร



หากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภารอการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามไว้ก่อน จนกว่าศาลจะวินิจฉัยในกลางเดือนกรกฎาคมว่าเป็นการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือไม่ นั้นถือว่าเป็นวิธีการรัฐประหารโดยศาล ดังที่มีนักวิชาการกฏหมายหลายท่านให้ความเห็นไว้

แล้วถ้าการที่ประธานสภา และพรรคเพื่อไทยไม่ดำเนินการลงมติตามกำหนดหลัง ๑๕ วันนับแต่ผ่านวาระสอง โดยเห็นพ้องกันให้ปิดประชุมสภาตามที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้อง และให้ความหวังว่าอาจจะมีการเสนอลงมติในการประชุมสภาสมัยหน้าต้นเดือนสิงหาคม

จะถือเป็นการยอมจำนนต่ออำนาจไร้เทียมทานของศาล หรือถือว่าเป็นการปรองดองในบริบทใหม่ดี ผู้เขียนขออภิปรายจากท้ายไปหาต้น เริ่มด้วยการปรองดองก่อน

การปรองดองในบริบทที่เป็นอยู่ขณะนี้ประกอบด้วยร่างกฏหมายเกี่ยวกับการปรองดอง ๔ ฉบับ ที่รอการพิจารณาอยู่ในรัฐสภา ฉบับหนึ่งมาจาก พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. อีกสองฉบับมาจากพรรคเพื่อไทย และฉบับที่สี่ซึ่งมีนักวิชาการท่านหนึ่งเรียกว่า ฉบับแก้เกี้ยว นั้นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดินเป็นผู้เสนอ*(1)

แม้ว่าร่างฉบับณัฐวุฒิจะมีลักษณะที่สอดคล้องกับความจริงเต็มใบ ไม่ดัดจริต ไม่ลับ-ลวง-พลาง อันเป็นที่พอยอมรับของกลุ่มคนเสื้อแดงในข้อที่ให้มีการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ถูกกระทำรุนแรงโดยรัฐ อันเนื่องจากการรัฐประหารปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นต้นมาจนถึงการบังคับใช้กฏหมายก่อการร้าย และสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยละไว้ไม่ให้อภัยต่อระดับแกนนำ และผู้สั่งการ

แต่พรรคประชาธิปัตย์ และกระบวนการต้านทักษิณ ก็ยังปักธงค้านดะหมดทั้งสี่ฉบับ อ้างว่าจะอย่างไรก็ตาม (เป็นธรรมหรือเป็นทาน) ทักษิณก็ยังพลอยได้ประโยชน์จากการปรองดองเหล่านี้ คือมีทางที่จะได้คืนทรัพย์ที่ถูกยึดไป และได้กลับประเทศไทย (อย่างเท่ เท่)

ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันอีกครั้งว่ากระบวนการสามประสาน คือ ๑. พรรคประชาธิปัตย์ กับเครือข่ายกดดันการเมืองนอกสภา (เสื้อหลากสี-สายล่อฟ้า) ๒. ลิ่วล้อผลพวงรัฐประหารในองค์กรอิสระ และวงวิชาการ ๓. ตุลาการภิวัตน์ มีเป้าหมายแน่วแน่ในการจองล้างทักษิณ โดยไม่คำนึงถึงผลดีใดๆ ทั้งสิ้นอันจะพึงมีแก่ประชาชนโดยรวม ถ้าหากทักษิณจะมีส่วนได้รับด้วย

ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังดำเนินงานที่ถนัดอย่างแข็งขัน ในการโต้แย้ง เตะถ่วง และตีรวนในสภามิให้พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลขับดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ เพื่อให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ชุดใหม่ได้ จนกระทั่งใกล้จะถึงการลงมติในวาระที่สามก่อนถึงกำหนดต้องปิดสมัยประชุม ฝ่ายค้านได้พลังไร้เทียมทานของศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาช่วยกระพือปีกอย่างฉับพลัน

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญประกาศอย่างลุกลี้ลุกลน รับฟังคำร้องเรียนของกลุ่มวุฒิสมาชิกประเภทสรรหา (ลากตั้ง) นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตนักรัฐประหารกลุ่ม คมช. พร้อมทั้งยังไปดึงเอาประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ออกคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อน จนกว่าศาลจะได้วินิจฉัยตามคำร้องเรียนให้เรียบร้อย โดยกำหนดให้คู่กรณีชี้แจงต่อศาลภายใน ๑๕ วัน และศาลจะออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนในวันที่ ๔-๕ กรกฎาคมนี้

จากการที่กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค ท่ามกลางเสียงคัดค้านของสมาชิกสาย นปช. กับ พล.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มีมติให้ยับยั้งการลงมติร่างแก้ไข รธน. วาระสามไว้ก่อน เพื่อให้สถานการณ์ผ่อนคลาย และ เปิดทางลงให้แก่ศาล ปิดทางไป สู่หลักประหาร ของนายกรัฐมนตรี อีกทั้ง ระหว่างนี้ระดับผู้ใหญ่ของสองฝ่ายแอบเจรจากันในทางลับอยู่แล้ว”*(2)

ดูเหมือนว่านี่เป็นแผนปรองดองมิติใหม่ (Plan B) หลังจากที่แผนเดิมถูกถล่มจากซ้ายขวาหน้าหลังเสียจน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ต้องโฟนอินร้องเพลง รู้ว่าเขาหลอก และขอโทษแล้วขอโทษอีกต่อมวลชนเสื้อแดง

ดูตามรูปการณ์เท่ากับพรรคเพื่อไทยยอมจำนนต่อการก้าวล้ำเข้ามามีส่วนจัดการทางนิติบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง และแม้แต่ในมิติของการปรองดอง ยิ่งเป็นการพินอบให้แก่คณะตุลาการชุดที่เป็นผลพวงของคณะรัฐประหาร คมช. โดยตรง

ในมุมมองของผู้ถูกกระทำย่ำยีจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในเหตุการณ์วันที่ ๑๐ เมษายน-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวผู้เสียชีวิตกว่า ๙๐ ศพ ผู้ที่ยังถูกคุมขังในข้อหาก่อการร้าย และสถานการณ์ฉุกเฉิน กว่า ๕๐ ราย และผู้ที่ถูกจองจำด้วยข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ๒๕๕๐ การปรองดองทั้งแพลนเอ และแพลนบี ล้วนแต่ลบล้างความผิดให้แก่ผู้ที่สั่งฆ่าประชาชน แล้วยังเปิดทางสะดวกแก่ตุลาการภิวัตน์เข้าไปกดดันสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วย

เห็นได้ชัดเจนเช่นกันว่าการลุกล้ำของ ตลก. รธน. นั้นกระทำโดยลำเอียงละเมิดกฏหมายทั้งๆ ที่รู้ดีแก่ใจ หรืออย่างน้อยๆ ก็หน้าเนื้อใจเสือบิดเบือนกฏหมายเพื่อประโยชน์แก่คนกลุ่มน้อยที่เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองเดียวกับตน

นักกฏหมาย และนักวิชาการมากมาย นับแต่ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฏหมายมหาชน (สายฝรั่งเศส) แห่งคณะนิติราษฎร์ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฏหมายอิสระ (สายฮาวาร์ด) และ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานส่งเสริมหลักนิติธรรม (คอ.นธ.)*(3) ล้วนเห็นพ้องกันว่าศาลรัฐธรรมนูญอ้างมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ รับฟ้องโดยข้ามขั้นตอน และอ้างมาตรา ๒๖๔ ในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งสั่งระงับการลงมติวาระสาม ล้วนไม่เหมาะสมทั้งสิ้น

ศาลรัฐธรรมนูญอ้างตนเป็นองค์กรที่มีศักดิ์เหนือกว่า ข้ามหน้าอัยการสูงสุด รับลูก สว. ลากตั้ง และฝ่ายค้าน อ้างเหตุจำเป็นต้องปกป้องรัฐธรรมนูญก่อนที่เหตุจะเกิดนั้น ก็เป็นวิธีพิจารณาที่อาศัยความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้งหลังจากไม่สามารถหาข้อกฏหมายมาสนับสนุนให้ถึงที่สุดได้ แบบเดียวกับที่ศาลอาญาพิพากษาคดีอากงโดยใช้ญานพิเศษล่วงรู้เจตนาภายในของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด นอกเหนือจากการอ้างพจนานุกรม (ในคดียุบพรรคพลังประชาชน) และอ้างคำแปลภาษาอังกฤษของรัฐธรรมนูญมาตรา ๖๘ (ในกรณีนี้)

เป็นที่น่าบันทึกไว้อีกครั้งต่อข้อแก้ตัวของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่า ขอให้ไปดูรัฐธรรมนูญฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษจะชัดเจน นั้นมันก็ชัดเจนว่า “the person knowing of such act shall have the right to request the Prosecutor General to investigate its facts and submit a motion to the Constitutional Court for ordering cessation…”

ไม่ว่าคนที่เรียนภาษาอังกฤษเชื้อชาติไหนก็ต้องเข้าใจตรงกันว่าเขาให้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดให้ทำการตรวจสอบเสียก่อนแล้วจึงส่งต่อ ตลก. วินิจฉัย ไม่ควรต้องให้ ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เสียเวลามาอธิบายวิธีใช้ภาษาแก่ท่านประธานฯ อีก*(4)

มิหนำซ้ำเมื่ออัยการสูงสุดได้รับเรื่อง และพิจารณาแล้วมีความเห็นไม่ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อ เพราะไม่ปรากฏมูลใดๆ ว่าผู้ถูกร้องเรียน คือประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาที่ร่วมกันพิจารณาแก้ไขกฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ จะกระทำการล้มล้างการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยวิธีที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด*(5) ท่านประธาน ตลก. ก็ยังไม่วายแถต่อไปว่า ในเมื่อศาล (ตัดหน้า) รับลูกไปแล้ว ความเห็นของอัยการไม่มีความหมาย

อย่างนี้ย่อมเข้าลักษณะใช้อำนาจอิทธิพลยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของสถาบันนิติบัญญัติ ลักษณะเดียวกับที่กองทัพเคยอ้างพระบรมเดชานุภาพแห่งสถาบันกษัตริย์กระทำการยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาล และยุติการปฏิบัติภารกิจของรัฐสภา ที่เรียกว่า รัฐประหาร นั่นแหละ

แต่จะเป็นรัฐประหารโดยสมบูรณ์หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าการยึดอำนาจเป็นไปโดยตลอดรอดฝั่งไหม ถ้าไม่ถึงที่สุด ไม่ได้เข้าไปบงการ หรือแต่งตั้งผู้ดำเนินการบริหารประเทศชุดใหม่ ก็จะกลายเป็น กบฏ” ไป

ในกรณีของตลก. รธน. ชุดนี้อันมีผู้สมรู้ร่วมคิด ๗ คน*(6) ถ้ารัฐสภาไม่ยอมรับคำสั่งยับยั้งการลงมติวาระสามแล้วดำเนินการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปจนถึงที่สุด จะตกอยู่ในสถานะเป็นกบฏที่ถูกดำเนินคดี และลงโทษทัณฑ์ตามกระเบียนอาญาได้ ซึ่งในเบื้องต้นขณะนี้ก็มีแกนนำ นปช. โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ นำรายชื่อประชาชน ๒๓,๖๐๐ คนยื่นถอดถอนตุลาการทั้งเจ็ดต่อวุฒิสภาซึ่งรับเรื่องไว้แล้ว

นอกจากนี้ยังมีการฟ้องร้องทางอาญาข้อหากบฏโดยตรงต่อ ตลก. รธน. ทั้งคณะ ๙ นาย โดยนายมานิต จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาใต้ และอดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย โดยอ้างประมวลกกหมายอาญา มาตรา ๑๔๕ ว่า ตลก. ทั้งเก้าแต่งตั้งมาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยอำนาจคณะปฏิวัติของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผ่านทาง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมิใช่สภาในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข*(7)

เหนือกว่านั้นไปอีกก็มีการยื่นคำร้องต่อ ตลก. รธน. ของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต สว. สรรหา ขอให้พิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ และเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๘ แห่งรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๒๐ ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญวรรคท้ายด้วย โดยนัยเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีรับคำร้อง และสั่งให้สภาระงับการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เนื่องจากเคยยื่นเรื่องไว้ต่ออัยการสูงสุดแล้วในปี ๒๕๕๒ แต่ไม่มีผลคืบหน้า

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วางมาตรฐานว่า ผู้ที่ทราบการกระทำอันเป็นการล้มล้าง หรือการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจการปกครองที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดสามารถยื่นคำร้องได้โดยตรง ผมก็อาศัยมาตรฐานนี้ นายเรืองไกรกล่าวพร้อมทั้งเพิ่มเติมว่า และในอีกไม่นานนี้จะใช้ช่องทางดังกล่าวมายื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอีกหลายเรื่อง ทั้งอีสต์วอเตอร์ การแจกจ่ายถุงยังชีพ และการที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปราศรัยเรียกร้องทหารให้ออกมาปฏิวัติด้วย”*(8)

ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญแถลงรับลูกคำฟ้องของนายเรืองไกรเช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่สองมาตรฐาน แต่ตั้งใจยืนยันว่าพวกตนมีอำนาจล้นเหนือฝ่ายนิติบัญญัติเสียมากกว่า เพราะเป็นที่คาดหมายชนิดเชื่อขนมกินได้ว่าถ้าไม่ดองเรื่องแสวงหาข้อเท็จจริงไว้เป็นเวลานานแสนนาน ก็อาจตัดสินโดยใช้ญานวิเศษอีกครั้งว่านายอภิสิทธิ์กระทำถูกต้องแล้วในที่สุด

ทั้งหลายเหล่านี้จัดว่าเป็นหนทางที่จะแสดงให้ ตลก. รธน. ชุดเจ็ดขุนพลตระหนักว่าประชาชนทั่วไปสามารถมองเห็นการกระทำอันไม่เที่ยงธรรมได้ไม่ยาก อีกทั้งมีช่องทางอันต้องตามกระบวนแห่งกฏหมายที่จะทัดทานการก้าวล้ำขอบข่ายอำนาจอธิปไตยของ ตลก. ได้ แต่น่าเสียดายที่กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยกลับเลือกยอมจำนนต่อ ตลก. ด้วยการยับยั้งการลงมติวาระสามของการแก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ และคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ ๑๙ มิถุนายนเลย

แม้จะมีการเสนอญัตติให้ที่ประชุมลงมติเพื่อนำคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาว่ามีผลผูกพันต่อรัฐสภาหรือไม่ (อ้างว่าเพื่อเอาใจมวลชน) แต่ก็ถูกสกัดกั้นโดยพรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มวุฒิสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่มาจากการสรรหา ด้วยการเดินออกไม่เข้าร่วมลงมติ ปรากฏว่าในจำนวนสมาชิกที่เหลืออยู่ ๓๒๓ คน (เกินกึ่งหนึ่งตามกำหนดครบองค์ประชุมเพียง ๑ คน) แล้วมติออกมาได้เพียง ๓๑๘ เสียง ไม่ถึงครึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา ญัตติจึงต้องตกไป

ทำไปทำมาพรรคเพื่อไทยกลายเป็นเบี้ยล่างในกลเกมการเมืองของฝ่ายตรงข้ามชนิดซวนเซไม่เป็นท่าเสียแล้ว ศัตรูยิ่งโหมหนัก มิตรเริ่มเหินห่าง จากการที่ ตลก. รธน. ซึ่งวินิจฉัยตัดสินคดีการเมืองอย่างลำเอียงให้คุณแก่พรรคประชาธิปัตย์ให้โทษต่อพรรคของทักษิณ (ในฐานความผิดอย่างเดียวกัน) มาโดยตลอด ออกจากหลังฉากมาแสดงตนเป็นฝักฝ่ายอย่างเต็มตัว พร้อมที่จะรุกคืบต่อไปไม่หยุดยั้ง โดยมิพักที่จะคำนึงถึงความเที่ยงตรงในมาตรฐานแห่งกฏหมาย และนิติธรรม เพื่อเก็บกดวิถีการเมืองแบบประชาธิปไตยแท้จริง และสถาปนาแบบไทยๆ ที่เนื้อหา และจำกัดความรวมอยู่ในคำที่ว่า ราชาอำมาตยาธิปไตย ให้จงได้

ประเด็นที่ตั้งเป็นปุจฉาไว้ในตอนต้นว่าการยอมจำนนจะถือเป็นแนวทางปรองดองแผนใหม่ของพรรคเพื่อไทยได้ไหม อ่านจากท่าทีของสามประสานฝ่ายต่อต้านทักษิณแล้วเห็นทีจะเป็นไปไม่ได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะอ้าแขนรับโดยง่ายหากไม่ได้ยอมศิโรราบอย่างสิ้นเชิงสถานเดียว

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย พ.ต.ท.ทักษิณ และวงศ์วานชินวัตร อาจจะยินดีรับสภาพเช่นนั้นอย่างปลาบปลื้มในบรรยากาศปรองดอง แต่ก็มิได้หมายความว่าสิ่งที่ถูกเก็บกดจะเกิดการผ่อนคลาย ในเมื่อยังมีประชาชนผู้สูญเสีย รวมทั้งว่านเครือ และมิตรสหายของพวกเขาอีกจำนวนนับเป็นสิบๆ ล้านที่เคยมุ่งหวังว่าการออกมาเป็นทั้งด่านหน้า และกำแพงหลังให้กับพรรคเพื่อไทยจะนำไปสู่ความเท่าเทียมทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยแท้จริง กลับมีความผิดหวังปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การที่พรรคเพื่อไทยต้องพ่ายแก่กลยุทธรวมหัวกันไม่ออกเสียงของฝ่ายตรงข้ามในการลงมติว่าจะอภิปรายประเด็นผลผูกพันคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิใช่เพียงการเพลี่ยงพล้ำเนื่องจากในวุฒิสภามีสมาชิกสรรหาที่เป็นผลพวงของรัฐประหาร คมช. อยู่กว่า ๗๐ คน หรือมีข้อด้อย (Handicapped) ที่จะหวังผลเต็มร้อยกับพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ หากแต่ปัจจัยความเป็นเอกภาพภายในพรรคเองก็มีผลชี้คว่ำชี้หงายได้มากทีเดียว*(9)

ดังที่หมอมิ้ง (นพ. พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช) เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพภายในพรรคเพื่อไทยไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่ามีอยู่หลายกลุ่มที่เป้าหมายทางการเมืองแตกต่างกันไป*(10) ผู้เขียนใคร่เปรียบด้วยเกณฑ์ของสีแดงตั้งแต่เข้มจัดในปลายข้างหนึ่งไปยังสีชมพูจนถึงสีซีดขาวออกเหลืองอีกข้างหนึ่ง เสมือนอุดมการณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์กับราชาอำมาตยาธิปไตย

ในระดับชาติท่ามกลางบรรยากาศแห่งโลกาภิวัฒน์ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันโดนสันติได้เมื่อมีส่วนที่เป็นตรงกลางมากที่สุด ในระดับพรรคไม่ควรที่จะหลากหลายเป้าหมายแนวคิดเสียจนไม่มีอะไรเด่นสักอย่าง จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์ร่วมกันท่ามกลางความเข้ม-จางของอุดมการณ์ เอกภาพจึงจะเกิดได้

และการสร้างเอกลักษณ์ไม่มีหนทางใดดีกว่ารับเอาสิ่งที่เสียงส่วนใหญ่ต้องการมาเป็นตัวชี้นำ แล้วสร้างแนวทางร่วมไปสู่เป้าหมายอันเดียวกันโดยไม่เฉไฉ หากมัวแต่ละล้าละลังก็รังแต่ล่มเสียกลางคัน


*(1)รายละเอียดประกอบคำวิจารณ์เกี่ยวกับร่างสี่ฉบับโดย ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ http://thaienews.blogspot.com/2012/05/4-8112.html
*(2) ตามข่าวว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงกล่าวอ้างในการสนับสนุนแนวทางชะลอการลงมติวาระสามออกไปก่อน http://www.matichon.co.th/มุ้งเพื่อไทยโต้เดือดชะลอแก้ รธน.
*(3) ดูความเห็นของนักวิชาการเหล่านี้ได้ที่ พนัส ทัศนียานนท์ และปิยบุตร แสงกนกกุล http://www.prachatai.com/journal/2012/06/40810 วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ http://www.matichon.co.th/วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ และอุกฤษ มงคลนาวิน http://www.isranews.org/อุกฤษ มงคลนาวิน
*(5) รายละเอียดแถลงการณ์ของอัยการที่ http://www.suthichaiyoon.com/detail/31028
*(6) ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายจรูญ อินทจาร นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายนุรักษ์ มาประณีต นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ส่วนนายชัช ชลวร ไม่เข้าข่ายเพราะออกเสียงไม่เห็นด้วย และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ไม่ได้เข้าร่วมวินิจฉัย
*(9) มีข้อวิพากษ์จากผู้ใช้นามว่าเสรีชนประชาไท ในเว็บบอร์ดประชาท้อค กล่าวว่าการลงมติครั้งนี้พรรคเพื่อไทยคะแนนขาดอยู่ ๕ เสียง จะโทษพรรคร่วมที่หายไป ๑๑ เสียงก็ไม่ได้ เพราะพรรคเพื่อไทยเองก็มีสมาชิกที่ไม่ได้เข้าประชุม หรือไม่ออกเสียงถึง ๑๗ คน ในจำนวนนี้ ๓ คนติดอยู่กับคณะตรวจน้ำท่วมของนายกฯ แต่อีก ๑๔ คนหายไปโดยไม่มีเบาะแส นี่คือปัญหาเอกภาพ http://thaienews.blogspot.com/2012/06/17.html มิหนำซ้ำเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาแน่นในแวดวงนักวิชาการเสื้อแดงว่าอาจเป็นการจัดฉากโดยฝ่ายการนำของพรรคเพื่อไทยก็ได้ ไม่งั้น ทำไมคนอย่างคุณอุดมเดช (รัตนเพียร-ประธานวิป) คุณเฉลิม (อยู่บำรุง) คุณสุนัย (จุลพงศธร) ที่ไม่เห็นด้วย กับการ "ชน" กับศาล รธน. จึงมาลงมติ "เห็นด้วย" ในครั้งนี้? ยกเว้นแต่จะรู้ว่า ลง "เห็นด้วย" ไป ญัตติ ก็คงตกอยู่ดี? http://www.facebook.com/somsakjeam
*(10)http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1337932701&grpid=00&catid=&subcatid= และคลิปยูทู้ป
http://www.youtube.com/watch?v=XHUVXdKl-_M&feature=player_embedded นาฑีที่ ๖.๒๐ ไปถึง ๘.๕๑ -เรื่อง ทักษิณ กับ คนเสื้อแดง หลังวิดีโอลิงก์ 19 กันยายน 2555 รอยร้าวหรือแก้วแตก

  



No comments:

Post a Comment