Monday, May 14, 2012

ข้อสงสัยต่อคำพิพากษาคดีอากง


: ด้วยมุมมองจากสามัญสำนึก และความรู้สึกว่าสิทธิมนุษยชนสำคัญกว่ากฏหมาย

การเสียชีวิตของอากง หรือนายอำพล ตั้งนพคุณ ผ่านไปแล้วหลายวันท่ามกลางกระแสวิจารณ์อย่างเศร้าใจ และบางเสียงต้านอย่างโง่เขลา แต่คนไทยจำนวนมากไม่อาจหนีความปวดร้าวใจต่อเหตุผิดผีผิดไข้ในกระบวนการพิจารณาคดีครั้งนี้ไปได้

เหตุที่ว่านั่นคือ อากงต้องตายในคุกด้วยข้อหาที่ตรงข้ามกับความเชื่อ และความสามารถของตนเอง

อากงถูกพิพากษาจำคุก ๒๐ ปี ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ และพระราชินี แต่จากคำให้การ และคำสนทนาในคุกของอากงเอง (กับสมยศ พฤกษาเกษมสุข)*(1) อนุมานได้ว่าเขาเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีอย่างล้นพ้นคนหนึ่ง เคยสวมเสื้อสีเหลืองพาหลานไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราช เคยไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ และจากคำกล่าวขานของผู้ที่วิจารณ์เรื่องอากงบนเว็บสังคมสื่อสารอ้างด้วยว่า อากงแสดงความเกลียดชังพวกเสื้อแดงอย่างเปิดเผย ชนิด ในตลาดสำโรงรู้กันดี

โดยเฉพาะคำพูดที่อากงตอบต่อสมยศที่ถามว่าเป็นคนจำพวกล้มเจ้าหรือเปล่า ผมรักในหลวง ถ้าออกจากคุกจะไปถวายพระพร ย่อมเป็นการย้ำข้อเท็จจริงว่า แม้ศาลจะตัดสินความผิดอากงด้วย เจตนาภายใน ซึ่งผู้พิพากษาอ้างว่าสามารถล่วงรู้ก็ตาม ความเชื่อของอากงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กลับตรงกันข้าม

เมื่อพิจารณาถึงความสามารถของอากงในการส่งข้อความสี่ชิ้นผ่านระบบเอสเอ็มเอสของโทรศัพท์มือถือไปเข้ากล่องรับข้อความของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คำให้การต่อศาล และคำสนทนากับนายสมยศ ของอากงว่า ไม่รู้วิธีส่งเอสเอ็มเอส ก็ควรแก่การรับฟัง

โดยวิสัยของผู้บังคับใช้กฏหมายย่อมต้องค้นหาความจริงให้ปรากฏแน่ชัดว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริงหรือไม่ มิใช่อ้างแต่เพียงข้อวินิจฉัยตามความรู้สึกว่า แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้กระทำผิด มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าว ย่อมต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้ผู้อื่นได้ล่วงรู้

เพราะนี่ไม่ใช่วิธีการทำงานของผู้ดำรงวิชาชีพ (Professionals)ในฐานะผู้พิพากษา อันเป็นวิชาชีพที่บังคับใช้กฏหมายซึ่งก่อผลแก่ชีวิตของบุคคล

ผู้พิพากษาในทางสากลนอกจากต้องไม่พิจารณาคดีด้วยความลำเอียงไปทางใดๆ (Impartial) แล้ว ยังต้องฝึกฝนความคิด และจิตใจของตนเองไม่ให้คำนึงถึงฝักฝ่าย ทัศนะ และแม้กระทั่งความเชื่อทางศาสนาของผู้ที่ถูกกล่าวหา ดังคำอังกฤษที่นานาประเทศเจริญแล้วยอมรับว่าเป็นอคติเมื่อเจ้าพนักงาน (รวมถึงผู้พิพากษา) ทำการ profiling ก่อนดำเนินคดี และตัดสิน

เหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าอากงเป็นผู้ไม่ประสีประสากับการใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความเอสเอ็มเอส นั้นอยู่ในลายลักษณ์อักษรคำพิพากษานั่นเองว่า จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้อง โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขประจำเครื่อง หรือหมายเลขอีมี่หมายเลข ๓๕๘๙๐๖๐๐๐๒๓๐๑๑ ด้วยซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข ๐๘๑๔๒๕๕๕๙๙ ของนายสมเกียรติ


ข้อความในคำพิพากษาข้างต้นนี้ก่อให้เกิดข้อสงสัย เนื่องเพราะในรายละเอียดคำพิพากษา ลงวันที่ ๒๓ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๔ ซึ่งลงนามโดยนายชนาธิป เหมือนพะวงศ์  และนางสาวภัทรวรรณ ทรงกำพล*(2) นี้แหละ ระบุถึงการตรวจสอบพยานหลักฐาน อันเป็นเครื่องโทรศัพท์มือถือของอากง และระบบการทำงานของโทรศัพท์ในการส่งข้อความเอสเอ็มเอสไว้ด้วย

แล้วไฉนจึงขัดแย้งกันในตัวเอง

ประการหนึ่งนั้น หมายเลขอีมี่โทรศัพท์มือถือยี่ห้อมอโตโรล่าของอากงมี ๑๕ หลัก แต่ศาลอ้างถึงเครื่องโทรศัพท์ที่กระทำความผิดเพียง ๑๔ หลักแรกที่ตรงกัน ส่วนหมายเลขหลักที่ ๑๕ ซึ่งเครื่องของอากงมีหมายเลข ๖ แต่หลักฐานจากบริษัท ทรู มูฟ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น หมายเลขหลักที่ ๑๕ ของเครื่องที่กระทำผิดเป็นเลข ๐

ศาลอ้างว่าได้มีการทดลองใส่หมายเลข ๐ ถึง ๙ ตามหลังเลข ๑๔ หลักแล้ว พบแต่เพียงหมายเลข ๖ ของอากงเท่านั้นที่สามารถแสดงรุ่น และยี่ห้อได้ ศาลจึงลงความเห็นว่าข้อความอันเป็นการหมิ่นราชินี และกษัตริย์ทั้งสี่ได้ส่งออกไปจากเครื่องของอากง โดยมิได้ขวนขวายหาข้อเท็จจริงให้ละเอียดถึงที่สุดว่าเหตุใดเมื่อทดลองใส่หมายเลขอื่นๆ ในหลักที่ ๑๕ แล้วไม่สามารถแสดงรุ่นกับยี่ห้อของเครื่องได้ และเหตุใดหลักฐานรายงานหมายเลขอีมี่หลักที่ ๑๕ ของเครื่องโทรศัพท์ที่กระทำความผิดจึงไม่ตรงกับเครื่องของอากง

โดยวิธีการพิจารณาคดีที่ถูกต้องตามสามัญสำนึก และหลักสิทธิมนุษยชนสากล ในเมื่อผู้ต้องหายืนยันปฏิเสธการกระทำผิด ก่อนที่จะตัดสินลงไป และเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ถูกกล่าวหา (ไม่ใช่ต่ออัยการผู้เป็นโจทก์)จำต้องมีการหาหลักฐานพิสูจน์เพิ่มเติมให้ปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น

การจะเหมาเอาว่าผู้ต้องหาย่อม จะอาศัยโอกาสกระทำเพื่อไม่ให้ผู้ใดรู้เห็น เป็นเครื่องชี้เจตนาแต่อย่างเดียว แล้วอ้างต่อไปว่า จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อม กรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัด ย่อมไม่ได้เช่นกัน ทำอย่างนั้นจะเข้าลักษณะศาลเพียงตาในตำนานยอยศมากกว่าศาลสถิตย์ยุติธรรมอันเป็นสากล

แถมยังมีกรณีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่จากซิมการ์ดที่ใช้กระทำผิด ซึ่งคำพิพากษาระบุว่าคือ ๐๘๑๓๔๙๓๖๑๕ ปรากฏตามหลักฐานที่ได้จากบริษัท ทรู มูฟ ว่าเป็นชนิดเติมเงินที่ส่งข้อความออกโดยเครื่องหมายเลขอีมี่ ๑๔ หลักตรงกับของอากง แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏด้วยว่าโทรศัพท์มือถือของอากงใช้ซิมการ์ดแบบเติมเงินในหมายเลข ๐๘๕๘๓๔๔๖๒๗ อย่างสม่ำเสมอมาก่อนเกิดเหตุ

หากศาลมีความรอบคอบกว่านี้ และพิจารณาโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดตามหลักสากล คือถือว่าบริสุทธิจนกว่าจะพิสูจน์โดยไร้ข้อสงสัยอย่างสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น ย่อมต้องคำนึงว่าเป็นไปได้เช่นกันที่จะมีการปรับแก้สอดแทรกเอาเครื่องโทรศัพท์มือถือของอากงไปใช้ส่งข้อความอันเป็นความผิดทั้งสี่โดยบุคคลอื่น

แม้น บุคคลอื่น เช่นว่านั้นได้มีการปรักปรำโดยผู้เล่นอินเตอร์เน็ตสมาชิกสังคมสื่อสารบางคนว่า อาจเป็นลูกหลาน ของอากงเองก็ได้ แต่จากรายละเอียดกระบวนการพิจารณาคดีในคำพิพากษาของศาลพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ญาติมิตรใกล้ชิดของอากง แต่กลับวินิจฉัยว่าใช่โดยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอากงเป็นผู้ลงมือกระทำโดยศาลอ้างว่าเป็นภาระรับผิดชอบของฝ่ายจำเลยเอง

ข้อต่อสู้ของอากงว่าได้นำโทรศัพท์มือถือของตนไปให้ช่างซ่อม (ในช่วงเวลาที่ตรงกับการเกิดเหตุ) แต่จำไม่ได้ว่าเป็นร้านไหน ทราบแต่ว่าอยู่ในอิมพีเรียลสำโรง แม้ขณะนั้นศาลไม่อาจจะทราบดังเช่นหลังจากที่มีการชันสูตรศพแล้วว่าอากงมีโรคมะเร็งลามไปถึงสมอง ซึ่งอาจทำให้ความจำฟั่นเฟือนไปบ้างก็ได้ แต่ในเมื่อจำเลยต่อสู้เช่นนั้น น่าที่ศาลจะต้องลงลึกไปให้ถึงก้นบึ้งเลยทีเดียวว่า มีใครลักลอบเอาโทรศัพท์ของอากงไปปรับใช้ส่งข้อความอันเป็นความผิดหรือเปล่า มิใช่อ้างเอาอย่างสุกเอาเผากินง่ายๆ ว่า เพราะเป็นการยาก สำหรับโจทก์

การด่วนพิพากษาว่าเป็นความผิดของอากงดังที่ทำไป ย่อมเป็นการพิจารณาตัดสินโดยไม่รอบคอบ อันเกิดความเสียหายแก่ผู้บริสุทธิ (ถึงชีวิต) หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นเจตนารวบรัดเพื่อลงโทษผู้ถูกกล่าวหาด้วยเหตุผลอื่น ที่ไม่ใช่จำนนด้วยหลักฐานทั้งปวง

หลังการเสียชีวิตในระหว่างถูกคุมขังของอากง ข้อสงสัยต่ออาการผิดผีผิดไข้ของคำพิพากษากลับเพิ่มทวียิ่งขึ้น เมื่อศาลโดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายทวี ประจวบลาภ ได้แถลงข่าวต่อกรณีที่มีคนไปยกป้ายทวงถามใครฆ่าอากง ว่าคดีอากงนี้ได้ถึงที่สุดไปแล้ว  ทนายจำเลยได้ถอนอุทธรณ์เพื่อที่จะถวายฎีกาขออภัยโทษ จึงไม่สามารถยื่นประกันได้ ถึงยื่นประกันก็คงไม่ได้ประกัน เนื่องจากคดีไม่ได้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรม

ทว่าความเป็นจริงที่นายทวีละไว้ไม่เอ่ยถึงมีอีกว่า ทนายได้ยื่นขอประกันตัวให้กับอากงถึง ๘ ครั้งก่อนถอนอุทธรณ์ ศาลอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดในขั้นร้ายแรง เกรงหลบหนี และ ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์” *(3)

จนกระทั่งนักโทษคดี ม.๑๑๒ หลายคนได้รับสัญญานว่าต้องรับสารภาพเสียก่อนจึงจะมีการพระราชทานอภัยโทษ นั่นทำให้ทนายอากงยุติการอุทธรณ์ และอากงก็ตั้งความหวังอย่างยิ่งว่าจะได้อภัยโทษในไม่ช้า

ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ อีกคนหนึ่งที่ยอมรับสารภาพเพื่อรอพระราชทานอภัยโทษ หลังจากทนายพยายามขอยื่นประกันตัวเพื่อให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้งล้วนถูกปฏิเสธทุกครั้งด้วยเหตุผลเดียวกับอากงก็คือ สุรชัย แซ่ด่าน (ด่านวัฒนานุสรณ์) ซึ่งถูกตัดสินจำคุกรวม ๑๐ ปี (แม้จะมีการลดโทษไปบ้างแล้ว ๒ ปีครึ่ง) จากโทษในความผิดข้อหาเดียวกันหลายกระทง เขามีโรคร้ายติดตัว ทั้งไขมันอุดเส้นเลือด และเตรียมเข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก แต่เป็นที่ห่วงใยกันว่าจะต้องตายในคุกเหมือนอากงเสียก่อนเพราะอายุถึง ๗๐ ปีแล้ว*(4)

ผลการชันสูตรพบว่าผู้ตายซึ่งเคยเป็นโรคมะเร็งที่ช่องปาก และได้รับการผ่าตัดมาแล้วก่อนต้องคดีนั้น มะเร็งได้ลุกลามไปยังสมอง และส่วนสำคัญลงไปที่ตับร้ายแรงถึงขั้นสุดท้าย อากงมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงมาหลายวัน ครั้นเมื่ออาการหนักมากในวันศุกรก็ยังไม่ได้รับการรักษาตลอดสุดสัปดาห์ จนเมื่อเสียชีวิตในวันจันทร์ปรากฏว่าท้องบวมป่องพองเต็มที่

ความเห็นของแพทย์ผู้ชันสูตรศพอากงเชื่อว่าก้อนเนื้อมะเร็งได้ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่เมื่อหกเดือนที่แล้ว อันเป็นช่วงเวลาที่อากงควรจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และรับการรักษาอย่างเหมาะสมในโรงพยาบาลภายนอกคุกที่มีประสิทธิภาพ โทษสำหรับการใช้ข้อความหยาบคายผรุสวาทต่อประมุขแห่งรัฐดังที่อากงถูกกล่าวหาเช่นนี้ แม้เป็นความผิดที่สามารถพิสูจน์ได้ชัดแจ้ง ในต่างประเทศนอกจากจะมีระวางโทษกระทงละไม่เกินหนึ่งปี แล้วยังต้องได้รับการประกันให้ออกไปรับการรักษาขณะถูกดำเนินคดี

การบิดพริ้วของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา รวมทั้งการใช้โวหารกระหวัดลิ้นประดุจทีมประชาสัมพันธ์พรรคการเมืองฝ่ายค้านของนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม เมื่อปลายปปีที่แล้วว่า อย่าดึงฟ้าต่ำ อย่าทำหินแตก อย่าแยกแผ่นดินแสดงถึงความพยายามนำเอาความจงรักภักดีมาแก้ต่างความผิดพลาด และไม่เที่ยงตรงของศาล แม้กระทั่งทนายจำเลย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ ถึงกับประชดว่า หรือเราเรียนกฏหมายมาคนละตำรากับศาล

ความพยายามกลบเกลื่อนด้วยการแสดงว่าศาลรู้จักหลักการ Presumption of Innocence และสิทธิในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตราบเท่าที่คดียังไม่สิ้นสุด ดังปรากฏในบทความ อากงปลงไม่ตก (๒) *(5) ของนายสิทธิศักดิ์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มิได้ทำให้ศาลไทยยกระดับศักดิ์ศรีแห่งความน่ายกย่องในมาตรฐานสากลดีขึ้น เว้นแต่กลับแสดงถึงความเจ้าเล่ห์อย่างนักการเมือง

เวลานี้ทั่วโลกล้วนมองเห็นแล้วว่าระบบยุติธรรมในประเทศไทยไม่เป็นอะไรที่ดีไปกว่าการบังคับใช้กฏหมายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งวิธีการบังคับอาจหนักหน่วงถึงขนาดมีประชาชนเป็นร้อยที่เห็นต่างต้องสังเวยชีวิตต่อกระสุนของทหารเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี ๒๕๕๓

ความตายของอากง การตัดสินใจสู้คดีต่อไปไม่รอรับการอภัยโทษของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข และการเลื่อนกำหนดวันตัดสินคดีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์ ไปปลายเดือนนี้ ล้วนได้รับการจับตา และติดตามความคืบหน้าของสื่อ และองค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติอยู่อย่างจรดจ่อ

การที่สื่อต่างประเทศจำนวนมากเสนอข่าวการตายของอากง*(6) อย่างครึกโครม เป็นเครื่องยืนยันว่ากระบวนการตุลาการไทยมิได้ผ่องใสอย่างที่คนไทยเคยคิด หรือถูกทำให้คิดกันอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อองค์การสิทธิมนุษยชนสากล เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์แนทชั่นแนล และฮิวแมนไร้ท์ ว้อทช์ ต่างได้แสดงความเห็นให้ปรากฏแล้วว่ากฏหมายหมิ่นกษัตริย์ หรือ Lese Majeste Law ของไทย ไม่ต้องด้วยครรลองคุณธรรมแห่งสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

เห็นได้ชัดจากคำพูดของนายแบรด อาดัมส์ ประธานภาคพื้นแปซิฟิคของฮิวแมนไร้ท์ ว้อทช์ หลังจากเข้าพบนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่ว่า สถานะของไทยขณะนี้เสื่อมถอยไปมากในสายตานานาชาติ...ซึ่งส่วนมากมาจากคดีหมิ่นสถาบัน เป็นเรื่องที่ชาวโลกไม่สามารถเข้าใจได้....เมื่อเทียบกับคดีอาชญากรรม คดียาเสพติด เมื่อเทียบกันแล้วไม่สมเหตุสมผล”*(7)

จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าทำไมนานาชาติจึงเห็นกฏหมายอาญา ม. ๑๑๒ ของไทยว่าร้ายแรง ขณะที่ผู้พิพากษา นักกฏหมาย และคนชั้นนำในสังคมไทยบางคนกลับบอกว่า กฏหมายจะแรงอย่างไร ถ้าไม่ไปละเมิดก็จะไม่เดือดร้อน ทั้งๆ ที่ผู้ต้องหามากมายมิได้มุ่งหมายจะละเมิด หากแต่ถูกยัดเยียดจากผลของการล่าแม่มดทางการเมือง

ความแตกต่างน่าจะอยู่ที่ จากภายนอกประเทศเขามองเห็นกันชัดเจนว่าการบังคับใช้ไม่ถูกทำนองคลองธรรม แต่ภายในประเทศความไม่ชอบมาพากลเหล่านั้นถูกปิดบังไว้ด้วยทัศนะวิสัยที่บอดไปแล้วด้านหนึ่ง


*(1) ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ อีกคนหนึ่ง ซึ่งเขียนจดหมายรำลึกถึงอากงเอาไว้ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ ประชาไทนำไปตีพิมพ์เปิดเผย ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2012/05/40485
*(2) ภาพถ่ายคำพิพากษาปรากฏในลิ้งค์บนเว็บ Zenjournalist.com ของนาย Andrew MacGregor Marshall
*(3) "ศาลฏีกาไม่ให้ประกันอากง ย้ำเหตุเดิม โทษร้ายแรงเกรงหลบหนี ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องก่อนหน้านี้ก็ชอบแล้ว" http://www.prachatai3.info/journal/2012/03/39683 ดูคำวิจารณ์เพิ่มเติมต่อถ้อยแถลงของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และบทความของนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม เรื่อง อากงปลงไม่ตก เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยขวัญระวี วังอุดม ได้ที่ http://prachatai.com/journal/2012/05/40445
*(4) นายสุรชัยเขียนพินัยกรรมว่าถ้าตายขออย่าให้เผาศพตนจนกว่าจะมีการแก้ไข หรือยกเลิกก.ม. อาญา ม. ๑๑๒ http://www.prachatai.com/journal/2012/05/40497

No comments:

Post a Comment