เกือบครบสองปีของเหตุร้ายแรงที่สุดทางการเมืองในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษา-พฤษภา
๕๓ ปรากฏว่ามีเสียงเรียกร้องต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยถี่ยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องคนตายกว่า ๙๑ รายด้วยอาวุธของทหาร และคนที่ถูกจับกุมคุมขังอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ครั้งนั้นยังตกค้างอีกถึง
๕๑ ราย
ท่ามกลางผลหยั่งเสียงต่อคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันที่บริหารงานครบ
๙ เดือน ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบคโพลล์) ซึ่งแม้จะเน้นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้า
ขานรับการรณรงค์ของพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านว่าผู้ตอบสำรวจส่วนใหญ่มีความพอใจต่ำกว่าครึ่ง
แต่ก็ยังให้คะแนนนิยมแก่ตัวนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถึงร้อยละ ๖๔.๘*(1)
ขณะที่รัฐบาลประกาศจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองงวดแรกแล้วในวันที่
๑๕ พฤษภาคม และมอบหมายกระทรวงพัฒนาชุมชนดำเนินการเปิดรับความเห็นสาธารณะต่อแนวทางการปรองดองให้แล้วเสร็จภายใน
๖๐ วัน โดยมีฝ่ายค้านปักหลักต้านอย่างไม่เกินคาดอีกเช่นกัน
มิใยที่มีอีกบางโพลล์แถลงผลสำรวจเสียงคัดค้านในรายละเอียดบางอย่างต่อแนวทางการปรองดองของรัฐบาล
เป็นที่น่าสังเกตุจากรายงานโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
(กรุงเทพโพลล์) ว่าผู้ตอบสำรวจถึง ๖๘.๘
เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะใช้วิธีการนิรโทษกรรมแก่ทั้งสองฝ่ายในเหตุร้าย “เมษา-พฤษภา ๕๓”
เพื่อเป็นสะพานนำไปสู่การปรองดองทางการเมือง “โดยให้เหตุผลว่าเป็นคนละเรื่องกัน
ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา อคติยังคงมีอยู่ทุกฝ่าย แต่ละฝ่ายไม่ยอมกัน
และผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ”*(2)
ยังมีอีกหนึ่งโพลล์อันควรแก่การกล่าวถึง
ซึ่งอาจจะเป็นโพลล์ขนาดย่อมกว่าที่เสนอมาแล้ว แต่ว่าเข้าถึงปัญหาได้อย่างตรงเป้า
ทั้งที่มีลักษณะการสำรวจอย่างปฐมภูมิ คือ“ไทยอีนิวส์”สำรวจความรู้สึกผู้อ่านของตนในสื่ออินเตอร์เน็ต ต่อการนำรองนายกรัฐมนตรีอีกสามท่านเข้าร่วมรดน้ำดำหัว
อวยพร และ “ขอคำปรึกษาเรื่องการปรองดอง” จากประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในโอกาสสงกรานต์ ของ
น.ส.ยิ่งลักษณ์
ผู้ตอบสำรวจไทยอีนิวส์จำนวนกว่า
๒,๕๐๐ รายมีความเห็นแยกเป็น ๓ ประเด็นด้วยกัน ๑๒ เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับอีก
๕๑ เปอร์เซ็นต์คัดค้านอย่างเต็มที่
อันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมมากมายอะไร
ในฐานะที่ไทยอีนิวส์ถูกสื่อสายหลักจัดให้เป็น “เว็บเสื้อแดง”
ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของคนกลุ่มที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร
เรียกร้องการเลือกตั้งใหม่แต่กลับได้กระสุน (ตามสำนวนฝรั่ง “asked for
ballots, but got bullets”) เห็นอกเห็นใจอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นหลักใหญ่ใจความ
ล้วนเห็นพ้องกันว่า
การนิรโทษกรรมผู้นำทางการเมืองทั้งสองฝ่าย
เป็นการทรยศต่อผู้เสียหาย ทั้งที่เสียชีวิต หรือเสียโอกาสในการดำเนินชีวิตที่ดีต่อไป
รวมถึงเสียขวัญกำลังใจจากการถูกจองจำมาเป็นเวลานานแล้วยังมองไม่เห็นหนทางสงบเบื้องหน้า
ขณะที่ผู้นำทั้งหลายได้ลอยตา รัฐบาลที่พวกเขาเป็นกำลังสำคัญให้ชนะเลือกตั้งกลับลอยตัวอยู่กับวาทกรรมปรองดอง
บุคคลประเภท
“....สั่งฆ่า......สั่งยิง” ยังคงลอยนวล
แต่ไพร่ราบจำนวนมากที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อสิทธิเสรีภาพของตนกลับต้องทนทุกข์ต่อไป
หรืออาจจะใช้คำอธิบายของคณะนิติราษฎร์ในคำประกาศฉบับที่
๓๔ ซึ่งเขียนโดย ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ได้ ว่า “เนื่องจากการนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวแม้จะทำให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมพ้นจากความผิด
และความรับผิด แต่ก็จะมีผลให้บรรดาผู้ที่สั่งการและปฏิบัติการสลายการชุมนุมพ้นจากความผิดไปพร้อมกันด้วย
การนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมต่างๆ
ที่เกิดขึ้นหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา” *(3)
ในฐานะที่จากโพลล์ของไทยอีนิวส์ก่อนหน้านี้*(4) มีผู้ตอบแบบสอบถามสองครั้งในเดือนกุมภาพันธ์
และเมษายนปีนี้
แสดงความประสงค์จะเลือกพรรคการเมืองที่สนับสนุนข้อเสนอนิติราษฎร์มากกว่าพรรคเพื่อไทย
ทั้งสองครั้ง ถ้าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันนั้น โพลล์ในเดือน ก.พ.
เพื่อไทยได้คะแนน ๒๙.๕ เปอร์เซ็นต์ ข้อเสนอนิติราษฎร์ได้ ๖๓.๔ เปอร์เซ็นต์
พอถึงเดือน ม.ย. นิติราษฎร์ยังคงได้รับเลือก ๕๕.๔ เปอร์เซ็นต์
เทียบกับเพื่อไทยที่ได้ ๓๐.๙ เปอร์เซ็นต์
และเป็นที่น่าสังเกตุว่าคะแนนที่ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในโพลล์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก
๒.๙ เปอร์เซ็นต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ไปเป็น ๘.๒ เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน อันเป็นช่วงที่เกิดความรู้สึกอึดอัดขัดใจของคนเสื้อแดงบางภาคบางส่วนต่อท่าทีของพรรคเพื่อไทย
จนเป็นผลให้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งท้องถิ่น
และเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปทุมธานีพ่ายต่อพรรคประชาธิปัตย์
เป็นกระแสคลื่นตีกระทบให้ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมที่เชียงรายของพรรคเพื่อไทยพ่ายต่อแกนนำเสื้อแดงของพื้นที่เมื่อปลายเดือนที่แล้ว
ย้อนกลับไปที่เรื่องรดน้ำดำหัว
ถึงกระนั้นก็ดี ยังมีเสื้อแดงอีกไม่น้อยในโพลล์ของไทยอีนิวส์บอกว่า “เขาคงแค่ลับ ลวง พราง” เป็นจำนวนถึง ๓๗ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เห็นชอบกับการรดน้ำดำหัวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึงสามเท่า
แม้จะไม่มีรายละเอียดจากความเห็นของผู้ที่คิดว่ามีการลับ-ลวง-พรางอย่างไร
ก็ควรแก่การเสาะหาคำอธิบายกันในที่นี้
ด้วยเหตุที่มีนัยยะอันสำคัญหากตีความได้ว่าเป็นอีแอบของพวกเห็นชอบ
ซึ่งเมื่อรวมคะแนนกันแล้วได้ ๔๙ เปอร์เซ็นต์ก็สูสีกับฝ่ายที่คัดค้าน
เหตุหนึ่งนั้นเนื่องจากพล.อ.เปรมเคยเป็นผู้ที่
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยพาดพิงเอาไว้ว่าเป็น “มือที่มองไม่เห็น” ผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารของ คมช. ที่โค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้งของทักษิณ
โดยมอบให้พล.อ.สนธิ บุณยรัตนกลิน เป็นหัวโขนดำเนินการ
พล.อ.เปรมนี้อีกเช่นกันที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หนึ่งในรัฐมนตรีของรัฐบาลปัจจุบันเคยประกาศบนเวทีเสื้อแดงขอ
“ชกข้ามรุ่น” ในฐานที่เป็นหัวโจกพวกอำมาตย์ซึ่งคิดร้าย
กระทำย่ำยีต่อมวลชนเสื้อแดง ระหว่างการชุมนุมนับแต่แยกคอกวัวถึงบ่อนไก่ในกลางปี
๒๕๕๓
ครั้น
น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำตนเป็นนายกฯ ผู้น่ารัก (แม้จะไม่ดีที่สุดในโลกเหมือนนายกฯ
คนก่อน) เข้าไปคำนับขอคำปรึกษา คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ (อุปมาอุปมัยในที่นี้เท่ากับ ๕๑
เปอร์เซ็นต์ตามตัวเลขโพลไทยอีนิวส์) ย่อมพากันคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณเปลี่ยนไป
และพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลง เสียแล้ว ในเมื่อ
พล.อ.เปรมนั้นมิได้มีคุณูปการให้แก่คนเสื้อแต่อย่างใด (คำวิพากษ์ของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล บนเฟชบุ๊คเป็นเครื่องยืนยัน)
ลับ-ลวง-พราง
อาจหมายถึงตบตาป๋า หรือว่าตบตาคนเสื้อแดง ทางใดทางหนึ่ง แต่จะเป็นทั้งสองทางไม่ได้
นี่เองที่เป็นนัยยะว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยไปทางไหนแน่ “อำมาตย์หรือมวลชน”
ทางที่ดีต่อศรัทธาของมวลชนควรอยู่ที่ไม่มีลับ-ลวง-พรางใดๆ
มีแต่ผิดพลาดคล้ายปทุมธานี และเชียงราย ส่วนที่หญิงปู หญิงอ้อ หญิงหน่อย
และเจ๊แดงได้ไปกันแล้วทางใด ในฐานะที่บุคคลเหล่านี้เป็นปัจจัยแห่งพลังขับเคลื่อนในพรรคเพื่อไทยในช่องว่างของ
พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ควรชวนกันปรับกระบวนให้สอดคล้องเสีย
อาจนับเป็นเรื่องดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องการแสดงบุคคลิกของตนเองให้ประจักษ์เสียทีในบทบาทนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน เอาความสงบสยบความกักขฬะของฝ่ายค้าน เอาความจิ้มลิ้มทิ่มแทงภาพลักษณ์อำมหิตของนักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นบุคคลิกที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพี่ชายที่แสนดีที่เคยเอาแต่ชนกับชนเสียจนพัง
มีการ์ตูนของอรุณ
วัชรสวัสดิ์ ที่จับประเด็นท่าทาง และท่วงทีของนายกฯ ยิ่งลักษณ์
ในบทตัวแทนช่องว่างของทักษิณไว้อย่างแหลมคม สามารถนำมาสวมใส่ในประเด็นนิรโทษกรรมทางการเมือง
กับการทำความจริงให้ปรากฏในกรณีเข่นฆ่าประชาชนว่า เบื้องหน้านั้นคือพี่ชายที่แสนดี
แต่ภูมิหลังเป็นมวลชนที่แสนรัก เธอจะเดินต่อไปอย่างไร
น.ส.ยิ่งลักษณ์จะทำประโยชน์ให้แก่พี่ชาย
วงศ์ตระกูล พรรคเพื่อไทย และประเทศชาติได้ดี
ถ้าใช้บุคคลิกของเธอเองเป็นตัวขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างชาญฉลาด ไปพร้อมๆ กับพลังกำหนดวิสัยทัศน์ในขนาดของคลังแสงที่ไม่ด้อยไปกว่าพี่ชาย
ผลจากการเดินทางเยือนต่างประเทศไม่หยุดยั้ง
สร้างความประทับใจแก่นานาชาติแม้เพียงในเครื่องแต่งกาย ขณะที่มีทีมงานคอยเก็บสอยข้อตกลงความร่วมมือ และการลงทุนได้
ปล่อยวางเรื่องนิรโทษกรรมไว้เสียก่อน
รอให้ถึงเวลาเท่ๆ ที่แน่นอนในสายตาทั้งอริ และผู้ศรัทธา ไม่ดีกว่าหรือ ปักหลักเอาชนะความเกลียดด้วยการเพิ่มคุณภาพความรักดีกว่าพยายามเอาใจคนที่ไม่รักจริงจนหมางน้ำใจคนที่เขารักเรา
เรื่องประโลมโลกเล็กน้อยบางทีก็ใช้เป็นอุทธาหรณ์สำหรับเรื่องใหญ่ระดับชาติได้
การฟ้องร้องเอาผิดต่อนายอภิสิทธ์
เวชชาชีวะ จากการสั่งปราบประชาชนอย่างร้ายแรงด้วยกระสุนจริงเมื่อกลางปี ๕๓
นั้นศาลอาญาระหว่างประเทศรับดำเนินคดีแล้ว
ติดขัดแต่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการในประเทศไทยได้เพราะไทยไม่ได้ลงนามให้สัตยาบันแก่ศาล
การนี้สอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ดร.สุนัย จุลพงศธร และ นพ.เหวง โตจิราการ
ได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลให้คณะรัฐมนตรีประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลตามธรรมนูญกรุงโรมไว้
น่าที่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเร่งดำเนินการเรียกประชุม
ค.ร.ม.โดยไว ไม่เพียงเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหาย ดังที่นางพะเยาว์
อัคฮาด มารดาของ น.ส. กมลเกด อาสาสมัครพยาบาลผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามจากกระสุนสไน้เปอร์ของทหารเรียกร้อง
หากแต่แสดงให้หัวหน้าฝ่ายค้านเห็นว่าหัวหน้ารัฐบาลมิใช่เป็นหน้ากากให้พี่ชายเสมอไปในเรื่องของการบริหารงาน
ทั้งยังสนองคำปรามาสที่นายอภิสิทธ์พูดไว้ในที่สาธารณะว่าพร้อมจะสู้คดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เมษา-พฤษภา
๕๓
พรรคเพื่อไทยก็เช่นกัน
กล่าวได้ว่ามาถึงทางแพร่งอันสำคัญยิ่ง
โดยเฉพาะต่ออนาคตทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่ามันจะมาช้ามาเร็ว
หรือไม่มาตามฤดูกาลปกติ เพราะประเด็นลับ-ลวง-พราง จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นผลดีในทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน
ไม่มากก็น้อย
การตบตาป๋าอาจทำให้เลือกตั้งไม่มาตามนัด
เช่นเดียวกันถ้าตบตาเสื้อแดงคงทำให้ต้องหาฐานเสียงมาเสริมกันใหม่ในส่วนของรากหญ้าผู้สูญเสีย
และถูกทอดทิ้ง
องคาพยพตัวขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทยน่าจะเก่งในการใช้คณิตศาสตร์หาข้อสรุปได้ไม่ยาก
เว้นแต่ว่าได้เกิดการเปลี่ยนไป
และเปลี่ยนแปลงแล้ว ดังกล่าวข้างต้น
*(1)
ดูรายละเอียดที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336275758&grpid=&catid=01&subcatid=0100 โดยที่ดร.นพดล กรรณิกา
ผู้จัดทำโพลล์นั้นเคยเป็นผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างแข็งขันจนมีคำกล่าวว่าเขาเป็นที่ปรึกษาใต้โต๊ะของนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดที่แล้ว
*(2)
http://www.prachatai.com/journal/2012/05/40356
*(3)
http://www.enlightened-jurists.com/blog/63
วรเจตน์แจ้งว่า
ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้จะจัดกิจกรรมเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ข้อเสนอในการปรองดอง
พร้อมทั้งเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร และการขจัดความขัดแย้งในสังคมไทยด้วย
*(4)
http://thaienews.blogspot.com/2012/04/blog-post_3066.html
No comments:
Post a Comment