Monday, April 9, 2012

ได้เวลารื้อซ่อมตุลาการไทย



ผู้เขียนได้รับแรงดลใจจากลายแทงบนเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งให้ไปชม ฟัง และอ่านเนื้อหาการเสวนาทางวิชาการที่ศาตราจารย์วิธีพิเศษ ธีรยุทธ บุญมี จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ศกนี้ ด้วยความใฝ่รู้ และอยากเรียน เหมือนกับชาวบ้านมากมายที่โหยหาประชาธิปไตย และแหนงหน่ายต่อการบังคับใช้กฏหมายด้วยมาตรฐานซ้อน (อันหนึ่งอยู่เหนืออีกอัน) ในประเทศไทย

การเสวนาครั้งนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่งด้วยนำเอานักกฏหมายระดับปรมาจารย์อย่าง ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ และผู้บังคับใช้กฏหมายระดับอ๋องอย่างประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ มาเป็นองค์ปาฐก ดร. อมรบรรยายในหัวข้อ ระบบยุติธรรมกับประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ส่วนท่านวสันต์ (และประธานศาลปกครองสูงสุด หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) แบ่งกันพูดในเรื่อง ศาลกับความยุติธรรมในมิติต่างๆ ของไทย

เนื้อหาจากการเสวนาซึ่งผู้เขียนใส่ใจแก่มิใช่เพียงคำเกริ่นนำของผู้จัดที่ว่า โปรแกรมการขับเคลื่อนประเทศไทยนับแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเวลากว่า ๕๐ ปี บัดนี้ล้าหลัง ต้องยกเครื่องสังคายนากันยกใหญ่และที่ว่า ทุกวันนี้คนไทยไม่ค่อยฟังใคร จึงอยากให้เราไม่ต้องเรียกร้องให้คนอื่นทำ ตอนนี้เรียกร้องแก้ไขตัวเองดีที่สุด"*(1)

หากแต่อยู่ที่วจีของประธานศาลรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งว่า สถาบันตุลาการ ถูกเหล่มาหลายปี ด้วยเหตุหนึ่งที่ มีคำว่าตุลาการภิวัฒน์ซึ่งพระเดชพระคุณ (The Honorable) วสันต์กรุณาขยายความว่า ฟังดูก็โก้ๆ ดี แต่นั่นเป็นการทำให้เห็นว่าภารกิจของตุลาการ หรือผู้พิพากษาไม่ใช่อยู่ในเรื่องการตัดสินคดีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

นี่แหละคือหัวใจของความเห็นต่าง และกำลังเป็นความแตกแยกทางการเมืองอันก้าวลึกล้ำเข้าไปในขอบข่ายของวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ผูกพันกันในหมู่ประชาชน ที่แบ่งขั้วเป็นสีสลิ่ม (ขาว-ฟ้า-ชมพู) และสีแดง

เป็นข้อถกเถียงอันไม่อาจกำหนดผลลัพท์ได้เลยว่าจะเป็นต่อไปแบบ ไทยๆ หรือหวนกลับไปหาชนิดง่ายๆ ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมายให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ไม่ต้องมีสร้อยห้อยท้ายรุงรัง เหลือเพียงแค่สั้นๆ ว่าเป็น ไทย ธรรมดา กันดี

ปัญหามีอยู่ว่า สิ่งที่ท่านวสันต์เห็นว่าเป็นภารกิจใหม่ของตุลาการที่จะ ภิวัฒน์ บ้านเมือง มันบังเอิญเป็นมารกิจที่ก่อความพิบัติต่อประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศที่เรียกว่า เสียงข้างมาก เพราะมันไปกำจัด และกีดกันมิให้ประชาชนเหล่านั้นได้รับผลพวง และประโยชน์สุขต่อชิวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิมของพวกเขา เมื่อมีการอ้างสิ่งสูงส่งในแผ่นดินเหนือสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ (หนึ่งบุคคลหนึ่งเสียงข้างมาก) เพื่อที่จะรักษา อาญาสิทธิ์ ของผู้มีอำนาจบังคับใช้กฏหมายเอาไว้ให้ สถิตย์สถาพร ตลอดไป

สิ่งที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ก็โก้ๆ ดี แล้วยังน่าเลื่อมใสที่กลายเป็น ภารกิจ ใหม่ของตุลาการนั้น อันที่จริงมิใช่สิ่งแปลกใหม่แบบ ไทยๆ ที่ตุลาการผู้มีอิสระล้นหลามในศาลรัฐธรรมนูญทำการตัดสินคดี (อย่างมีธง) จนกระทั่งรีบเร่งอ่านคำพิพากษาด้วยข้อความตามพจนานุกรม แทนที่จะเป็นด้วย ข้อเท็จจริง และ ข้อกฏหมาย ตามที่ท่านวสันต์คุยเขื่องไว้เรื่องการตัดสินคดี ชิมไปบ่นไป

ท่านวสันต์ไม่ได้อ้างตรงๆ ถึงการเปิดพจนานุกรมตัดสิน หากเล่าถึงเงื่อนเวลา ไฟลนก้น บ่ายสามโมงจะต้องอ่านคำพิพากษาแล้วยังหาข้อสรุปความผิดของนายสมัคร สุนทรเวช ในข้อเท้จจริงประเด็นไปออกรายการโทรทัศน์ตามถนัดชุด ชิมไปบ่นไป แม้เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วไม่ได้ จึงได้มีการเปิดพจนานุกรมหาเหตุผลอ้างอิงเพื่อที่จะปรับเข้ากับข้อกฏหมายให้ลงธงได้ ที่สุดเลยกลายเป็นการตัดสินอย่าง ลวกๆ เมื่อเวลาบ่ายสี่โมงสิบห้าดังท่านวสันต์เล่า

ในสหรัฐอเมริกา*(2) เรียกลักษณะการใช้อาญาสิทธิ์แห่งตุลาการนอกกรอบของการตัดสินคดีความตามเนื้อนาแห่งกฏหมาย ทว่าก้าวล้ำเข้าไปในขอบเขตอำนาจของอธิปไตยแขนงอื่นนี้ว่า Activism หรือการพิจารณาคดีความอย่างนักกิจกรรม ส่วนมากจะเป็นการตัดสินบนจุดยืนของฝักฝ่ายในทางการเมือง ดังที่ศาลสูงสุดสหรัฐ (Supreme Court) ชุดปัจจุบันซึ่งมีฉายาตามนามของท่านประธาน จอห์น รอเบิร์ต ว่า ศาลรอเบิร์ต กำลังถูกวิพากษ์อย่างหนัก ว่าพยายามนำอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเข้ามาครอบงำรัฐธรรมนูญ และพิจารณาคดีความตามแนวนโยบายของพรรครีพับลิกัน*(3)

ผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐ ๕ ใน ๙ ท่านซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน และถูกจัดว่าเป็นกลุ่มอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ได้แก่ ท่านประธานรอเบิร์ต ผู้พิพากษาแซมมวล อลิโต้ ผู้พิพากษาแอนโตนิน ชาลิอา ผู้พิพากษาแคลเร้นซ์ ธอมัส และผู้พิพากษาแอนโธนี่ เค็นเนดี้ มักจะเป็นเสียงข้างมากในการวินิฉัยลบล้าง รื้อถอนระเบียบปฏิบัติ และหลักการที่เป็นประชาเสรีนิยม (Liberals) อย่างบ่อยครั้งในช่วงทศวรรตที่ผ่านมา

ดังเช่นความพยายามในสมัยประธานาธิบดีรอแนลด์ เรแกน และจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุสช์ มาจนถึงศาลรอเบิร์ตในปี ค.ศ. ๒๐๐๙ ที่จะลบล้างหลักการเรื่องสิทธิในการออกเสียง หรือในคดีกฏหมายต้านคนต่างด้าวของรัฐอริโซน่า จนกระทั่งล่าสุดในการพิจารณากฏหมายสุขภาพถ้วนหน้าของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแนวโน้มว่าศาลจะพิพากษาตามคำฟ้องของกลุ่มอัยการจากมลรัฐต่างๆ ที่อ้างว่าการกำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องมีประกันสุขภาพเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แม้จะยอมรับว่าระเบียบบังคับหลายอย่างในกฏหมายฉบับนี้รวมทั้งที่ได้เริ่มมีการบังคับใช้บ้างแล้วว่าเป็นผลดีก็ตาม

ทั้งนี้เนื่องจากตลอดเวลาสามวันในการรับฟัง และซักถามข้อต่อสู้ของคู่กรณี ผู้พิพากษากลุ่มอนุรักษ์นิยมทั้งห้าถูกวิจารณ์ว่าตั้งคำถามในทางที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายโจทก์ (อัยการมลรัฐ) นั่นคือตั้งธงว่ากฏหมายประกันสุขภาพขัดต่อหลักเสรีภาพส่วนบุคคล

มิใยที่ฝ่ายรัฐบาลชี้แจงว่าข้อกำหนดดังกล่าวนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่มอบหมายให้รัฐบาลกลางเป็นผู้วางกฏเกณฑ์ควบคุมการค้า (Commerce Clause) และผู้พิพากษากลุ่มลิเบอรอลตั้งข้อสังเกตุว่า ศาลไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจของฝ่ายบริหาร ควรละไว้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาจะเหมาะสมกว่า

ผู้เขียนลงลึกเข้าไปถึงรายละเอียดในข้อถกเถียงเรื่องอำนาจศาลสูงสุดอเมริกันเพื่อชี้ให้เห็นว่า ในระบอบประชาธิปไตยที่มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยชัดเจนระหว่างฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ โดยที่ผู้บังคับใช้อำนาจอธิปไตยแต่ละแขนงรับผิดชอบโดยตรงต่อ และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แม้จะมีการประพฤติแบบนักกิจกรรมก้าวล้ำกันบ้าง ก็ยังมีเสียงของจิตสำนึกแห่งความถูกต้องปรากฏให้เห็น

มีการยอมรับอำนาจของสาขาอื่นที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน มิใช่ยกเมฆชูสวรรค์กันว่าเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งนั้นโง่เง่า และองค์กรแต่งตั้ง (หรือที่บิดเบือนไปใช้คำหรูว่า สรรหา) จากเสียงข้างน้อยผู้มีบุญญาบารมีนั้นประเสริฐ

ในคดีกฏหมายประกันสุขภาพของอเมริกันมีการวิเคราะห์ว่าผลการตัดสินที่จะออกมาในเดือนมิถุนายนอาจยกคำฟ้องของอัยการมลรัฐก็ได้*(4) เพราะผู้พิพากษาเค็นเนดี้ในระยะหลังๆ ช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาท่านมักอยู่ในฐานะเสียงตัดสินตรงกลางระหว่างสองกลุ่มอุดมการณ์ที่ตรงข้ามกันข้างละสี่ ท่านมักเปลี่ยนใจในห้วงสุดท้ายของการตัดสินเมื่อพิจารณาเนื้อหาคดีอย่างถี่ถ้วน แล้วตัดสินไปในทางตรงข้ามกับท่าทีที่แสดงในการซักค้านคู่คดีก็ได้

ในเมื่อหัวใจสำคัญของบทบัญญัติให้ประชาชนอเมริกันต้องมีประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นอยู่ที่ว่า กฏหมายปฏิรูปฉบับนี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์นิยม และพรรครีพับลิกันต่อต้าน รัฐบาลโอบาม่าจึงหาทางออกอย่างแยบยลให้อุตสาหกรรมสุขภาพรับภาระไปด้วยความอิ่มเอมใจ เมื่อกฏหมายบังคับให้ทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพ กิจการประกันสุขภาพย่อมมีลูกค้ารออยู่แล้วพร้อมหน้าโดยไม่ต้องไปขวนขวาย จึงปรากฏว่าเมื่อกฏหมายฉบับนี้มีท่าทีจะถูกศาลสูงสุดตีตก ก็เกิดการสั่นคลอนภายในอุตสาหกรรมประกันสุขภาพอย่างขนานใหญ่*(5)

หรือถ้าหากผู้พิพากษาเค็นเนดี้ไม่สนใจต่อความพอใจของกลุ่มธุรกิจประกันสุขภาพ ยังคงเข้ากับกลุ่มอนุรักษ์นิยมอีกสี่ท่านตัดสินด้วยจุดยืนทางอุดมการณ์ รัฐบาลโอบาม่าก็จะยื่นร่างกฏหมายปฏิรูปประกันสุขภาพเข้าสู่สภาอีกครั้งในปีหน้า โดยใช้คำพิพากษาของศาลสูงสุดนั้นไปเป็นข้ออ้างในการหาเสียงรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองในปลายปีนี้

โดยที่โอบาม่าจะได้เสียงสนับสนุนเพิ่มเติมจากอุตสาหกรรมประกันสุขภาพ และประชาชนที่เคยได้ประโยชน์จากบทบัญญัติบางข้อของกฏหมาย อาทิ การให้ลูกพ่วงท้ายประกันสุขภาพของบิดามารดาได้ถึงอายุ ๒๖ ปี การขยายบริการเมดิเคด (Medicaid) โครงการประกันสุขภาพแก่คนยากจน และคนพิการ กับการห้ามบริษัทประกันสุขภาพกีดกันไม่รับบริการผู้ที่มีโรคร้ายติดตัวอยู่แล้ว (Pre-existing conditions)

รวมความว่าปัญหาของตุลาการภิวัฒน์ หรือศาลนักกิจกรรมในอเมริกามีทางออกในวิถีทางประชาธิปไตย ที่ไม่ว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายไหนจะเกิดอาการของขึ้น หลงเลือนไปเป็นครั้งคราวว่าตนเองวิเศษกว่าฝ่ายอื่น (Hubris) ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังสามารถแก้ไขได้ด้วยวิถีประชาธิปไตย และกระบวนการที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน

แต่สำหรับตุลาการไทยเล่า แม้จะยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วเขาหาทางแก้ไขกันอย่างไร เรามาย้อนกลับไปดูการเสวนาที่จัดโดยศาสตราจารย์วิธีพิเศษกันอีกที

ดร. อมรกล่าวว่า ทำอย่างไรจึงจะยกระดับการวินิจฉัยของศาลขึ้นมาได้ ท่านเสนอทางแก้ไขไว้สามอย่าง ข้อหนึ่งให้คัดเลือกคุณสมบัติของผู้พิพากษาจากผลงานในอดีตด้วย ไม่ใช่เพียงแค่วิสัยทัศน์ ข้อสองให้ปรับปรุงวิธีการพิจารณาคดีของศาล คือ ต้องเขียนก่อนแล้วอ่านไม่ใช่อ่านคำพิพากษาเสร็จแล้วไปเขียนเพิ่มเติมหลังจากฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ และข้อสามท่านให้มีการตรวจสอบคำวินิจฉัย

ข้อสามนี่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากท่านอมรแนะให้หน่วยธุรการของศาลเป็นผู้ตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาล ในเมื่อหน่วยธุรการของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ และ การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเสนอของประธานศาลรัฐธรรมนูญและได้รับความเห็นชอบของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (รธน. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๗)

ก็เท่ากับว่าคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญเนี่ยท่านเขียนกันเอง ตรวจกันเอง มันจะไหวหรือ ก็ในเมื่อบางครั้งยังไฟลนก้นเขียนแทบไม่ทันธง แล้วจะให้ตรวจอีกคงได้อ่านเมื่อตอนสามทุ่มละมัง

แล้วในกรณีที่เขียนคำพิพากษากันอย่างลวกๆ เพราะจะรีบไปอ่าน แม้ท่านประธานฯ บอกว่าภายหลังได้มีการปรับปรุงวิธีทำงานโดยยกร่างแล้วตรวจกันก่อนจนเป็นที่พอใจ ข้อไหนเป็นที่โต้เถียงยังสรุปไม่ได้ก็จะทำสำนวนเป็นสองประเด็น เอาไปออกเสียงกันได้อย่างไรแล้วจึงขึ้นจอ นั่นก็ไม่ใช่หลักประกันอันใดว่าต่อไปภายหน้าจะไม่มีผู้พิพากษาที่เกิดไฟลนก้นแล้วพิพากษาอย่างลวกๆ อีก

ในเมื่อทั้งๆ ที่มาตรา ๒๑๖ กำหนดอย่างค่อนข้างละเอียดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อยต้องประกอบด้วยความเป็นมา หรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง ก็ยังผิดพลาดกันเพราะลุกลี้ลุกลนตามธง
ถึงจะไม่มีใครคิดบังอาจกล่าวหาผู้พิพากษาว่ารับภารกิจพิเศษมาเล่นเรื่องการเมืองแล้วย่อมลดหย่อนศักดิ์ศรีความน่าเชื่อถือลงไป จะห้ามมิให้เกิดความหวาดระแวงในหมู่ประชาชนว่าท่านมีอิสระที่จะไปทางขายวิญญานให้อสูรนั้นได้ ก็คงจะยากอยู่

ทางดีที่สุดควรจะกำหนดกฏเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐานสากลในรัฐธรรมนูญนั่นเลย ไหนๆ ก็จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่กันแล้ว หมวด ๑๐ ว่าด้วยศาลน่าที่จะมีการรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่ ไม่ให้กำกวม หรือถ่างห่างจนต้องมีมือที่มองไม่เห็นเอาธงไปปักไว้ให้ท่านผู้พิพากษาเดินตามทางที่เฉไฉไปจากประชาชน ว่ากันตั้งแต่มาตรา ๑๙๘-๑๙๙-๒๐๐ เกี่ยวกับอำนาจสูงส่งของศาล และการแต่งตั้งผู้พิพากษา ควรจะมีติ่งเพิ่มเติมว่าท้ายที่สุดต้องได้รับการรับรองจากสภาผู้แทนราษฎร (ไม่จำเป็นต้องผ่านการเลือกตั้งโดยตรงแบบสหรัฐก็ได้)

การแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาอย่างเดียว (ม. ๒๐๔) โดยที่วุฒิสภามาจากการลากตั้งเสียครึ่งหนึ่งนั้นถ้าไม่เรียกว่าเผด็จการก็ยังอยู่ในข่ายชนชั้นนำส่วนน้อยเอารัดเอาเปรียบประชาชนส่วนใหญ่อยู่ดี ยิ่งวิธีการสรรหา (ม. ๒๐๖) ที่ผู้สรรหาเป็นประธานศาลเสียส่วนมาก แถมกรณีที่เกิดขึ้นแล้วผู้สรรหาภายหลังมาดำรงตำแหน่งเสียเอง เช่นนี้ไม่มีหลักประกันความบริสุทธิ์ยุติธรรมใดๆ ได้เลยสำหรับประชาชนรากหญ้า

ผู้เขียนไม่ใช่นักกฏหมายโดยตรง จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะมาซักค้านกับปรมาจารย์ทางด้านกฏหมายทั้งหลาย เพียงแต่แสดงความคิดเห็นด้วยสามัญสำนึก เฉกเช่นชาวบ้านที่ร้องแรกแหกกระเฌอเพื่อรักษาสิทธิ์ของตน หลังจากที่ถูกข่มเหงกระทำ เข่นฆ่า และจองจำ ด้วยผลแห่งมายาคติที่ว่าพวกเขาโง่เง่าเต่าตุ่น จนต้องศึกษาลู่ทางไว้ป้องกันผู้มีศักดิ์ศรีสูงส่งทั้งหลายใช้ตราชั่งที่อยู่ในมือสับโขกเอาเป็นว่าเล่น

อีกทั้งข้อที่ท่านประธานฯ เหน็บไว้ว่า ใครว่าไม่ถูกตรวจสอบครับ ถูกตรวจสอบอย่างมากครับ ตัดสินเช้าวันนี้บ่ายออกทีวีด่าแล้ว" เช่นนี้ถ้าจะเป็นเหตุให้ผู้พิพากษาไม่อยากเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญละก็ ผู้เขียนเห็นว่าเหมาะแก่ฐานานุรูปดีแล้วละ แต่ทางปฏิบัติที่เป็นมา และเป็นอยู่มิใช่เป็นเช่นนั้น ผู้พิพากษาทั้งหลายยังถืออาญาสิทธิ์ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อการตรวจสอบประชาชนกันอยู่อย่างกว้างขวาง

เป็นความลุ่มหลงในฐานันดรพิเศษของตุลาการภิวัฒน์ไทยนี้แหละ ที่ทำให้ความไม่สมานฉันท์ในสังคมไทยเพิ่มความร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนมองเห็นรำไรที่ปลายทางแล้วว่า การอยู่ร่วมกันโดยสันติของสองขั้วทางการเมืองคงเป็นไปได้ยาก


*(1) ขอบคุณหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ที่เก็บภาพ เสียง และถอดความเป็นอักษรมาให้ตักตวงกันที่ http://www.matichon.co.th/play_clip.php?newsid=1333627322
*(2) ผู้เขียนยกตัวอย่างสหรัฐเพราะใกล้มือ และเชื่อว่าสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาได้ดี ในฐานะที่เป็นแม่แบบการเมือง การปกครองในทางประชาธิปไตย อันมีการปักหลักลงรากสิทธิเสียงแห่งปัจเจกชนอย่างกว้างขวาง และมั่นคงดีแล้ว
*(3) สำหรับข้อวิพากษ์ว่าศาลรอเบิร์ตเป็นศาลนักกิจกรรม โปรดดูจากคำวิจารณ์ของสื่อเหล่านี้http://www.nytimes.com/2012/02/05//politics-and-the-supreme-court. และhttp://www.nytimes.com/2012/04/01/the-roberts-court-defines-itself. และ http://www.nytimes.com/2012/03/29/activism-and-the-roberts-court.
*(4) มีบทความสองชิ้นที่ผู้เขียนพบระบุไว้ตรงกันที่นี่ http://www.natlawreview.com/article/supreme-court-likely-to-uphold-obamacare-constitutional-analysis
*(5)“Abandoning the efforts and billions of dollars invested since the law was passed in 2010 would result in turmoil for hospitals, doctors, patients and insurers.” http://www.nytimes.com/2012/03/31/a-health-law-at-risk-gives-insurers-pause.





No comments:

Post a Comment