Monday, March 19, 2012

ถึงไม่ปรองดอง ก็ต้องเปลี่ยนแปลง


เกือบแปดเดือนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ผ่านวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ผสมน้ำลายฝ่ายค้านมาได้อย่างค่อนข้างฉลุย*(1) แล้วยังข้ามพ้นเสียงคำรามของฝ่ายทหารกับคลื่นเสียงรบกวนของฝ่ายตรงข้าม ด้วยการต้อนรับป๋าเปรมไปร่วมงาน รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย เคล้าดนตรีออเคสตร้า อาหารออเดิ๊ร์ฟ และเครื่องดื่มค็อกเทล กันอย่างชื่นมื่น

ตามด้วยน้ำเสียงกร้าวของท่านรองฯ ฝ่ายบู๊ กำหราบพวกก้าวล่วงฯ ทั้งหลาย เป็นการปูเสื่อสำหรับก้าวสำคัญต่อไปในทางการเมืองเรื่องการ ปรองดอง ซึ่งมีกึ๋นอยู่ที่การนิรโทษกรรมทุกฝ่ายให้เจ๊ากันไป คนฆ่าไม่ระคาย คนตายไม่ (มีโอกาส) เคือง

เมื่อสถาบันพระปกเกล้าฯ เปิดพิมพ์เขียวผลวิจัยสำหรับการปรองดองตามการร้องขอของกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร คมช. เป็นประธาน ที่แม้นว่าท่านนายกรัฐมนตรีเงา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเป้นฟืนไฟถึงขั้นลงทุนเขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อระงับ ก็คงจะไม่ก่อผลใดเป็นกอบเป็นกำนอกเสียจากสำเร็จความใคร่ทางการเมืองในการขัดขาคู่ต่อสู้เท่านั้น

ในเมื่อรัฐบาลปูเจ๋งมีไม้สอง พ.ร.บ.ปรองดอง ๖ มาตรา ของ ดร.เฉลิม อยู่บำรุง คอยท่าอยู่แล้ว

แต่กระนั้นก็ยังต้องหันมาดูพิมพ์เขียวการปรองดองฉบับของสถาบันพระปกเกล้าฯ กันก่อน ว่าถึงจะสรุปปัญหาทั้งหมดของความแตกแยกในชาติให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นแกนกลางของความขัดแย้ง ที่เป็นมา เป็นอยู่ และในห้วงลึกแห่งความคิดจิตใจของประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะ เป็นไป อีกนานพอควร

ในเมื่อสถาบันพระปกเกล้าฯ ยอมรับว่าเวลานี้ บรรยากาศของการปรองดอง ไม่มี ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจาก ทั้งสองฝ่ายต่างยึดติดกับแนวคิดของตัวเองเพื่อรักษาอำนาจ และผลประโยชน์ ท่ามกลางสื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่คอยชี้นำสังคม”*(2)

หากแต่ผลวิจัยก็ยังเสนอให้รักษาสถานะเดิมที่เป็นมานับตั้งแต่การรัฐประหารปี ๒๕๔๙ เป็นหลักใหญ่ ทั้งในประเด็น ไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดกับการรัฐประหารที่ผ่านมาในอดีต หรือ ไม่ต้องเรียกร้องให้ คตส. เป็นผู้ผิดเพราะเป็นการกระทำที่ชอบขณะนั้นรวมไปถึง การใช้กฎหมายน่าจะเป็นตัวเลือกท้ายๆ มากกว่าการใช้การเจรจา ทั้งๆ ที่การ กำหนดกติกาทางการเมืองร่วมกัน เช่นการแก้ไขกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ ก็เป็นข้อหนึ่งในแผนระยะสั้น ๔ ประเด็นที่สถาบันฯ เสนอ

พินิจด้วยเหตุผลอย่างธรรมดาไม่น่าที่นายอภิสิทธิ์จะต้องดิ้นรนเขียนจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้สถาบันพระปกเกล้าฯ แก้ไขรายงาน แต่ถ้ามองลึกลงไปถึงวาระจำเพาะของพรรคประชาธิปัตย์ในการ ปักหลักค้านดะ ละก็ จะเห็นว่ารายละเอียดที่นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการวิจัยว่า คลาดเคลื่อน และข้ามข้อเท็จจริง ล้วนแต่อยู่ในระนาบเดียวกับการปล่อยคลื่นเสียงรบกวนประสาท และการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่บรรดา ไซ้ด์คิก ของฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสลิ่มหลากสีของนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กลุ่มสยามสามัคคีของพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม หรือศาสตราจารย์วิธีพิเศษ ธีรยุทธ บุญมี กำลังพยายามปลุกปั้นกระแสต้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะทำให้ความได้เปรียบของพวกตนที่เป็น เสียงข้างน้อยอภิสิทธิ์ชน และภูมิคุ้มกันจากอำนาจอิทธิพลทางทหารต้องเสื่อมถอยไป

จดหมายของนายอภิสิทธิ์ท้าวความย้อนหลังไปถึงข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มีต่อทักษิณว่าสถาบันพระปกเกล้าฯ มิได้นำเข้าไปพิจารณา อาทิที่ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นการทุจริต การทำลายการตรวจสอบอำนาจรัฐ หรือการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นบทสะท้อนให้เห็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งซึ่งยังมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งดูเหมือนว่านายอภิสิทธ์นั่นเองต่างหากที่ ไม่สามารถสะท้อนความจริงที่ครบถ้วนได้ โดยเฉพาะในประเด็นการล่วงละเมิดสถาบันฯ ที่ทั้งนายอภิสิทธิ์ ทีมโพเดี้ยมประชาธิปัตย์ พวกสลิ่มหลากสี กลุ่มเพื่อนวรกร (จาติกวนิช) และลิ่วล้อ คมช. ใช้ยกตนข่มท่านเป็นข้ออ้างโจมตีให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอยู่สม่ำเสมอ

รวมไปถึงการใช้โวหารเอาสีข้างถูแบบผู้ดี อย่างกรณีแก้ต่างเรื่องการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ในค่ายทหาร ก็เลือกที่จะนำข้อเท็จจริงในบั้นปลายที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาลได้จากการลงคะแนนในสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ โดยแข่งขันกับพรรคเพื่อไทยซึ่งเสนอชื่อหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดกลางเป็นนายกรัฐมนตรี แต่แพ้เสียงในสภา โดยละไว้ไม่พูดถึงที่มาอันสำคัญเบื้องต้นใน ราบ ๑๑ ซึ่งกลุ่มงูเห่าสุรินทร์ได้รับสินน้ำใจประกาศ มันจบแล้วนาย แหกคอกไปหนุนพรรคเสียงข้างน้อยของนายอภิสิทธิ์ แลกกับ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน กระทรวงมหาดไทย คมนาคม และพาณิชย์ จนกลายเป็นกรณี พายเรือให้โจรนั่ง ในเวลาต่อมา

อีกทั้งกรรมพันธุ์ทางการเมืองเรื่องมดเท็จที่อ้างถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ว่า เหตุการณ์ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดในวันนั้นคือการเผาสถานที่ต่างๆ โดยที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เองไม่ยอมสอบสวนให้กระจ่างว่าใครกันแน่เป็นชายชุดดำซึ่งทำการเผาเซ็นทรัลเวิร์ล หลังจากทหารทำการสลายการชุมนุมราชประสงค์ไปราบเรียบแล้ว ขณะที่มีคลิปจากวิดีโอวงจรปิดแสดงรูปพรรณกลุ่มรักษาความปลอดภัยคล้ายทหารบุกเข้าไปในห้างก่อนเกิดไฟไหม้ และคำให้การของผู้บริหารห้างก็ยืนยันเช่นนั้น

ข้อเท็จจริงเหล่านี้นายอภิสิทธิ์ละเลยที่จะกล่าวถึง และบังเอิญการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าฯ ก็ ละไว้ให้เป็นคุณแก่รัฐบาลอภิสิทธิ์เองด้วยซ้ำไป ไฉนนายอภิสิทธิ์จึงสามารถบิดเบือนได้อย่างไม่ระคายเคือง แสดงว่าน่าจะมีผลดีต่อตนซ่อนอยู่

ดูจากการที่เขาแสดงการปกป้องอย่างสุดเหวี่ยงกรณี คตส. หรือคณะคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ อันเป็นจุดด่างน่าเกลียดที่สุดในประมวลความอัปลักษณ์ทั้งหลายของรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นตามใบสั่งของ คมช. บวกกับความผูกพันที่นายแก้วสรรค์ อติโพธิ์ อดีต คตส. คนหนึ่งซึ่งแสดงบทลูกคู่ผู้สนับสนุน ปชป. ตัวสำคัญ ย่อมทำให้หายกังขาได้แล้วว่าทำไมนายอภิสิทธิ์เลือกที่จะเล่นเกมเข้าชนกับสถาบันพระปกเกล้าฯ

น่าจะเป็นที่กระบวนการค้านดะของ ปชป. และลูกคู่สลิ่มหลากสีมีวาระเบื้องลึกในการปกปักรักษาอำนาจอิทธิพลทางการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตย ที่พวกตนได้รับอานิสงค์จากผลพวงของการรัฐประหารโดย คมช. เมื่อปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ผลพวงเหล่านี้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ อย่างเต็มเปี่ยม พรรคประชาธิปัตย์จึงออกมาปักหลักค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างสุดลิ่มทิ่มตำทุกๆ ทาง

ดังที่ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กล่าวไว้ในข้อเขียนล่าสุด*(3) ว่า พรรคเพื่อไทยที่ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรที่จะผ่อนปรนตามฝ่ายอำมาตย์ เพราะจะถอยหลังเข้าคลอง ชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตยก็จะสูญเปล่า

แต่เป้าหมายที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ดูเหมือนว่าจะยังต้องเดินอีกยาวไกล เพราะกลุ่มปฏิกิริยาสมุนอำมาตย์ตั้งแต่พวกขบวนการเสื้อเหลือง พรรคแมลงสาบ พวกสลิ่มสารพัดสี สื่อมวลชนฝ่ายขวา กลุ่มวุฒิสมาชิกลากตั้ง จนถึงตุลาการกระแสหลัก และผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้สร้างแนวร่วมอันแข็งแกร่งขึ้นแล้วเพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

โดยเฉพาะการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฏหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมา ๑๐ คน โดยมีนายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เป็นประธาน นายวิษณุ เครืองาม อดีตรัฐมนตรีสำนักนายกฯ หลายรัฐบาลเป็นรองประธาน และโฆษก กับกรรมการอื่นๆ อีกหลายคนที่เคยเป็นเนติบริกรให้แก่คณะรัฐประหาร คมช. นี้จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในวาระแห่งชาติของอำมาตยาธิปไตยในการสกัดกั้น และชลอกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ที่จะเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ ท่ามกลางการรับรู้ และตื่นตัว (หรือ ตาสว่าง) ทางการเมืองในสิทธิเสียง และหลักการปกครองตนเอง อย่างรวดเร็วของประชาชน

เนื่องจากว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปรองดองเป็นคนละเรื่องกัน แม้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการปรองดอง*(4) ในทำนองเดียวกับที่การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นทางให้เกิดกลียุคอย่างที่ฝ่ายประชาธิปัตย์ และสมุนอำมาตย์พยายามเขียนเสือให้วัวกลัว ทั้งนี้ไม่ว่าจะตีความคำว่า ปรองดอง ตามสไตล์ศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้พจนานุกรมเป็นหลักตัดสิน ว่าปรองดองคือความสามัคคีกลมเกลียว พร้อมเพรียง และไม่แก่งแย่ง หรือในความหมายแฝงลึกที่ว่าเจ๊ากันไป นิรโทษกรรมไม่เอาโทษคนฆ่า และไม่จองล้างจองผลาญคนพ่าย

ดังที่สถาบันพระปกเกล้าฯ ให้ข้อสรุปว่าสังคมไทยยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองสูง ฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเสียงข้างมากในสภาฯ อีกฝ่ายเห็นว่าประชาธิปไตยต้องมาพร้อมกับคุณธรรม และจริยธรรม เพราะเห็นว่าเสียงข้างมากไม่ได้ถูกต้องเสมอไป การปรองดองตามพิมพ์เขียวที่มีอยู่ขณะนี้จึงไม่มีความสลักสำคัญต่อกระบวนการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอันแท้จริงเท่าไรนัก

ลำพังฝ่ายค้านกับสลิ่มคงไม่เพียงพอคว่ำวาทกรรมปรองดองยุคปูเจ๋งได้ เว้นแต่ว่าด็อกเตอร์เฉลิมท่านจะสะดุดขาตัวเอง แล้วซวนเซไปหกคะเมนกับความซุ่มซ่ามของแกนนำคนรักอีสาน ขวัญชัย ไพรพนา เข้าเท่านั้น ถึงอย่างไรไม่ว่าการปรองดองด้วยนิรโทษกรรมครั้งนี้จะลุล่วงไปอีกหนหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็น ประเทศเดียว มาตรฐานเดียว ภายใต้วาทกรรมสถาพรที่ว่าทุกฝ่ายต่าง อยู่ร่วมกันโดนสันติ ด้วยระบอบประชาธิปไตยแท้จริง ยังคงต้องดำเนินต่อไปไม่หยุดยั้ง และไม่เฉื่อยชา

เนื่องจากพลังประชาธิปไตยได้รับไฟจุดติดมาตั้งแต่มีการรณรงค์ปฏิเสธ และต่อต้านรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา จนเป็นการสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฏหมายไม่เป็นธรรมต่างๆ รวมทั้งภายในเนื้อนารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ตามแนวคิดคณะนิติราษฎร์ ที่ลุกโชนอย่างต่อเนื่อง และเต็มไปด้วยชีวิตชีวาอยู่ขณะนี้ การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการชุมนุมโดยละเว้นคดีที่เกี่ยวกับสถาบัน ก็เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติไม่ทัดเทียม ในเมื่อผู้ต้องรับกรรมถูกจองจำจำนวนไม่น้อยในขณะนี้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อหาล่วงล้ำสถาบันเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีตามแนวทางของหลักการประชาธิปไตยแท้จริงสากล

การล่วงล้ำสถาบันตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ที่มีผู้ถูกกล่าวหาเกือบ ๕๐๐ รายในขณะนี้ มิได้เกิดจากการร้องเรียนของผู้เสียหายโดยตรง ซึ่งหมายความว่าอาจมิได้เกิดความเสียหายดังที่ฟ้องร้องก็ได้ จึงต้องจัดว่าการฟ้องร้องตามระเบียบกฏหมายฉบับนี้ไม่เป็นไปตามหลักว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ การแก้ไข ม. ๑๑๒ จึงมิใช่การล่วงล้ำสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับความคิดเห็นของอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ว่าการแก้รัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวกับองคมนตรีเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง*(5) เพราะการบรรจุองคมนตรีไว้ในรัฐธรรมนูญให้สามารถปฏิบัติภาระกิจแทนพระมหากษัตริย์ได้ในบางกรณี (มาตรา ๒๐ ๒๑ ๒๓ และ ๒๔) เป็นการให้ใครคนใดคนหนึ่งสามารถสวมรอยแทนพระมหากษัตริย์ แล้วเปิดช่องให้มีการเบียดบังพระราชอำนาจ และพระบรมเดชานุภาพไปใช้กลั่นแกล้ง ให้ร้าย และทำลายผู้อื่น เกินกว่าสิทธิความเสมอภาคตามกฏหมายโดยหลักสากลอำนวยให้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับการบังคับใช้ ม. ๑๑๒

โดยเหตุที่เป็นเรื่องคาดหมายว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องยืดยาวไปกว่าที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยมุ่งหมาย ดังที่พรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงกลยุทธในการเตะถ่วงออกมาแล้วเมื่อพยายามแปรญัตติในการอภิปรายประเด็นแก้ไขมาตรา ๒๙๑ จะให้มีการทำประชามติเสียก่อนมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างฯ (ส.ส.ร.) หลังจากที่สามารถยืดเวลากำหนดการประชุมของกรรมาธิการจากที่ นพ. เหวง โตจิราการ ส.ส. พรรคเพื่อไทยเสนอให้ประชุมอาทิตย์ละสี่วัน แต่กรรมาธิการของพรรค ปชป. คัดค้านว่าจะเร่งรีบอะไรไป ขอตัดเหลืออาทิตย์ละสองวันสำเร็จ

เช่นนี้เพื่อที่จะสนองความต้องการของส.ส. พรรค ปชป. ให้การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างรอบคอบ จึงควรที่จะเสนอให้ ส.ส.ร. พิจารณาแก้ไขอย่างถี่ถ้วนครบทุกยวง ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ว่าด้วยการห้ามเอาผิดคณะรัฐประหารตลอดชาติตามมาตรา ๓๐๙ หรือหมวด ๑๑ เกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งปวงที่ คมช. แต่งตั้งคนของตนมาสิงสถิตย์เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์อยู่จนบัดนี้ รวมไปถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง*(6) แม้กระทั่งหมวด ๒ มาตรา ๒๐ มาตรา ๒๑ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ เกี่ยวกับการกำหนดให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์ลง และยังไม่สามารถสถาปณาองค์รัชทายาทขึ้นมาสืบราชสมบัติได้

ไม่ว่าจะเป็นในหมวดศาล หรือองคมนตรี อย่างน้อยๆ ควรแก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรที่มาจากประชาชน และมีที่มาตามแนวทางประชาธิปไตย ผ่านการรับรองของสภาผู้แทนราษฎร ตราบเท่าที่ได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือนจากงบประมาณของรัฐอันมาจากภาษีอากรที่เก็บจากประชาชน

การที่พรรค หรือพวกใดพวกหนึ่งประกาศตนคัดค้านการแก้ไข ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางการเมืองแล้วจะมาอ้างสิทธิข้างน้อยกำหนดว่าจะแก้ตรงนั้นตรงนี้ไม่ได้นะ คำตอบคงมีแค่ว่า ถ้าคุณไม่ร่วมแล้วก็ควรหุบปาก รอไว้ออกเสียง ไม่เอา เมื่อถึงคราวโหวตก็แล้วกัน






*(1) ผลหยั่งเสียงจากเอแบคโพลเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์พบว่าความนิยมในตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมากกว่าผู้นำฝ่ายค้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ๔๑.๘ ต่อ ๑๕.๒ โดยมีผู้ไม่พอใจฝ่ายใด ๔๓.๒ โปรดดูรายละเอียดจากเว็บ Bangkok Pundit ซึ่งติดตามเรื่องโพลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การสุ่มตัวอย่างของวิทยาลัยอัสสัมชัญเมื่อเดือนกันยายนที่แล้วรวม ๓ ครั้ง โดยสรุปว่าคะแนนนิยมนายกรัฐมนตรีหญิงทิ้งนำนายกรัฐมนตรีเงามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีฝ่ายสองไม่เอาเป็นตัวแปรโอนเอียงเข้าหารัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ http://asiancorrespondent.com/77615/abac-poll-yingluck-increase-her-lead-over-abhisit-to-more-than-20-points/
*(2) http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1331883882&grpid=01&catid=&subcatid=
*(3) http://www.prachatai.com/journal/2012/03/39708
*(4) นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวถึงการปรองดอง และแก้รัฐธรรมนูญว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ในบทสัมภาษณ์ของเขาใน คมชัดลึก และว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ยกประเด็นล้มสถาบันขึ้นมาใช้ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้ กระสุนด้าน เก่ามากไม่มีใครเล่น และไม่มีมูล จะยิ่งทำให้นายกฯ เป็นที่เห็นใจ และยอมรับมากขึ้น

*(5) ดร.สุธาชัยกล่าวถึงการคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นการอำพรางที่จะปกป้ององคมนตรีมากเสียกว่า คงไม่มีใครจะไปแก้มาตราที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์โดยตรง เพียงแต่ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้องคมนตรีกลายเป็นองค์กรวิเศษเหนือมนุษย์ องคมนตรีเหล่านี้เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วก็อยู่ในตำแหน่งจนตาย ไม่มีเกษียณอายุ กินเงินเดือนสูงมาก และมีอภิสิทธิ์ในสังคม คนเหล่านี้ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ต้องรายงานทรัพย์สินให้ใครทราบ และยังเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย ดูประชาไท อ้างแล้วใน (๒)

*(6) ดูบทความของผู้เขียนในตอนที่แล้วเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพัน์ ๒๕๕๕ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวคิดของคณะนิติราษฎร์

1 comment:

  1. "ในเมื่อรัฐบาลปูเจ๋งมีไม้สอง พ.ร.บ.ปรองดอง ๖ มาตรา ของ ดร.เฉลิม อยู่บำรุง คอยท่าอยู่แล้ว"

    บังเอิญมีบทความในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๕๕ กล่าวถึงการปรองดองสอดคล้องใกล้เคียงกับความเห็นข้างต้น ผู้เขียนจึงใคร่นำมาเพิ่มเติมเป็นเอกสารพาดพิงแบบล่วงอนาคต(Back to the future)ไว้ด้วย เพื่อผู้อ่านได้ใช้ประกอบการพิจารณ์

    http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1333800354&grpid=03&catid=&subcatid=

    ReplyDelete