รัฐบาลของ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนโยบายการเมืองที่ประกาศไว้ โดยจะยกร่างตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยโดยไม่พูดถึงอีกสองแนวที่มีการยื่นเสนอแล้วเช่นกัน
ข้อเสนอที่ว่า
กะจะใช้เวลากว่าปีจึงจะเสร็จถ้วนครบกระบวนตั้งแต่แก้ไขมาตรา ๒๙๑
ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่
(ที่เรียกกันว่า ส.ส.ร. ๓) อันจะประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนจังหวัดละหนึ่งคน
และสมาชิกจากการเลือกสรรโดยรัฐสภาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายมหาชน ๖ คน
ทางรัฐศาสตร์-รัฐประศาสนศาสตร์ ๖ คน กับผู้มีความชำนาญด้านการบริหารราชการแผ่นดินอีก
๑๐ คน รวมทั้งสิ้น ๙๙ คน
กำหนดเวลานับแต่แก้ไขมาตรา
๒๙๑ ถึงเลือกตั้ง ส.ส.ร. ตัวแทนของจังหวัดเสร็จภายใน ๓ เดือน แล้วประกาศผลภายใน ๑
เดือน จากนั้นให้เวลาสถานอุดมศึกษาต่างๆ เสนอชื่อ ส.ส.ร. ผู้เชี่ยวชาญประเภทละ ๓
คนภายใน ๑๕ วันต่อ ๑๕ อรหันต์รัฐสภา (ส.ส. ๙ คน ส.ว. ๖ คน) คัดตัวอีก ๗ วันเพื่อส่งเข้าที่ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกกันภายใน
๑๕ วันตามจำนวนที่กำหนด ๒๒ คน เป็นอันว่าน่าจะได้ ส.ส.ร. ทั้งสิ้นทั้งมวลภายใน ๕
เดือนกับอีก ๗ วัน
ต่อไป
ส.ส.ร. ทั้งหมดจะทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาให้ได้ภายใน ๑๘๐ วัน หรือ ๖
เดือนมอบแก่สภาทำหน้าที่ส่งต่อไปยังคณะกรรมการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ภายใน ๗ วันเพื่อจัดทำประชามติให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน
๒ เดือน และเพื่อให้ร่างฯ ตกผลึก ห้ามใช้เวลาต่ำกว่า ๔๕ วัน เรียบร้อยแล้วจึงประกาศผลภายใน
๑๕ วัน รวมเวลาในขั้นตอนนี้ราว ๘ เดือนกับ ๓ อาทิตย์
รวมความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะใช้เวลาทั้งสิ้นราว
๑๔ เดือนถ้าร่างฯ นั้นผ่านการลงประชามติของประชาชนจึงจะสมบูรณ์พร้อมนำขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณเพื่อการนี้ทั้งสิ้นราว ๔ พันล้านบาท แต่หากไม่ผ่านประชามติร่างฯ
ก็จะตกไป หรือถ้าพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรด หรือไม่ทรงพระราชทานร่างกลับภายใน ๓
เดือน ร่างฯ ก็จะตกไปเช่นกัน หลังจากนั้นถ้ายังอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่กันอยู่อีกก็ให้ตั้งต้นใหม่ภายใน
๓ เดือน
ส่วนข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ
มาตรา ๒๙๑ เช่นกันที่เป็นร่างของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่นางธิดา
ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. ยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยรายชื่อประชาชนที่สนับสนุน ๖
หมื่นคนนั้นต่างออกไปเล็กน้อย เพราะแกนนำเสื้อแดงเสนอให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างฯ
ทั้งหมด ๑๐๐ คน อายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี และไม่กำหนดวุฒิการศึกษาปริญญาตรีเหมือนร่างฯ
ของเพื่อไทย เมื่อได้สมาชิกครบแล้วจึงตั้งกรรมาธิการขึ้นมา ๒๕ คนทำการยกร่างฯ โดยกำหนดตายตัวว่าจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย
“อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
เท่านั้น อย่างอื่นไม่เอา
ร่างฯ
ของ นปช. ก็กำหนดให้มีการลงประชามติโดยประชาชนเช่นกันด้วยเสียงข้างมากปกติเกินกึ่งหนึ่งหรือร้อยละ
๕๐ ของจำนวนผู้ออกเสียงเป็นเกณฑ์ หากแต่ว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมดด้วย
ไม่เช่นนั้นร่างฯ จะต้องตกไป
ถึงอย่างไรร่างฯ
ของ นปช. คงค้างเติ่งในเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์รับเป็นผู้เสนอแก้ไขด้วยตนเองไปแล้ว
หากแต่แกนนำ นปช. หลายคนเป็น ส.ส. ในสังกัดเพื่อไทย
และบางคนได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง รวมทั้งตำแหน่งรัฐมนตรี จึงพอคาดหมายได้ว่าเมื่อถึงเวลาเลือก
ส.ส.ร. อาจมีการนำเอาเนื้อหาในร่างฯ เดิมของ นปช. (ร่างฯ หมอเหวง
ซึ่งมีรายชื่อประชาชนสนับสนุนอยู่ ๗ หมื่นคน) มาใช้เป็นสาระในการแก้ไขก็ได้
ทางฝ่ายรัฐบาลไม่มีการพูดถึงเนื้อหาที่ต้องการในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ซึ่งคงเป็นเพราะถืออ้างว่าเป็นมารยาทที่จะต้องให้สภาร่างฯ
ซึ่งประชาชนเลือกเข้าไปเป็นผู้กำหนด เลยเป็นที่คลางแคลงของฝ่ายค้าน
จากที่เคยแบ่งรับแบ่งสู้สมัยเมื่อตนเองเป็นรัฐบาลเพราะมองเห็นประโยชน์ในบางมาตราตามร่างฯ
ที่พรรคร่วมรัฐบาลสมัยนั้นเสนอแก้ มาตอนนี้กลับปักหลักค้านหัวชนฝาไม่ต้องการแก้
แม้จะด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ก็ตาม
พรรคประชาธิปัตย์
ผ่านทางโฆษกพรรค นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต และประธานวิปฝ่ายค้าน นายจุรินทร์
ลักษณะวิศิษฐ รวมทั้งหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และประธานที่ปรึกษาพรรค
นายชวน หลีกภัย ล้วนออกโรงไม่เห็นด้วยกับการเสนอเลือกตั้งสภาร่างฯ ชุดใหม่
และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยข้ออ้างว่าถ้าแก้แล้วจะมีการเอื้อให้อดีตนายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลุดจากมลทินทั้งหลายทั้งปวงได้
บางคนถึงกับเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์
และพรรคเพื่อไทยทำเป็นสัญญาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะไม่เอื้อประโยชน์ใดๆ
แก่ทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขมาตรา ๑๐๒ (๗) ซึ่งห้ามผู้ถูกยึดทรัพย์เป็นรัฐมนตรี
หรือมาตรา ๒๓๗ ที่เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง รวมทั้งมาตรา ๓๐๙ ที่เป็นการนิรโทษคณะรัฐประหารไปตลอดชาติ
เลยไปถึงการลบล้างผลพวงของรัฐประหารทั้งยวงตามแนวข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์
พรรคประชาธิปัตย์แสดงวิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญการ
“ค้านดะ” อีกเช่นเคย อ้างว่าจะมีการ “ล็อกเสป็ค” หรือกำหนดตัว ส.ส.ร. โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ซึ่งดูจะเป็นการค้านอย่างบ้องตื้นเกินไปหน่อย (แต่ถ้ามองอย่างที่ อจ.เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์
มธ. ตั้งข้อสังเกตุไว้ในเฟชบุ๊ค*(1) ว่าเป็นการค้านแบบคุณภาพตกต่ำลงไปเหลือแค่ตาตุ่มเท่ากับค่ายเอเอสทีวี/ผู้จัดการละก็
ต้องยอมรับว่าเป็นพันธุกรรมการเมืองของ ปชป. ฝังลึกอยู่ในไขกระดูก ไม่สามารถดัดแก้อะไรได้แล้ว)
ในเมื่อข้อเสนอให้ส.ส.ร.
ต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ บวกกับที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ก็น่าจะถือว่าต้องตามหลักการประชาธิปไตยแล้ว
ปชป. กลับลำเอาสีข้างเข้าถูเช่นนี้แสดงให้เห็นธาตุแท้ทางการเมืองไม่เพียง “โลเล” อย่างที่หมวดเจี๊ยบ ร.ท. หญิง สุนิสา เลิศภควัต ส.ส. พรรคเพื่อไทยว่าไว้ หากแต่เป็นลักษณะไม่ธรรมดาของ
“หล่อหลักลอย”
สมยาที่สมาคมนักข่าวตั้งให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรี
ย้อนไปในปี
พ.ศ. ๒๕๕๒ ครั้งนั้นหลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองขึ้นมาแล้ว
คณะกรรมการได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๖ รายการอันรวมถึง ๔ รายการที่พล.อ. เลิศรัตน์
รัตนวานิช ประธานอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนั้นบอกว่านายอภิสิทธิ์ต้องการ
“คนที่ริเริ่มในการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่ พล.อ.เลิศรัตน์ ไม่ใช่นายชัย ชิดชอบ
ถ้าติดตามอย่างชัดเจนท่านมาที่สภาสองครั้ง
ครั้งแรกมาตอนที่ท่านถูกเปิดอภิปรายทั่วไป ครั้งที่สองท่านมาอภิปรายในสภาตอนเที่ยงคืนถึงตี
๑ ท่านพูดทุกมาตราเลยว่าท่านอยากให้แก้เพราะอะไร ท่านบอกเองว่าท่านไม่เห็นด้วยกับรัฐธรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ประกาศใช้แล้ว
พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วยในหลายๆ มาตรา” *(2)
ประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ต้องการแก้รัฐธรรมนูญสี่รายการคราวนั้นประกอบด้วยมาตรา
๑๙๐ ว่าด้วยการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศที่ต้องผ่านการอนุมัติของรัฐสภา ม. ๒๖๕ ที่ห้าม
ส.ส. ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ม. ๒๖๖ เรื่องห้าม ส.ส. ส.ว. แทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร
กับ ม. ๒๓๗ เรื่องการยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ์เจ้าหน้าที่พรรค
ซึ่งในที่สุดมีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
๒๕๕๐ สองฉบับในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ฉบับแรกแก้ไขมาตรา ๙๓-๙๘ ม. ๑๐๑ (๕) และ ม. ๑๐๙ (๒)
กำหนดวิธีการเลือกตั้งเป็นแบ่งเขตเบอร์เดียวตามที่พรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นต้องการแต่
ปชป. แม้จะชอบแบบพวงใหญ่ก็ต้องยอม และให้มีสมาชิกสภาผู้แทนฯ จากเขตต่างๆ รวม ๓๗๕
คน บวกกับจากบัญชีรายชื่ออีก ๑๒๕ คน ฉบับที่สองแก้ไขมาตรา ๑๙๐
โดยกำหนดให้มีกฏหมายเฉพาะภายใน ๑ ปี ระบุประเภทสนธิสัญญาที่ต้องผ่านการอนุมัติของรัฐสภา
จะเห็นว่ามาตรา
๒๓๗ ที่นายอภิสิทธิ์ และพรรค ปชป. เคยต้องการแก้ไขขณะนั้นเพราะคดียุบพรรคเรื่องการรับเงินหาเสียงจากบริษัททีพีไอโพลีนผิดกฏหมายเลือกตั้ง
และการใช้เงินสนับสนุนเลือกตั้งจากรัฐโดยผิดวัตถุประสงค์ ยังเป็นลูกผีลูกคน ตามรูปคดีซึ่งไม่ต่างจากฐานความผิดที่ใช้ยุบพรรคไทยรักไทย
และพรรคพลังประชาชน พรรค ปชป. มีหวังจะต้องโดนยุบด้วย
แต่ถึงที่สุดศาลก็สามารถหาเหตุผลสั่งไม่ยุบได้ด้วยประเด็นเงื่อนเวลาอายุความ ถึงเวลานี้พรรค
ปชป. จึงไม่มีความจำเป็นต้องหวั่นเกรง ม. ๒๓๗ อีกต่อไป
พรรค
ปชป. ปักหลักค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเต็มปากเต็มคำโดยอ้างว่าการแก้ไข ม. ๒๓๗
เป็นหนึ่งในแผนการณ์ชำระความผิดให้แก่ทักษิณ รวมไปถึงชะล้างองค์กรอิสระต่างๆ
ที่แต่งตั้ง และจับวางไว้โดยคณะรัฐประหาร คมช. ด้วยจุดมุ่งหมายไว้สกัดกั้นการกลับสู่อำนาจทางการเมืองของทักษิณเป็นหลักใหญ่
เช่นเดียวกับการค้านประเด็นยกเลิก ม. ๓๐๙ และบทเฉพาะกาล
ล้วนแล้วแต่แสดงอาการหวงแหนผลพวงแห่งรัฐประหารอย่างไม่ธรรมดา
ทั้งๆ
ที่ผลพวงแห่งรัฐประหาร ๒๕๔๙ เหล่านั้นคือปัญหาเบื้องต้นอันทำให้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐
จำต้องได้รับการแก้ไข ไม่เฉพาะประเด็นอภัยโทษแก่คณะรัฐประหาร
และปกป้องผลพวงแห่งรัฐประหารนั้นทั้งในภายหน้า และย้อนหลัง แล้วยังมีประเด็นองค์กรอิสระที่ระบุว่าเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
(ในหมวด ๑๑) ห้อยติดมาจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ซึ่งเหมาเอาว่าเป็นการรับเอาแบบแผนประชาธิปไตยก้าวหน้ามาแล้ว
แต่เวลาเอามาใช้ คมช. กลับแต่งตั้งบุคคลากรตามใจชอบ แถมยังผูกเงื่อนให้วนเวียนนั่งแช่กันต่อไปอีกนาน
การนี้ต้องหันไปดูข้อวิจารณ์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
๕๐ หมวดดังกล่าวที่คณะนิติราษฎร์เคยเสนอไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ โดย ดร.วรเจตน์
ภาคีรัตน์*(3) บอกว่าบรรดาองค์กรต่างๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ จำนวน ๘
องค์กรที่เรียกกันว่า “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ” นั้นเป็น “ความเข้าใจคลาดเคลื่อน” เนื่องจากสององค์กรในจำนวนนั้น คือศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรของรัฐประเภท
“ศาล” ไม่ใช่องค์กรอิสระ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะถือเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ตาม
ที่เหลืออีก
๖ องค์กร ก็ปรากฏว่ามีการจำแนกออกเป็นสองส่วน คือองค์กรอิสระ ได้แก่ กกต.
(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ปปช. (คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)
คตง. (คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน) กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ คือ คณะอัยการ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ
ซึ่ง ดร.วรเจตน์เห็นว่าก็ยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่ดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ
ที่แม้แต่ “บุคคลในองค์กรอิสระเหล่านี้บางองค์กรเข้าใจว่าอำนาจของตนเป็นอำนาจอิสระไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของใครทั้งสิ้น”
ดังตัวอย่างกรณี
กกต. มีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนที่จะมีการประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. และ
ส.ว. ได้ รวมทั้งอำนาจในการยับยั้งไม่ประกาศผลเลือกตั้งอันเป็นที่สุดแล้ว
หรือสั่งให้เลือกตั้งใหม่ก็ได้ นี่เป็นอำนาจที่มิได้ระบุไว้ในมาตรา ๓
แห่งรัฐธรรมนูญหมวดการแบ่งแยกอำนาจ เป็นการใช้อำนาจเยี่ยงสถาบันศาลที่มิได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหมวด
๑๐ เกี่ยวกับศาล
แต่กลับมีการรับรองอำนาจ
กกต.เหล่านั้นด้วยคำพิพากษาศาล คือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กกต.
ใช้อำนาจเสมือนดังอำนาจตุลาการ คำตัดสินเป็นที่สุดฟ้องร้องไม่ได้
และศาลฎีกาก็บอกว่าผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถฟ้องร้องโต้แย้งคำตัดสินของ
กกต.ได้ เหล่านี่ ดร.วรเจตน์ชี้ว่าเป็นความลักลั่นในการกำหนดอำนาจ กกต.
ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐
ชนิดที่
“ซึ่งเท่ากับว่า
กกต. สามารถหน่วงเจตจำนงหรือแม้แต่ปฏิเสธเจตจำนงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ในนามของการทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์
และยุติธรรม”
ด้วยเหตุดังกล่าว
ดร.วรเจตน์จึงเสนอให้ปรับแก้สถานะ
และบทบาทขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเหล่านั้นให้เหมาะสมว่าเป็นการใช้อำนาจในทางปกครอง
(หรือเพียงผู้ช่วยรัฐสภาในกรณีผู้ตรวจการฯ)ไม่ใช่ทางรัฐธรรมนูญ จึงต้องตรวจสอบได้
รวมไปถึงการได้มาของบุคคลากรที่มาจากการสรรหา และวุฒิสภาเห็นชอบ
ที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย
และ/หรือเป็นเพียงครึ่งเดียวเพราะวุฒิสภาไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งทั้งหมด
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนในรายละเอียดเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทั้งพรรคเพื่อไทย
และ นปช. ยังไม่พูดถึง แต่เชื่อว่าน่าจะมีกันอยู่ในใจแล้ว รวมถึงประเด็นต่างๆ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ยกขึ้นมาตีปลาหน้าไซกีดกันตั้งแต่ไก่โห่ ซึ่งท่านรองนายกฯ
ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ช่วยสุมไฟเข้าให้อีกเมื่อไปพูดในสภาว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้ว
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะได้กลับบ้าน
เลยมีทั้ง
สว. ค่ายลากตั้ง ๕๐ คน และประชาชนหลากสี (สลิ่ม) ของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ นำรายชื่อ
๓ หมื่นคนออกมาแสดงบทลูกคู่ ปชป. ค้านแก้รัฐธรรมนูญกันขนานใหญ่
แต่การที่รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องให้ประชาชนลงประชามติโดยไม่แจ้งเนื้อหาว่าจะแก้ตรงไหนอย่างไร
บอกแต่เพียงให้รอ ส.ส.ร. ๙๙ คนขึ้นมาคิดค้น และดำเนินการนั้น
ประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุนข้อเสนอ ๖ หมื่นคนอาจจะอดใจรอให้ถึงเวลายกร่างเสียก่อนค่อยรับทราบรายละเอียดได้
ขณะที่มีแกนนำกลุ่มประชาชนอีก ๓ หมื่นออกมาร้องเย้วๆ โจมตีว่าเป็นการพยายามล้มล้างอะไรต่อมิอะไร
เช่นนี้ทำให้ประชาชนอีก
๔๖ ล้านคนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมีหน้าที่เลือก ส.ส.ร. ๗๗ คน ต้องตกอยู่ในความลักลั่น
ระหว่างการอ้ำอึ้งของฝ่ายที่เสนอแก้ไขกับการใส่ไคล้ของฝ่ายต่อต้าน ผลแห่งประชามติที่จะออกมาคงจะดูกระท่อนกระแท่น
เช่นเดียวกับประชามติต่อรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ซึ่งฝ่ายสนับสนุนในครั้งนั้นเมินข้อเสีย
รณรงค์ให้ผ่านไปก่อนเอาไว้ไปแก้ทีหลัง
ซ้ำร้ายขู่ว่าถ้าไม่ผ่านคณะรัฐประหารก็จะเป็นผู้เลือกเองตามอำเภอใจ
รัฐธรรมนูญ
๒๕๕๐ นี้เป็นที่ทราบกันดีว่าร่างขึ้นมาตามธงในการยับยั้ง หรือล้มล้าง “ระบอบทักษิณ” ที่ว่า “เป็นเผด็จการทุนนิยม
ใช้อำนาจผ่านพรรคการเมืองใหญ่ ทำให้เกิดผู้นำเดี่ยวที่สามารถใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ละเลยต่อเสียงปัญญาชนในสังคม” และว่ามีจุดแข็งในบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน*(4)
หากแต่เมื่อใช้รัฐธรรมนูญนี้มาเป็นเวลา
๕ ปี ข้อกล่าวหาที่ใช้อ้างในการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่ว่า “ได้รับการกล่าวขานว่ามีความก้าวหน้าเนื่องจากนำแนวคิดใหม่
ๆ ที่ลอกเลียนจากต่างประเทศมาใช้ แต่เมื่อบังคับใช้จริงก็ดูจะไม่ค่อยสอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทย
เพราะเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่
การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง” ก็ยังเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์
การฉ้อราษฎร์บังหลวงในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์อาจจะดูไม่มากเท่าก่อนการรัฐประหาร
๒๕๔๙ แต่ในสภาพการเมืองที่องค์กรศาลเข้ามามีบทบาทอุ้มชูพรรค ปชป. (การตัดสินคดีรับเงินไทยโพลีน)
และเกรงใจไม่กล้าแตะอำมาตยาธิปไตย (กรณีเขายายเที่ยง กับเขาสอยดาว) ควบไปกับหักล้างพรรคของทักษิณ
(ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนด้วยข้ออ้างจากพจนานุกรมว่านายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช
รับสินจ้างออกรายการชิมอาหารทางทีวี)
ทำให้หลายอย่าง
“ตอยังไม่ผุด” (เช่น การทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข) เช่นเดียวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนกรณีผู้ชุมนุมเสียชีวิต
๙๒ คน บาดเจ็บสองพันที่ได้รับการตักเตือนจากองค์การนานาชาติหลายแห่ง หลายครั้ง
ก็ยังเอาใบบัวปิดกันไว้ได้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
๒๕๕๐ อย่างน้อยๆ ต่อประเด็นการอภัยโทษคณะรัฐประหาร คมช. ในมาตรา ๓๐๙
กับการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ในหมวด ๑๑ ที่แสดงลักษณะเผด็จการอย่างชัดแจ้ง
และไม่ยึดมั่นหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
ก็สมควรแก่เหตุเพียงพอเป็นข้ออ้างที่จะแถลงออกมาเคียงข้างข้อเสนอแก้ไขมาตรา ๒๙๑
เพื่อจัดเลือกตั้ง ส.ส.ร. ได้แล้ว
ผู้ที่กล่าวว่าการแก้ไข
ม. ๓๐๙ และหมวด ๑๑ อาทิ ม. ๒๓๗ เป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ นอกจากจะบิดเบือนข้อเท็จจริงแล้ว
ยังเป็นพวกที่ฝักใฝ่ และได้รับผลประโยชน์จากคณะรัฐประหาร จึงพยายามเหนี่ยวรั้งข้อได้เปรียบทางการเมืองเหล่านั้นเอาไว้
ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์
พรรคเพื่อไทย และ นปช. ของ อจ. ธิดา
ยังไม่อยากปากสว่างเรื่องเนื้อหาในการแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องการ
ประชาชนผู้ที่ถูกกำหนดภาระในการเลือกตัวผู้ร่าง และให้การอนุมัติผลผลิตของ ส.ส.ร.
ชุดใหม่ จึงต้องขวนขวายหาข้อเท็จจริงต่างๆ กันเองตั้งแต่เนิ่นๆ
เพื่อฝึกฝนลับคมการวินิจฉัยให้มีคุณภาพคับพานประชาธิปไตย พอดีมีข้อเสนอนิติราษฎร์จัดทำกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่เอาไว้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม
มีลายลักษณ์อักษรตั้งแต่ต้นปี*(5)
ผู้เขียนใคร่ชวนท่านทั้งหลายลองอ่านเอาเรื่องกันไว้
อย่างน้อยจะได้เป็นแนวทาง
หรือบรรไดสำหรับการทำประชาพิจารณ์เมื่อมีต้นร่างของจริงออกมาจาก ส.ส.ร.
อย่างมากก็ถือเป็นการตักตวงอาหารปัญญาตุนไว้เป็นความรู้ในข้อเท็จจริงมิให้คล้อยตามเล่ห์กระเท่ของฝ่ายค้าน
และพวกสลิ่มลูกหาบทั้งหลาย ที่พยายามบ่ายเบี่ยง และบิดเบือน
ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความชั่วร้าย
เนื้อหาหลักๆ
ในกรอบรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยนิติราษฎร์
ระบุว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศาล กองทัพ และสถาบันการเมืองให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย
และนิติรัฐ โดยที่รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดอย่างแท้จริง
ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
และองค์กรตุลาการต้องมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ส่วนองค์กรอิสระต่างๆ
นั้นได้รับการประกันโดยรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรอิสระทางการปกครอง
ไม่ใช่ทางรัฐธรรมนูญที่ทำให้มีสถานะเทียบเท่าสถาบันกษัตริย์ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี
และศาลรัฐธรรมนูญเช่นในปัจจุบัน
และสำคัญที่สุดให้มีหมวดว่าด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร หรือไม่มีมาตรา ๓๐๙
อันจะทำให้คดีความต่างๆ ซึ่งเกิดจาก คมช. สิ้นสภาพเหมือนไม่เคยมี
เพื่อที่กลับไปสู่การดำเนินคดีเหล่านั้นใหม่ตามครรลองของกฏหมายตามปรกติ
นั่นเป็นคำตอบต่อพวกต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่อ้างว่ากระทำเพื่อลบล้างมลทินให้ทักษิณ
ในเมื่อแท้จริงแล้วเมื่อประเทศชาติพ้นบ่วงมารของการรัฐประหาร พ.ต.ท. ทักษิณ
ชินวัตรก็ยังอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ อย่างเดิมได้
เช่นเดียวกับผู้ที่กระทำการยึดอำนาจการปกครองก็สามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีฐานทรยศต่อประชาชน
หรือในความผิดอาญาร้ายแรงฐานฆาตกรรมหมู่ ในกรณีที่มีการปราบปรามเข่นฆ่าผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย
สำหรับกรณีสิทธิ
เสรีภาพ และความเสมอภาคของปวงชน กรอบรัฐธรรมนูญนิติราษฎร์
เสนอให้นำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมาใช้เป็นพื้นฐานเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญดั้งเดิมของไทยสมัย
พ.ศ. ๒๔๗๕ และ ๒๔๘๙ จึงมีถ้อยคำทีรับรอง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของประชาชนเป็นเครื่องย้ำเตือนไว้ด้วยว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียม
แม้บางคนอาจจะคาบช้อนเงินช้อนทองออกมาจากท้องแม่ด้วยก็ตาม
ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตุเพิ่มเติมเล็กน้อยจากการที่ได้อ่านบทความของนายแอดัม
ลิปแท็ก ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์เมื่อไม่นานมานี้อ้างอิงผลการศึกษาวิจัยของนักวิชาการสองท่านจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันในเซนต์หลุยส์
และมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียว่า
รัฐธรรมนูญของสหรัฐที่เคยได้รับการเอาแบบอย่างมากที่สุดถึง ๑๖๐ ประเทศจากทั้งหมด
๑๗๐ ประเทศในโลกเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว บัดนี้มนต์ขลังเริ่มเจือจาง
เมื่อต่างเห็นพ้องกันว่ารัฐธรรมนูญที่มีบทว่าด้วยสิทธิเสรีภาพดีที่สุดขณะนี้เป็นรัฐธรรมนูญของแคนาดา*(6)
จึงน่าที่ผู้สนใจไขว่คว้าเพิ่มเติมจะลองไปหาอ่านศึกษากันได้
โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิ และเสรีภาพ (The Charter of Rights and
Freedoms)*(7)
จุดเด่นของรัฐธรรมนูญแคนาดาอยู่ที่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวาง
ในขณะเดียวกันไม่จำกัดจำเขี่ยมากเหมือนรัฐธรรมนูญอเมริกัน
นั่นคือเปิดช่องให้ตีความอย่างอลุ่มอล่วยตราบเท่าที่ใช้เหตุใช้ผลในทางประชาธิปไตย
มีหลักประกันสิทธิสตรี และคนพิการ มีบทว่าด้วยการจับกุม และควบคุมตัวบุคคล
(ซึ่งไม่ได้ระบุโดยตรงในรัฐธรรมนูญสหรัฐ) โดยกำหนดชัดเจนว่าผู้จะถูกจับกุมต้องได้รับการแจ้งสิทธิของตนเสียก่อน
(ของอเมริกันไปอยู่ในกฏ Miranda
Right)
รัฐธรรมนูญอเมริกันนั้นถูกวิจารณ์ว่าคร่ำครึไม่ทันสมัยเท่าแคนาดา
(แม้แต่ผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐ รู้ธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก
ก็ยังให้สัมภาษณ์ในอียิปต์เมื่อไม่นานมานี้ว่าประเทศที่กำลังร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ไม่ควรเอาอย่างรัฐธรรมนูญสหรัฐ)
แม้ว่ารัฐธรรมนูญอเมริกันจะมีบทบัญญัติสองอย่างที่ไม่เหมือนใครในโลก
คือว่าด้วยสิทธิของผู้ถูกฟ้องร้องได้รับการเร่งรัดดำเนินคดี
และสิทธิในการพกพาอาวุธ
แต่สิทธิทั้งสองอย่างได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจน้อยมากจากทั่วโลก
ซึ่งสำหรับผู้เขียนเห็นว่าประการแรกนั้นเป็นข้อดีเหมาะแก่การนำไปพิจารณา
ส่วนประการหลังนั่นดึกดำบรรพ์จริงๆ มองข้ามไปเสียได้ก็ดี
*(1) รายงานข่าว http://www.khaosod.co.th/เกษียร
เตชะพีระ
*(2) หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์แท้ปลอย วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๒ http://www.thaipost.net/tabloid/190709/7955
*(4) ดูคำปรารภเรื่องความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ
๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ ในวิกิพีเดีย
*(7) http://laws.justice.gc.ca/eng/charter/
No comments:
Post a Comment