Monday, February 6, 2012

อธรรมศาสตร์ และการเมืองไทยๆ


สังคมไทยไม่ยอมให้คนยืนบนความถูกต้อง และพอดีพองามเลยหรือไง

เป็นประโยคที่ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขียนลงในหน้าเฟชบุ๊คของเขาหัวข้อ เป็นอธิการ มธ. ก็ลำบากหน่อย อันเป็นเรื่องตลกร้ายเหลือหลาย ในเมื่อ ดร.สมคิดเขียนข้อความทั้งหมดเพื่อที่จะออดอ้อน (whining) หาความชอบให้แก่คำสั่งห้ามคณะนิติราษฎร์ทำการรณรงค์แก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ในรั้วมหาวิทยาลัย

ทั้งๆ ที่ประโยคดังกล่าวถ้าคณะนิติราษฎร์เป็นฝ่ายปรารภเสียเองน่าจะเหมาะเจาะกว่าด้วยหัวข้อว่า เป็นนักกฏหมายของ มธ. ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยลำบากมากกว่าเป็นอธิการบดีหลายเท่านัก

ไหนจะถูกข่มขู่จากนักเลงอีแอบที่ใช้ชื่อว่า พล. ๑ รอ. ไหนจะฝ่ายทหารนับแต่ระดับบังคับบัญชา อย่าง ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา และ ผบ.สส. พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ที่ออกมาค้านอย่างนวมๆ (แบบเจ้านาย) ไปถึงระดับบังคับจิตใจ อย่างประธานมูลนิธิเตรียมทหาร พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่บอกว่า ถ้าถึงที่สุด ถ้ามันมากเกินไปจนทนไม่ไหว ทหารก็อาจจะปฏิวัติแน่นอน

ไหนจะพวกที่คัดค้านอย่างไม่ยอมฟังเหตุ ตั้งแต่กลุ่มคนไทยรักชาติ (จึงต้องฟาดฟันกับเขมร) ของนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ไปเผาหุ่นอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ ในธรรมศาสตร์ กับกลุ่มวารสารศาสตร์ราวสิบคน จัดโดยนายกนก รัตน์สกุลวงศ์ ผู้ประกาศโทรทัศน์ช่องเนชั่นที่ชอบก้าวร้าวด้วยปากต่อคนเสื้อแดง และทำลามกด้วยมือโจมตีนายกฯ ยิ่งลักษณ์บนเฟชบุ๊คจากคำพูด เอาอยู่ ไปยกป้ายหน้าอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ บอกว่า นิติราษฎร์ไม่ใช่ธรรมศาสตร์ และธรรมศาสตร์ไม่ใช่นิติราษฎร์

อีกทั้งการใช้ข้ออ้างข้างๆ คูๆ อย่างกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ที่ได้รับเชิญให้ไปจัดสัมนาที่คณะนิติศาสตร์มธ. แล้วหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มคือนายทวีเกียรติ มีนกนิษฐ เขียนบทความส่งไปให้หนังสือพิมพ์มติชนกล่าวหาคณะนิติราษฎร์ว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจาก ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้พระมหากษัตริย์ต้องปฏิญาณตน เสมือนเป็นการแสดงความอกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เสมือนจงใจลดพระราชฐานะของพระองค์ จึงถือได้ว่าเป็นการจาบจ้วง

กับการออกแถลงการณ์ต่อต้านของสถาบันพระปกเกล้าฯ กล่าวว่าการรณรงค์แก้ไข ม. ๑๑๒ ของคณะนิติราษฎร์ นำไปสู่การละเมิด พาดพิง วิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันของชาติให้เกิดความเสียหาย นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นายกสมาคมจึงเรียกร้องนิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหว และให้ต้นสังกัดดำเนินการคุมประพฤติ ไม่เช่นนั้นทางสมาคม จะทำการตอบโต้จากเบาไปหาหนัก ทั้งนี้นายมหรรณพยังอ้างว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของกฏหมาย แต่เป็นเรื่องของศรัทธา”*(1)

แล้วยังมีการไปปลุกระดมกันถึงอเมริกา จากการประสานงานระหว่างนางอัญชะลี ไพรีรัก จากประเทศไทย และนายอรรคเดช ศรีพิพัฒน์ ในลอส แองเจลีส นำนักพูดสองคนที่เคยได้ดิบได้ดีจากคณะรัฐประหาร คมก. คือ ดร.เสรี วงษ์มณฑา กับนายแก้วสรรค์ อติโพธิ์ และผู้ดำเนินการโทรทัศน์ดาวเทียมทีนิวส์ (เส้นสายของผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) นายสนธิญาน (หนูแก้ว) ชื่นฤทัยในธรรม ไปแสดงปาฐกถารายการ รักในหลวง เกลียดยิ่งเละ ที่เมืองโร้สสมีด

โดยมีการชักชวนให้ต่อต้านนิติราษฎร์โดยไปเผาบ้านของอาจารย์วรเจตน์

เป็นที่น่าสังเกตุว่าการต่อต้านคณะนิติราษฎร์ของกลุ่มพันธมิตรฯ (พมธ.) ในย่านลอส แองเจลีสเน้นอาการมุ่งร้าย ใช้ความรุนแรง โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง และข้อกฏหมาย เช่นเดียวกับผู้ฟังรายการ คิดได้ คิดดี โทรศัพท์เข้าไปแสดงความโกรธแค้นถึงขนาดต้องการตัดหัวคณะนิติราษฎร์ ครั้นเมื่อ นายวีระ ธีรภัทรนนท์ ผู้ดำเนินรายการถามว่าได้อ่าน และทราบรายละเอียดข้อเสนอนิติราษฎร์หรือเปล่า ก็ยอมรับว่าไม่ได้อ่าน แต่สร้างความรู้สึกเกลียดชังของตนจากพาดหัวข่าวของสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศ

นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนว่าสื่อไทยสายหลักนั้นเป็นตัวป่วนให้เกิดปัญหาแตกแยกขัดแย้งในบ้านเมืองตลอด ๕-๖ ปีที่ผ่านมาอยู่มากทีเดียว สดๆ ร้อนๆ จากกรณีที่มีนักศึกษาคนหนึ่งที่ต่อต้านคณะนิติราษฎร์แล้วกล่าวพาดพิงถึง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี หนึ่งในคณะกรรมการรณรงค์แก้ไข ม. ๑๑๒ ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ของนายโรจน์ งามแม้น ได้นำเอาคำพูดของนักศึกษาผู้นี้ไปตีพิมพ์เป็นข่าวในทางร้ายต่อ ดร. ชาญวิทย์

แต่นักศึกษาผู้นั้นเกิดสำนึกได้ว่าพาดพิงเกินกว่าเหตุจึงเขียนจดหมายขอโทษ ดร. ชาญวิทย์ โดยมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า . อนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ได้ให้ไว้กับทางไทยโพสต์ เนื้อหาใจความบางส่วนถูกบิดเบือนไปมาก ผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์ในเนื้อหาเช่นนั้นทั้งหมด...”*(2)

แสดงว่าสื่อสิ่งพิมพ์เช่นไทยโพสต์ที่ตีพิมพ์ข่าว และบทความต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) และขบวนการเสื้อแดงอย่างสม่ำเสมอ  ขณะที่สนับสนุนเป็นครั้งคราวให้ประเทศไทยไม่ต้องมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เป็นพวกล่าแม่มดที่กระทำการรังควาญต่อผู้ที่มีความคิดเห็นเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยไปสู่มาตรฐานที่ดีขึ้นทางการบังคับใช้กฏหมาย การแสดงออกทางความคิด และสิทธิมนุษยชน

เรียกได้ว่าเป็นตัวถ่วงไม่ให้ไปประเทศชาติไปถึงซึ่งความเจริญอย่างนานาอารยะสากล ตัวพ่อทีเดียว

เช่นนี้กลุ่ม ครก. ๑๑๒ หรือ คณะรณรงค์แก้ไข มาตรา ๑๑๒ อันประกอบด้วยนักวิชาการสันติประชาธรรม นักสิทธิมนุษยชนอาร์ติเกิ้ล ๑๑๒ และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่รวมตัวกันดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชน ๑ หมื่นคนยื่นต่อรัฐสภาภายใน ๑๑๒ วันให้รับพิจารณาแก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ตามร่างของคณะนิติราษฎร์ จึงได้จัดแถลงข่าวและตอบคำถามที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา ถนนราชดำเนิน เรียกร้องให้ผู้คัดค้านอธิบายด้วยสาระ และเหตุผล ไม่ใช่เอาแต่กล่าวหาว่าล้มเจ้า รวมทั้งสื่อมวลชนควรนำเสนอในเนื้อหาของข้อกฏหมายไม่ใช่เสนอแต่อารมณ์*(3)

นับวันการคัดค้านนิติราษฎร์ยิ่งก้าวร้าว เอาตายโดยไม่ใช้เหตุผลมากขึ้น สมดังที่มีนักเขียนรับเชิญของเว็บไซ้ท์นิวแมนเดลาท่านหนึ่งซึ่งใช้นามปากกา เอลิซาเบ็ธ ฟิทซ์เจราลด์ ตั้งข้อสังเกตุเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปลายๆ เดือนมกราคมว่า

นี่หมายความว่าอะไร สำหรับการเมืองในปัจจุบัน และอนาคต เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในนิติธรรม เกี่ยวกับการปกป้องสิทธิมนุษยชน และเกี่ยวกับสถานะแห่งเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย นี่หมายความว่าความเห็นต่าง ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ทำให้คนๆ หนึ่งถูกถอดความเป็นมนุษย์ออกไปละหรือ ในรูปการณ์ทางการเมืองขณะนี้ บางทีคงเป็นเช่นนั้น*(4)

เอลิซาเบ็ธไม่ได้ตั้งข้อสังเกตุลอยๆ เธออ้างอิงด้วยข้อมูลที่ว่าเฉพาะอาการก้าวร้าวที่แสดงบนเว็บไซ้ท์ ผู้จัดการ แห่งเดียวก็ท่วมท้นด้วยการบริภาษณ์นิติราษฎร์รุนแรง บ้างว่าไม่ใช่มนุษย์ (๑๘๐ ข้อความ อีก ๕๐ ข้อความบอกว่าเป็นสุนัข) บ้างเรียกร้องทหารเข้ามาจัดการ (ขอให้ทำรัฐประหาร ๑๔๘ ข้อความ เย้ยหยันทหารไม่มีศักดิ์ศรี๑๕๐ ข้อความ) รวมทั้งให้ช่วยกันเปิดโปงข้อมูลส่วนตัวคณะนิติราษฎร์ (ลงรายชื่อคณะนิติราษฎร์ทั้งหมดพร้อมบอกให้ช่วยจดจำกันไว้ ๑๕๐ ข้อความ อีกกว่าร้อยข้อความขอให้นำชื่อ ที่อยู่ และแผนที่บ้านคณะนิติราษฎร์มาลงตีพิมพ์ ซึ่งพวกพันธมิตรฯ ในนครลอส แองเจลีสนำไปต่อยอด)

ชุดข้อความบริภาษณ์รุนแรงที่สุดเป็นการเรียกร้องให้ทำร้าย และใช้ความรุนแรงต่อนิติราษฎร์ รวมถึงการ ฆ่าทิ้งเสียแม้ในจำนวนนี้มากที่สุด ๑๗๙ ข้อความเป็นเพียงการกระตุ้นให้ขว้างปาขยะใส่นิติราษฎร์ แต่รองลงมา ๑๕๓ ข้อความกลับเป็นการขู่ฆ่าทั่วๆ ไป อีกสองชุด ๑๑๑ ข้อความเท่ากันบอกให้สำเร็จโทษนิติราษฎร์ และเผาธรรมศาสตร์เป็นผุยผง ๑๐๕ ข้อความให้ใช้วิธี ตาต่อตา ฟันต่อฟัน อีก ๘๕ ข้อความบอกให้ตัดหัวแล้วเอาไปเสียบประจานหน้าทางเข้าธรรมศาสตร์

อีกสองข้อความรุนแรงที่นิยมใช้กันน้อยหน่อยแค่ ๔๕ และ ๔๔ ข้อความบอกว่ านิติราษฎร์ควรถูกแขวนคอแล้วเผาทั้งเป็นหน้าบ้านพวกเขา และให้ทหารกำจัดให้สูญสิ้นด้วยการจับขึ้นเฮลิค้อปเตอร์เอาไปโยนทิ้ง

โดยเนื้อหาของการแสดงความเกลียดชังนิติราษฎร์โดยอ้างความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในขณะนี้ไม่ต่างอะไรกับสภาพก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่สื่อเช่นหนังสือพิมพ์ดาวสยาม และวิทยุยานเกราะได้โหมโจมตีนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เป็นสายลับเวียตนาม เป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ

ในขณะนี้ก็เช่นกันที่นิติราษฎร์ถูกป้ายสีว่า ล้มเจ้า หรือมีเจตนาซ่อนเร้น ทั้งๆ ที่นิติราษฎร์ได้ตอบข้อกล่าวหาเหล่านั้นอย่างกระจ่างแจ้งครั้งแล้ว ครั้งเล่า*(5) พวกที่ออกมาแสดงการคัดค้านทั้งหลายก็ไม่เคยที่จะเข้าสู่การโต้แย้งด้วยหลักการ เหตุผล และข้อกฏหมายกันบ้าง

จริงอยู่ว่าจะเปรียบเทียบสภาพการณ์ขณะนี้กับภาวะก่อน ๖ ตุลา ๑๙ ทั้งหมดเลยไม่ได้ ดังที่แอนดรูว์ สปูนเนอร์ นักวิชาการชาวออสเตรเลียแสดงความเห็นไว้ในการแลกเปลี่ยนกับนิค น้อสทิตซ์นักหนังสือพิมพ์ชาวเยอรมันที่เว็บไซ้ท์นิวแมนเดลา*(6) เพราะว่าขณะนี้ไม่มีกลุ่มกระทิงแดงเป็นตัวป่วน หมู่ประเทศรอบบ้านก็ปราศจากทฤษฎีโดมิโน ที่สำคัญมิได้มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่อีกแล้ว

แต่ทั้งคู่เห็นพ้องกันว่าปัญหาอันทำให้ข้อเสนอแก้ไข ม.๑๑๒ กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในเมืองไทย อยู่ที่ ความกลัวการเปลี่ยนแปลง เป็นปัจจัยสำคัญ

นิค น้อสทิตซ์นั้นพูดถึงปัญหาใหญ่ที่รายล้อมข้อเสนอแก้ไข ม.๑๑๒ ว่าเป็นความกลัวต่างๆ นานา แม้ในหมู่ผู้ที่ไม่นิยมการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างสุดโต่ง กลัวว่าจะถูกโจมตีโดยทั้งสองฝ่ายของข้อขัดแย้ง หวาดหวั่นในความปลอดภัยของตัวเอง เกรงว่าไทยจะสูญสิ้นสถาบันกษัตริย์อันถือว่าเป็นภาพลักษณ์ของชาติ และของตน กลัวว่าความเจริญของประเทศจะหยุดชะงัก และเหนืออื่นใดกลัวจะเกิดเหตุร้ายรุนแรง

น้อสทิตซ์กล่าวต่อไปว่าแต่ละข้างต่างก็มีพวกใจร้อนที่พร้อมจะเดินเข้าสู่สถานการณ์เลวร้าย และ น่าเศร้า ที่สองฝ่ายเกิดเห็นต้องตรงกันอย่างหนึ่งว่า พัฒนาการไปสู่ความรุนแรงมีทางเกิดได้แน่ อย่างไรก็ดีสปูนเนอร์แย้งว่าแม้ที่เป็นมาจะมีความรุนแรงอยู่เกลื่อนกราด ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามเปลี่ยนแปลงอย่างสันติเท่าที่จะสามารถทำได้ แถมยังแสดงความกล้าหาญท่ามกลางการข่มขู่ต่างๆ

คนไทยเหล่านั้นอย่างเช่นนิติราษฎร์แสดงความกล้าเผชิญกับการคุกคาม...ควรได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่ถูกหาว่าล้ำหน้าเกินไป

แต่ผู้บริหารธรรมศาสตร์ก็อ้างว่าสั่งห้ามนิติราษฎร์เคลื่อนไหวในรั้วมหาวิทยาลัยเพราะ กลัว จะเกิดเหตุร้ายความรุนแรง เหมือนอย่าง ๖ ตุลา ๑๙ จึงต้องการ ตัดไฟแต่ต้นลม (เหตุผลของดร.สมคิด) ซึ่งหากดูจากที่ท่านอธิการไปเขียนออดอ้อนไว้บนเฟชบุ๊คแล้วกลับพบว่า ความกลัวแท้จริงเป็นดังที่หลายๆ คนคิด ดร.สมคิดกลัวจะถูกโจมตีจากฝ่ายต่อต้านว่าเข้าข้างนิติราษฎร์เสียละมากกว่า

ทั้งสี่ข้อที่ ดร.สมคิดเขียนบนเฟชบุ๊คเรื่องการเป็นอธิการบดีนั้นยาก (นิด) หน่อย ล้วนบ่นว่า (ข้อ ๑) พอคัดค้านนิติราษฎร์คนกลุ่มหนึ่งก็ออกมาข่มขู่คุกคามให้ออกจากตำแหน่ง (ข้อ ๒) พออนุญาตให้นิติราษฎร์ใช้สถานที่ คนอีกกลุ่มก็ออกมาคัดค้านต่อว่า (ข้อ ๓) ก็เลยบอกว่าพอกันทีกับนิติราษฎร์ คนกลุ่มแรกออกมาค้านอีก (ข้อ ๔) ครั้นพอทำดียอมให้ก้านธูปเข้าเป็นนักศึกษา มธ. คนกลุ่มแรกชม แต่คนอีกกลุ่มด่า

ท้ายสุดท่านเลยตัดนิติราษฎร์เสียที่ปลายเหตุ ไม่ใช่ตัดไฟต้นลมดังอ้าง รวมทั้งในข้อ ๑ ก็ไม่ได้ค้านนิติราษฎร์ทางวิชาการเช่นกัน ท่านค้านอย่าง เหน็บแนมแกมประชด แล้วจะมาออดอ้อนว่าหาที่ยืนบนความถูกต้องไม่ได้ คิดไหมว่าเพราะตัวของตัวเองหรือเปล่า

ในสถานการณ์ ๖ ตุลา อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีขณะนั้นเผชิญกับความยากลำบากใหญ่หลวง ทางหนึ่งท่านพยายามปกปักเสรีภาพที่มีให้แก่นักศึกษาทุกตารางนิ้ว อีกทางหนึ่งก็ถูกกดดันอย่างแรงจากผู้มีอำนาจ แต่ท่านก็แอ่นอกรับความกดดันเพื่อรักษาสัจจธรรมของธรรมศาสตร์เอาไว้ จนกระทั่งตัวท่านเองต้องเผชิญชะตากรรมทางการเมืองในเวลาต่อมา

ดร.สมคิดก็ไม่ได้เห็นด้วยกับนิติราษฎร์แต่ต้น ในประเด็นแรกเลยทีเดียวเกี่ยวกับการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งกล่าวกันว่าส่วนหนึ่งเพราะตัวเองก็เป็นผลพวงของ คมก. เหมือนกัน ถึงกระนั้นก็ดีในกรณี ม. ๑๑๒ ที่นิติราษฎร์เสนอแก้ไขในข้อกฏหมายที่เปิดช่องให้มีการนำไปใช้ทำลายล้างทางการเมือง เนื่องจากใครจะฟ้องใครก็ได้ (แถมในปัจจุบันยังมีการแกล้งฟ้องแบบเดินสายทั่วประเทศให้ผู้ถูกกล่าวหาอย่างนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่นอกจากถูกปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่า ยังต้องเดินทางไปขึ้นศาลตั้งแต่อิสานยันใต้) หรือว่าประเด็นอัตราโทษหนักหนากว่าข้อหาโจรป่าห้าร้อย ดร. สมคิดกลับไม่ให้ความสนใจ

จุดยืนของท่านจึงไม่สามารถอยู่บนความพอดีพองามได้ คำเสียดสีที่ว่ามหาวิทยาลัยซึ่งเคยเป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นแสงส่องนำทางอุดมการณ์สิทธิเสรีประชาธิปไตย บัดนี้ภายใต้การบริหารแบบตัดไฟที่ปลายเหตุของท่านกลายเป็น อธรรมศาสตร์ เพราะท่านชอบแสดงจุดยืนทางการเมืองบนเฟชบุ๊คคัดง้างกระแสประชาธิปไตย

ต่างกับนักวิชาการเด่นๆ ทั่วโลกจาก ๑๖ ประเทศ ทั้งสิ้น ๒๒๔ คนรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา ที่เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อสนับสนุนการรณรงค์แก้ไขประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ว่า การปฏิรูปกฎหมายนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนไทย และเสริมสร้างประชาธิปไตย และนิติรัฐในความหมายที่กว้าง *(7)

นักวิชาการเหล่านี้ อาทิ ศาสตราจารย์โนม ชอมสกี้ แห่งเอ็มไอที ศ.เบน เคียแนน แห่งมหาวิทยาลัยเยล ศ.เครก เรย์โนลด์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ศ.ชาร์ล คีย์ส แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ศ.เควิน ฮิวสัน แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลน่า ศ.แคทธรีน บาววี่ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ที่แมดิสัน ศ.ปีเตอร์ แจ็คสัน แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และคริส เฮ็ดจ์ นักเขียน-นักข่าวรางวัลพูลิเซอร์ชาวอเมริกัน เป็นต้น

หลายคนศึกษาเกี่ยวกับประเทศไทยมาอย่างดี และที่แน่นอนคือมีจุดยืนทางวิชาการเหนียวแน่นพอที่จะเป็นแบบอย่างแก่นักวิชาการไทยให้รับฟังได้

แต่อนิจจาท่านรองนายกรัฐมนตรีของไทยกลับไล่พวกเขาไปแก้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศของตนเสียนี่ วิธีการไล่ผู้ที่พูดถึงประเด็นความไม่ต้องตามครรลองนิติธรรม (Rule of Law) และนิติรัฐ (Rechtsstaat) ของการบังคับใช้ ม.๑๑๒ ให้ไปอยู่ต่างประเทศนี่มิใช่มีแต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่แสดงความห้าวหาญเท่านั้น เคยมีคนใหญ่คนโต อย่าง ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคนกล้าคนกร่างอย่างพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง กับ (กู) บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ใช้มาแล้วอย่างได้ผลให้ผู้คนคลื่นเหียนเป็นทิวแถว

แทนที่ผู้ห้าวหาญเหล่านี้จะสำเหนียกว่าเพราะการบังคับใช้ ม.๑๑๒ อย่างขาดหลักความถูกต้องของกฏหมาย และไร้มนุษยธรรม (ดังคดีอากง เป็นตัวอย่าง) ทำให้ทั่วโลกเขาจับตาดูประเทศไทยเหมือนบ้านเมืองที่ยังล้าหลังในเรื่องจริยธรรมสังคม และขาดตกบกพร่องในด้านอารยธรรมสากล อย่างโซมาเลียในอาฟริกา หรือแคว้นอาหรับหลายแห่งที่จำเป็นต้องมี การเบ่งบาน (Spring) กันอย่างลูกโซ่ตลอดสองปีที่ผ่านมา แล้วยังจะอีกหลายปีไปข้างหน้า

หากข้อเสนออย่างเป็นวิชาการ และมีวัฒนธรรมของความเป็นประชาธิปไตยสากล ในประเทศไทยยังถูกตีตกด้วยอคติ และ ศรัทธา อันอาจไม่ถึงกับบอด หรือบอดไม่หมด เป็นแต่เพียงมัวเมา เช่นศรัทธาของนายกสมาคมพระปกกล้าฯ ละก็

อีกไม่ช้าไม่นานคงมีการเบ่งบานเป็น ไทยสปริง ให้เห็นกันจนได้


*(1)http://www.go6tv.com/2012/01/blog-post_4560.html
*(2) ดูรายละเอียดที่ http://www.prachatai.com/journal/2012/02/39120
*(4) http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2012/01/24/a-catalogue-of-threats-against-the-khana-nitirat/
*(5) หาชมได้จากรายการสนทนากับวรเจตน์ที่ว้อยซ์ทีวี และไทยพีบีเอส กับที่ น.ส.พ.มติชนนำไปตีพิมพ์หลายวาระ
*(6) http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2012/02/01/pushing-nitirat-to-the-edge/#more-17456
*(7) http://www.prachatai.com/journal/2012/02/39045


No comments:

Post a Comment