ก่อนสิ้นปี
๒๕๕๔ ที่ผ่านไปท่ามกลางปัญหาค้างคาเรื่องการบังคับใช้กฏหมายบางฉบับต่อประชาชนอย่างไม่เสมอภาค
ให้คุณให้โทษแก่ผู้มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน ดังเช่นประมวลกฏหมายอาญา มาตรา
๑๑๒ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ล้วนยังมองไม่เห็นข้อยุติ
หรือแม้แต่จะมีการยอมรับให้เปิดเวทีสาธารณะสำหรับวิภาษถึงความเหมาะสมเพื่อสร้างให้เกิดความสมานฉันท์อย่างถาวร
รัฐบาลอันมีแกนหลักเป็นพรรคเพื่อไทยที่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนเกือบ
๑๖ ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดยืนทางการเมืองอยู่ในฝ่ายเสื้อแดง ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อมือ
และ/หรือศรัทธาในอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือว่าเพียงแค่ต้องการรัฐบาลที่เห็นคุณค่าในความเท่าเทียมของผู้มีสิทธิออกเสียงตามระบอบประชาธิปไตย
พร้อมที่จะบริหารงานรัฐกิจเพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนไม่ด้อยไปกว่าการยกย่องเชิดชูองค์พระประมุข
กลับมุ่งปรองดองด้วยการเกี๊ยเซี้ย
(คำของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) โดยการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ทั้งผู้ถูกล้างผลาญ
และผู้ก่อการทำเข็ญ
จากคำพูดของนายวัฒนา
เมืองสุข สมาชิกสภาแบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสร้างการปรองดอง
กล่าวไว้เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ ว่าสถานการณ์บ้านเมืองตั้งแต่เริ่มปีใหม่ไปจนถึงกลางเดือนเมษายนที่คดีเสื้อแดงเสียชีวิต
๑๖ ศพจากการสลายชุมนุมโดยทหารจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล
เป็นระยะอันตรายที่อาจมีการประท้วงใหญ่จากฝ่ายผู้สูญเสียถึงขั้นอาจมีการขับไล่รัฐบาลที่พวกเขาเลือกมากับมือก็ได้*(1)
นายวิทยาอ้างหลักการของ
คอป. หรือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ
ซึ่งตั้งขึ้นในรัฐบาลที่แล้วหลังจากที่มีการร้องเรียนว่า ศอฉ.
หรือศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้นใช้กำลังทหาร และพลแม่นปืนยิงกระสุนจริงทำการกระชับพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์อย่างรุนแรง
ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตเกือบร้อยราย บาดเจ็บถึงสองพัน รวมทั้งมีการปลิดชีวิตอาสาสมัครบันเทาภัยในเขตอภัยทานวัดปทุมวนาราม
ทั้งนี้โดยมอบหมายให้ ดร. คณิต ณ นคร เป็นประธานต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์
ชินวัตร
คอป.ได้เสนอข้อสรุปต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เวชชาชีวะ แล้วยังไม่มีการตอบรับใดๆ จนเมื่อนำเสนอต่อรัฐบาลปัจจุบัน
ได้มีการประกาศรับแนวทางเยียวยาตามที่ คอป. เสนอมา*(2) ล่าสุดนั้น คอป.
ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๔
ถึงรัฐบาลเสนอให้ดำเนินการแก้ไขประมวลก.ม.อาญา ม. ๑๑๒ ร่วมกับรัฐสภา และประชาชน
โดยระบุในรายละเอียดมีสาระสำคัญ ๕ ประการ*(3)
ดังเช่น
ให้ถือว่าความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็น “ความผิดที่ต้องให้อำนาจ” ตามอย่างความผิดต่อบุคคลสาธารณะในเยอรมนี
นั่นคือแม้จะถือว่าเป็นความผิดทางอาญา
แต่ก็ต้องให้ผู้เสียหายแสดงความสมัครใจในการดำเนินคดี ในกรณีของไทย คอป.
เสนอให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการแทนพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบัน
มิใช่แทนพระองค์ในฐานะส่วนบุคคล
นอกจากนั้น
คอป. ยังเสนอให้กำหนดระวางโทษใหม่เป็นจำคุกไม่เกิน ๗ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ หมื่น ๔
พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังเสนอให้ดำเนินการแก้ไขกฏหมาย ม. ๑๓๓
อันเป็นความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายต่อพระราชาธิบดี
หรือประมุขของต่างประเทศด้วย โดยให้มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี และปรับไม่เกิน ๖
พันบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสนองต่อข้อกระแนะกระแหนของนักกฏหมายแบบศรีธนญชัยผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ที่ว่าการยกเลิกมาตรา
๑๑๒ เท่ากับยกย่องราชาธิบดีต่างชาติยิ่งกว่าของไทยไปโดยปริยาย
ผู้เขียนมิได้เห็นคล้อยไปกับข้อเสนอของ
คอป. ในรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะในประเด็นระวางโทษ ๗ ปีซึ่งเป็นเกณฑ์ที่มาจากการแก้ไขในสมัยเผด็จการ
“รับ...ชอบแต่ผู้เดียว” และเชิดชูสถาบันอย่างลอยฟ่องของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ทางที่ควรน่าจะกลับไปสู่ยุคสมบูรณายาสิทธิราช รัชกาลที่ ๕ ซึ่งกำหนดโทษจำคุก ๕ ปี จะดูมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์มากกว่า
แต่ก็เห็นควรบันทึกบทบาทของ
คอป. ไว้ ณ ที่นี้ว่า อย่างน้อยๆ ความเห็นของ คอป.
ยังพอเป็นเครื่องชี้ทางแก่นักการเมืองทั้งในรัฐบาลนี้ และรัฐบาลที่แล้ว ที่ คอป. อ้างอิงเป็นผู้มอบหมายภารกิจเยียวยาโดยการแก้ไข
ม. ๑๑๒ ว่า “ก็ควรที่จะผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย เพื่อช่วยกันสร้างสันติและความปรองดองของคนในชาติ”
และในฐานที่
คอป. ยอมรับข้อเสนอนิติราษฎร์ว่าเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติ และการปรองดอง
จึงเป็นที่น่ายินดีว่ากลุ่มสันติประชาธรรมได้เข้ามาร่วมดำเนินงานอย่างสร้างเสริม
ประกาศรวบรวมรายชื่อประชาชน ๑
หมื่นคนยื่นเสนอต่อรัฐสภาให้ดำเนินการแก้ไขมาตราดังกล่าว โดยเริ่มด้วยนักวิชาการ
และบุคคลสาธารณะ ๑๑๒ ท่านนำร่องเปิดการรณรงค์ในวันที่ ๑๕ มกราคมนี้
ส่วนการที่มีผู้ไม่ใช่ฝ่ายค้านบางท่านกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในประเด็นที่เป็นประโยชน์ทางการเมืองแก่นักการเมืองดังที่นายวัฒนาเสนอว่าควรแก้ไขมาตรา ๖๗
กับมาตรา ๑๙๐ เสียก่อน ว่ามีความสำคัญเร่งด่วนกว่า หรืออย่าไปแตะ ม. ๑๑๒
และควรให้ความสำคัญแก่นักการเมืองในกลุ่ม “บ้านเลขที่ ๑๑๑”
ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และจะพ้นบ่วงรั้งในเดือนพฤษภาคมที่จะถึง
ดังที่นายบรรณหาร ศิลปอาชา ให้สัมภาษณ์นั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าที่จะสร้างสันติ
และมีสมานฉันท์อันมั่นคงขึ้นได้ภายในกรอบนโยบาย และท่าทีที่เป็นอยู่ของรัฐบาลชุดนี้
โดยเฉพาะเป้าหมายในการออกกฏหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่ายในแนวทางของกรรมาธิการปรองดองซึ่งมี
พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน อดีตประธาน คมช. หรือคณะรัฐประหารปี ๒๕๔๙ เป็นประธาน อาจเป็นทางออกที่สละสลวยแก่พรรคเพื่อไทย
ก็แต่ในระยะสั้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายหลังเหตุการณ์สังหารนักศึกษาที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะมีการเคารพสิทธิเสียงของประชาชน
จนทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ ขึ้นอีก
แล้วในที่สุดก็มีการยึดอำนาจรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปี
๒๕๔๙ อันเป็นต้นเหตุมาสู่การเข่นฆ่าประชาชนอีก ๓ ครั้งในเดือนเมษายน ๒๕๕๒ และ ๑๐
เม.ย. – ๑๙ พ.ค. ๒๕๕๓
เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะ
forget และ forgive ง่ายๆ ด้วยจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อให้การเมืองราบรื่น
หรือหลีกเลี่ยงการที่จะมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตด้วยน้ำมือเจ้าหน้าที่อีก เพราะผู้ที่สูญเสียไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของผู้ตาย
ญาติพี่น้องของผู้บาดเจ็บ และลูกหลานของผู้ที่ถูกคุมขังจองจำ ย่อมเป็นฝ่ายสูญเสียอยู่วันยันค่ำ
มิได้มีความหวังที่ดีกว่าหลังออกจากป่าเหมือนพวกนิสิตนักศึกษาที่เข้าไปร่วมขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ตามนโยบาย ๖๖/๒๓
สิ่งที่ผู้ถูกกระทำในเหตุการณ์
เมษา ๕๒ เมษา ๕๓ และพฤษภา ๕๓ มุ่งหวังต้องการอยู่ที่สิทธิมนุษยชนอันเท่าเทียมในการปฏิบัติตามกฏหมาย
และความเสมอภาคแท้จริงในระบอบประชาธิปไตย มิใช่ต้องถูกตัดสินจำคุก ๒๐ ปี
เพียงเพราะมีใครคนหนึ่งซึ่งมีตำแหน่งแห่งหนอยู่ในพรรคการเมืองอันเป็นที่โปรดปรานของบุคคลชั้นสูงกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันฯ
ดังที่ลุงเอสเอ็มเอส หรืออากงถูกก่อกรรม
และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอีกหลายคนกำลังถูกตีตรวนกำจัดอิสรภาพอยู่ขณะนี้
การสร้างสันติ
และความปรองดองจะต้องให้หลักประกันด้วยว่า
การกระทำผิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับโทษตอบแทนตามกระบวนการอันเที่ยงตรงของกฏหมายอันเป็นสากล
สันติภาพย่อมเกิด และเบิกบานได้ในสถานภาพที่มีความเสมอภาคเท่านั้น
หากใครคนหนึ่งถูกรังแกจนบอบช้ำ
แล้วจำต้องทำลืมเรื่องที่แล้วให้แล้วกันไปเพื่อไม่ให้ถูกทำร้ายหนักยิ่งขึ้นอีก
นั่นไม่ใช่การปรองดอง แต่มันเป็นการกดขี่ให้จำยอมต่างหาก เมื่อใดที่อดรนทนไม่ไหว
และลืมตาอ้าปากได้ ก็จะต้องถึงคราวเอาคืน
เป็นกงกรรมกงเกวียนเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
รัฐบาล
และพรรคเพื่อไทยหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปแตะประเด็นกฏหมายหมิ่นกษัตริย์ไม่ว่าในแง่มุมใด
แม้แต่ในข้อเท็จจริงดังที่องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติมองเห็นว่า ม. ๑๑๒
ถูกนำมาใช้อ้างละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง
อาจจะมิใช่เพราะต้องการสงวนไว้ใช้ด้วยตนเองบ้างเมื่อถึงคราว
หากแต่เพียงต้องการลดแรงเสียดทานจากฝ่ายค้าน ฝ่ายแค้น และฝ่ายขุน
ก็เลยจำยอมให้ฐานยืน และตั่งนั่งของตนถูกบั่นทอนจนผุเจียนจะพัง
ดังจะเห็นว่าบรรดาลำโพงขยายเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านต่างดาหน้ากันออกมาใส่ไคล้ข้อเสนอแก้ไข
ม.๑๑๒ กันขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต หรือนายอรรถพร พลบุตร
เสริมด้วยประดาลิ่วล้อเบี้ยหัวแตกของพรรคอย่างพวกดาราใกล้ดับที่ชอบใช้สรรพนามนำชื่อให้กร่างอย่าง
กูบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่พยายามอิงข้างทหารใหญ่ฝ่ายขุน ผู้บัญชาการทัพบก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยการไล่ใครก็ตามที่ต้องการแก้ไข
หรือยกเลิกกฏหมายหมิ่นฯ ให้ไปอยู่ต่างประเทศ
รวมทั้งฝ่ายขุนอีกหลายคนนับแต่
พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร นายสุมธ ตันติเวชกุล และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เรียงหน้าเก่าๆ
ออกมาคัดง้างข้อเสนอแก้ไขมาตรา ๑๑๒ ด้วย ตรรกะแก่ๆ ดังที่วสิษฐ์กล่าวหา “คนไทยอกตัญญูเนรคุณจำนวนหนึ่งกำลังพยายามทำลายการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ซึ่งได้รับความกรุณาจาก อจ. ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ ชี้ทางแห่งสัจจะให้หลายประการว่าข้อมูลที่ท่านวสิษฐ์นำมาใช้นั้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ส่วนนายสุเมธบอกว่าขนาดคนแต่งโคลงล้อประธานาธิบดีอเมริกันยังถูกศาลตัดสินจำคุก
๓ ปี ทำให้นักวิชาการที่ยังไม่แก่แต่หัวขาวอย่าง ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ต้องถือเป็นภาระสอนหนังสือสังฆราชในข้อเท็จจริงอีกว่า
ความผิดที่ผู้ต้องหาอเมริกันโดนจำคุกนั้นเป็นการขู่ฆ่าล่าสังหาร
ไม่ใชวิจารณ์สถาบันอย่าง ม. ๑๑๒*(4)
สำหรับอาจารย์มีชัยก็น่าเสียดายที่เคยสอนกฏหมายสร้างนิติกรเพื่อบริการเอาไว้หลายรุ่น
แต่มาตกหล่นหลงลืมในประเด็นความจริง และแก่นกระพี้ของสิทธิมนุษยชนในทางการบังคับใช้กฏหมายเมื่อปลายอายุขัย
การพูดถึงหลักการเสรีภาพของบุคคลโดยไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่นนั้นเป็นวิชาหน้าที่พลเมือง
๑๐๑ ที่ป้าแดง บ้านนาบอนเข้าใจลึกซึ้งเสียยิ่งกว่าน้องกรอนงค์ รักในหลวง ณ เฟชบุ๊ค
น่าจะมีลูกศิษย์ลูกหา
อจ. มีชัย กระซิบข้างหูท่านด้วยความเคารพว่า
สาเหตุที่ต่างประเทศเขาตำหนิการบังคับใช้ ม. ๑๑๒
อยู่ที่นอกจะกำหนดความผิดเกินแก่มาตรฐานของมนุษย์แล้ว
ยังเปิดช่องให้เกิดกลียุคได้ง่ายๆ
ด้วยการที่ใครก็ตามอยากจะฟ้องใครที่ไหนในเรื่องนี้ย่อมได้ทั้งนั้น สังคมที่เจริญแล้วเขาไม่กล้าทำกันอย่างนี้
ขณะที่ฝ่ายแค้นอย่างนายสมเกียรติ
พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ก็ยังไม่วายจมปลักอยู่กับการใช้เล่ห์กลผูกโยง และโจมตีทุกอย่างไปที่ทักษิณ แสร้งกล่าวหาไว้เสียก่อนว่า
“ยุทธศาสตร์สุดท้ายของ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือต้องการให้ตัวเองพ้นผิด มีอำนาจล้มเจ้าได้ และได้ทรัพย์สินคืน ผมไม่เชื่อการเมืองไทยจะเปลี่ยนผ่านโดยสันติอย่างประนีประนอมได้ การเปลี่ยนผ่านจะต้องเสียเลือดเนื้อ เว้นแต่ประเทศไทยไม่มี
พ.ต.ท.ทักษิณ”*(5)
เลยทำให้ท่านรองฯ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มือซ้ายสายบู๊ของนายกฯ ต้องรีบออกมาตีปลาหน้าไซ ทั้งตวาด ประกาศค้านสุดลิ่มทิ่มประตู
และขย่มเสียยกใหญ่ต่อผู้ใดก็ตามที่คิดล้มเจ้า ทั้งๆ ที่ควรรู้อยู่แก่ใจว่าจะหาใครที่เข้าลักษณะความผิดอย่างจะแจ้งตามประมวลกฏหมายอาญา
ม. ๑๑๒ นั้นไม่ค่อยได้ พอจะมีก็แต่เบี้ยร่ายปลายทางซึ่งล้วนแต่เป็นแพะด้วยกันทั้งสิ้น
ร.ต.อ.
เฉลิมท่านนี้เช่นกันในนามพรรคเพื่อไทยวันแถลงนโยบาย ๒๓ สิงหาคม ปีที่แล้ว
แสดงบทสำคัญในการเปิดฉากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ
ซึ่งก็ต่างกับที่คณะนิติราษฎร์เสนอไว้ไม่มาก แต่ก็ไม่น้อย เมื่อยังไม่เข้าไป “แตะ” มาตรา ๓๐๙ ที่จะลบล้างผลพวงแห่งรัฐประหารตรงกล่องดวงใจในบริบทที่ว่า
ผู้กระทำการยึดอำนาจปกครองย่อมได้รับนิรโทษกรรมทั้งก่อน และหลังโดยสิ้นเชิง
หากแต่พุ่งเป้าไปที่มาตรา ๒๙๑ เพื่อจะได้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
ขึ้นมาใหม่เป็นครั้งที่ ๓
แม้บัดนี้ปรากฏว่ามีร่างข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาในต้นปีใหม่ถึง
๓ ฉบับ คือของพรรคเพื่อไทย ของกลุ่มเชียงใหม่ ๕๑ นำโดย ส.ส. ลำพูน พรรคเพื่อไทย
นายสงวน พงษ์มณี ซึ่งต้องมีรายชื่อประชาชน ๕ หมื่นคนสนับสนุน
และร่างของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดิมที่เรียกว่าร่าง “หมอเหวง” (นพ. เหวง โตจิราการ ปัจจุบันเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย)
ทั้งหมดนี้ไม่มีข้อเสนอใดเข้าไป “แตะ”
ม. ๑๑๒ เหมือนๆ กัน
นางธิดา
(ถาวรเศรษฐ์) โตจิราการ ประธาน นปช. บอกว่าเรื่องการแก้ไขมาตรา ๑๑๒
ให้เป็นเรื่องของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งคงหมายความว่าแม้แต่ นปช.
ก็ยังไม่อยากจับเผือกร้อน เช่นเดียวกับที่จับๆ ปล่อยๆ
มันไหม้ที่ยังอยู่ในคุกอีกมากมาย จนทำให้คนที่รักชอบ นปช.
มาแต่อ้อนแต่ออกเกิดความรู้สึกตะขิดตะขวงบ้างเป็นบางครั้งว่า นปช.
กลายเป็นสาขาหนึ่งของพรรคเพื่อไทย แบบเดียวกับที่กลุ่มยุวประชาธิปัตย์ถูกจัดตั้งขึ้น
และกำลังเป็นมดงานสำคัญของพรรคฝ่ายค้านในการตามล้างตามผลาญเสื้อแดงหรือไร
สรุปว่าถ้าการแก้ไขมาตรา
๑๑๒ ยังไม่มีความจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
และพรรคเพื่อไทยในช่วงต้นปี ๒๕๕๕ แล้วถ้าบังเอิญการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. ๒๙๑ ไปได้ดีจนถึงกลางปีเมื่อมีบุคคลากรทางการเมืองจากบ้านเลขที่
๑๑๑ มาเสริมในรัฐบาล ทั้งด้านพรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา
จะมีการรับฟังแนวทางของคณะนิติราษฎร์บ้างไหม
ผู้เขียนได้แต่หวังว่าเป็นเรื่องของการขยิบตาแล้วสามารถมองเห็นเบื้องลึกแห่งหัวใจ
โดยเฉพาะในส่วนของพรรคร่วมขาใหญ่ที่มีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นหัวเรือ แต่ก็ยังมีนายบรรหารเป็นผู้ถือบังเหียน
จะช่วยกันพายช่วยกันถ่อด้วยหรือเปล่า
แน่นอนว่าพรรคชาติไทยพัฒนามีความหวังเป็นอย่างยิ่งในผลพวงของการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่
๒๓ *(6) เช่นเดียวกับบุคคลากรการเมืองของพรรคภูมิใจไทย
องค์ประกอบของการเกี๊ยเซี้ยเหล่านี้จะกลายเป็นถุงสัมภาระเหนี่ยวรั้งไม่ให้การปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตยแท้จริงซึ่งเสียงข้างมากที่ให้แก่พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมามุ่งหมายได้หรือเปล่า
คำตอบไม่ได้พริ้งเพราะอยู่ในสายลมเหมือนดั่งเสียงเพลง
แต่ว่ามันเสนาะอยู่ในโสตประสาทของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยทุกคนว่า
นอกเหนือจากนโยบายที่ประกาศไว้ในการหาเสียงแล้ว
อาณัติมอบหมายที่ได้รับจากความไว้วางใจ ศรัทธา และจิตสำนึกเบื้องลึกอันต้องตรงกับหลักการประชาธิปไตยแท้จริงนั้นต่างหาก
ที่จะนำไปใช้ขับเคลื่อนรัฐบาลให้เข้มแข็ง
และยืนเคียงข้างประชาชนส่วนใหญ่ในระยะเวลายืนยาว อย่างมีสมานฉันท์
ผู้เขียนไม่เชื่อว่าคะแนนเสียงที่มอบแก่พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะมุ่งมาดเพียงได้ผู้บริหารประเทศที่มีความเก่งกาจสามารถ
ตอบสนองความต้องการอุปโภคบริโภคของประชาชนส่วนใหญ่ได้เท่านั้น
ความมุ่งหวังของประชาชนส่วนใหญ่นับแต่นี้ไปจะอยู่ที่ผู้บริหารประเทศมีความรับผิดชอบต่อสิทธิเสียงอันเสมอภาค
และการปฏิบัติต่อพวกเขาในทางนโยบาย และกฏหมายอย่างเท่าเทียมในมาตรฐานเดียวกันด้วย
ไม่ว่าเสียงส่วนใหญ่ต่อไปข้างหน้าจะมีพื้นฐานการเมืองมาจากขั้วสีใด
เหลืองหรือแดง พวกเขาคงไม่ต้องการให้มีอำมาตย์ฝูงใหม่ หรือรับช่วงฝูงเก่าเอาไว้อีกต่อไปเช่นกัน
*(1)
ดูคำให้สัมภาษณ์ของนายวัฒนา
เมืองสุข ผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนสนิทของ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่http://www.matichon.co.th/วัฒนาชี้ต้องเร่งนิรโทษกรรม และhttp://www.prachachat.net/วัฒนา เมืองสุข
*(2) ดูเอกสารประกอบ คอป.
เสนอยิ่งลักษณ์ ๑๕ กันยา.pdf
*(4)
http://prachatai3.info/journal/2011/12/38372
*(6) ดูรายละเอียดกฏหมายนิรโทษกรรม ๒๑
ฉบับได้ที่ http://thaienews.blogspot.com/2011/12/2475-2.html
No comments:
Post a Comment