หากจะเล่นลิ้นสะบัดสำนวนถึงภาวะการเมืองอันลุ่มๆ
ดอนๆ ของไทยเวลานี้คงต้องบอกว่าเข้าข่าย “น้ำลด
หัวนมโผล่” เนื่องเพราะการตัดสินจำคุก
“อากง” เป็นเวลา ๒๐ ปีด้วยข้อหาส่งข้อความทางโทรศัพท์หมิ่นพระราชินี
และสถาบันกษัตริย์
คดีอากง
หรือนายอำพล ตั้งนพกุล ชายไทยวัย ๖๑ ปี ซึ่งถูกผู้พิพากษาศาลอาญา นายชนาธิป
เหมือนพะวงศ์ตัดสินเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่ามีความผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันกษัตริย์
ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒
และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในแวดวงสื่ออินเตอร์เน็ตทั้งไทย
และเทศ ว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรงเกินเกณฑ์มนุษยธรรม (Humane) ทั้งๆ ที่คำพิพากษาก็ยอมรับว่า “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำผิดตามคำฟ้อง”*(1)
ด้วยเหตุที่การลงโทษอย่างหนักในลักษณะไร้อารยะต่อจำเลยซึ่งต่อสู้คดีว่าตนไม่รู้จักวิธีส่งข้อความเอสเอ็มเอส
และขณะเกิดเหตุก็นำโทรศัพท์มือถือเครื่องที่มีหมายเลขไอเอ็มอีไอ
(ที่ศาลเรียกว่าอีมี) ตามคำฟ้องนั้นไปซ่อม
หากแต่ไม่สามารถยืนยันแจ้งชัดได้ว่าเป็นร้านไหน
ชุมชนสัมมนาทางอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าคำพิพากษามีลักษณะทารุณกรรม
และเรียกร้องให้มีการปลดปล่อยนายอำพล พร้อมด้วยนักโทษทางการเมืองทั้งหลาย
รวมถึงในคดี ม. ๑๑๒ กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องการเมือง
ไม่ใช่เรื่องความยุติธรรม
การนี้ได้มีการเรียกร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนที่สำคัญบางแห่ง
อาทิ องค์การสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย องค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์
และแม้กระทั่งองค์การนิรโทษกรรมสากลที่เคยแสดงท่าทีอ่อนน้อมต่อกฏหมายหมิ่นฯ (Lese Majeste) ของไทย และไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ อย่างเป็นทางการต่อคดีอากง
ทว่านายเบ็นจามิน
ซาแว็คกิ นักวิจัยของแอมเนสตี้ประเทศไทย ได้เขียนความเห็นของตนประณามคำตัดสินว่าเป็นการกดขี่เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
เขาให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวเอพีว่า
“ประเทศไทยมีสิทธิเต็มเปี่ยมในการมีกฏหมายห้ามหมิ่นสถาบันกษัตริย์
แต่ว่ากฏหมายนี้ในรูปแบบที่เป็นอยู่ และในการบังคับใช้
ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพขัดแย้งต่อพันธกรณีแห่งกฏหมายกับนานาชาติ”
เขายังกล่าวด้วยว่าท้ายที่สุดแล้วในทุกวันนี้ประเทศไทยก็ยังมีการกดขี่ในเรื่องเสรีภาพของการแสดงออก
และ “นายอำพลก็คือนักโทษการเมือง”
ดีดีนี่เอง*(2)
นี่แหละคือประเด็นที่ทำให้ระบบตุลาการของไทยถูกเพ่งเล็งในชุมชนโลกว่ายังล้าหลังในคุณค่าแห่งการมีมนุษยธรรม
การตัดสินจำคุกบุคคลถึง ๒๐ ปีด้วยข้อหาอันเป็นการเมือง ซ้ำร้ายทั้งที่ศาลไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ด้วยหลักฐานโดยตรงว่าเขากระทำผิด
ผู้พิพากษากลับหันไปใช้ข้อวินิจฉัยอย่างขาดสามัญสำนึกแห่งปุถุชน
(เอาใจเขามาใส่ใจเรา) และไม่พะวงถึงหลักการรับผิดเมื่อทำพลาด (Accountability) โดยอ้างว่า “ผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้” แล้วใช้ “ประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน” ของจำเลยว่ามีความผิดจริงจนได้
ด้วยเหตุที่ตัวบทกฏหมายของไทยเชิดชูตุลาการไว้อย่างสูงส่งจนไม่สามารถตั้งข้อสงสัยใดๆ
ต่อการตัดสินของผู้พิพากษา ความรู้สึก (ตามที่ปรากฏในสื่อไซเบอร์)
ที่ว่าระบบตุลาการไทย ในคดีอากง และคดี ม. ๑๑๒ กับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์อื่นๆ มักขาดมนุษยธรรม
จึงไปออกในทางวิพากษ์ถึงการง่อยเปลี้ยเสียขาของกฏหมาย มากกว่าที่จะลงลึกถึงคุณภาพของผู้ตีความ
หรือผู้บังคับใช้ มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปกฏหมาย แม้แต่ผู้ได้ชื่อว่าเชิดชูสถาบัน (Royalist) ตัวเอ้
(ยกเว้นกรณีที่วิกิลี้คส์เอามาเผย) อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน ก็ยังเห็นพ้องด้วยนั้น
ทำให้มองข้ามตัวการ
(Culprit) สำคัญในเรื่องนี้ไป ว่าผู้ซึ่งตีความ และบังคับใช้กฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒
กับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ๒๕๕๐ อย่างไม่สมแก่หลักเหตุ และผลตามครรลองสิทธิมนุษยชนสากลที่ให้ความสำคัญแก่สวัสดิภาพส่วนบุคคลเป็นเบื้องต้นแล้ว
การวิพากษ์ แม้กระทั่งหยามเหยียดสติปัญญาย่อมแพร่หลายออกไปในวงนอก โดยที่ผู้กระทำผิดพลาด
และสังคมไทยภายในประเทศไม่รู้ตัว เพราะต่างก็ปิดหู ปิดตา และปิดปากกันเสียหมด ความเสื่อมย่อมจะเกิดแก่ระบบตุลาการโดยรวมต่อไป
ใครที่ได้ชมรายการเดอะเดลี่โด๊สของคุณปลื้ม
หรือ มล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ทางว้อยซ์ทีวี เกี่ยวกับคดีอากงที่ผู้จัดบอกว่าอ่านดูคำพิพากษาแล้วเห็นว่ามันไม่มีเหตุมีผลอยากจะวิพากษ์วิจารณ์แต่ว่าพูดไม่ได้
“นี่เป็นสิ่งที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยอ่อนแอ” จึงไม่ขอวิจารณ์เกี่ยวกับคำพิพากษา แต่บอกว่าประชาคมโลกเขาประณาม
และประจานเพราะเขาทนไม่ได้กับกระบวนการพิจารณาคดีของไทย คุณปลื้มบอกว่าจะไม่โทษผู้พิพากษา
แต่จะโทษที่ตัวกฏหมาย และโทษรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ไม่ทำการแก้ไข
ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ทำก็ไม่ใครอีกแล้วที่จะทำ*(3)
นั่นเป็นปฏิกิริยาที่แสดงออกมาด้วยความอัดอั้นผ่านสื่อ
และดูเหมือนจะเป็นแห่งเดียวภายในประเทศนอกเหนือจากการประท้วงในภาคประชาชนที่ออกอาการกันอย่างแปลกพิศดาร
ดังเช่นการเปลื้องอก
และเปลือยก้นเขียนข้อความรณรงค์ให้ปล่อยตัวอากง ถ่ายภาพไปลงตามเว็บไซ้ท์
ที่กำลังแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วบนอินเตอร์เน็ตขณะนี้ โดยมีที่มาจากการริเริ่มของ
ดร. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการสถาบันศึกษาเอเซียอาคเนย์ในสิงคโปร์ ที่เขียนชื่ออากงบนฝ่ามือแล้วนำภาพไปลงไว้ในหน้าเฟชบุ๊ค
จากนั้น
“คำ
ผกา” นักเขียนสตรีชื่อดังได้เขียนข้อความ “No Hatred
for Naked Heart” บนร่างเปลือยส่วนบนของเธอบ้าง*(4) ตามด้วยข้อเสนอของ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล
ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์
เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองระดับรากหญ้าทั้งหมด
แต่ให้ละเว้นระดับแกนนำ*(5)
เหล่านี้จัดว่าเป็นปฏิกิริยาต่อการตัดสินจำคุกอากงที่เกิดจากความรู้สึกว่าระบบตุลาการของประเทศไทยนั้นออกอาการผิดผีผิดไข้อย่างไร้มนุษยธรรมแล้วจริงๆ
มิใช่เพียงแค่คดีอากงซึ่งอยู่ในวัยชราผู้ป่วยเป็นมะเร็งในช่องปาก ที่นายสมเกียรติ
ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ให้รายละเอียดกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้นผ่านระบบสื่อสารเอสเอ็มเอสทางโทรศัพท์เข้าสู่หมายเลขของตน
“เป็นการดูหมิ่น
อาฆาตมาดร้าย และใส่ความทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และพระบรมราชินีนาถทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ”
นายสมเกียรติเขียนในเฟชบุ๊คว่าข้อกล่าวหาของเขามีหลักฐานเป็นจริง
(ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ตามกระบวนการพิจารณาคดีแบบไทยๆ)
แต่อัยการซึ่งเป็นโจทก์ก็ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันแน่ชัดว่าอากงเป็นผู้ส่งข้อความนั้นจริงๆ
ด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าศาลไหนๆ
ในโลกที่พบแสงสว่างแห่งอารยธรรมแล้วย่อมยกผลประโยชน์ให้แก่จำเลย และยกฟ้องคดีไป
ไม่เที่ยวเสาะหาหลักฐานแวดล้อมเพื่อเอาผิดให้จงได้อีก ดังเช่นที่ผู้เข้าไปสนทนากระทู้
“Thailand’s fearlessness : Free
Akong” ของเว็บ “นิวแมนเดล่า” ผู้หนึ่งชี้ว่า เป็นกระบวนการที่ “ลงทัณฑ์เสียก่อน แล้วตัดสินให้ผิดทีหลัง” (Sentence first – Verdict Afterward)*(6)
จริงอยู่ว่าวลีดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงคำบริภาษณ์
ทว่าการตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการเมือง หรืออยู่บนพื้นฐานของกฏหมายอาญา ม. ๑๑๒ กับ
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์หลายๆคดี พบว่าเหมือนดั่งเป็นการตัดสินตามธง เช่นตั้งธงว่าอากงผิดไว้ก่อนแล้วหาหลักฐานแวดล้อมมาหนุน
หรือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์รับเงินหาเสียงผิดระเบียบเลือกตั้ง ก็ตั้งธงไม่ผิดไว้ก่อนแล้วเอาเงื่อนเวลามาใช้พิพากษาให้หลุด
เป็นต้น
เห็นได้ว่าอาการผิดผีผิดไข้อยู่ที่ผู้ตัดสินพอๆ
กับตัวกฏหมาย การปฏิรูป หรือเพียงแก้ไขกฏหมายทั้งสองฉบับไม่เพียงพอทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยฟื้นจากอาการเน่าเฟะทางการเมืองได้
ตราบเท่าที่ผู้ใช้ยังคร่ำครึอยู่กับโลกทัศน์ที่ว่าตัวบทกฏหมายสำคัญกว่าสิทธิมนุษยชน
เช่นเดียวกันกับที่การยกเลิกกฏหมายทั้งสอง
หรือแม้แต่ ม. ๑๑๒
อย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้เช่นกันในสภาพการเมืองที่รัฐบาลเงาถูกทำให้เฉิดฉาย
และผู้ปกครองที่มองไม่เห็นทรงพลานุภาพยิ่งกว่ารัฐบาลในที่แจ้ง
สภาพกลืนไม่เข้า
คายไม่ออกเช่นนี้แหละที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาออกอาการพิสดารขึ้นมา และจะพิสดารยิ่งขึ้นมากกว่านี้ถ้าการบังคับใช้
ม. ๑๑๒ ยังเป็นแขนรัดคอ (Chokehold)
ต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนต่อไปอย่างมองไม่เห็นแสงไฟที่ปลายอุโมงก์
ดังที่มีการวิจารณ์กันบนเว็บบอร์ดรอบๆ บ้านเรา
ทางออกเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย
และอาการอึดอัดขัดข้องของประชาชนหมดไป จึงอยู่ที่รัฐบาลซึ่งฐานเสียงรากหญ้าของตนเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนกว่าใครๆ
จากกฏหมายทั้งสองฉบับ แม้ว่าภาวะการเมืองจะทำให้ไม่สามารถยกเลิก ม. ๑๑๒ ได้ทั้งหมด
การแก้ไขก็จำเป็นต้องครอบคลุมให้ถูกจุด อย่างน้อยๆ ในประเด็นผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษต้องยึดหลักผู้เสียหายโดยตรงเท่านั้น
ไม่ใช่ใครเกิดอาการตกมันด้วยความจงรักภักดีอยากจะยื่นฟ้องใครก็ได้
รวมทั้งประเด็นโทษจำคุกขั้นต่ำ
๓ ปี ขั้นสูง ๑๕ ปี ซึ่งรุนแรงเกินไปสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุข เก็บเอาไว้ใช้ผ่อนโทษให้แก่ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกระทำฆาตกรรมด้วยความคะนองจะดูมีมนุษยธรรมเสียมากกว่า
ส่วนโทษฐานหมิ่นฯ อย่างเดียวจำคุกสูงสุด ๓ปี นับว่าหนักหนาเหลือหลายแล้ว
พร้อมกันนั้นรัฐบาลต้องทำหน้าที่ปกป้องสวัสดิภาพของประชาชน
ตราบใดที่มีคนถูกพิพากษาให้ต้องรับโทษหนักจากการตัดสินคดีด้วยเหตุผล
และหลักฐานอ่อน หรือเป็นไปในลักษณะตัดสินตามธง รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารควรจะฟ้องร้องผู้พิพากษาที่ใช้อำนาจตุลาการอย่าง
“บาทใหญ่” ได้
การยอมสยบศิโรราบไปเสียทั้งสิ้นกับความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฏหมาย
นอกจากจะทำให้สถาบันตุลาการเสื่อมลงมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังจะทำให้รัฐบาลถูกปรามาสว่าไร้น้ำยาเสียยิ่งกว่าชุดที่ถูกชักใยด้วยมือที่มองไม่เห็น
*(2) http://www.thestate.com/2011/11/23/2056632/man-sentenced-to-20-years-for.html
สำหรับองค์การสิทธิมนุษยชนเอเซียโปรดดูคำแถลงที่ http://www.humanrights.asia/news/ahrc-news/AHRC-STM-180-2011
ส่วนคำประกาศของฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ดูที่ http://www.hrw.org/news/2011/12/02/thailand-end-harsh-punishments-lese-majeste-offenses
*(3) http://www.internetfreedom.us/forum/viewtopic.php?f=2&t=17076
*(4) http://www.prachatai.com/journal/2011/12/38141
*(5) http://thaienews.blogspot.com/2011/12/blog-post_03.html
No comments:
Post a Comment