Sunday, November 20, 2011

เธอก้าวสองขากลับมาเยือน


การผ่านกลับมาเยือนประเทศไทย และออกแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ณ ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ศกนี้ ของนางฮิลลารี่ ร้อดแฮม คลินตัน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกัน ไม่เพียงมีความสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐทางภูมิยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ซึ่งเรียกว่า “ศตวรรษแปซิฟิค” เท่านั้น

หากแต่มีนัยยะทางการเมืองล้ำลึกต่อรัฐบาล “นี้” ของพรรคเพื่อไทย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในสถานการณ์ที่ฝ่ายค้าน สื่อ และขบวนการต้านทักษิณในสังคมออนไลน์ ฉกฉวยเหตุพิบัติจากอุทกภัยสร้างแรงกดดันหมายจะให้เกิดการเปลี่ยนตัวผู้นำ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปจากชุดปัจจุบันในกลางคัน

นโยบายศตวรรษแปซิฟิค (Pacific Century)*(1) ของสหรัฐเป็นผลพวงจากความล้มเหลวทางทหารของการพัวพันในอิรัก และอาฟกานิสถาน โดยหันมาเน้นด้านยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ และการทูตในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค ดังเช่นที่มีการประกาศจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอเมริกันในเมืองดาวิน ออสเตรเลีย โดยเลี่ยงไม่เรียกว่าฐานทัพ แต่จะมีทหารนาวิกโยธิน ๒,๕๐๐ นายประจำการภายใน ๕ ปี (เริ่มต้นที่ ๒๕๐) และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นทางการทหารกับฟิลิปปินส์ อันจะมีการจัดส่งเรือรบประจัญบานลำที่สอง และเครื่องบินขับไล่อีกหลายลไปำให้ใช้ปกป้องน่านน้ำด้านตะวันตก ที่ระยะหลังๆ เกิดการกระทบกระทั่งบ่อยๆ กับการขยายแสนยานุภาพของกองทัพเรือจีนในทะเลจีนตอนใต้

ทั้งนี้สหรัฐประกาศว่าเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ในบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางเสรีที่จะต้องปกป้อง พลเรือเอกรอเบิร์ต เอฟ. วิลลาร์ด ผู้บัญชาการทัพเรือสหรัฐภาคพื้นแปซิฟิคกล่าวว่ามูลค่าทางการค้าผ่านเส้นทางทะเลจีนตอนใต้นี้ตกปีละ ๕.๓ ล้านล้านดอลลาร์ อันเป็นของสหรัฐเอง ๑.๒ ล้านล้านดอลลาร์*(2)

ก่อนเสร็จสิ้นการประชุมมนตรีเศรษฐกิจเอเปคที่ฮาวาย เมื่อนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยของดการเดินทางไปร่วมเพราะสถานการณ์น้ำท่วมหนักถึงกรุงเทพฯ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นางฮิลลารี่พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงกลาโหมเห็นควรที่จะปลีกเวลาไปแวะเยือนประเทศไทยก่อนจะไปสมทบกับประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าในการร่วมประชุมสุดยอดกับผู้นำเอเซียตะวันออกที่บาหลี อินโดนีเซีย ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุด และยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภูมิภาค อุทกภัยครั้งนี้หนักหนาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเป็นเวลายาวนาน การไปให้กำลังใจ และแสดงการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองป้องกันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของสหรัฐเอง

ท่าทีของสหรัฐต่อภูมิภาคครั้งนี้ได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางในวงการเมืองระหว่างประเทศว่า เป็นการสกัดกั้นอิทธิพลของจีน ซึ่งนอกจากจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองแซงหน้าญี่ปุ่นแล้ว จีนยังกำลังขยายสมรรถนะในทางการทหารของตนอย่างรวดเร็ว งบประมาณกลาโหมของจีนเพิ่มพรวดสามเท่าเป็น ๑๖๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว แต่ประธานาธิบดีโอบาม่ากล่าวในการแถลงอย่างทางการที่แคนเบอร่าว่า สหรัฐไม่ได้กลับมากระฉับกระเฉงในภูมิภาคอีกครั้งเพราะกลัวอิทธิพลของจีนแต่อย่างใด และความคิดที่ว่าสหรัฐจะสกัดตัดจีนออกไปก็ไม่ถูกต้อง ศูนย์ปฏิบัติการที่จัดตั้งในดาวินไว้เพื่อช่วยในการฝึกฝน และซ้อมรบแก่พันธมิตรของสหรัฐเป็นหลักใหญ่เท่านั้น*(3)

ยิ่งในกรณีของไทยไม่มีการพูดถึงการร่วมมือใดๆ ทางการทหาร เว้นแต่ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์แจ้งว่ารัฐบาลไทยได้ตกลงใจมอบสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางปฏิบัติการกอบกู้ความเสียหายจากภัยธรรมชาติสำหรับทั่วภูมิภาค

ส่วนนางฮิลลารี่กล่าวถึงความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรมที่เรือรบหลวงแลสเส็นของกองทัพเรือสหรัฐซึ่งกำลังเข้าเทียบท่าในอ่าวไทย จะช่วยทางการไทยในเรื่องเฮลิค็อปเตอร์ขนส่งตลอดการฟื้นฟูอันยาวนานที่จะตามมาหลังน้ำลด กับเข้าสนับสนุนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้โรงพักที่ได้รับความเสียหายสามารถกลับมาเปิดทำการได้อย่างเต็มพิกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะช่วยซ่อมแซมท่าอากาศยานดอนเมืองให้กลับมาใช้งาน และเปิดบริการได้โดยเร็วไว ขณะนี้ทีมประเมินสถานการณ์ของกองทัพสหรัฐได้ลงพื้นที่เตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการกู้สาธารณูปโภค สาธารณสุข และบริการสาธารณะต่างๆ ให้กลับคืนสู่ปรกติแล้ว นางฮิลลารี่ยังอ้างถึงการประสานขอความช่วยเหลือจากบริษัทเอกชนอเมริกัน อาทิ โคคาโคล่า และเชฟร่อน บริจาคเงิน และให้ความร่วมมือโครงการฟื้นฟูต่างๆ

หัวใจสำคัญในถ้อยคำของนางฮิลลารี่ที่กล่าวระหว่างการแถลงร่วมกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อยู่ที่การสนับสนุนแก่รัฐบาล “พลเรือน” ของไทยในทางการเมือง ซึ่งดูเหมือนสื่อมวลชนของไทยหลายแห่งละเลยที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นข่าว ดังที่ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการสถาบันคดีศึกษาเอเซียอาคเนย์ ในสิงคโปร์ ให้ข้อคิดไว้ในการให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์*(4)

ชวนให้คิดต่อไปว่าสื่อไทยหลายแห่งที่ยังเลือกข้างพรรคประชาธิปัตย์เหนียวแน่น หรือตั้งแง่ให้ร้ายทุกสิ่งทุกอย่างทีโยงใยไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสองอย่างรวมกัน ซึ่งเป็นสื่อสายหลัก ตั้งแต่ น.ส.พ.ไทยรัฐ เดลินิวส์ เครือเนชั่น ค่ายผู้จัดการ แก๊งแนวหน้า ก๊วนไทยโพสต์ สื่อทีวีที่เนชั่นได้สัมปทาน และนักจัดรายการที่อ้างว่ารู้ทันทักษิณ ล้วนแล้วแต่มีวาระซ่อนเร้น โดยเชื่อว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จักต้องพับฐานภายใน ๖ เดือนเหมือนดั่งฟ้าลิขิต จึงยังไม่กล้าที่จะนำเสนอถ้อยวจีของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอย่างเจาะลึก ต่างละไว้เพื่อรอท่าทีดูว่าจะมีเมฆฝนคะนองตามมาหรือไม่ เมื่อใดฟ้าเปิดแล้วจึงค่อยเลิกปิดหูปิดตา และปิดปาก

นางฮิลลารี่กล่าวอย่างตั้งใจถึงอุทกภัยร้ายแรงที่รัฐบาลใหม่ และประชาชนไทยได้รับว่าเป็นการท้าทายอย่างยิ่ง หลังจากที่ต้องต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสันติภาพโดยยากลำบากท่ามกลางความรุนแรงทางการเมือง “สหรัฐอเมริกายืนหยัดอย่างเหนียวแน่นเบื้องหลังรัฐบาลพลเรือนของไทย และผลงานที่รัฐบาลกระทำให้สถาบันประชาธิปไตยเป็นปึกแผ่น มั่นคงในธรรมาภิบาล ประกันหลักนิติธรรม ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพพื้นฐาน เราส่งเสริมให้รัฐบาลมุ่งหน้าต่อไปในกระบวนการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อความมั่นคง และยืนยงของประเทศไทย”*(5)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตีความคำปราศรัยของนางฮิลลารี่ในที่นี้ว่าเป็นเสมือนคำประกาศรับรองรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ท่ามกลางการจัดระเบียบกระบวนความมั่นคงทางทหารของสหรัฐในภูมิภาค นำร่องไปสู่การประชุมสุดยอดผู้นำชาติเอเซียตะวันออก นั้นเกิดจากกระแสเคลื่อนไหวของการสื่อสารภายในแวดวงเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางด้านความมั่นคง และต่างประเทศ ของสหรัฐก่อนหน้านี้ ๑-๒ วัน ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ถกเถียงกันแล้วบนหน้าเว็บบล็อกของนิวแมนดาลา จากข้อเขียนของ Achara Ashayagachat เรื่อง “Big Sister in Town”*(6) โดยมีเนื้อหาชัดแจ้งอยู่ในบันทึกการให้รายละเอียดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐสามคน จากกระทรวงต่างประเทศสองคน และจากกระทรวงกลาโหมหนึ่งคน ดังที่ปรากฏในบันทึกการประชุมสรุปสถานการณ์ก่อนคณะของรัฐมนตรีต่างประเทศจะเดินทางไปกรุงมะนิลา และกรุงเทพฯ

สืบเนื่องมาจากการที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์บอกงดการเดินทางไปฮาวาย เจ้าหน้ากระทรวงต่างประเทศคนหนึ่งกล่าวว่า “ท่านรัฐมนตรี (ฮิลลารี่) ตัดสินใจในนาฑีสุดท้าย เธอบอกว่า เอ้า ถ้าท่านายกฯ มาไม่ได้ เราจะไปหาท่านเอง” และเสริมโดยเจ้าหน้าที่กลาโหมว่า “ครั้นเมื่อรัฐมนตรีกลาโหม ลีออน แพเน็ตต้า ทราบเข้า ท่านก็กระโดดเข้ามาขอร่วมด้วยทันที นี่รัฐบาล (สหรัฐ) ทั้งหมดเลยนะ ให้การสนับสนุนมาตรการช่วยแก้ไขน้ำท่วมของประเทศไทย” แล้วต่อด้วยเจ้าหน้าที่ต่างประเทศอีกคน “นี่เป็นตัวอย่างการร่วมทีมระหว่างรัฐมนตรีคลินตันกับแพเน็ตต้าในการให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น ดังเช่นที่ทำในลิเบีย ในโครงการนักรบผู้บาดเจ็บ ตอนนี้มาร่วมกันเรื่องน้ำท่วมประเทศไทย” *(7)

อีกเช่นกัน ประเด็นสำคัญในการสรุปรายละเอียดของสามเจ้าหน้าที่ระดับสูงรัฐบาลอเมริกันอยู่ที่ข้อความจากปากของเจ้าหน้าที่ต่างประเทศคนที่หนึ่งว่า “สาระอันหนึ่งซึ่งท่านรัฐมนตรีต่างประเทศจะนำไปบอกประชาชนและรัฐบาลไทยก็คือ เราเชื่อแน่ว่าเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ และผลประโยชน์ทางการเมืองของสหรัฐที่จะให้รัฐบาลนี้ประสพความสำเร็จ เราจะทำเท่าที่ทำได้ในการสนับสนุนหลักการนี้ต่อไปข้างหน้า”

ข้อถกเถียงในนิวแมนดาลาต่อคำว่า “รัฐบาลนี้” ข้างต้น เป็นการยืนยันคำปราศรัยของนางฮิลลารี่ที่อ้างถึง “รัฐบาลพลเรือน” ว่าไม่ได้หมายถึงรัฐบาลพลเรือนอื่นที่ไม่ได้มาตามหลักประชาธิปไตยแท้จริง

ดูคล้ายกับว่านโยบายต่างประเทศต่อไทยของรัฐบาลโอบาม่าผ่านทางนางฮิลลารี่เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย จากท่าทีที่เคยเมินเฉยต่อกรณีการสลายการชุมนุมของประชาชนเสื้อแดงด้วยกระสุนจริง และพลแม่นปืน โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน และ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่าร้อยคน รวมทั้งนักข่าวต่างประเทศ และอาสาสมัครช่วยผู้ประสพภัย ตลอดถึงอาการเฉยชาของเอกอัคราชทูตคริสตี้ เค็นนี่ย์ต่อประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอันเกี่ยวเนื่องกับประมวลกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในการจับกุมนายโจ กอร์ดอน บุคคลเชื้อชาติไทย สัญชาติอเมริกัน กับการงดแสดงความคิดเห็นของตัวแทนสหรัฐในที่ประชุมสำรวจผลการดำเนินงานของสมัชชาสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติที่กรุงเจนีวาเมื่อต้นเดือนตุลาคมศกนี้ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ลงมติให้ประเทศไทยทบทวนการบังคับใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์*(8)

หรือจะเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐยึดธรรมเนียมปฏิบัติตามคำแนะนำของเอกอัคราชทูตแอริค จอห์น เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ ว่า “เราไม่แนะนำให้รัฐบาลสหรัฐกล่าวถึงการบังคับใช้กฏหมาย (หมิ่นฯ) ในทางสาธารณะ หรือเจาะจงคดีใดคดีหนึ่ง แต่จะยกขึ้นมาปรารภเป็นการเฉพาะในทางลับ และบรรจุเอกสารเกี่ยวเนื่องไว้ในรายงานด้านสิทธิมนุษยชน”*(9) ก็ตาม แต่การแถลงสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างโจ่งแจ้งโดยรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าทำไม่รู้ไม่ชี้กับการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน และกดขี่ไม่ให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเสรี ซึ่งทั้งสองกรณี ไม่ว่าเรื่อง Human Rights หรือ Freedom of Speech เป็นค่านิยมสูงส่งอยู่ในวัฒนธรรม และอุดมการณ์ทางการเมืองของอเมริกา

จึงเป็นไปได้ว่าน่าจะอยู่ในกรอบของการดำเนินนโยบายแบบคู่ขนาน (Dual) หรือสองก้าน (Two prongs) อันเทียบได้กับหลักการที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดินเรียกว่า “ยุทธศาสตร์สองขา” คือสองแนวทางที่มุ่งสู่จุดหมายเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐใช้ยุทธวิธีเช่นนี้อยู่เสมอ เห็นได้ในความสัมพันธ์ที่สหรัฐมีต่อภูมิภาคตะวันออกกลางตลอดปรากฏการณ์อาหรับเบ่งบาน (Arab Spring)
ไม่ว่าตูนิเซีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย หรือซีเรีย

ตัวอย่างจะ จะ ดูได้จากสถานการณ์หลังการปฏิวัติอียิปต์ซึ่งขบวนการประชาชนพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดี และระบบประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว หากแต่สภาสูงสุดของกองทัพ (Supreme Council of the Armed Forces) ซึ่งเป็นรัฐบาลชั่วคราวตัวจริงเสียงจริงขณะนี้ พยายามเหนี่ยวรั้งไม่ให้มีการเลือกตั้งเร็วนัก แทนที่จะมอบอำนาจคืนแก่พลเรือนในเดือนกันยายนตามสัญญา กลับเตะถ่วงจนเลยกำหนดมาแล้วยังออกประกาศมาใหม่ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นไม่ได้จนกว่าถึงปี ๒๕๕๖ แถมกำลังบรรจุเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้อำนาจพิเศษแก่กองทัพ พร้อมทั้งบางบทที่ปกป้องฝ่ายทหารจากการตรวจสอบของพลเรือน สร้างความไม่พอใจแก่พลังประชาชนที่เป็นผู้ผลักดันการปฏิวัติจนสำเร็จ ถึงขั้นหวั่นกันว่าการประท้วง และความรุนแรงจะกลับมาอีก

สหรัฐที่เคยขุนกองทัพอียิปต์มาตลอด แม้ขณะนี้ยังคงมีเม็ดเงินช่วยเหลือทางทหารลงไปเกื้อหนุนปีละไม่ต่ำกว่า ๑,๓๐๐ ล้านดอลลาร์ จึงหนีไม่พ้นตกเป็นจำเลยร่วมไปด้วยว่าไม่จริงใจต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของอียิปต์ ถ้าหากมันไม่อำนวยประโยชน์แก่สหรัฐอย่างเต็มที่ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐจึงหันมาใช้ยุทธศาสตร์สองขา ไม่กล้าแสดงตัวให้ท้ายฝ่ายทหารแจ้งชัด และเข้าหากลุ่มนักปฏิวัติ กลุ่มศาสนา-ภราดรภาพมุสลิม และอดีตพรรคการเมืองฝ่ายค้าน โดยที่นางฮิลลารี่แสดงปาฐกถายืนยันค่านิยมทางประชาธิปไตย และสิทธิในการเลือกรัฐบาลพลเรือน ซึ่งผู้ช่วยของเธอขยายความว่านั่นเป็นการเตือนสภาสูงสุดของกองทัพอียิปต์ให้รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เรื่องกำหนดเลือกตั้ง*(10)

สำหรับประเทศไทยซึ่งนางฮิลลารี่ย้ำแล้วย้ำอีกว่าเป็นพันธมิตรกับสหรัฐมาเป็นเวลายาวนาน เพราะแน่นแฟ้นซี้ปึกเมื่อตอนสงครามเวียตนาม และสงครามเย็นสกัดกั้นการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเซีย รวมไปถึงการผลักดันให้ไทยกวาดล้างทำลายไร่ฝิ่นในถิ่นชาวเขาทั่วทั้งภาคเหนือ ความช่วยเหลือด้วยเม็ดเงินอุดหนุนทางทหารที่ลงไปยังกองทัพไทยในรูปงบฯ ลับ ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่อยมา ผ่านถนอม-ประภาส-ฉลาด-กฤษณ์-อาทิตย์-ป๋า ล้วนเป็นสายใยแก้วกระชับมิตรภาพระหว่างสหรัฐกับทหารไทยไม่ด้อยน้อยหน้าอียิปต์เท่าไรนัก

ดังนั้นการที่นางฮิลลารี่พูดถึงรัฐบาล “พลเรือน” และเจ้าหน้าที่ชั้นสูงกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุชัดว่าเป็นรัฐบาล “นี้”  ของไทย จึงมีนัยยะอันสำคัญมาก “สำคัญ” ในกรณีที่ว่าถึงเวลาสหรัฐ (ผ่านทางนางฮิลลารี่) ปรามทหารไทยให้วกกลับมาเดินทางเดียวกับพลเรือนในแนวการเมืองประชาธิปไตยกระนั้นหรือ ผู้เขียนคิดว่าไม่น่าจะพลิกผันได้ถึงขนาดนั้น

แต่ถ้าเป็นการพยักหน้าให้รู้กันว่าเดินขนานได้ แต่ต้องไปในทิศทางเดียวกันละก็พอเป็นไปได้ ในเมื่อการเลือกตั้งซึ่งเป็นทางเบี่ยงเลี่ยงการแตกหักถูกสร้างมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะดันทุรังเหมือนดั่ง “กลกบเกิดในสระจ้อย” ชนชั้นกลางเก่ากลางใหม่ (สุกๆ ดิบๆ) ผู้ดีมีรุนชาติ ดัดจริตว่าฟังอังกฤษคล่องทั้งหลาย ที่ร้องแรกแหกกระเฌอกันอยู่ตามเว็บโซเชียลมีเดีย มิหนำซ้ำสามหาวหยาบคายจะเอานายกฯ หน้าฮักของตนกลับมานั่งบนโพเดี้ยมอีกให้ได้ แต่หารู้ไม่ว่านายทหารไทยไม่บ้าจี้ รู้จักที่ทาง รู้วางท่าที ขิงไม่แก่ ข่าก็ไม่อ่อน รู้ดีว่าถึงสหรัฐจะไม่ใช่พี่ แต่สหรัฐก็แนบชิดกับเฮียมาแต่ไหนแต่ไร จะฝืนทำสามหาว เสียโอกาสทำกินเปล่าๆ

อย่างไรก็ดี คำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระหว่างการสนทนาสรุปการเตรียมงานเดินทางเยือนไทยของรัฐมนตรีคลินตันที่ว่า “ยังมีความตึงเครียดอยู่มากในประเทศไทย และความตึงเครียดเหล่านั้นคงจะไม่ผ่อนคลายไปง่ายๆ หลังการเลือกตั้งครั้งเดียว หรือถึงสองสามครั้ง” สะท้อนความหวังที่จะเห็นการเมืองไทยเดินหน้าต่อไปในวิถีประชาธิปไตยอย่างสมานฉันท์ยิ่งขึ้น เมื่อช่องว่างทางความคิดระหว่างคนมีมากกว่า (The Have) กับคนมีน้อยกว่า (The Have Not) จะแคบเข้ามาอยู่ในระนาบเดียวกันถายในระยะเวลาไม่นานนัก

เพราะว่าเดี๋ยวนี้ฝ่ายที่มีมากกว่า (ราวสิบล้านเศษๆ ละมัง) ลดจิตสำนึกทางปัญญาอย่างต่อเนื่องลงไปหาระดับของฝ่ายที่เคยถูกตราหน้าว่าบ้านนอกคอกนา หรือผู้ที่มีน้อยกว่า (จำนวนเกือบสิบเจ็ดล้าน) ซึ่งในขณะเดียวกันพัฒนาทักษะวิสัยทัศน์ของตนอย่างรวดเร็วจนสวนทางกลับไปแทนที่พวกสิบล้านแล้วก็มาก

วิเคราะห์อย่างคนที่รักสันติ และต้องมีน้ำอดน้ำทน หากการก้าวสองขามาหาไทยของสหรัฐสามารถทำให้มีการเลือกตั้งได้ตามวงจรของมันอีกสักสองครั้ง ซึ่งปาเข้าไปแปดปี น่าจะพอหวังได้ว่าการเมืองไทยจะปรับตัวเองไปตามกระแสเสียงที่เคยเรียกร้องโอกาสในมาตรฐานเดียวกัน และการยอมรับมติแห่งเสียงข้างมากได้


*(4) http://www.prachatai.com/journal/2011/11/37900

No comments:

Post a Comment