Sunday, October 30, 2011

จริตคนเมือง (เรื่องน้ำท่วม)


นับแต่ปัญหาน้ำหลากประจำปีเริ่มจะกลายเป็นวิกฤติในตอนปลายเดือนกรกฎาคมเข้าสู่สิงหาคม ๒๕๕๔ รัฐบาลใหม่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจไม่ได้แคลงใจว่าอุทกภัยปีนี้จะกลายเป็นประเด็นให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่พ่ายแพ้เลือกตั้งไปแล้วใช้โหมกระหน่ำโจมตีทุกเช้าค่ำว่าอ่อนหัดไร้สมรรถภาพ

แม้นว่าจะมีแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยบางคน ตอกย้ำซ้ำหลายหนว่ายังมีกระบวนการคว่ำรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่อย่างแข็งขัน เช่นเดียวกับที่เคยโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และพลังประชาชน มาแล้วสามชุด กระแสซุบซิบถึงกับบอกด้วยว่าผู้มีอำนาจวิเศษเหนืออื่นใดในแผ่นดิน ต้องการให้รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแก่นแข็งชุดนี้จบไปภายใน ๖ เดือน

กระบวนการต่อต้าน และหยามเหยียดรัฐบาลยิ่งลักษณที่เริ่มต้นด้วยนายแก้วสรรค์ อติโพธิ์ ซึ่งเคยได้ดิบได้ดีจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ๒๕๔๙ ให้เป็นกรรมการ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) พยายามฟ้องต่อ ปปช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ขาดคุณสมบัติสำหรับตำแหน่งนายกฯ แล้วไม่ได้ผล ก็มีไม้สองจากหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการเกื้อกูลให้ใช้รถหาเสียงของพรรคในการออกมารณรงค์โจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่หยุดหย่อน บัดนี้เข้าสู่มิติของการตำหนิ ใส่ร้าย และยำใหญ่ไปทุกเรื่อง

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะรัฐมนตรีเงาพยายามทำงานแข่งกับรัฐบาล จนเป็นที่น่าสังเกตุว่างานอย่างเดียวกันที่ฝ่ายค้านพยายามแย่งซีนรัฐบาลในเวลานี้ ตลอดเวลากว่าสองปีที่นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีไฉนไม่ทำ รวมทั้งในเรื่องป้องกันน้ำท่วมไม่ให้มากกว่าปกติด้วย

จนบัดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาน้ำมากจนเกิดอุทกภัยทั่วประเทศไทยแล้วยังกำลังจะท่วมกล่องดวงใจของชาติ คือกรุงเทพมหานครด้วยชนิดไม่เคยเป็นมาในรอบ ๕๐ ปี เกิดจากความเขลา หรือเดาผิดของบรรดาผู้รอบรู้ และบริหารจัดการเรื่องน้ำโดยตรงทั้งหลาย ผู้ชำนาญการไม่ว่าไทย-เทศยืนยันว่าลำพังภัยธรรมชาติไม่กระไรนัก หากแต่ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์กระทำซ้ำเติมเนื่องจากด้อยสมรรถภาพในการบริหารจัดการน้ำนั่นต่างหากที่ทำให้ย่ำแย่ 

ดังที่นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่าเป็นความผิดพลาดของกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่ไม่สามารถคำนวณปริมาณฝนให้ใกล้เคียงสำหรับการปล่อยระบายน้ำออกจากเขื่อนภูมิพล และสิริกิตติ์ อย่างถูกต้อง*(1) มาตั้งแต่ต้นฤดูกาล

ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๔ นายอภิสิทธิ์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ขณะนั้นยังบอกว่าประเทศไทยจะเกิดภัยแล้ง ทำให้มีการเก็บกักน้ำไว้ในเขื่อนใหญ่ๆ ซึ่งเรียกกันตามประสาชาวบ้านว่าเขื่อนพ่อ-เขื่อนแม่ เสียจนปริ่ม รัฐบาลสั่งให้งดการทำนาปรังเพราะเขื่อนใหญ่งดปล่อยน้ำออก แถมมีการทำฝนเทียมวันละสามเวลาบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ๘ จังหวัดระหว่างเดือนเมษายน ถึง ตุลาคม ๒๕๕๔*(2)

ครั้นเมื่อฝนที่ตกลงมาก่อนฤดูการหนึ่งเดือนแถมมีปริมาณมากมายชนิดไม่ธรรมดา แล้วน้ำเริ่มท่วมภาคอีสานตั้งแต่ก่อนรัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา แต่เขื่อนใหญ่อย่างเช่นเขื่อนแม่ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักไว้อย่างผิดปกติถึงกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ก็ยังปล่อยน้ำออกเอื่อยๆ เฉพาะที่ถึงจุดล้น แค่ ๗-๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตรในระยะเมษายนถึงมิถุนายน ทั้งๆ ที่เมื่อปี ๒๕๕๓ น้ำในเขื่อนช่วงฤดูเดียวกันเพียง ๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์กลับปล่อยน้ำออกเดือนอละกว่า ๑๐ ล้าน ลบ. ม. พอถึงเดือนสิงหาคมทำให้มีความจำเป็นต้องปล่อยน้ำจากเขื่อนอย่างเร่งด่วน กลายเป็นอุทกภัยไล่ลงมาตั้งแต่นครสวรรค์ยันปทุมธานี แล้วยังเจอกับคันกั้นน้ำปกป้องกรุงเทพฯ ผสมกับสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ และถนนรายล้อมมหานคร สกัดกั้นทางลงสู่ทะเลจนน้ำต้องหันไปท่วมทุ่งปริมาณนับล้านลูกบาศก์เมตรรอถล่มเมืองกรุงตลอดสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา

ปัญหาแท้จริงอาจเป็นอย่างที่นายสมิทธซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติพูดไว้เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคมว่า “การปล่อยน้ำแล้วน้ำท่วมแบบนี้ควรต้องมีคนรับผิดชอบ ต้องมีการสอบสวน...ไม่มีเจตนาแอบแฝงได้ไง ปล่อยไม่หยุด ปล่อยยาว ไปดูบันทึกของกรมชลประทาน หรือ กฟผ. ไม่เคยปล่อยน้อยลง มาน้อยลงตอนหลัง ตอนฝนหยุดตกแล้ว อ้างฝนตกเข้าเขื่อนมากต้องปล่อยมาก เขื่อนทำไว้ระบายน้ำโดยอัตโนมัติถ้าน้ำขึ้นมากๆ ไม่ให้ล้นสันเขื่อน มีสปริลเวย์ให้น้ำระบายออกสันเขื่อนอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวเขื่อนรับน้ำไม่ได้”

แถมด้วยการตอกย้ำของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีน ซึ่งเป็นพยานในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับการทุจริตเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ๒๙ ล้านบาท ออกมาพูดในฐานะวิศวกรรุ่นพี่ของอธิบดีกรมชลประทาน และผู้อำนวยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากบุคคลทั้งสอง “ไม่ควรเอาเรื่องการเมืองมาทำลายกันโดยไม่สนใจความทุกข์ร้อนของประชาชน ไม่ควรเล่นการเมืองกันโดยไม่สนใจว่าบ้านเมืองจะฉิบหายอย่างไร…ขณะนี้ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ต้องมาปล่อยน้ำออกจากเขื่อนต่างๆ ซึ่งอันที่จริงขณะนี้ฝนก็ลดน้อยลงมากแล้ว หลายจังหวัดไม่มีฝนตกแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องมาปล่อยน้ำออกจากเขื่อน ควรเก็บกักน้ำเอาไว้เพื่อรองรับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงจะดีกว่า”*(3)

เป็นอันว่าในส่วนรับผิดชอบของนายชลิต ดำรงศักดิ์ และนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ สองผู้มีความรับผิดชอบตรง และอำนาจเต็มในการบริหารจัดการน้ำไม่อาจปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ว่า ไฉนเวลาฝนไม่มากกักน้ำไว้เต็มเขื่อน พอฝนหนักกลับปล่อยน้ำออกมามาก (ที่เขื่อนภูมิพลราว ๑๗ ล้าน ลบ.ม.) แม้เมื่อฝนหยุดแล้วก็ยังปล่อยน้ำต่อไปอีก นี่เป็นเหตุให้อุทกภัยปีนี้ทั้งเยอะ ยาว และเข้าถึงกล่องดวงใจเลยหรือเปล่า

ขณะเขียนบทความนี้มีรายงานข่าวว่าน้ำท่วมแบบเต็มร้อยในพื้นที่กทม.ไปแล้วอย่างน้อย ๑๗ เขตรอบนอก นายกฯ บอกให้ประชาชน กทม. ชั้นในเตรียมรับน้ำในกรณีที่อาจเกิดได้ร้ายแรงสุดน้ำจะสูงถึง ๑.๕ เมตร ส่วนผู้ว่าฯ ประกาศให้ ๑๓ เขตริมฝั่งเจ้าพระยาระวังตัว ล่าสุดให้เขตตลิ่งชัน และหลักสี่อพยพหนีกันได้

ก่อนหน้านี้กว่าหนึ่งอาทิตย์ปรากฏว่ามีการเล่นสงครามน้ำลายทางการเมืองระหว่างพรรคฝ่ายค้านที่คุมคะแนนเสียงชาวกรุง และภาคใต้ตามตัวเลขจากการเลือกตั้งทั่วไปทั้งสิ้นราว ๑๑ ล้านคะแนน (Popular votes) ซ้ำมีผู้ว่าการกทม. เป็นคนของพรรค ปชป. เมื่อรัฐบาลอันมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนใหญ่จากการเลือกตั้งด้วยคะแนนมากที่สุด ๑๕.๗ ล้านเสียง (ส่วนใหญ่ในภาคอีสาน และเหนือ) ต้องการให้เปิดประตูน้ำด้านตะวันออกตามคลองต่างๆ ที่ผ่านใจกลาง กทม. ช่วยระบายน้ำออกจากทุ่งเสริมเส้นทางหลักตามลำแม่น้ำสามสาย เจ้าพระยา ท่าจีน และบางปะกง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กลับยักท่าไม่อยากให้กรุงเทพฯ เปียกน้ำแม้แต่น้อย แถมบอกว่าเรื่องน้ำท่วมไม่ท่วมให้ชาวกรุงฟังผู้ว่าฯ คนเดียว

ผู้ว่า กทม. ฐานเสียงหลักของพรรคประชาธิปัตย์งัดข้อกับรัฐบาลท่ามกลางวิกฤติน้ำท่วมเท่านั้นไม่พอ ปชป. อัดซ้ำด้วยการเรียกร้องให้มีการประกาศใช้พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อยื่นอำนาจให้ฝ่ายทหารคู่ขาเก่าเข้าไปควบคุมปฏิบัติการต้านอุทกภัยทั้งหมด ท้ายสุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลือกประกาศใช้ พ.ร.บ. ป้องกันสาธารณะภัยแทน ทำให้ผู้ว่าฯ ต้องหันมาประสานกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสพภัย (ศปภ.) ของรัฐบาลในการปิด-เปิดประตูน้ำ แต่ก็ไม่วายปฏิเสธแก้เกี้ยวว่าที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมประตูน้ำ หากแต่เจ้าหน้าที่ปิด-เปิดเหล่านั้นอยู่ในสังกัดการประปานครหลวง “ซึ่งเป็นของรัฐบาล”

ถึงอย่างไรก็สายไปไม่นิดหน่อยเลย เพราะกว่าที่รัฐบาลจะสามารถสั่งการให้เปิดเส้นทางระบายน้ำตามคลองชั้นในต่างๆ ได้ น้ำก็ท่วมเข้าไปถึงบางพลัด และรังสิตเสียแล้ว

แต่กระนั้นการแสดงบทบาทฝ่ายค้านทัดทานรัฐบาลทุกวิถีทางก็ยังไม่หมดลาย นายกรณ์ จาติกวนิช รองนายกรัฐมนตรีเงาของพรรค ปชป. เขียนในทวิตเตอร์ของตนโจมตีอีกว่าการระบายน้ำของรัฐบาลไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ร้อนถึงนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน*(4) ผู้เคยถวายงานใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องออกมาชี้แจงว่า ที่จริงแล้ว กทม. นั่นแหละที่ไม่เข้าใจเรื่องการเดินทางของน้ำ ทำให้ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเกิดอาการสับสนวุ่นวาย

เหนือชั้นไปกว่านั้น ขณะที่ชาวกรุงเทพฯ กำลังอกสั่นขวัญแขวนว่าจะเจอน้ำท่วมถึงอกในวันมะรืนวันพรุ่ง ตัวนายกฯ เงาเอง นายอภิสิทธิ์แอบบินเงียบไปปรึกษาการแก้ปัญหาน้ำท่วมกับประธานาธิบดีหนุ่มของหมู่เกาะมัลดีพส์อยู่หลายวัน เป็นที่ข้องใจของหลายคนรวมทั้งนักเขียนประจำสื่อเว็บไซ้ท์เอเชียนคอเรสปอนเด๊นท์ นายแอนดรูว์ สปูนเนอร์ ว่านายกฯ เงาเจอน้ำมากแล้วผิวซีดต้องหลบไปอาบแดดให้ผิวแทนหรือไร

นายสปูนเนอร์ยังให้ข้อสังเกตุน่าคิดว่าภาพนายอภิสิทธิ์ถ่ายคู่กับประธานาธิบดีมัลดีพส์ที่นายศิริโชค โสภา โฆษกรัฐบาลเงาเอาไปลงไว้บนเว็บนั้นไม่ได้บ่งบอกเลยว่าเป็นการเยือนอย่างทางการตอนช่วง “เวลาไหนในประวัติศาสตร์”*(5) ซึ่งสื่ออินเตอร์เน็ต ไทยอีนิวส์ มีข้อวินิจฉัยเพิ่มเติมอีกว่าการแต่งกาย และเน็คไทที่ประธานาธิบดีนาชีดของมัลดีพส์ผูกในภาพถ่ายคู่กับอภิสิทธิ์นั่น ช่างเหมือนกับในภาพเมื่อสองปีที่แล้วของท่านตอนที่ถ่ายทำภาพยนตร์ชีวประวัติในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ไม่มีผิด*(6)

ทางด้านสื่อทั้งสายหลัก และในกระแสสังคมออนไลน์ ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู และมีความซื่อตรงประดุจข้าไม่หลายเจ้า บ่าวนายเดียว ก็ยังคงเสนอความเห็นส่วนตนที่เป็นเรื่องร้ายต่อรัฐบาลใหม่อย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองผู้ประกาศรายการทีวีค่ายเนชั่น นายกนก รัตน์วงสกุล กับนายธีระ ธัญญไพบูลย์ ซึ่งโจมตีนายกรัฐมนตรีหญิงยิ่งลักษณ์มาตลอด พอน้ำท่วมก็หันไปตี ศปภ. ว่าบังคับให้อาสาสมัครใส่เสื้อแดง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มาจากมีอาจารย์จุฬาฯ นายหนึ่งออกมาพูดปดว่าทราบจากนักศึกษาของเขา แต่ก็ได้มีผู้เล่นเว็บบอร์ดเสื้อแดงนำภาพการทำงานของ ศปภ. ที่ดอนเมืองมาลงโต้แย้งไว้มากมาย ถึงอย่างไรรัฐบาลก็จำต้องเปลี่ยนตัวโฆษกพิเศษของศูนย์ปฏิบัติการฯ จากอดีตแกนนำเสื้อแดงมาเป็นอดีตปลัดยุติธรรมที่เป็นพระสหายของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสมัยยังทรงศึกษา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

การที่นายกนก และนายธีระออกอาการเชิดชูทหารอย่างมีนัยสำคัญว่า “ตอนนี้ทหารเป็นฮีโร่ของชาวบ้านไปแล้ว” เป็นผลให้นักเขียนนามปากกา “นักปรัชญาชายขอบ” นำไปปริวิตกไว้ในบทความของเขาที่ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ “สะท้อนว่าความเกลียดชังมันฝังลึกจนยากที่จะประสานรอยร้าวให้สนิท ไม่ว่าจะเผชิญภาวะวิกฤตขนาดไหนก็ตาม”*(7)

รอยร้าวดังกล่าวถูกป้ายเปื้อนอยู่บนสื่อมานานด้วยความเกลียดชังต่อเสียงข้างมากที่ถูกปรามาสว่าขาดคุณภาพ นับแต่การโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งอย่างท่วมท้นด้วยรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เปิดหน้ากาก “คนดี” ที่รังเกียจนักการเมืองตัวแทนรากหญ้า เสน่หาชนชั้นนำสายอำมาตย์ หากแต่รับได้แม้เป็นพันธุ์งูเห่าตราบเท่าที่ถ้าประกาศปาวๆ ว่าจงรักภักดีสุดโต่ง แม้เอาไปด่าลับหลังดังที่วิกิลี้คส์เผยก็ไม่เป็นไร บัดนี้ถูกแคะไค้ไชชอนผสมโรงไปกับสถานการณ์น้ำท่วม ตามสื่อสังคมอินเตอร์เน็ต ให้ปริแตกยิ่งขึ้นด้วยการปั้นน้ำเป็นตัวต่างๆ นานา

สภาพการขันแข่ง และแย่งชิงผลงาน ขณะที่ใส่ร้ายฝ่ายรัฐบาลด้วยความเท็จเช่นนี้ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการสถาบันศึกษาเอเซียอาคเนย์ ในสิงคโปร์บอกว่า “เปิดให้เห็นความเป็นจริงสิ่งหนึ่งในประเทศไทย นี่เป็นสังคมที่แตกร้าวอย่างสุดลึก ซึ่งความเชื่ออย่างฝังแน่นทางการเมืองได้บดบังความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และภาวะเร่งด่วนเพื่อการอยู่รอดไปเสียสิ้นแล้ว”...”การนำเอาวิกฤติการณ์จากภัยธรรมชาติมาใช้กำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง กลายเป็นเรื่องที่รับได้ในทุกวันนี้”*(8) (ไปเสียฉิบ)

เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งสำหรับชนชาติที่เคยภาคภูมิใจในวัฒนธรรม และจริยธรรมตามหลักพุทธศาสนา พลเมืองส่วนหนึ่งซึ่งแวดล้อมอยู่ด้วยความเจริญของเมืองได้รับการเรียกขานว่า “คนเมือง” หรือ “ชาวกรุง” กลับเป็นพวกเมามายในโมหะ และมายาคติ จากการเสี้ยมสอน และปลุกเร้าให้เกลียดชังคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อที่จะไปเพิ่มความรัก และศรัทธาบอดแก่คนอีกกลุ่มหนึ่ง จนกลายเป็น “จริต” ติดตัวถึงขั้นกุเรื่องราว และข่าวเท็จให้เสียหายแก่ฝักฝ่ายทางการเมืองที่ตนไม่ชอบ โดยแอบอิงอย่างเป็นรูปธรรมเอาสถาบันกษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือโจมตี

ทั้งๆ ที่รายแล้วรายเล่าถูกศอกกลับด้วยความจริง บ้างแค่ยอมขอโทษ บ้างปิดหน้าหลบหนี บ้างไม่เป็นที่อื้อฉาวยังไมดังเด่นก็ยังไม่ยอมหยุดกันง่ายๆ หารู้ไม่ว่าพวกเขากำลังทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสีย และระคายเคืองยิ่งขึ้นทุกวัน จะโดยรู้ตัวแบบทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory ซึ่งน่าจะพากษ์ไทยว่าทฤษฎีบ่อนทำลายมากกว่า) หรือไม่รู้ตัวแบบโง่อวดฉลาดก็ตาม เฉพาะสองสามรายที่ปรากฏเป็นข่าวบนสื่อสายหลักบางแห่งก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้ที่มีความจงรักภักดีมากกว่าใครๆ เหล่านั้น ช่างเบาปัญญาเสียยิ่งกว่าผู้ที่พวกเขาบางคนเรียก “ไพร่”

ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้นามว่า Nina Tongprasert ซึ่งลงข้อความบนทวิตเตอร์ว่าในหลวงทรงรับสั่งเรื่องให้ปล่อยน้ำไหลผ่านวังสวนจิตรฯ ต้องกลับไปถอนข้อความเมื่อนายวัฒนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยินเช่นนั้น แล้วก็มาถึงผู้ใช้นาม Tammy Musikadilok ทำการตัดต่อภาพนำไปลงบนเฟชบุ๊คบอกว่าในหลวงกับพระเทพฯ เสด็จไปซุ่มตรวจสภาพน้ำท่วมอยู่บนสะพานในเขตทวีวัฒนาเมื่อคืนวันที่ ๒๕ ตุลาคม ขณะที่ความจริงพระเทพฯ ทรงมีหมายกำหนดการเสด็จโดยการบินไทยไปอินเดียตั้งแต่เช้าวันที่ ๒๕ กำหนดเสด็จกลับในวันที่ ๒๙ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปปรากฏพระวรกายพร้อมกับพระเจ้าอยู่หัวในคืนวันที่ ๒๕ เช่นนี้ทำให้ผู้ที่ลงข้อความดังกล่าวต้องปิดหน้าเว็บ (หรือมีใครช่วยปิด) หายไป

อีกรายเป็นที่ฮือฮามากอยู่เพราะผู้เป็นเจ้าของช่องบัญชรบนเฟชบุ๊คนาม เอิน กัลยกร ได้รับการกระพือข่าวจากสื่อเครือผู้จัดการว่าเป็น “ดารานักร้องดัง” เขียนถึงนายกฯ “ซัดทำภาพลักษณ์ผู้หญิงตกต่ำ” เป็นบทความขนาดยาวพอประมาณ เขียนได้สำนวนคมเข้มแบบกัดเจ็บทีเดียว เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำท่วม จึงมีแต่ “น้ำ”ล้วนๆ ไม่มี “เนื้อ” เท่าไรนัก เหมือนเป็นการระบายอารมณ์จากอาการกระสันต์ครั่นเนื้อครั่นตัว บ่มิสมอะไรสักอย่าง

ดังที่เธอบอกว่า “มวลน้ำมหาศาลที่เข้ามาท้าทายความสามารถในการเป็นผู้นำของคุณยิ่งลักษณ์ ผลเป็นอย่างไร...”  ซึ่งเธอควรต้องอธิบายต่อเพื่อให้ได้ “เนื้อๆ” ความ แต่คุณเอินกลับบอกว่า “...ไม่ต้องอธิบายให้มากความ” เลยมีแต่น้ำๆ เท่านั้น แล้วเธอก็มาฟันธงเอาดื้อๆ ว่า “ไม่ใช่แค่คุณยิ่งลักษณ์สอบตกทุกด้าน ในฐานะที่เป็นผู้นำของประเทศ เธอยังทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงนั้นเสียหาย”*(9) อย่างนี้คนที่เขาเป็นนักอ่านนักเขียนเห็นแล้วก็ฟันธงเหมือนกันว่า “มุสาเอามัน” ค่ะ

แต่ว่าจะมุสาแค่ไหนไปดูเบื้องหลังตามลายแทง*(10)ที่ไทยอีนิวส์ให้ไว้ ชวนให้คิดว่านี่เป็นกระบวนการบ่อนทำลายรัฐบาลใหม่อีกอย่างโดยสื่อฝ่ายตรงข้าม จากการที่เธอนั้นเป็นลูกสาวของนายนิพนธ์ นาคสมภพ ผู้อำนวยการเอเอสทีวี ๓ ของเครือผู้จัดการที่ทำการประโคมข่าวของเธอ

ผู้เขียนเองไม่เคยรู้จักนักร้องคนนี้มาก่อน อ่านบทความที่ว่าเธอเขียนแล้วไม่ค่อยเชื่อว่าเขียนเอง เพราะสำนวนเหมือนที่ทีมงานเขาใช้กันในคอลัมน์ “ซ้อเจ็ด” เพียงแต่คราวนี้ดัดจริตเป็นผู้หญิง แต่กระนั้นก็ยังไม่ปรักปรำว่าเป็นบทความ Ghost  Writer เพียงแค่ตำหนิเรื่องเนื้อหนังมังสา ถ้าได้เนื้อหากว่านี้สักหน่อย อย่างน้อยแบบที่ทราย เจริญปุระ เคยเขียน เธอก็น่าจะแจ้งเกิดในแวดวงน้ำหมึกได้

ตัวอย่างรายสุดท้ายผู้เขียนเก็บมาด้วยมือจากเฟชบุ๊ค รายนี้ดูจากชื่อที่ใช้ว่า Chusak Jet Paungphaka น่าจะเป็นเพศชายสไตล์จั๊ดจัด*(11) ข้อความของเขาไม่ได้เป็นข่าวฟู่ฟ่าเพราะว่าไม่มีสื่อสายหลักเอาไปขยายผล  เรื่องมีอยู่ว่าเพื่อนหญิงคนหนึ่งลงภาพ และข้อความจากการนำรถขึ้นไปจอดไว้บนสะพานว่า แวะไปดูรถที่จอดหนีน้ำทิ้งไว้บนสะพาน แล้วเก็บของบางอย่างจากในรถกลับบ้าน รถยังอยู่ดี แต่ 2-3 วันนี้ ..... เดินและแบกของจนปวดไปทั้งตัว”

ผู้ใช้นาม CJP คงอยู่ไกลแล้วยังไม่ใช้วิทยาการก้าวหน้าที่อยู่ใกล้มือตนให้คุ้มผลใฝ่หาความรู้อย่างถ่องแท้ในข้อเท็จจริง ว่าการเอารถไปจอดบนสะพานสาธารณะนั้นเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว ที่ทำให้เส้นทางจราจรปลอดน้ำต้องแคบเข้าไป เขาเข้าไปตอบว่า “...เตือนด้วยความห่วงใยนะ กรุณาล๊อกให้ดีหลายชั้น เพราะกลัวพวกไพร่แดงมายกเอาไปถอดป้ายขายที่เขมร ในยามนี้หลายพื้นที่หายไปตามกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำงานไปช่วยบ้านน้ำท่วม และเดินตามนายใหญ่กันอยู่”

ด้วยความอยากรู้ว่าใครหนอปากจัดสามารถเขียนสั้นๆ จิกตบกระทบใครต่อใครหลายตลบ ตั้งแต่ไพร่แดงถึงนายใหญ่ ผู้เขียนเลยเข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวเล็กน้อย พบว่าเรียนจากจุฬาฯ แล้วไปอยู่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย ทำงานในร้านจัดดอกไม้ บุคคลที่ศรัทธามีในหลวง พระเทพฯ และคึกฤทธิ์

ก่อนหน้านี้หน่อยหนึ่งช่วงน้ำท่วมถึงอยุธยากำลังจะเข้าปทุมธานี เพื่อนหญิงที่เขาเข้าไปตอบคนนั้นซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของหนุ่มม้าร์คยังง่วนกับการลงข้อความกิจกรรมละครเพลง โดยครั้งหนึ่งได้โพสต์ถึงการรับสมัครนักแสดงไปทดสอบความสามารถ เธอบอกว่าใครไปก็ได้แต่งตัวกันไปให้สวยๆ แล้วกัน แต่ว่าอย่าใส่สีแดงไปนะ ไม่เอา

การใช้ถ้อยคำหยามเหยียดศักดิ์ศรีเพื่อนร่วมชาติที่แสดงออกในสื่อวงสังคมเช่นนี้มีดาษดื่นไม่น้อยกว่าการวิพากษ์จวกประจานรัฐบาลอภิสิทธิ์ในแวดวงสื่อเว็บเสื้อแดง ต่างแต่ว่าการวิจารณ์ของเสื้อแดงโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์ในเรื่องคอรัปชั่น สองมาตรฐาน และเข่นฆ่าประชาชน โดยใช้เหตุผล ข้อมูล และหลักฐาน (เป็นคลิป) มายันมากกว่า ขณะที่พวกผู้ดีโจมตีเสื้อแดงด้วยอารมณ์ และศักดิ์ศรีเป็นที่ตั้ง ตัวอย่างที่ให้ไว้คงบ่งบอกชัดเจนอยู่แล้ว

ความแตกต่างอย่างแตกแยกเช่นนี้ไม่มีทางบรรจบพบกันได้ ตราบเท่าที่ฝ่ายหนึ่งยังลอยฟ่อง และอีกฝ่ายต้องจมดิ่ง ในสภาพขัดแย้งล้ำลึกเช่นนี้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องยืนยันมานักต่อนักแล้วว่า ถ้าปรองดองไม่ได้ คนสุดท้ายที่เหลืออยู่มักจะเป็นฝ่ายที่มีจำนวนมากกว่า

*(9) รายละเอียด และปฏิกิริยาใน http://www.matichon.co.th/เอิน กัลยกร

No comments:

Post a Comment