Saturday, August 6, 2011

ฟาโรห์ในกรงขัง

ข่าวฮอสนิ มูบารัค นอนบนเตียงคนไข้ในกรงขังพิเศษให้การต่อศาลปฏิเสธข้อหาในคดีสั่งฆ่าผู้เดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยกว่า ๘๐๐ คน ถูกแพร่ไปทั่วโลก ว่าเป็นภาพน่าละอายในความเสื่อมของอดีตประธานาธิบดี ที่ตลอดเวลา ๓๐ ปีของการครองอำนาจนานที่สุดในอียิปต์เป็นที่หวาดหวั่นกริ่งเกรงของประชาชนทั่วไป

หนังสือพิมพ์ในกรุงไคโรฉบับหนึ่งพาดหัวข่าวว่า "ฟาโรห์อยู่ในกรงขังผู้ต้องหา" อย่างสาใจแก่ผู้สูญเสียญาติมิตรไปในการปฏิวัติประชาชนยุคใหม่ซึ่งระบาดไปทั่วภูมิภาค และกลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่เรียกว่า Arab Spring หรือ อาหรับเบ่งบาน

ดังบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ว่าไว้ "การดำเนินคดี (ต่อมูบารัค) ไม่อาจจะแก้ไขปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของอียิปต์ได้ก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นก้าวอันสำคัญยิ่งของกระบวนการอันยืดยาวในการสร้างอิยิปต์ใหม่"*1 ให้เกิดขึ้น

แต่ในความรู้สึกส่วนลึกของคนที่มีส่วนร่วมในการลุกขึ้นต่อต้านการปกครองแบบรวมศูนย์ (Autocracy) ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังชุมนุมกันที่จตุรัสทาหเรอตลอดเดือนกรกฏาคมจนถูกกำลังทหารเข้ากวาดล้างเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ไม่คิดว่ามูบารัคพร้อมครอบครัว และบริวารรายล้อมจะได้รับกรรมจากการกระทำของตนมากไปกว่านี้

แทบไม่มีใครเลยคิดว่าการดำเนินคดีอันมีโทษถึงประหารชีวิตจะไปถึงจุดมุ่งหมายในการพิพากษาความผิดในที่สุดได้ ส่วนใหญ่เชื่อว่าคณะทหารซึ่งกุมอำนาจรักษาการจะถ่วงเวลาการดำเนินคดีไปปีแล้วปีเล่าจนกว่ามูบารัคจะถึงแก่กรรมไปเอง จากนั้นอารมณ์เคียดแค้นชิงชังในหมู่ประชาชนก็จะผ่อนคลายหายไป

นี่คือปัญหาหลักของช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยภายหลังจากประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันสละเลือดเนื้อลุกขึ้นต่อต้าน และขับไล่ผู้เผด็จการรวมศูนย์ออกไปจากอำนาจได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่อียิปต์ หรือที่ไหนๆ ที่มีการปฏิวัติประชาชนเกิดขึ้น

แต่พลังประชาชนไม่มีทักษะทั้งทางการเมือง การปกครอง และการทหารเพียงพอ ที่จะผลักดันการปฏิวัติประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปให้ถึงจุดมุ่งหมายปลายทางด้วยตนเองได้ จำต้องยอมให้พลังทางทหารซึ่งฉลาดเล่ห์พอที่จะย้ายมายืนข้างประชาชนเมื่อสถานการณ์คับขัน แล้วเข้ามาเป็นตัวกลางผสานอำนาจในการเปลี่ยนผ่าน

คณะทหารที่ได้รับการค้ำจุนทางสมรรถนะ และ "ขุน" อย่างดีจากสหรัฐ*2 ยึดครองศูนย์อำนาจในอียิปต์มาตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๕๒ และเป็นฐานกำลังให้แก่มูบารัคตลอดมาจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติประชาชนเมื่อ ๕ เดือนที่แล้ว ปัจจุบันก็ยังคงมีบทบาทเด่นเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลที่สุดในรัฐบาลชั่วคราวด้วยการยอมรับของกลุ่มพรรคการเมืองเล็กๆ น้อยๆ ฝ่ายค้านเดิม แม้ขบวนการ "ภราดรภาพมุสลิม" ที่ว่าหัวรุนแรงก็ยังเอออวยด้วย

ภายใต้การนำของจอมพลโมฮัมเม็ด ฮัสเซน ทันทาวี อดีตรัฐมนตรีกลาโหมที่ตัดเชือกจากมูบารัคด้วยการสั่งทหารกลับเข้ากรมกองยุติเข่นฆ่าประชาชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ คณะทหารจัดตั้งองค์กรขึ้นเป็นตัวปั่นฟันเฟืองสำคัญในรัฐบาลชั่วคราวเรียกตัวเองว่า "สภาสูงสุดทางทหาร" (The Supreme Council of the Armed Forces) หรือ SCAF

อิทธิพลของคณะทหารยังมีอยู่สูงมากถึงขนาดนักการเมืองเด่นๆ ที่ร่วมรัฐบาลชั่วคราว และสมาชิกสภาทหารสูงสุดบางคนเสนอว่า ควรกำหนดสิทธิพิเศษของฝ่ายทหารไว้ในรัฐธรรมนูญที่จะร่างกันขึ้นใหม่ในปีหน้า ให้มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยสภาผู้แทนราษฎร

แต่บาฮา เอ็ดดิน ฮัสซัน หนึ่งในแกนนำฝ่ายพลังประชาชนบอกว่า "จุดมุ่งหมายของทหารเพียงแค่กำจัดมูบารัคกับผู้ใกล้ชิดไม่กี่คนทิ้งไปเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเสียใหม่แต่อย่างใด"*3 เขาจึงปฏิเสธคำเชิญของรัฐบาลชั่วคราวเข้าไปร่วมเป็นรัฐมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผลว่า คณะทหารไม่มีวิสัยทัศน์ และขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองต่อการปฏิรูปประเทศ

บนกำแพง และสะพานในบริเวณจตุรัสทาหเรอช่วงเดือนที่ผ่านมาปรากฏข้อความประท้วงสภาสูงสุดทางทหาร ว่านอกจากไม่จริงใจในการพิจารณาโทษมูบารัค และบริวาร แล้วยัง "ผลัดวันประกันพรุ่ง" ล่าช้าต่อการลงมือปฏิรูประเบียบปกครองให้สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตย ข้อความบางชิ้นเจาะจงถึงตัวนายทหารใหญ่เลยทีเดียวว่า "ขอให้จอมพลจงพินาศ"

แม้ในตูนิเซียที่การปฏิวัติประชาชนเป็นแห่งแรกจุดประกายกระแสลูกโซ่อาหรับเบ่งบานขึ้นนั้น ความอืดชืดเป็นเรือเกลือต่อการปฏิรูปประชาธิปไตย และการเยียวยาแก่ผู้สูญเสียไม่ทั่วถึง*4 ก่อเกิดปัญหาระส่ำหวั่นไหวในหมู่ประชาชน เป็นสัญญานว่าถ้าไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกทาง จะทำให้ระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านต้องยืดออกไป หรือแม้แต่กลายเป็นการปฏิวัติประชาชนซ้ำสองอีกก็ได้

ความเป็นไปในอียิปต์ และตูนิเซียที่ขบวนการประชาชนไทยเคยจับตาดูอย่างชื่นชอบถึงขนาดนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำที่ได้รับความนิยมสูงมากคนหนึ่งของนปช. เคยเอ่ยถึงจนกลายเป็นวลีฮิตอยู่พักหนึ่งว่า "อียิปต์ ตูนิเซีย ลิเบีย" มาบัดนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่านเช่นกันหลังจากที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งอย่างขาดลอย

ทว่าผ่านมาแล้ว ๑ เดือนยังกำลังพยายามจัดตั้งรัฐบาลของตนอย่างน่าที่จะเหลืออดยิ่ง ท่ามกลางกระแสแพ้ส่อเสียดของพรรคคู่แข่ง ความพยายามเตะตัดขาของกลุ่มราชานิยมสีสลิ่ม และการบีบคั้นของฝ่ายทหาร

จริงอยู่ว่าอียิปต์กับไทยมีความแตกต่างกันอยู่มากในองคาพยพทางการเมืองอันจะนำไปสู่การปฏิวัติประชาชน แรงอัดอั้นที่จะนำไปสู่การขับไล่ผู้นำสูงสุดออกไปเหมือนเช่นอียิปต์นั้นไม่มี หรือไม่แกร่งพอ พลังประชาชนไทยยังต้องการเปลี่ยนผ่านอย่างนุ่มนวล แม้นว่าสถานการณ์บีบบังคับจากรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยการบิดเบือนกล่าวหาขบวนการประชาชน และการข่มขู่โดยวาจาของฝ่ายทหารนำโดยผู้บัญชาการทหารบกพล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา ก่อนการเลือกตั้งนั้นปริ่มจะถึงจุดระเบิดเช่นกัน

ความเหมือนกันในสภาวการณ์ทางการเมืองในอียิปต์กับไทย และประเทศด้อยพัฒนาประชาธิปไตยที่กำลัง "สปริง" เบ่งบานกันขณะนี้อยู่ที่ ความต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแท้จริง ไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่แม้แต่ความหวังจะได้มาในกาลข้างหน้าเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่เป็นความมุ่งมั่นที่จะต้องให้ไปถึงจุดนั้น ไม่เร็วกว่าก็ช้าหน่อยเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นกับอียิปต์จึงยังคงเป็นตำราสด เป็นทฤษฎีภาคสนาม ให้กับการใส่ปุ๋ย พรวนดินต้นไม้ประชาธิปไตยแท้จริงในประเทศไทยได้เสมอ โดยเฉพาะในบทบาทของทหารที่อ้างว่าเพื่อประชาชนในอียิปต์ หรือที่อ้างว่าเพื่อราชบัลลังก์ในไทย

ประชาชนอียิปต์เคียดแค้นชิงชังต่อการสาวได้สาวเอาจนทรัพย์ศฤงคารของตระกูลมูบารัคติดอันดับโลกฉันใด ประชาชนไทยคงไม่ยินดีหน้าชื่นอกตรมไปได้ตลอดชาติถ้าเป็นแบบเดียวกันในประเทศตน

หากงบประมาณการทหารเพิ่มสองเท่าภายในสามปีเป็น ๑ แสน ๕ หมื่นล้านบาท แล้วพอเครื่องบินเฮลิค็อปเตอร์ตกติดๆ กันสามลำภายในสองอาทิตย์ ผบ.ทบ. จะมาทำเป็นหัวเสียอยากได้เฮลิค็อปเตอร์ใหม่อีก ๓๖ ลำ*5 ละก็ พลังประชาชนอียิปต์เขาคงเอาไปเขียนประณามบนกำแพงในจตุรัสทาหเรอเสียแล้ว เช่นเดียวกับถ้าปีหน้าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จมีการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย พอจะตั้งรัฐบาลท่านประธานสภาสูงสุดทางทหารทำเฉื่อยชายังไม่ลงนามเพราะไม่ชอบขี้หน้า ก็คงต้องโดนสัพพีที่ทาหเรอสแควร์เหมือนกัน

ปัญหาของอียิปต์นั้นพลังประชาชนกำจัดผู้เผด็จการรวมศูนย์ได้แล้วถึงคราวจะร่างระบบการปกครองใหม่ที่เรียกว่า "ปฏิรูป" กลับถูกหน่วงเหนี่ยว บิดผันอุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยฝ่ายทหาร ในประเทศไทยแม้แต่ระเบียบปกครองในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ เต็มไปด้วยอำนาจพิเศษขององค์กรแต่งตั้ง และอิทธิพลจำบังเหนืออธิปไตยของปวงชนเสียจนมีแต่ชื่อเท่านั้นที่ยังเรียกได้ว่าประชาธิปไตย

ก็ยังไม่วายมีการพยายามใช้อำนาจนอกเหนือรัฐธรรมนูญที่จะปฏิเสธเจตนารมย์ของผู้ออกเสียงเลือกตั้งกันอีก

ตามที่มีข่าว (โดยหนังสือพิมพ์โลกวันนี้)*6 ออกมาว่าฝ่ายทหารของไทยเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ที่ขณะเขียนบทความนี้ก็ยังตั้งไม่เสร็จเพราะเงื่อนงำตามรัฐธรรมนูญ) คงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมไว้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อไปเพื่อความสบายอกสบายใจของกองทัพ นั่นก็เป็นการก้าวก่ายชนิดเหยียบขาสะดุดแข้งอย่างสามหาวไร้มารยาท และขาดจิตสำนึกทางการเมืองอย่างไร้เทียมทาน ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนเขาทำกัน

ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าพลังประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยล้วนต้องการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ แต่มิได้หมายความว่าพวกเขาจะรอปีแล้วปีเล่าให้สุกงอม หรือ "พร้อม" ดังที่ฝ่ายปกครอง และชนชั้นสูง ผู้ดีมีความรู้ มีอาวุธ ใช้อ้างกันตลอดมา ผู้เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยสมัยนี้ไม่เพียงแต่รู้เรื่องการเมืองการปกครองเท่าทันพวกคนดีมีชาติตระกูลเท่านั้น พวกเขาเป็นผู้ที่มีต้นทุนทางสังคมต่ำ (หรืออาจติดลบด้วยซ้ำ)

จึงไม่มีอะไรที่จะเสียมากกว่านี้อีกแล้วหากจะผลักดันในสิ่งที่เป็นความเที่ยงธรรม และเสมอภาคให้ได้ในวันนี้วันพรุ่ง

ในขณะที่ฝุ่นคลุ้งเริ่มเบาบางลงบ้าง ลองมองย้อนกลับไปดูความระส่ำทางการเมืองเรื่องกีฬาสีที่ผ่านมาห้าปี จะเห็นว่ามันเริ่มจากผู้ที่มีต้นทุนต่ำถูกกระทำก่อนทั้งสิ้น เพียงเพราะพวกต้นทุนสูงเกรงว่าจะถูกตีตลาดโดยของถูกและดี เลยสกัดกั้น กีดกัน และกัดตี แม้เมื่อฝ่ายที่ถูกกระทำ และต้นทุนต่ำอดกลั้นทานทนจนเอาตัวรอดพอจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง แล้วยังไม่วายถูกกลั่นแกล้งต่อไปไม่ลดละ

ความรู้สึกที่ญาติพี่น้อง และเพื่อนพ้องของผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคนจากการสลายชุมนุมตั้งแต่สงกรานต์ ๒๕๕๒ ผ่านตุลาปีเดียวกันมาถึง ๑๐ เมษา และ ๑๙ พฤษภา ๕๓ เกิดความอัดอั้นคั่งแค้นหลังจากกระเสือกกระสนทั้งลากทั้งดันกันมาจนใกล้จะเห็นแสงที่ปลายอุโมงก์ฝ่าฟันขวากหนามทั้งข้อหาก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง และหมิ่นสถาบันฯ

แล้วยังจะถูกบิณฑบาทให้สงบเสงี่ยมเพื่อวาทกรรมปรองดอง ปล่อยฆาตกรลอยนวลต่อไป ละเลยไม่มีการดำเนินคดีต่อผู้ที่สั่งการให้ใช้อาวุธกับประชาชนละก็ มันเหมือนกับโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เห็นทางผ่อนคลาย

ด้วยประสพการณ์ และทักษะที่ได้มาจากการมีน้ำอดน้ำทนต่อการกระทำของฝ่ายได้เปรียบ หรือที่เรียกกันว่า "อำมาตย์" น่าจะทำให้พวกต้นทุนต่ำที่ยังโดนกระหน่ำซ้ำเติม ไม่รั้งรอที่จะแก้ไขด้วยการเอาชนะให้ขาดลอยไปเสียที ด้วยวิธีตัดเชื้อร้ายทิ้งให้รู้แล้วรู้รอดไป

*1http://www.nytimes.com/2011/08/06/opinion/mr-mubarak-on-trial.html?_r=1&nl=todaysheadlines&emc=tha211
*2 นี่เป็นประเด็นที่น่าศึกษาต่อเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่กองทัพสหรัฐนั้นได้รับคำชมว่าเป็นสถาบันที่มีลักษณะก้าวหน้าทางอุดมการณ์สังคมมาก ดังที่บทความชิ้นหนึ่งถึงกับจัดให้เป็นสังคมนิยม หรือฝ่ายซ้าย แต่ไฉนฝ่ายทหารในประเทศกำลังพัฒนาที่สหรัฐสนับสนุน รวมทั้งไทยจึงมักเป็นพวกปฏิกิริยาล้าหลัง http://www.nytimes.com/2011/06/16/opinion/16kristof.html?nl=todaysheadlines&emc=tha212
*3 http://www.ft.com/cms/s/0/cd61bf36-b44e-11e0-9eb8-00144feabdc0.html#ixzz1TF4XgyNd
*4 http://www.nytimes.com/2011/08/06/world/africa/06tunisia.html?_r=1&nl=todaysheadlines&emc=tha22
*5 ดูบทวิเคราะห์กรณีเครื่องแบล็คฮ้อค และฮิวอี้ตก โดยนายเทรฟอร์ มอส ที่ http://the-diplomat.com/flashpoints-blog/2011/07/29/thailands-military-crisis/
*6 ดูไทยอีนิวส์ ๑ สิงหาคม http://thaienews.blogspot.com/2011/08/blog-post_6728.html

No comments:

Post a Comment