Saturday, July 9, 2011

ปูได้น้ำ


เคยมีการเปรียบเปรยเอาไว้ว่าพรรคเพื่อไทยเป็นดั่งปลา และประชาชนคนเสื้อแดงเป็นน้ำ เช่นนี้คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยก็น่าจะเป็นปูได้น้ำ

เพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคมที่ผ่านมา คนเสื้อแดงให้การต้อนรับคุณยิ่งลักษณ์อย่างล้นหลาม แม้นว่าประชาชนในภาคส่วนอื่นๆ จะคล้อยตามไปด้วยอยู่บ้างจนกลายเป็นกระแส หรือฟีเวอร์นายกฯ หญิงก็ตาม

แต่หาใช่คุณยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยจะวางใจกับอาณัติมอบหมาย (Mandate หรือที่นักวิชาการใช้คำไทยว่า สิทธิธรรม) นั้นได้อย่างโล่งอก ในเมื่อชัยชนะจากการเลือกตั้งมีผลกระทบข้างเคียงทำให้ทั้งคน และพรรคตกที่นั่งอยู่ในระหว่างของแข็งสองข้าง แบบที่ฝรั่งเรียกว่า “caught in between a rock and a hard place”

ข้างหนึ่งเป็นฝักฝ่ายการเมืองตรงข้าม ที่จองล้าง และกัดไม่ปล่อยคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพี่ชายคุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งยอมรับกันโดยถ้วนทั่วทั้งจากมิตร และศัตรูว่าคือพลังหลักขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์คราวนี้ พร้อมทั้งการเป็นตัวตนทางการเมืองของคุณปู ชนิดที่สำนักข่าวต่างประเทศใช้คำว่า “Cloning”

จะเห็นได้จากความพยายามของนายแก้วสรร อติโพธิ์ และนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่จะใช้ช่องโหว่ของกฏหมาย และการตีความแบบศรีธนญชัยมาปรักปรำเอาผิดคุณยิ่งลักษณ์ไม่ให้สามารถรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แม้แต่กรณีบ้าจี้ที่กรรมการเลือกตั้งนครราชสีมาเล่นแง่กับคุณยิ่งลักษณ์ว่าไปผัดหมี่โคราชเลี้ยงประชาชนตอนหาเสียง*(1)

มุ่งจะตีความให้ผิดกฏหมายเลือกตั้ง แต่ว่าหลักฐานแวดล้อมต่างๆ กลับแสดงว่าเจ้าหน้าที่ กกต. นั่นต่างหากที่ไม่ได้ด้วยมนต์ก็พยายามใช้คาถาแทน

ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นผืนน้ำที่ทำให้คุณปูได้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์อันสำคัญทางการเมืองไทย ในเมื่อชัยชนะที่พรรคเพื่อไทยได้มาเป็นผลพวงจากการที่คนเสื้อแดงหนุนเนื่องมาตลอด ๕ ปี ไม่ว่าจะในส่วนของ นปช. ที่คุณทักษิณเกื้อกูล หรือในส่วนของขบวนการประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยแท้จริงทั้งรุ่นก่อนหน้า และยุคหลังๆ อาทิ คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ แดงสยาม แกนนอน บก. ลายจุด และนักรบไซเบอร์

ด้วยเหตุว่าหลังจากมีข่าวการจัดตั้งรัฐบาลอย่างคร่าวๆ โดยนำเอาพรรคการเมืองที่เคยร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐบาลเทพประทาน เข้ามาผสมอีกสี่พรรคเป็น ๒๙๙ เสียง ก็เริ่มมีการทวงถามจากคนเสื้อแดง ว่าทำท่าจะลืมเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ยังอยู่ในคุกกันแล้วหรือเปล่า

อันนี้เห็นจะเป็นเพราะคุณปูเธอตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องแผนปรองดองว่าจะรอผลการดำเนินงานของคณะกรรมการชุด ดร. คณิต ณ นคร (คอป.) จึงได้มีบันทึกของนายวิสา คันทัพ เกิดขึ้น ตามด้วยข้อคิดของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หนุนคุณวิสาว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์สามารถทำบันทึกถึงกระทรวงยุติธรรมให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาตาม พรก. ฉุกเฉิน หรือแม้แต่ข้อหาอาญามาตรา ๑๑๒ เลย ไม่ต้องรอ คอป. ก็ได้*(2)

แถมด้วยจดหมายเปิดผนึกของนางเอลิซาเบ็ตตา โพเลนจิ*(3) พี่สาวของนายฟาบิโอ โพเลนจิ ผู้สื่อข่าวชาวอิตาลีซึ่งเสียชีวิตด้วยกระสุนของทหารไทยในการสลายชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยที่ครอบครัวโพเลนจิได้ทวงถามรัฐบาลอภิสิทธิ์หลายครั้งถึงรายงานการชันสูตรศพไม่เคยได้รับความคืบหน้า มาครั้งนี้เธอได้เขียนแสดงความยินดีต่อชัยชนะของคุณปูพร้อมทั้งวิงวอนในสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เมินเฉย

มิหนำซ้ำนายเสนาะ เทียนทอง แห่งพรรคประชาราช อดีตผู้จัดการรัฐบาลหลายสมัย ช่วยเอาเท้ากวนน้ำให้ขุ่นมากขึ้นไปใหญ่ด้วยคำพูดหยามน้ำใจคนเสื้อแดง ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ควรตั้งแกนนำ นปช. เข้าไปเป็นรัฐมนตรี โชคดีที่คุณปูเธอออกมาให้สัมภาษณ์ตัดไฟได้ทันท่วงทีว่าไม่มีความคิดกีดกันแกนนำ นปช. ตามการสาระแนแต่อย่างใด

ไม่เช่นนั้นเรื่องอาจไปกันใหญ่ เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ระดับยักษ์อย่างไทยรัฐเล่นข่าวเสื้อแดงแตกโพละซ้ำเติม กรณีนายชินวัฒน์ หาบุญพาด เกิดของขึ้น เข้าไปเรียกร้องกลางที่ประชุมนปช. ให้ปลดนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ จากประธาน ร้อนถึงนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ต้องไปแก้ต่างให้ที่บนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนว่า เป็นการขัดแย้งไม่ใหญ่โต และได้ไกล่เกลี่ยจนเข้าใจกันดีแล้ว

ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวแสดงถึงสภาวการณ์ ชนะแล้วก็ยังไม่นิ่ง ของพรรคเพื่อไทย และว่าที่นายกฯ หญิงคนแรก อันตรงกับความรู้สึกในรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศ ดังเช่น น.ส.พ. ดิอินดิเพ็นเด๊นท์ ซึ่งเสนอรายละเอียดการสัมภาษณ์น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า เธอได้รับความกดดันอย่างมากจากชัยชนะอันหนักอึ้งนี้*(4)

แล้วยังประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญที่ดิอินดิเพ็นเด๊นท์อ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องหลักใหญ่ของเสื้อแดง ทว่าปรากฏเป็นรูปธรรมในรายละเอียดของแถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งบอกว่าเป็นกลุ่มส่งเสริมประชาธิปไตยจากการรวมตัวของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกแสดงจุดยืนต่อการบริหารประเทศโดยรัฐบาลใหม่ไว้ ๕ ประการ*(5)

จุดยืนหลักของกลุ่ม มธ. เสรีฯ ต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นการเรียกร้องให้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่สะท้อนความต้องการประชาธิปไตยแท้จริงของประชาชน โดยเน้นในเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมเหนือกว่าอุดมการณ์ราชาชาตินิยม

ข้อเรียกร้องอื่นๆ ล้วนเกี่ยวโยงกับการค้นหาความจริงในเหตุการณ์สลายชุนุมตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมาถึงการกระชับพื้นที่ครั้งใหญ่ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่มีประชาชนล้มตายกว่า ๙๐ คน รวมไปถึงเสนอให้ลงนามสัตยาบันสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือธรรมนูญกรุงโรม เพื่อให้อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาร่วมค้นหาความจริงกับคณะกรรมการไทยด้วย

อันที่จริงคำให้สัมภาษณ์ที่ดิอินดิเพ็นเด๊นท์รายงานแสดงให้เห็นพอประมาณว่าคุณปูเธอไม่ได้รังเกียจที่จะพูดถึงประเด็นร้อนบางอย่าง เช่นเรื่องเกี่ยวกับกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือ Les Majeste เธอบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก จำเป็นต้องมีผู้ที่ชำนาญเป็นพิเศษมาพิจารณา...เราไม่อยากให้ใครๆ เอากฏหมายนี้มาใช้บ่อยเกินไป เราไม่ต้องการให้คนไทยเอามาใช้อย่างผิดๆ

ข้อสำคัญเมื่อการซักถามล้ำเข้าไปถึงบทบาทของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะมือที่ชักใยอยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทย คุณปูเธอบอกว่า พี่ชายดิฉันเป็นผู้ช่ำชองอย่างยิ่งในเรื่องการเมือง แต่ ดิฉันก็มีความสามารถพอที่จะเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง ดังนั้นดิฉันคิดว่าจะแสดงภววิสัยของผู้นำได้เองค่ะ

การแสดงความมั่นใจของคุณปูเช่นนี้ บังเอิญมีนักวิชาการที่ซื่อตรงต่อหลักประชาธิปไตย ไม่เข้าไม่ออกสีสรรการเมืองใด อย่าง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในแกนกลางของกลุ่มนักวิชาการ สันติประชาธรรม พูดไว้ตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จใหม่ๆ ว่า

เธอก็อาจเป็นตัวของตัวเธอเองได้ไม่น้อย เธอให้ภาพ หรือปรากฏตัวในแง่ความเป็นผู้หญิงเก่ง ซึ่งไม่ได้ทำตัวว่ากูเก่งเหมือนผู้ชาย”*(6)

ดร.ชาญวิทย์ยังได้พูดถึงประเด็นความอยู่รอดของรัฐบาลใหม่ ในอันที่จะให้ปลอดจากการรังควาญโดยอำนาจเก่าด้วยว่า รัฐบาลปูได้น้ำ ก็อาจจะต้อง เกี้ยเซียะสองประเด็นหลัก ๆ คือหนึ่ง ไม่แก้กฎหมายหมิ่นฯ ไม่ปฏิรูปเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และสอง ไม่เข้าไปยุ่งกิจการสถาบันทหาร ซึ่งผมคิดว่าอันนี้อาจจะเป็นจุดบอด จุดลบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

และแล้วปัญหาการรังควาญก็ปรากฏออกมาจนได้ เมื่อมีอาการกระเพื่อมสั่นไหวด้วยแรงดิ้นของฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นพวกสะเหร่อเห่อเหิมตามสโมสรสังคมบนอินเตอร์เน็ตที่บอกว่าคะแนนเสียงที่พรรคเพื่อไทยได้มาจากพวกไร้การศึกษา หรือว่าคะแนน Popular Votes ของเพื่อไทยมากกว่า ปชป. เพียงไม่กี่ล้าน แต่เพื่อไทยไม่สามารถมีตัวแทนได้ทั่วทั้งประเทศเหมือน ปชป.*(7)

ส่วนประเด็นความอยู่รอดนั้นขึ้นอยู่กับคุณยิ่งลักษณ์ ควบคู่ไปกับคุณทักษิณ และพรรคเพื่อไทยจะรับมือกับการรังควาญได้แค่ไหน อย่างไร แต่ก็เชื่อว่าคำของดร.ชาญวิทย์พอที่จะใช้เป็นแสงเลเซอร์ส่องหาเป้าได้บ้างว่า

เรื่องที่ว่านายกรัฐมนตรีหญิง ชื่อยิ่งลักษณ์ นามสกุลชินวัตร จะก้าวพ้นทักษิณได้ยังไง ก็เขาเป็นพี่น้องกัน มันไม่พ้นหรอก เพียงแต่ว่าเธอจะทำอย่างไรกับข้อกล่าวหาอันนี้ แล้วคนทั่ว ๆ ไปจะแคร์กับข้อกล่าวหาอันนี้มากน้อยแค่ไหน จะขึ้นอยู่กับผลงานมากกว่า

ผลงาน ที่ดร.ชาญวิทย์เอ่ยถึงน่าจะเป็นการปฏิบัติตามแผนงานที่พรรคเพื่อไทยประกาศไว้มากมาย ล้วนน่าตื่นเต้นเร้าใจ สำหรับชนชั้นกลาง และให้ความหวังที่บรรเจิดจ้าสำหรับชนชั้นรากหญ้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการสาธารณูปโภค เม็กกะโปรเจ็ค (เช่น ระบบรถไฟทั่วประเทศ) หรือนโยบายประชานิยมเก่านำมาปรับปรุงใช้ใหม่

ล้วนเป็นจุดเด่นที่ทำให้เชื่อว่าฝีมืออย่างคุณทักษิณ และทีมงานเศรษฐกิจจะทำได้จริง ไม่ใช่ ดีแต่พูด

แต่ปัญหาที่น่าจะเป็นเรื่องเล็ก กลับเป็นเรื่องใหญ่ในจิตสำนึกทางการเมืองแบบไทยๆ อยู่ที่ยังมีคนอีกฝักฝ่ายหนึ่งถึงจะเป็นเสียงข้างน้อย*(8) แต่เป็นเสียงที่ดังมาก ยังต้องการให้ ก้าวพ้นทักษิณ ให้จงได้ หรือไม่เช่นนั้นคุณทักษิณนั่นแหละจะต้องกลับมาด้วยการก้าวข้ามผืนน้ำฐานเสียงของตนเอง

ข้อนี้คุณทักษิณ คุณยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยอาจจะมีทางออกไว้แล้ว แต่ยังไม่อยาก ปากสว่าง ก็เลยทำให้คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยเกิดประหวั่นกันอย่างช่วยไม่ได้ว่าจะเป็นทางออกแบบเกี๊ยเซียะ หรือเป็นทางออกที่พวกเขาถูกก้าวข้ามเสียเอง

อย่างน้อยสิ่งที่คุณปูพูดกับสื่อต่างประเทศว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ (และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นความต้องการของเสื้อแดง) จะต้องถอยไปอยู่ข้างหลังนโยบายเร่งด่วนในการรื้อฟื้นสภาพเศรษฐกิจ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกได้เหมือนกันว่าเป็นการฟังเสียงส่วนน้อยก่อนได้ยินเสียงส่วนใหญ่

สำหรับผู้ที่มองปัญหานี้อย่างโปร่งใสในจุดยืนที่อยู่นอกวงการ และปราศจากผลได้ผลเสียโดยตรง จึงเกิดข้อคิดว่า ในเมื่อเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ใครต่อใครต้องก้าวข้ามคุณทักษิณ ทำไมคุณทักษิณเองไม่ทำตัวให้พ้นทางซึ่งผู้สนับสนุน และพลพรรคจะต้องมุ่งไปข้างหน้าแทนเสียเล่า พวกเขาจะได้ไม่ต้องพะวงเรื่องก้าวข้ามอะไร

ตามที่มีการเขียน และพูดกันว่า คุณทักษิณออกมาให้สัมภาษณ์บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบัน หรือการปรองดอง จะไม่เป็นการแสดงตัวว่าคือ มือที่มองเห็น ตัวจริงเสียงจริงเบื้องหลังคุณยิ่งลักษณ์มากไปสักหน่อยไหม แล้วทำให้ปูฟีเวอร์กลายเป็นกระแสฝ่อไปโดยไว

การที่คุณทักษิณจะก้าวข้ามกลุ่มอำมาตย์ และบริวารของอำนาจเก่าได้หรือไม่ หาได้เป็นแรงกดดันจากคนเสื้อแดงรากหญ้าแต่อย่างใด แต่ถ้าคุณทักษิณ และพรรคเพื่อไทยทั้งทำ ทั้งปากสว่างในสิ่งที่กลุ่มอำนาจเก่าซึ่งเคยฟาดฟันคุณทักษิณมาอย่างบักโกรกบักอานบังเกิดความพอใจละก็ เท่ากับเป็นการถีบส่งผืนน้ำที่พร้อมจะโอบรับแม่ปูของพรรคเพื่อไทยออกไปพ้นตัวอย่างน่าเสียดาย

แทนที่จะใช้ทางลัดของการเกี๊ยเซียะ คุณทักษิณประกาศบทบาทเพียงแค่ให้คำปรึกษาแก่น้องปู และถอยตัวเองออกไปอยู่ด้านข้างขนานเส้นทาง ช่วยผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเอาชนะใจชนชั้นกลางให้ได้ภายในสองปี ขณะที่ดำเนินการปรับแก้ระเบียบกฏหมาย และระบบยุติธรรมให้สนองต่อประชาชนในระนาบเดียวกันถ้วนทั่ว ยุติการบังคับใช้อย่างแปลกแยกต่างระดับชั้น

เชื่อได้อีกเช่นกันว่า สภาพสังคมไทยจะมีจิตสำนึกประชาธิปไตยพอที่จะยอมรับความยุติธรรมในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันหมด ปลอดจากการแบ่งชั้นของ คนดี และ คนโง่

เมื่อนั้นราชอาณาจักรไทยจักต้องเห็นพ้องกับข้อต่อสู้ของคุณทักษิณที่ว่าถูกกลั่นแกล้ง กีดกันจากทหาร ตุลากร ด้วยการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม และเป็นฝ่ายกวักมือเรียกคุณทักษิณกลับประเทศเอง

คุณทักษิณสู้อย่างสากัณฑ์แบบคนในที่อยู่ภายนอกมา ๕ ปีแล้วได้ สู้ในสถานภาพเดิมต่อไปอีกสองปีข้างหน้า ที่ดูหนทางราบเรียบกว่า ไม่น่าจะหนักหนาอะไร

*(1) http://www.prachatai3.info/journal/2011/07/35912

*(2) ดูบันทึกของวิสา คันทัพ ที่เตือนว่าอย่าเป็น เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล http://thaienews.blogspot.com/2011/07/blog-post_8204.html

*(3) http://www.fabiopolenghi.org/Elisabetta Polenghi

*(4) http://www.independent.co.uk/news/yingluck-shinawatra

* (5) http://www.prachatai3.info/journal/2011/07/35935

*(6) http://www.prachachat.net/ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

*(7) นายแทน เทือกสุบรรณ เขียนบนเฟชบุ๊คของเขาถึงเหตุผล ๑๐ ประการที่ชาว ปชป. ไม่ควรเสียใจอาทิ ส.ส.ของ ปชป. ๑๖๐ ล้วนมีคุณภาพ สามารถชนะในภาคใต้อย่างถล่มทลาย และในระบบบัญชีรายชื่อก็แพ้ไม่มาก http://www.prachatai3.info/journal/2011/07/35860

*(8) บทความโดย นักปรัชญาชายขอบ ที่ตีพิมพ์ในประชาไทออนไลน์เรื่อง ประชาธิปไตยของเสียงส่วนน้อย อ้างถึงการสรุปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย (ที่นางอมรา พงศาพิชญ์ ผู้เป็นประธาน ผลักดันออกมาทั้งๆ ที่มีการท้วงติงจากอนุกรรมการ) ว่าการสลายชุมนุม ๑๙ พฤษภา ๕๓ รัฐบาลกระทำโดยสมควรแก่เหตุ และไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ประชาธิปไตยถูกกำหนดโดยเสียงส่วนน้อย และ ประชาชนตายฟรีเหมือนกับที่ตายฟรีมาหลายครั้งแล้ว

http://www.prachatai3.info/journal/2011/07/35941

No comments:

Post a Comment