Sunday, June 5, 2011

ดอกไม้อาหรับเบ่งบาน

:บทแปล และปรับแปลง

สถานการณ์ปฏิวัติประชาชนไปสู่ประชาธิปไตยแท้จริงในตะวันออกกลางกำลังพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าการประท้วงเรียกร้องในเยเมนให้ประธานาธิบดีซาเลห์สละอำนาจได้เพิ่มความร้อนแรงขึ้นถึงขั้นที่ทำให้ประธานาธิบดีได้รับบาดเจ็บ จากการที่กำลังของชาวเผ่าอาห์มาร์ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยิงระเบิดเข้าไปยังสุเหล่าในทำเนียบ จนมีทหารคุ้มกันประธานาธิบดีเสียชีวิตไป ๗ คน และขณะนี้ซาอุดิอาราเบียรับตัวประธานาธิบดีเยเมนไปให้การรักษา*
กลายเป็นที่คาดหมายกันว่าทางการซาอุฯ น่าจะได้รับคำมั่นจากประธานาธิบดีซาเลห์บางอย่างแล้วจึงยอมรับตัวไปกรุงริยาดซ์ ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสมัชชาประเทศผลิตน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียนำโดยซาอุฯ พยายามเรียกร้องให้ซาเลห์สละตำแหน่งแลกกับการนิรโทษกรรม (จากการสั่งสังหารประชาชน) ลี้ภัยการเมืองอย่างปลอดโปร่ง แต่ซาเลห์กลับฝืนมตินั้นมาตลอด
ทางด้านลิเบียกองกำลังทางอากาศของอังกฤษกับฝรั่งเศสได้ปฏิบัติการถล่มยิง และระดมทิ้งระเบิดฐานที่มั่นกำลังของกาดาฟีอย่างหนักอีกครั้ง มุ่งหวังว่าจะเป็นผลไปสู่การสังหารกาดาฟีโดยไม่ตั้งใจ หรือไม่ก็อาจทำให้ฝ่ายทหารลิเบียที่รายล้อมกาดาฟีเกิดกลับใจจัดการกับกาดาฟีเสียเอง เพื่อที่จะเริ่มต้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงในลิเบียเสียที ท่ามกลางกระแสปฏิวัติประชาชนที่เรียกว่า ดอกไม้อาหรับเบ่งบาน (Arab Spring)
ขณะที่การปฏิวัติของอียิปต์ซึ่งมีการนำตัวฮอสนิ มูบารัค และลูกชายเข้าสู่การดำเนินคดีข้อหาสั่งฆ่าหมู่ประชาชน นอกเหนือจากข้อหาคอรัปชั่นใช้อำนาจรัฐกอบโกยความมั่งคั่ง แต่ฝ่ายพลังประชาชนออกมาชุมนุมบนท้องถนนอีกครั้ง เรียกร้องให้การปฏิรูปที่รัฐบาลชั่วคราวชุดเปลี่ยนผ่านประกาศออกมานั้นกระชับกับแนวทางประชาธิปไตยยิ่งกว่าที่นักการเมืองเสนอกันอยู่
ส่วนบาหเรนอันเป็นราชอาณาจักรที่ได้รับความช่วยเหลือจากซาอุดิอาราเบียส่งกำลังทหารเข้าไปสลายการชุมนุมเป็นผลสำเร็จเมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา บัดนี้รัฐบาลของกษัตริย์ฮาหมัด บิน อิสะ อัล-คาลิฟา คงจะรู้สึกว่าได้กระชับพื้นที่ของประชาชนเสียจนมีความมั่นคงเพียงพอที่จะจัดให้มีการแข่งรถสูตรหนึ่ง กรองปีก์** ที่ต้องเลื่อนกำหนดไปเมื่อเกิดการเดินขบวนเรียกร้องรุนแรงขึ้นเมื่อเดือนก่อนได้แล้ว ทำให้อดกระแนะกระแหนไม่ได้ว่าคงจะเอาอย่างประเทศไทย
ความเป็นไปของปรากฏการณ์ดอกไม้อาหรับเบ่งบาน อันมีหลายต่อหลายอย่างนำมาเทียบเคียงกับการเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยแท้จริงในบ้านเราได้ ดังที่ข้อเขียนในบล็อกนี้เคยเสนอไว้หลายครั้ง ผู้เขียนจึงนำข้อคิดบาง อย่างของนักเขียนตะวันตกมาแบ่งปันเพิ่มเติมอีกครั้ง เป็นการสะท้อนให้เห็นความรู้สึกในทางสากลต่อการต่อสู้ไขว่คว้าหาประชาธิปไตยแท้จริงในประเทศที่ไม่เคยมีแต่กำลังเปลี่ยนผ่านอย่างกลุ่มอาหรับ หรือถูกสกัดกั้นกีดกันอย่างบ้านเรา
ธอมัส ฟรี้ดแมน เป็นคอลัมนิสต์การเมืองชื่อดังที่เขียนประจำใน น.ส.พ. เดอะ นิวยอร์ค ไทม์ ได้นำเอาภาพของปรากฏการณ์ดอกไม้ประชาธิปไตยเบ่งบานในประเทศอาหรับมาเขียนกระทบกระเทียบต่อผู้นำจีน ซึ่งปัจจุบันเปิดกว้างอย่างมากในทางการค้า และการเงินกับนานาชาติ แต่ว่าการกดขี่ภาวะ ดอกไม้บาน ในประเทศก็ยังดำเนินอยู่โดยมิย่นย่อ
ผู้เขียนได้แปลข้อเขียนประจำวันที่ ๔ มิถุนายน ๕๔ ของนายฟรี้ดแมนเรื่อง คำแนะนำต่อจีน”*** มาเป็นไทยให้อ่านกันในมุมมองที่เพี้ยนจากต้นฉบับเดิม ด้วยการแปลงชื่อประเทศ และผู้นำ ชื่อเมือง และบางข้อความ เพียงเล็กน้อย จึงขออภัย และขอบคุณนายฟรี้ดแมนผู้เขียนอย่างหาที่สุดมิได้ไว้ ณ ที่นี้

คำแนะนำสำหรับไตแลนเดีย
จาก สำนักความมั่นคงแห่งชาติ
ถึง ท่านประมุข สุดยอด
เรื่อง ดอกไม้อาหรับเบ่งบาน
เรียน ท่านประมุขสุดยอด ท่านมีบัญชาให้เราประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดอกไม้อาหรับเบ่งบาน เราสรุปได้ว่าการปฏิวัติประชาชนในโลกอาหรับให้บทเรียนสำคัญบางอย่างต่อการใช้กฏระเบียบของราชอาณาจักรเรา เพราะสิ่งที่โรคระบาดร้ายนี้แสดงให้เห็น เป็นทั้งเรื่องใหม่เอี่ยมสำหรับการปฏิวัติที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๒๑ กับเรื่องเก่าโบราณซึ่งรู้กันดีมาช้านานถึงสาเหตุของการปฏิวัติว่าทำไมมันจึงระเบิดขึ้นมา
ขอเริ่มที่เรื่องใหม่ก่อน เมื่อราวปี ค.ศ. ๒๐๐๐ โลกได้มาถึงสภาพการณ์ซึ่งการติดต่อเชื่อมโยงต่อกันเป็นไปได้ในอัตราสูงมากจนทำให้สนามแข่งขันทางเศรษฐกิจถูกตีแผ่อย่างไร้พรมแดนในระนาบเดียวกันหมดทั้งโลก สายใยแห่งการเชื่อมโยงเหล่านี้สร้างขึ้นจากการผสานของบรรดาคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั้งหลาย ผ่านระบบสายใยแก้ว เครือข่ายนานาชาติ (อินเตอร์เน็ต) และสายใยบริการ (เว็บเซิ้ฟเวอร์) สิ่งที่ฐานปฏิบัติการ (แพล็ทฟอร์ม) นี้ก่อเกิดขึ้นเป็นการทำให้บอสตันกับไบจิง หรือดีทรอยต์กับดามัสกัสกลายเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง มันชักนำให้ประชาชนสองพันล้านคนทั่วโลกได้มาสนทนาวิสาสะต่อกัน
ท่านครับ ขณะที่เรามัวแต่ใส่ใจติดตามภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐ เราได้ก้าวจากโลกที่เชื่อมโยงกันธรรมดาไปสู่โลกที่เชื่อมต่ออย่างกว้างขวางพัลวัน มันไม่เพียงเชื่อมบอสตันกับแบงคอกเท่านั้น มันเชื่อมเลยไปถึงแอลเลกับร้อยเอ็ดด้วย การเชื่อมต่อเข้าไปถึงกันอย่างล้ำลึกเช่นนี้เป็นผลผลิตจากการมีโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะ ช่องสื่อสารไร้สาย (แบนด์วิดต์) และเครือข่ายสังคม ฐานปฏิบัติการแห่งการเชื่อมโยงซึ่งทั้งราคาถูก และพกพาได้นี้ มันชักนำคนอีกสองพันล้านจากดินแดนห่างไกลสุดกู่ให้มาวิสาสะต่อกันเพิ่มขึ้น
กล่าวอย่างที่คนในตะวันออกกลางเขาชอบพูดกันนะท่านครับ ฐานปฏิบัติการอันใหม่นี้ได้เชื่อมต่อดีทรอยต์กับดามัสกัส และดะราด้วย ท่านถามว่าดะราอยู่ที่ไหนน่ะหรือ ดะราเป็นเมืองชายแดนเล็กๆ ของซีเรียที่ประชาชนเริ่มต้น ลุกขึ้นเรียกร้อง ชาวบ้านที่นั่นเป็นผู้เริ่มส่งวิดีโอ ใส่ข้อความในทวิตเตอร์ และลงเรื่องราวการข่มเหงทำร้ายประชาชนของรัฐบาลตั้งแต่นั้นมา
ประเด็นนะท่านนะมันอยู่ที่ว่าโลกเดี๋ยวนี้เชื่อมต่อกันอย่างสุดกู่เสียจนไม่มีอะไรเรียกได้ว่ามีลักษณะ ท้องที่ แบบไตๆ อีกต่อไป ทุกๆ อย่างจะลอยฟ่องจากมุมใดมุมหนึ่งอันไกลแสนไกลไปสู่ฐานปฏิบัติการของทั้งโลกให้ทุกๆ คนได้ใช้สอยร่วมกัน สิ่งที่เครื่องแล้ปท็อปบวกอินเตอร์เน็ตบวกจักรกลค้นหา (Search Engine) ทำบนหน้าเว็บ เป็นการทำให้ใครก็ตามที่มีการเชื่อมต่อสามารถเสาะหาอะไรก็ตามที่ตนสนใจได้ และสิ่งที่โทรศัพท์มือถือบวกอินเตอร์เน็ตบวกเฟชบุ๊คทำได้ เป็นการทำให้ใครก็ตามสามารถเสาะใครก็ได้ที่ตนสนใจ จากนั้นก็ปฏิพัทธ์ต่อกัน แล้วแบ่งปันความเศร้าสลด และความสมหวังต่อกันและกัน
วันเวลาที่ผู้เผด็จการอาหรับอาจเข้าไปยึดกุมโทรทัศน์ และวิทยุแห่งรัฐ ปิดกั้นกระแสข่าวสารข้อมูลสู่ประชาชนนั้นหมดไปแล้ว ผู้เผด็จการซีเรียไม่สามารถปิดเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้ในเวลานี้มากไปกว่าที่เมื่อก่อนเคยสั่งปิดวงจรกระแสไฟฟ้า
ท่านลองคิดถึงอันนี้ดูนะครับ ซีเรียได้สั่งห้ามข่ายงานสื่อต่างชาติ เช่นซีเอ็นเอ็น และบีบีซี แต่ถ้าท่านไปที่ยูทู้ปแล้วพิมพ์คำดะราลงไป ท่านจะได้เห็นคลิปวิดีโอการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาล ทุกๆ ภาพชาวซีเรียถ่ายเอาไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องพับได้ เพื่อนำไปลงบนยูทู้ป หรือเว็บไซ้ท์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เรียกว่าเครือข่ายข่าวแชม ไม่มีอะไรที่จะซ่อนเร้นได้อีกต่อไปแล้ว
แนวโน้มอย่างที่สองที่เราจะเห็นได้ในการเบ่งบานของอาหรับก็คือคำประกาศ กฏบัตรคาร์ลสันซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยเคอร์ติส คาร์ลสัน ซีอีโอของบริษัทเอสอาร์ไออินเตอร์แน้ทชั่นนัล ในซิลิคอนแวลลี่ย์ ที่บอกว่า ในโลกที่ผู้คนจำนวนมากมีหนทางเข้าถึงการศึกษา และกลไกแห่งการคิดค้นในราคาถูก การค้นคิดอันเกิดมาจากฐานรากมักจะสับสนวุ่นวายแต่ว่าชาญฉลาด การคิดค้นจากเบื้องบนลงมามักจะเป็นระเบียบเรียบร้อยแต่ว่าโง่เขลา คาร์ลสันบอกว่าผลที่เกิดก็คือ จุดแห่งความหวานชื่นของการค้นคิดในทุกวันนี้ได้ลงไปสู่เบื้องล่างใกล้กับประชาชน ไม่ใช่ขึ้นสู่ที่สูง เพราะประชาชนโดยรวมแล้วฉลาดเฉลียวกว่าส่วนตนคนใดคนหนึ่ง และมวลมหาประชาชนเดี๋ยวนี้มีเครื่องมือพร้อมที่จะคิดค้น และประสานงานกัน
รัฐบาลของฮอสนิ มูบารัคในอียิปต์ทั้งแสนโง่ และงุ่มง่ามในการแก้ปัญหาความไม่สงบ ส่วนขบวนการปฏิวัติทาเฮอร์นั้นแสนฉลาดแต่ว่ายุ่งเหยิง ซ้ำยังขาดการนำ เพราะฉะนั้นบทบาทของผู้นำประเทศ หรือบริษัทในวันนี้ อยู่ที่การเป็นแรงดลใจ ให้พลัง ติดเครื่อง แล้วปรับแก้ และเชื่อมต่อสิ่งค้นคิดทั้งหลายที่ขึ้นมาจากเบื้องล่าง แต่นั่นก็จำเป็นต้องมีเสรีภาพในส่วนล่างด้วย ท่านเห็นไหมครับว่าผมหมายถึงอะไร
แต่นี่ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเท็คโนโลยี่อย่างเดียวนะครับ ดังที่นักประวัติศาสตร์ชาวรัสเซีย ลีออน แอรอน เคยว่าไว้ การลุกขึ้นมาของชาวอาหรับคล้ายคลึงกับการปฏิวัติประชาธิปไตยในรัสเซียเมื่อปี ๑๙๙๑ อันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งคือ มันไม่ได้เป็นเรื่องของเสรีภาพ และปากท้องมากไปกว่า ศักดิ์ศรี ของความเป็นคน การปฏิวัติทั้งสองแห่งเติบโตขึ้นมาจากความปรารถนาอย่างแรงกล้าของประชาชนที่จะลิขิตชีวิตของตนเอง และต้องการได้รับการปฏิบัติต่อเยี่ยง พลเมือง ซึ่งมาพร้อมกับพันธะ และสิทธิต่างๆ ที่รัฐไม่สามารถมอบให้หรือถอดถอนได้ตามอำเภอใจ
หากท่านอยากรู้ว่าอะไรทำให้เกิดการปฏิวัติของประชาชนน่ะหรือ มันไม่ใช่เรื่องการขึ้น หรือลงของอัตราจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) แต่นายแอรอนบอกว่า มันเป็นการแสวงหาศักดิ์ศรี ต่างหาก เรามักจะให้ความสำคัญมากเกินไปแก่การไขว่หาค่าจีดีพี แต่กลับลดคุณค่าในการที่ประชาชนเสาะหาแนวความคิด คำขวัญของการปฏิวัติประชาชนตูนิเซียบอกว่า ศักดิ์ศรีมาก่อนขนมปังนั้นนายแอรอนกล่าวว่า ประกายที่จุดกระแสไฟขึ้นมักเป็นการไขว่คว้าหาศักดิ์ศรีเสมอ แล้ว วิทยาการทันสมัยทุกวันนี้ทำให้ไฟที่จุดขึ้นยากแก่การดับ
เราต้องจำใส่ใจไว้เสมอว่าในไตแลนเดียนั้น ท่านครับ เราควรภูมิใจกับการที่เราทำให้มาตรฐานการครองชีพเพิ่มสูงขึ้น คนจำนวนมากมายพอใจอย่างนั้นมากกว่าความพอเพียงนะท่าน แต่มันก็ยังไม่ใช่สิ่งเดียวในชีวิตของพวกเขา และเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว มันจะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาด้วย ท่านเห็นไหมครับว่าผมหมายความว่าอย่างไร ท่านผู้เป็นที่รักของพวกเรา
*** Advice to China

No comments:

Post a Comment