ว่า ถ้าไม่อยากชอกช้ำกับความแตกต่างทางฐานะ และความเป็นอยู่อันห่างกันลิบลับ* ที่เรียกว่าช่องว่างแห่งชนชั้นละก็ ต้องยึดถือปฏิบัติปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่นเดียวกับความเจ็บช้ำทางการเมืองอันเกิดจากการปราบปรามผู้มีความเห็นต่างหลายครั้งหลายครา เสร็จแล้วก็มักจะนำเอาแนวคิดที่มีชื่อเลิศเลอว่า “สมานฉันท์” มาใช้เยียวยา
แนวคิดเช่นว่านี้ไม่ช้าคงจะได้รับยกย่องเป็นปรัชญาเช่นกัน เพราะดูจะเป็นทางออกง่ายๆ แบบไทยที่ใช้บ่อยในการแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางการเมือง และสยบการต่อต้านวิธีปกครองที่กระทำต่อกลุ่มคนอย่างไม่เท่าเทียม นั่นคือกำหราบด้วยกำลังทหาร และอาวุธเข่นฆ่าเสียก่อน แล้วค่อยปรองดองให้แล้วกันไปภายหลัง
จากนั้นก็นิรโทษกรรมทุกฝ่ายที่รอดตาย หรือยังอยู่ รวมทั้งผู้ที่ได้กระทำผิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลไปแล้วด้วย
อีกสองวันก็จะเข้าสู่เดือนพฤษภาคมแห่งความช้ำชอกสำหรับคนเสื้อแดงที่โหยหาความยุติธรรมถ้วนหน้า ในวาระครบขวบปีของการสูญเสียครั้งมเหาฬารในภาคประชาชน ๙๓ ชีวิตถูกปลิดไป อีกกว่าร้อยไร้อิสรภาพ ไม่นับอีกเป็นพันยากไร้เพราะบาดเจ็บ
ทั้งหมดนี้เพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องต้องการเสรีภาพ และความเท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง แม้จะอยู่ภายใต้สร้อยห้อยท้ายที่มันขัดแย้งในทีกับชื่ออุดมการณ์ ก็มิควรที่การบังคับใช้กฏหมาย และกระบวนตุลาการต้องถูกบิดเบือนไปด้วยเพทุบายแห่งมาตรฐานซ้อน
ขณะภาพพจน์ทางการเมืองตลอดกว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมา เคยแค่ครึ่งๆ กลางๆ บัดนี้หมดสิ้นแล้วซึ่งความชอบธรรมที่จะใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” คงเหลือไว้แต่สร้อยห้อยท้ายที่คนกลุ่มหนึ่งถึงจะมีหยิบมือเดียวแต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าพวกเขา “เส้นใหญ่” กำลังพยายามนักหนาให้เป็นไปตามสร้อยนั้นทั้งดุ้น
ดังจะเห็นว่าถึงแม้นายกรัฐมนตรีเทพประทานยันด้วยปากว่าจะยุบสภาในต้นเดือนพฤษภาคมนี้แน่ แต่พวกม็อบมัฆวานก็ยังคงนั่งยันนอนยันกันอยู่ได้ข้างทำเนียบว่าไม่เอาเลือกตั้ง มิหนำซ้ำพวกวิชาชีพ “อยากเป็นเจ้าคนนายคน” สองสามกองพลเสือบูรพา ต่างออกมาสวนสนามความพร้อมเพรียงกันเป็นรายปักษ์ เพื่อช่วยกันเขย่งยันให้ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นว่า
ต้นเดือนพฤษภานี้เป็นฤกษ์งามยามดีแก่การพลิกผันแผ่นดินไปสู่ Dark Side ในความมืดทางการเมืองแบบพม่า
สัญญานเตือนภัยสำหรับประชาชนที่รัก และหวงแหนเสรีภาพในวิถีประชาธิปไตยถูกปูดเป่าไม่ขาดสาย ไหนจะคำพูดแบบ “ขี้ข้าพลอย” ที่ว่าอย่าให้ทนไม่ได้ต้องจับปืน สมทบด้วยกระบวนการกำจัดขวากหนามของการเข้าสู่ระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จ ทั้งการสุมใส่ข้อหาความผิดอาญา มาตรา ๑๑๒ แก่ผู้แสดงความเห็นต่าง และการไล่ล่าปิดสถานีวิทยุชุมชน ๑๓ แห่ง
รวมไปถึงคำพูดแบบไร้จิตสำนึกประชาธิปไตย นิสัยงูเห่าของหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล ที่ว่าการปะทะชายแดนไทย-เขมรอาจทำให้ต้องเลื่อนการยุบสภาออกไป หรือคำพูดล่าสุดแบบโยนหินถามทางของนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้งคนดัง ว่าข้อพิพาทชายแดนอาจกระทบถึงการเลือกตั้งในประเทศไทยได้
ไม่นับคำพูดของ “หัวโจก” เหนือหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายเนวิน ชิดชอบ ที่ว่านี่จะมีเลือกตั้งกันจริงๆ หรือ (เหตุที่ไม่นับเพราะคนพูดยังอยู่ในฐานะตามคำพิพากษาห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ๕ ปี)
เหล่านี้จึงเป็นการเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ๕๔ อย่างระทึกยิ่งสำหรับพรรคเพื่อไทย และ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งมุ่งมาตรเป็นอย่างยิ่งว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่การเยียวยาพี่น้องที่ได้รับเคราะห์กรรม ไปสู่การสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้เกิด และไปสู่การมีสิทธิมีเสรีของประชาชนอย่างแท้จริงในระบอบประชาธิปไตย
ด้วยความฝันอันบรรเจิดที่ว่าคะแนนเสียงข้างมากจะส่งผลให้พรรคการเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ศรัทธา และให้ความไว้วางใจ ได้จัดตั้งรัฐบาลบนพื้นฐานของระบบประชาธิปไตยแบบมีสร้อยอีกครั้ง ด้วยข้อแม้เล็กน้อยว่าถ้าสามารถแหวกผ่านการกระชับพื้นที่ด้วยฤกษ์ดีของผู้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาไปได้
ทว่าประชาธิปไตยแบบมีสร้อยเช่นเคยนั้นจะสามารถนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ถูกคร่าชีวิต และญาติมิตรครอบครัวได้แค่ไหน เป็นความหวังตั้งนโมอาราธนากันไว้ ท่ามกลางความมั่นใจว่าผู้บริหารงานแผ่นดินคนเก่าถ้ากลับมาใหม่จะทำให้ช่องว่างระหว่างอำมาตย์-ไพร่ ที่ถูกปล่อยให้หมักหมมเน่าเฟะจนกลายเป็นแผลกลัดหนอง
ได้รับการเยียวยาให้ผ่อนคลาย มองเห็นทางปรองดอง ไปสู่สมานฉันท์ในชาติ
แต่ก็น่าเสียดายที่ปรัชญาเรื่องความสมานฉันท์ทางการปกครองของผู้กุมอำนาจทางการเมืองขณะนี้ ไม่ได้สอดคล้องกับทฤษฎีประชาธิปไตยแท้จริงที่สากลโลกยึดมั่น และเชิดชู จึงน่าจะเป็นได้แค่ปรัชญาปกครองแบบพอกันทีเสียมากกว่า
ท่าทีสมานฉันท์ที่แสดงออกมาจากกลุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อาวุธปกป้องราชบัลลังก์ เป็นเพียงการสำแดงกำลังเพื่อกำหราบคนที่คิดต่าง และกดหัวผู้ที่วิพากษ์ความไม่เที่ยงธรรมในการปกครอง ให้ค้อมรับเวรกรรมแห่งความพอเพียงเท่านั้น
อีกทั้งเจตนาสมานฉันท์ที่แสดงออกมาจากกลุ่มผู้กุมอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน มีแต่ให้ร้ายป้ายสี กล่าวหา และบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ผู้ถูกกระทำกลายเป็นผู้ต้องหา (แม้กระทั่งพลั้งเผลออ้างว่าผู้ตายวิ่งใส่กระสุน) และแทนที่จะทำการจับกุมคนชุดดำที่เผาบ้านเผาเมืองเอามาดำเนินคดี กลับสร้างวาทกรรมปลิ้นปล้อนว่าชุดดำคือเสื้อแดง ส่วนผู้ลงมือกระทำการอันเป็นอาชญากรรมนั้นเล่า กลับได้รับยกย่องว่าจงรักภักดี
จะเห็นว่าปรัชญาประชาธิปไตยหลังเลือกตั้งครั้งใหม่ (ถ้าหากมี) ก็คงไม่หนีการจำกัดเสรีภาพทางการเมืองอย่างเคย
อาจมีข้อจำกัดอย่างใหม่ชนิดหาที่ไหนไม่เหมือน ว่าด้วยร่างกฏหมายที่รัฐบาลชุดราบ ๑๑ นำเสนอเข้าสภาไว้แล้ว นั่นคือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ** ที่กำหนดให้การชุมนุมต้องได้รับอนุญาติล่วงหน้าจากเจ้าหน้าที่ปกครอง และให้สถาบันตุลาการเข้ามามีอำนาจสั่งเลิกชุมนุม รวมทั้งกำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐสามารถตรวจค้น และจับกุมผู้ชุมนุม
ร่าง พ.ร.บ. การชุมนุมฯ นี้จึงนับเป็นนวัตกรรมของปรัชญาปกครองแบบพอกันที ถ้าหากผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาก็เท่ากับตรากฏหมายให้อำนาจแก่ฝ่ายปกครอง และตุลาการเหนือสิทธิพื้นฐานของปวงชนในระบอบประชาธิปไตย กฏหมายเช่นนี้ย่อมคุกคามเสรีภาพในการประท้วงโดยสันติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลใช้เป็นอาญาสิทธิ์ข่มเหงผู้ชุมนุมถ้าหัวแข็งไม่ยอมคล้อยตามได้
ส่วนข้อจำกัดเหลือร้ายชนิดทำให้ต้องพยายามดำรงชีวิตด้วยความระมัดระวังอย่างสุดๆ ในการแสดงความคิดเห็นไม่ให้เกิดกระทบกระเทือนเบื้องยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ ห้ามเหลื่อมล้ำเกินไปกว่าการตีความจงรักภักดีอย่างเหลือล้นก็ยังคงอยู่
อีกทั้งอย่าเผลอไผลพลาดพลั้ง เพราะการกระทำหรือไม่กระทำใดๆ อาจถูกใครก็ได้กล่าวหาว่าเข้าข่ายละเมิดกฏหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ได้เสมอ นั่นคือใครก็ตามถ้าหากไม่อยากรับโทษจำคุกกระทงละอย่างต่ำ ๓ ปี อย่างสูง ๑๕ ปี และถูกฟ้องร้องในคดีได้โดยไม่รู้ตัว แล้วถูกจับกุมคุมขังทันทีโดยมีเปอร์เซ็นต์สูงโดนห้ามประกัน ซ้ำถูกพิพากษาด้วยการพิจารณาลับ
ใครก็ตามที่ว่านั้นต้องพยายามมีส่วนร่วมในการแสดงความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดมิได้ด้วย มิฉะนั้นอาจต้องหากระทำผิดร้ายแรงขนาดทรยศต่อชาติ ที่บังอาจวิจารณ์สถาบันอันเป็นสัญญลักษณ์ของประเทศ เฉกเช่นที่ราชวงศ์อังกฤษมีต่อสหราชอาณาจักร
เลยชวนให้พินิจข้อคิดในบทความของแอนนา ไว้ท์ล็อค ***นักประวัติศาสตร์อังกฤษยุคใหม่ แห่งสถาบันรอยอัล ฮอลโลเวย์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ที่กล่าวถึงราชพิธีสยุมพรของเจ้าฟ้าชายวิลเลี่ยมกับเค้ท มิดเดิลตัน ว่าเป็นรุ่งอรุณของราชาธิปไตยประชานิยม (Populist Monarchy) ซึ่งประชาชนผู้เสียภาษีที่ใช้เป็นงบประมาณจัดงานให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด และล้นหลาม
ในขณะนี้ประชาชนอังกฤษกว่าครึ่งต้องการให้เจ้าฟ้าชายวิลเลี่ยมทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อจากราชินีเอลิซเบ็ธ โดยข้ามขั้นเจ้าฟ้าชายชาร์ล พระราชบิดาขึ้นมา
เนื่องเพราะเจ้าฟ้าชายวิลเลี่ยมทรงมีจริยวัตรเยี่ยงปุถุชนยุคใหม่ ไม่เพียงแต่ทรงสมรสกับหญิงสามัญ หากทรงอยู่อาศัยก่อนแต่งกับคู่หมั้นเหมือนชาวอังกฤษทั่วไป ทั้งนี้เพราะการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษนั้นมิใช่ด้วยศรัทธาบอดเหมือนก่อน ข้ออ้างเรื่องการสืบทอดประเพณี และความมีสง่าราศีของราชวงศ์ไม่เพียงพอเสียแล้ว
กล่าวได้ว่าการเทอดทูนสถาบันกษัตริย์ด้วยข้ออ้างอย่างเดิมๆ สำหรับชาวอังกฤษเดี๋ยวนี้เป็นเรื่องพอกันที
อาจารย์ไว้ท์ล็อคกล่าวไว้ในข้อเขียนตอนหนึ่งว่า “ชาวอังกฤษต้องการเห็นราชวงศ์มีจริวัตรคุ้มค่ากับเงิน (เบี้ยหวัดที่ราษฎรจ่าย -คำผู้เขียน) ทรงใกล้ชิด ทรงสำผัสได้ ทรงมีบุคคลิกภาพโดดเด่น และต้องทรงเป็นมากกว่าสัญญลักษณ์อันสูงส่ง งดงามเท่านั้น”
เธอยังเสริมด้วยว่า ในยุคสมัยที่การสื่อสารมวลชนก้าวหน้าเช่นนี้ การรักษาความนิยมของประชาชนเอาไว้ให้ได้เป็นสิ่งจำเป็นต่อสถาบันกษัตริย์เหนืออื่นใด
แต่การรักษาความนิยมต่อราชาธิปไตยอังกฤษไม่ได้ใช้วิธีบังคับด้วยกฏหมายอาญาที่มีระวางโทษหนักอย่าง ม. ๑๑๒ ของไทย ไม่ต้องมีแม่ทัพนายกองออกมาตบเท้าสวนสนามประกาศศักดาเหมือนทหารไทย ไม่ต้องมีม็อบเส้นใหญ่ใช้คนหยิบมือเดียวปักหลักเรียกร้องดันทุรังให้ปิดประเทศปฏิเสธโลกาภิวัฒน์
เพราะเขาไม่ได้มีปรัชญาปกครองแบบพอกันที
*นิตยสารดิเอคอนอมิสต์รายงานตัวเลขจากธนาคารโลกว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศย่านเอเซียที่ช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนแตกต่างกันสูงสุดในอัตรา ๑๕ ต่อ ๑ http://www.economist.com/node/18587127 ดูรายงานภาคภาษาไทยที่ประชาไท http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/34274
**ดูข้อวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ http://www.prachatai3.info/journal/2011/03/33662
เรื่องเกี่ยวเนื่องกันจากข้อเขียนของ แอนดรูว์ ว้อคเกอร์ ที่เว็บนิวแมนเดล่า
ReplyDelete"But the favourable light currently shining on the British royals should also prompt some serious reflection in Thailand. The British royal family does not need to hide behind draconian laws restricting free speech. Royal affection for Queen Elizabeth and her sprawling and undisciplined family is what might be called “voluntary affection”. It is warts-and-all affection. It persists, and occasionally even flourishes, in a context were everyone can speak freely about royal feats and failings. Public commentary on the British royals’ private scandals and public adventures is inescapable."
http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/