ด้วยแสงไฟที่เห็นรำไรปลายอุโมงก์ดวงเดียวริบหรี่สำหรับผู้ที่โหยหาประชาธิปไตยแท้จริงในประเทศไทยขณะนี้เป็นการเลือกตั้งที่ยืนกรานนานแล้วจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และมาได้รับการยันซ้ำเมื่อสุดสัปดาห์จากนางสดศรี สัตยธรรม กกต. ฝ่ายกิจการพรรคการเมือง*
ข้อสำคัญบรรดาแม่ทัพของผู้ถืออาวุธทั้งสี่เหล่าได้พร้อมใจกันชักแถวแถลงแล้วว่า ไม่มีการตัดตอนหนทางเลือกตั้งแน่
ถนนทุกสายจึงมุ่งสู่คูหากาบัตรคะแนน รวมทั้งถนนสายกิจการพลเรือนของกองทัพไทย หรือที่ซึมซับในหมู่นักประชาธิปไตยตั้งแต่ยุคหลอกผีคอมมิวนิสต์ในทศวรรต ๒๕๐๐ เรื่อยมาถึงขณะนี้พุทธศักราช ๒๕๕๔ ก็ยังมีการปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งคอมมิวนิสต์กันอีก ในชื่อย่อหน่วยงานต้นตอขอคืน และกระชับพื้นที่ว่า “กอ. รมน.”
ดังที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยเปิดโปงระหว่างการแถลงข่าวของ นปช. ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าวเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ศกนี้ ว่าทหารได้เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการเลือกตั้ง** โดยส่งกำลังพลชุดละ ๖ คนลงเกาะติดพื้นที่หน่วยลงคะแนน โดยเฉพาะในพื้นที่เสื้อแดงเพื่อโน้มน้าวให้กลายเป็นสีส้ม พวกไม่เอาทักษิณ (หรืออดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร)
ชุดเกาะติดดังกล่าวรายงานตรงต่อ พล. อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก โดยได้รับงบประมาณใช้จ่ายชุดละ ๘ หมื่นบาท ระยะปฏิบัติการครั้งละ ๖ เดือน จนกว่าจะเอาชนะทักษิณได้ ทั้งนี้ให้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้แผนงานสู้วิกฤติเศรษฐกิจ และเสริมสร้างความเข้าใจ (ชสจ.) ที่อ้างว่าเป็นปฏิบัติการต้านยาเสพติด ส่งเสริมให้คนรักสถาบันกษัตริย์ และเกลียดชังพวกล้มเจ้า
ผู้เขียนนำข้อมูลของนายจตุพรมาอ้างโดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบแหล่งที่มาว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะสิ่งที่เขาเคยปูด หรือเปิดออกมาทั้งบนเวทีปราศรัย การแถลงข่าว และการอภิปรายในสภา หลายสิ่งเป็นประโยชน์ต่อความอยู่รอดของคนเสื้อแดง และสวัสดิภาพของกระบวนการประชาธิปไตย
ครั้งนี้ก็เช่นกัน หวังว่ารายละเอียดดังที่นายจตุพรเปิดโปงจะไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นความสำเร็จจริงๆ เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่เขาปูดเรื่องผู้นำทหารไปประชุมวางแผนรัฐประหารกัน แล้วมีการชักแถวออกมาปฏิเสธ
เป็นที่ทราบกันว่ารัฐบาลชุดนี้ อันมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนกลาง และพรรคภูมิใจไทยเป็นหัวหอก เคยใช้ และมักใช้ “วิชามาร” เพื่อเอาชนะทางการเมืองอย่างช่ำชอง อีกทั้งผู้คุ้มครองรัฐบาลชุดนี้ คือคณะทหารที่เคยเป็นพลังชี้ขาดในการประชุมจัดตั้งรัฐบาลภายในกองพลทหารราบที่ ๑๑ ย่อมต้องกระทำทุกวิถีทางไม่ให้พรรคเพื่อไทยของทักษิณที่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่สนับสนุน สามารถเอาชนะพรรคที่เป็นเสมือนตุ้มซ้ายตุ้มขวาของคณะทหารได้
ด้วยเหตุนี้เองทำให้แสงไฟแห่งการเลือกตั้งอันมองเห็นได้ที่ปลายอุโมงก์นั้นดูริบหรี่เสียเหลือเกิน จนเหมือนดั่งว่ามีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้จริงบางรายอ่อนระทวยกับการสูญเสียที่ผ่านไป และเริ่มระย่อกับผลลัพท์อันพอหวังได้แต่ในวงจำกัดที่จะเกิดเบื้องหน้า จึงหันเข้าหายุทธศาสตร์ “กำขี้ดีกว่ากำตด” กันบ้างแล้ว
ผู้เขียนได้อ่านแถลงการณ์ ๑ ปีของการปราบปรามคนเสื้อแดง โดยอาจารย์ จรัล ดิษฐาอภิชัย*** ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ผู้เขียนนิยมชมชอบมากท่านหนึ่ง อ่านแล้วรู้สึกขัดข้อง จำเป็นต้องวิจารณ์ข้อเขียนชิ้นนี้เล็กน้อย ทั้งนี้แม้ว่าผู้เขียนไม่รังเกียจการ “กำขี้” ในบางสถานการณ์ แต่ก็คิดว่า “กำตด” ในเวลาที่มีแค่แสงไฟริบหรี่เช่นนี้ ยังดีกว่าไป “คว้าน้ำเหลว” เอาเบื้องหน้า
อจ.จรัลกล่าวไว้ในแถลงการณ์อย่างน่าชื่นชมทีเดียวว่า เรียกร้องให้มีการนำตัวผู้กระทำการสังหารประชาชนในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ มาดำเนินคดี ขณะเดียวกันก็ขอให้ดำเนินคดีกับผู้ประท้วง และแกนนำอย่างเที่ยงธรรม
เป็นข้อเรียกร้องที่กล้าหาญ และถูกต้องต่อหลักยุติธรรมอย่างยิ่ง โดยที่ในเหตุการณ์ ๑๐ เมษานั้นมีผู้เสียชีวิตที่เป็นฝ่ายทหาร (รวมถึงระดับผู้บังคับกองพัน) หลายนาย กับผู้สังเกตุการณ์ที่เป็นนักข่าวต่างชาติ ๑ คน ทั้งที่ผู้เสียชีวิตจำนวนหลายสิบในฝ่ายประท้วงเรียกร้องนั้น นอกจากไม่ได้รับการเยียวยา แล้วยังถูกทางการกล่าวหาหยามเหยียดอย่างต่อเนื่องไร้ยางอาย
ครั้นมาถึงตอนท้ายของแถลงการณ์ปรากฏมีข้อเรียกร้องอีกว่า “รัฐสภาจะต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรมต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองทุกฝ่าย” ซึ่งถ้าอ่านอย่างรวดเร็วทำให้เกิดเข้าใจผิดว่าเป็นนิรโทษกรรมแบบที่เคยมีมาทุกครั้งครา หลังรัฐประหาร และหลังเหตุการณ์นองเลือด ที่ผู้ถูกกล่าวหาก่อความไม่สงบถูกปราบอย่างรุนแรงแล้ว บ้างตายไป บ้างทุพลภาพ บ้างยังหลบหนีอยู่ ล้วนมาได้รับการอภัยโทษ
แต่ก็รวมไปถึงผู้ที่เป็นฝ่ายใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปราม ทำร้าย และเข่นฆ่า ได้แก่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ซึ่งในกรณีเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ บวกพวกพลเรือนขบวนการขวาพิฆาตซ้าย เช่นนวพล ลูกเสือชาวบ้าน และกระทิงแดง เป็นต้น เข้าไปด้วย ทั้งๆ ที่พวกเหล่านี้เป็นอันธพาล (Thugs) ทางการเมืองแท้ๆ ก็ได้รับนิรโทษกรรมเช่นกัน
ครั้นอ่านแถลงการณ์ประโยคดังกล่าวอย่างพินิจ โดยไปเทียบเคียงกับภาคภาษาอังกฤษที่ว่า “Parliament must enact Amnesty Legislation for all protestors of all political persuasion.” ก็พอเข้าใจให้ถูกต้องได้ว่าแถลงการณ์หมายถึงเฉพาะผู้ประท้วงเท่านั้น แต่ใจกว้างขยายวงให้ครอบคลุมถึงผู้ประท้วงทุกคน “ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมืองอย่างไร”
หากตีความตามตัวอักษร กฏหมายนิรโทษกรรมที่กล่าวถึงนี้จะออกมาหลังจากมีการนำเจ้าหน้าที่ และ/หรือพวกชุดดำติดอาวุธในกรณี ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ มาดำเนินคดีแล้ว และไม่คุ้มครองถึงผู้ประท้วงในเหตุการณ์ครั้งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ หรือ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๒ หรือแม้แต่๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓
แต่ถ้ามีการตีความเป็นอื่น หรือแปรญัตติเป็นอื่นระหว่างกระบวนการอภิปรายร่างกฏหมาย ย่อมเป็นช่องทางให้ดึงเอาฝ่ายที่เป็นผู้กระทำเข้ามาร่วมรับการนิรโทษกรรมด้วยอย่างน่าเสียใจ
สมมุติว่าหากสามารถแก้ไขประโยคดังกล่าวได้ ผู้เขียนอยากแก้เสียใหม่ว่า “รัฐสภาจะต้องออกกฏหมายห้ามนิรโทษกรรมคณะผู้ก่อการยึดอำนาจ และเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามประชาชนจนบาดเจ็บ และล้มตาย”
ทางที่ดีกว่าไม่น่าจะพูดถึงการนิรโทษกรรมเลยแม้แต่น้อย เพราะถ้ามีการทำคดีอย่างเที่ยงธรรมแล้ว ผู้ประท้วงที่ออกไปชุมนุมกันโดยบริสุทธิ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอันแท้จริง และต้องการความยุติธรรมในการบังคับใช้กฏหมาย ย่อมต้องปลอดพ้นจากคดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการนิรโทษกรรมก็ได้
ที่ผู้เขียนนำเอาประโยคสั้นๆ มาวิจารณ์ยืดยาวนี้ขอโปรดอย่าเข้าใจผิดว่าบังอาจติติงเรื่องหยุมหยิมต่อผู้ที่ทำงานเพื่อประชาชนมาอย่างมากมาย แต่เนื่องด้วยเห็นว่าประโยคเดียวนี้มีความหมายกว้างไกล และอาจเป็นแนวโน้มที่ทำให้กระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องวกวนกลับมาหาที่เดิมอยู่ร่ำไป
ก็เพราะการนิรโทษกรรมให้แล้วต่อกันไปเพื่อเริ่มต้นใหม่นี่แหละ เป็นมาอย่างนี้สองสามครั้งซ้ำซาก จนจำนวนคนถูกฆ่าตายโดยไร้ความชอบธรรมเพิ่มไม่หยุดหย่อน และชนักก็ปักหลังอยู่ที่คณะทหารกับข้ออ้างสถาบันฯ ของพวกเขาทุกครั้งไป
หากจะยกสถาบันฯ เอาไว้ต่างหากตามแนวยุทธวิธีของ นปช. แดงทั้งแผ่นดินขณะนี้ ก็จะเห็นตัวตนผู้กระทำการหักหาญทำร้ายประชาชน และทำลายประชาธิปไตย เป็นพวกสวมท็อปบู๊ต ถือปืน และถือน้ำพิพัฒน์สัตยาได้แจ่มแจ้งชัดเจนทุกกรณีไป
ฝ่ายทหารนี้แหละที่แต่ไหนแต่ไรมาเป็นขวากหนามขวางกั้นการพัฒนาเติบโตของประชาธิปไตยไทยไปสู่ความสมบูรณ์แท้จริง ตัวอย่างจากอดีตของไทยเราเองเป็นหลักฐานอยู่แล้วนับครั้งไม่ถ้วน ในปัจจุบันก็กำลังเป็นอยู่อย่างขมักเขม้นยิ่งขึ้น ทว่าแยบยลกว่าเดิม
และจะเป็นต่อไปไม่หยุดยั้งตราบเท่าที่ยังมีการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองการปกครอง (Autocracy) ในขณะที่ดอกผลจากทรัพยากรของชาติยังมีพอให้พวกเขากอบกำกันอย่างสะดวก
ตัวอย่างในทางสากลที่กำลังเกิดอยู่ในประเทศอาหรับย่านตะวันออกกลาง อาฟริกาเหนือ และอ่าวเปอร์เซียก็มีให้เห็นตำตาแทบทุกวัน แม้แต่ทหารที่มาเข้าข้างประชาชนผู้เรียกร้องความเป็นธรรม และความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ล้วนไว้ใจไม่ได้สำหรับการสานสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ทั้งในตูนิเซีย อียิปต์ บาหเรน และเยเมน****
การขอร้องให้ทหารละวางจากการเมือง หรือมีพวกแม่ทัพนายกองมาออกทีวีให้คำมั่นว่าจะไม่ขัดขวางแนวทางประชาธิปไตยเท่านั้นไม่พอ เพราะพวกเขานิยมเสียสัตย์เพื่อชาติกันเป็นอาจินต์
ทางที่จะทำให้พวกทหารลบล้างความเคยชินอันเป็นผลดีแก่ตนแต่เป็นผลร้ายต่อประชาชน และประชาธิปไตยได้ ก็โดยให้ต้องรับโทษอย่างสาสมเมื่อมีการทำร้าย และสังหารประชาชนกันขึ้น
การรับโทษดังกล่าวจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อกำจัดช่องโหว่ทางหนีการรับผิดของพวกที่มักใช้กำลังอาวุธบังคับเอาตามใจอยู่ที่ ต้องปิดประตูนิรโทษกรรมเสียแต่ต้นมือ และใช้การตัดสินความผิดด้วยกระบวนการยุติธรรมตามครรลองกฏหมายที่เป็นสากลเท่านั้น
*matichon.co.th/news/สดสียันมีเลือกตั้งแน่
**matichon.co.th/news/จตุพรแฉทหารแทรกซึมเลือกตั้ง
No comments:
Post a Comment