Friday, April 1, 2011

ตะวันออกกลางห่างมากไหมกับตะวันออกเฉียงใต้


ผู้เขียนได้ติดตามชมภาพงานคอนเสิร์ตรุ่งอรุณความยุติธรรมที่เขาใหญ่ตามเว็บบอร์ดต่างๆ ทำให้ทราบว่าการรวมตัวของคนเสื้อแดงครั้งนี้ต่างกับครั้งอื่นๆ เล็กน้อย ที่ไม่ค่อยมีแผ่นป้ายคำคมมากนัก

แต่ก็อดสะดุดตากับป้ายที่เขียนถึงตูนิเซีย อียิปต์ และลิเบียไม่ได้ สันนิษฐานว่าคงจะติดใจได้อารมณ์กับคำของคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนหนึ่งซึ่งพูดไว้เมื่อคราวชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหลังจากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวได้ไม่นาน

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าสามประเทศที่กล่าวถึงเป็นส่วนหนึ่งของกระแสปฏิวัติประชาชนที่กำลังระอุอยู่ในภูมิภาคต่อเนื่องกันของตะวันออกกลาง อาฟริกาตอนเหนือ และอ่าวเปอร์เซีย อันเป็นย่านของชนชาวอาหรับหลากหลายสายพันธุ์ และต่างกันสองนิกายในศาสนาอิสลาม

ตูนิเซียกับอียิปต์ปฏิวัติสำเร็จไปแล้ว กำลังฝ่าควันการเมืองเสรีหาทางไปสู่ประชาธิปไตยกันอย่างน่าเหน็ดเหนื่อยแทน ส่วนลิเบียยังลูกผีลูกคนเพราะจอมเผด็จการกาดาฟี่ไม่ยอมจำนนง่ายๆ และพันธมิตรตะวันตกในการนำของสหรัฐ (ซึ่งก็พยายามโยนลูกไปให้กับนาโต้ ขณะที่ฝรั่งเศสคอยช่วงชิงออกหน้า) ใช้ยุทธศาสตร์ที่บอกว่าเจาะจงเพียงด้านมนุษยธรรม การระดมยิงจรวดเข้าใส่ฐานกำลังของกาดาฟี่ก็เพียงเพื่อสกัดไม่ให้ทำร้ายกองกำลังฝ่ายประชาชน ไม่ได้มุ่งกำจัดกาดาฟี่โดยตรง

แม้จะยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าจะช่วยฝ่ายกองกำลังประชาชนด้วยอาวุธหรือไม่ สหรัฐก็ได้ส่งหน่วยซี.ไอ.เอ. เข้าไปคุยกับแกนนำกองกำลังฝ่ายประชาชนแล้ว ทว่าเป้าหมายของซี.ไอ.เอ. ไม่เพียงเสาะหาข้อเท็จจริงว่าสมควรติดอาวุธให้ฝ่ายประชาชนไหม แต่ดูเหมือนจุดประสงค์หลักเป็นการสอดแนมพวกแกนนำ ว่าเป็นเส้นสายของมุสลิมหัวรุนแรงหรือเปล่าด้วย

เพราะบทเรียนจากอิรักสอนไว้ว่า เมื่อโค่นผู้เผด็จการลงไปโดยยังไม่รู้จักมวลชนดี และไม่สามารถควบคุมมวลชนได้ ก็จะถูกสอดแทรกโดยมุสลิมหัวรุนแรง ดังที่มวลชนอิรักกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะของอัลไคดาห์ไป

การนำคำของคุณณัฐวุฒิที่อ้างถึงตะวันออกกลางมาใช้เป็นเครื่องลูบไล้กระตุ้นน้ำใจคนเสื้อแดงให้กระชุ่มกระชวย ว่าตัวอย่างของชัยชนะในฝ่ายประชาชนนั้นมีให้เห็นตำตา แต่ถ้าจะลงลึกเอารายละเอียดเป็นแบบอย่างสำหรับปรับใช้กับบ้านเรา ก็อาจจะยากสักหน่อย

เพราะตะวันออกกลางกับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ห่างไกลกันพอดู โดยเฉพาะในเรื่องพื้นฐานทางวัฒนธรรม ความเชื่อทางนิกายศาสนา และความแปลกแยกเรื่องเผ่าพันธุ์ แต่ละแห่งล้วนมีลักษณะของตนเองที่จะก่อเกิดการอัดอั้นสั่งสมในชนหมู่มาก จนเมื่อมีประกายจุดขึ้นจึงกลายเป็นการ ปฏิวัติประชาชน”*

การปฏิวัติประชาชนทุกแห่งในโลกมีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเป็นแรงขับดันเหมือนกัน นับตั้งแต่ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน เวียตนาม ยุโรปตะวันออก มากระทั่งถึงตะวันออกกลาง นั่นก็คือความแตกต่างห่างไกลในการดำรงชีวิต ระหว่างชนชั้นปกครองส่วนน้อย กับผู้ถูกปกครองส่วนใหญ่

ที่ใดมีความแตกต่างทางการดำรงชีพสูง ขณะที่ฝ่ายปกครองกระชับวงความปลอดภัยของตนอย่างเหนียวแน่น ด้วยอำนาจกฏระเบียบ หรืออาวุธ มากเท่าไร ก็จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาไปสู่การปฏิวัติเร็วขึ้นเท่านั้น

ในย่านอาหรับที่กำลังกรุ่นด้วยไฟปฏิวัติประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีผู้ปกครองเป็นประธานาธิบดี เช่นตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย เยเมน และซีเรีย หรือที่ยังมีกษัตริย์ และราชาธิบดี เช่นบาหเรน จอร์แดน มอร็อคโค และซาอุดิ อาราเบีย ล้วนมีปัญหาสั่งสมในเรื่องความไม่ใกล้เคียงอย่างยิ่งระหว่างความเป็นอยู่ของชนชั้นปกครอง และประชาชน

ดังนั้น ถ้าจะใช้ตะวันออกกลางเป็นกรณีศึกษา แทนที่จะดูจากสองประเทศที่ปฏิวัติสำเร็จไปแล้ว หรือแม้แต่ลิเบียที่ผู้ปกครองเป็นจอมเผด็จการแจ่มแจ้ง น่าที่จะดูจากสองประเทศที่ยังไม่เสร็จมากกว่า เช่นบาหเรน และจอร์แดน

ผู้ปกครองในทั้งสองประเทศยังแสดงตนก้ำกึ่ง ทั้งที่กำอำนาจเบ็ดเสร็จ และกุมบังเหียรประเทศไว้ในมือด้วยเหล่าบริวารว่านเครือ แต่ก็พยายามเสนอภาพของการก้าวทันโลกาภิวัฒน์ และวาทกรรมปฏิรูปอยู่เสมอ แบบที่เรียกกันในสำนวนตลาดว่า อีแอบ (ทางการเมือง)

ที่จอร์แดนซึ่งสถานะของกษัตริย์อับดุลลาห์ ที่สอง มั่นคงกว่าผู้ปกครองใดๆ ในย่านนี้ ประการหนึ่งเพราะประชากร ๖ ล้านคนแปลกแยกเป็นสองสายพันธุ์ พวกยากจนอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนล้วนเชื้อสายปาเลสไตน์ พวกมีอันจะกินเป็นชาวเผ่าต่างๆ อยู่บนฝั่งตะวันออก

กษัตริย์ และชนชั้นปกครองในราชวงศ์ฮาชิไม้ท์ เป็นที่หมายพึ่งของประชาชนสองฝ่ายที่ไม่ยอมผสานกลมกลืน (Assimilate) ต่อกัน แต่กระนั้นความต้องการปฏิรูป และขจัดคอรัปชั่นที่มีเกลื่อนกลาดในหมู่ข้าราชบริพารก็แผ่ขยายจนกลายเป็นการชุมนุมเรียกร้องใหญ่ๆ หลายครั้งแล้ว

ชาวบ้านที่ถูกเอาเปรียบหลายรายยังคิดว่ากษัตริย์อับดุลลาห์ไม่ทรงทราบว่าคนของพระองค์กำลังทำให้ประชาชนเดือดร้อน แม้ว่าราชสำนักแถลงออกมานานแล้วว่ากษัตริย์ทรงรับสั่งให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูป แต่ก็ยังไม่เป็นจริงเสียที การประท้วงโดยมวลชนจึงเกิดขึ้น

บางทีอาจเป็นแบบที่ ไซมอน เซแบ็ก มองเตฟิออร์** นักเขียนผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลางอ้างถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ในฝรั่งเศสยุคปี ค.ศ. ๑๗๘๙ ทรงตรัสถามมหาดเล็กถึงเสียงอึงคนึงนอกพระราชวังว่าเกิดจลาจลขึ้นหรือไร ลาโรเช เฟาโคล ลีอองคอร์ท มหาดเล็กผู้นั้นตอบว่า ไม่ใช่หรอกพ่ะย่ะค่ะ มันเป็นการปฏิวัติ

นั่นเป็นการเปรียบเปรยของนักเขียนผู้นี้ต่อเหตุแห่งปรากฏการณ์ปฏิวัติประชาชนเป็นลูกโซ่ทั่วตะวันออกกลาง ว่าเป็นเพราะพวกผู้ปกครองสูญเสียความชอบธรรมในอำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่าง ตามทฤษฎีของแม็ก วีเบอร์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน

อำนาจทั้งสามได้แก่ อำนาจนิรันดรของเมื่อวันวาน หรือวิธีการสืบทอดตามสายเลือด อำนาจแห่งพรสวรรค์ของความสง่าเหนือธรรมดา หรือบุคลิกภาพอันสูงส่ง และสุดท้ายคืออำนาจแห่งการครอบงำด้วยคุณค่าของกฏหมาย

มองเตฟิออร์ยังบอกด้วยว่าพวกผู้ปกครองระบบประธานาธิบดีในตะวันออกกลางอาจมีบุคลิกภาพส่วนตัวค้ำจุนอำนาจ แต่ก็ล้วนพยายามผ่องถ่ายอำนาจสืบตามสายเลือดแบบเดียวกับพวกกษัตริย์ และราชาธิบดีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นฮอสนิ มูบารัค ของอียิปต์ มูอัมมาร์ กาดาฟี่ ของลิเบีย หรือบาชาร์ อัล อัสสัด ของซีเรีย

ขณะเดียวกันพวกกษัตริย์ และราชาธิบดีซึ่งมีศักดิ์ศรีตามความเชื่อทางศาสนาหนุนหลัง ต่างกำลังสูญเสียอำนาจอันนิรันดรของพวกตนกันไป เพราะว่าศักดิ์ศรีนั้นไม่จีรัง และมักจะเสื่อมสลายได้เสมอ

ที่บาหเรนกษัตริย์ฮะหมัด บิน อิสสา อัล-คาลิฟา ขอกำลังทหารจากซาอุดิ อาราเบียเข้าไปช่วยสลายการชุมนุมเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว รัฐบาลแถลงว่าได้กำจัดเสี้ยนหนามของแผ่นดินจนสิ้นซาก พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อทิ้งอนุสาวรีย์ไข่มุก และทำลายบริเวณวงเวียนที่เป็นสัญญลักษณ์ และศูนย์รวมการต่อสู้ของฝ่ายประชาชนราบคาบไปด้วย

ตัวอย่างของการปฏิวัติโดยประชาชนที่ยังไม่เสร็จสิ้นดังที่กล่าวถึงข้างต้นนั่นสิ ควรที่จะใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับไทยเรามากกว่า เพื่อที่จะเทียบเคียงทั้งในส่วนที่เหมือนกัน หรือปรับใช้ในข้อผิดพลาด

ดังเช่นรัฐบาลบาหเรนอ้างการใช้กำลังเข้าปราบปรามสลายการชุมนุมว่า เพราะมีการยุยง และแทรกแซงโดยตัวการชั่วร้ายจากภายนอกประเทศ ซึ่งก็หมายถึงพวกมุสลิมหัวรุนแรงจากอิหร่าน เทียบกับบ้านเราเห็นเคยมีข้ออ้างว่านักโทษหนีคดีคอรัปชั่นปลุกปั่นทำร้ายประเทศไทยอยู่เหมือนกัน

หรือผู้ประท้วงที่จอร์แดนถูกทหารหน่วยปราบจลาจลตีด้วยไม้กระบองร้องโอดครวญ ว่าเป็นเพราะความชั่วร้ายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ์ของกษัตริย์ ส่วนคนตกงานที่พากันไปชุมนุมหน้าพระราชวังอุตส่าห์เสียค่ารถมากกว่ารายได้สวัสดิการต่ออาทิตย์ในการเดินทางจากที่ห่างไกล ต้องผิดหวังกันเป็นแถวเพราะข่าวที่ว่ากษัตริย์จะเสด็จมาพระราชทานเงินแก่คนยากจนเป็นเพียงข่าวลือ

ความผิดหวังของคนตกงานจอร์แดนเพราะข่าวลือจะเท่าชาวบ้านยากจนของไทยหรือไม่ ก็น่าสงสัยถ้าได้ซาบซึ้งกับการรับแจกถุงยังชีพแล้วเปิดถุงออกมาปรากฏว่าเจอของเน่าอยู่ภายใน

แม้แต่ในกรณีความสำเร็จของประชาชนอียิปต์ ผู้สังเกตุการณ์บางรายให้เหตุผลว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะนายมูบารัคยังไม่เลือดเย็น หรือเหี้ยมไม่พอ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีปัจจัยอื่นหนุนอยู่โดยไม่รู้ตัว นั่นคือฝ่ายทหารที่สหรัฐขุนมา และขณะนี้ตอผุดแล้วว่าแก่นแข็งภายในพลังประชาชนอียิปต์แท้จริงเป็นขบวนการภราดรภาพมุสลิมนั่นเอง

ถึงกระนั้นก็ตาม หนทางไปสู่ประชาธิปไตยในอียิปต์หลังจากการปฏิวัติประชาชนโค่นล้มผู้ปกครองแบบจ้าวเหนือหัว (Autocrat) ได้แล้วก็ยังช่างขรุขระสิ้นดี***

ตามรายงานของนายนิโคลัส คริสท้อฟ นักวิจารณ์ประจำหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์คไทม์ มองเห็นเช่นเดียวกับนายไซม่อน มองเตฟิออร์ ว่าท้ายที่สุดอียิปต์อาจจะได้ประชาธิปไตยชนิดมีทหารเป็นพี่เลี้ยงแบบเดียวกับตุรกี แต่ว่าขณะนี้สิ่งที่สหรัฐหวาดระแวงน่าจะไม่เกิด นั่นคือการที่มุสลิมหัวรุนแรงเข้ามาครอบงำทั้งหมดเหมือนอิหร่าน เพราะความเข้มแข็งของมุสลิมสายกลาง หรือกลุ่มภราดรภาพมุสลิมทำให้อัลไคดาห์เข้าไม่ติด

หากแต่ว่าการปฏิวัติเกิดขึ้น และสำเร็จด้วยพลังประชาชนที่ไม่ลดละ (Spontaneous) โดยไม่ต้องมีแกนนำ ทำให้ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้จำต้องเกิดมีการนำโดยฝ่ายทหารขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ แถมด้วยความร่วมมือของภราดรภาพมุสลิม

กลายเป็นข้อเสียอันจะทำให้อียิปต์คงไปได้ไม่ถึงประชาธิปไตยที่แท้จริง

นั่นคือฝ่ายทหารที่เคยยืนข้างประชาชน พอได้เป็นแกนนำแล้วชักเหลิง บัดนี้ใช้วิธีทุบตีเข้าจัดการกับพวกเรียกร้องประชาธิปไตยที่ยังเห็นต่าง มิหนำซ้ำรัฐบาลชั่วคราวที่เต็มไปด้วยทหารเพิ่งเสนอร่างกฏหมายสำหรับใช้กับอียิปต์ยุคใหม่ โดยไม่มีปฏิกริยาท้วงติงใดๆ จากภราดรภาพมุสลิม

เป็นกฏหมายที่ห้ามประชาชนชุมนุมประท้วง มันช่างเหมือนกับร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีไทยเสนอเข้าสภาไปแล้ว ใครเล่าจะคิดว่าประชาธิปไตยพันธุ์ทางไฉนเกิดได้เหมือนกันทั้งในตะวันออกกลาง และตะวันออกเฉียงใต้

*The spark that started a revolution

** Simon Sebag Montefiore, "Every revolution is revolutionary in its own way"

***Democracy is messy

No comments:

Post a Comment