การเดินทางมาเยี่ยมประเทศไทยเป็นเวลาหนึ่งคืนกับอีกเกือบครึ่งวันของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤศจิกายนต่อเนื่องถึงเช้าวันจันทร์ สร้างความคึกคักให้แก่รัฐบาล และประชาชนไทยจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนอเมริกันในสหรัฐ และคนนานาชาติมากนัก
ด้วยเหตุที่จุดสำคัญของการเยือนสามประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของผู้นำอเมริกันที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองมาหมาดๆ
ครั้งนี้ได้รับการประโคมว่าอยู่ที่การเดินทางต่อไปเยือนพม่า
การแวะเยี่ยมประเทศไทยจึงดูเหมือนมาทักทาย
ถามสารทุกข์สุกดิบตามประสามหามิตรเก่าแก่เกือบ ๑๘๐ ปี (หรือเป็นแบบที่อาจารย์ปวิน
ชัชวาลพงศ์พันธ์ แห่งสถาบันเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเกียวโตสัพยอกไว้ว่า
เพียงมาเปลี่ยนเครื่องบิน
ก็ตามที)
กำหนดการสาธารณะสามสี่ชั่วโมงของประธานาธิบดีอเมริกันจึงประกอบด้วยการต้อนรับที่สนามบินโดยพล.อ.สุรยุทธ
จุลานนท์ องคมนตรีที่เป็นคนสนิทของประธานฯ กับรัฐมนตรีในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
ชินวัตรสองท่าน จากนั้นมีการเดินตรวจแถวทหารร่วมกับนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย
ตอนบ่ายคล้อยไปเยี่ยมชมวัดพระเชตุพน
วิมลมังคลาราม พร้อมด้วยนางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ เดินคุยกันอย่างครึกครื้นถึงกับประธานาธิบดีปล่อยมุขตลกกับพระคุณเจ้าที่ให้การต้อนรับ
กลายเป็นข่าว Quote
of the day บนจอทีวีในอเมริกาว่า “เรากำลังทำงานกันอย่างหนักในการจัดสรรงบประมาณ...เห็นทีจะต้องใช้วิธีการสวดมนต์ภาวนาให้มากๆ
เลยทีเดียว”
จากวัดโพธิ์ก็เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ที่ศิริราช โดยมีนางฮิลลารี่ และเอกอัคราชทูตคริสตี้ เค็นนี่ย์ ตามไปพร้อมกับนายกฯ
ไทย และรัฐมนตรีอีกหนึ่งท่าน นางฮิลลารี่กล่าวทักทายพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า “Hello
again เป็นความปลาบปลื้มที่ได้เข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ
อีกครั้งเพคะ สามีของข้าพเจ้า (อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน) ได้ฝากความระลึกถึงมายังพระองค์ด้วย”
นี่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างประมุขสองประเทศ
นอกเหนือจากการเปิดแถลงการณ์ร่วม และงานเลี้ยงอาหารค่ำตามธรรมเนียมการทูต
ส่วนที่เป็นน้ำเป็นเนื้อในทางการเมืองของการแวะเยี่ยมครั้งนี้พอมีอยู่บ้างในการตอบคำถามแก่สื่อมวลชนหลังจากที่มีแถลงการณ์ร่วมกับนายกรัฐมนตรีของไทย
เมื่อนักข่าวฝ่ายไทยถามถึงความรู้สึกพอใจของประธานาธิบดีสหรัฐที่มีต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยในประเทศไทย
(ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากองค์การสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch และจดหมายเปิดผนึกจากกลุ่มเครือญาติผู้ประสพเคราะห์กรรมโดยผลการบังคับใช้ประมวลกฏหมายอาญา
มาตรา ๑๑๒)
นายโอบาม่าตอบว่า
“ในประเทศไทยก็เหมือนในสหรัฐ
ประชาธิปไตยเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องไม่เสร็จสิ้น...ในประเทศไทยเราได้เห็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย
เป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นกับระบอบประชาธิปไตย มุ่งมั่นต่อหลักนิติธรรม
มุ่งมั่นกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่อมวลชน และการรวมกลุ่มชุมนุม
แต่มันก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้
ความเป็นจริงในประเทศไทย เช่นเดียวกับความเป็นจริงในสหรัฐ ซึ่งมีอยู่ว่าพลเมืองทุกคนจะต้องรักษาความกระตือรือล้นเอาไว้ตลอดเวลา
(เพราะ) มันมีสิ่งที่ให้ต้องปรับปรุงอยู่เสมอ”*(1)
ท่านประธานาธิบดียังได้กล่าวระหว่างการแถลงร่วมตอนหนึ่ง
“หวังว่าประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศกัมพูชา
เพื่อพูดคุยถึงเรื่องประเด็นสำคัญๆ เช่นเรื่องความมั่นคงทางทะเล และขอขอบคุณประเทศไทยสำหรับการสนับสนุนสหรัฐในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกที่จะถึงนี้ด้วย” *(2)
ตรงนี้แหละที่น่าจะมีนัยยะสำคัญอยู่บ้างบางอย่าง
นัยยะอันน่าจะสำคัญต่อประเทศไทยอยู่ที่การเดินทางของนายบารัคอย่างเร่งรีบต่อไปอีกจากพม่าสู่กัมพูชา
โดยมีเป้าหมายอย่างทางการเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน ถ้าจะบอกว่ามหามิตรอเมริกาแวะมาเยี่ยมไทยเพื่อมากระชับการเป็นแท็คทีมตอนไปประชุมสุดยอดอาเซียนก็คงได้
เรื่องความมั่นคงทางทะเลที่ว่านั้นย่อมหมายถึงน่านน้ำในทะเลจีนตอนใต้ที่เพิ่งมีกรณีพิพาทเล็กน้อยเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ
นี้ระหว่างจีนกับเวียตนาม และจีนกับญี่ปุ่น จากการที่จีนได้เพิ่มพูนแสนยานุภาพเป็นอันมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
กองทัพเรือของจีนได้ขยายพื้นที่ลาดตระเวนกว้างขวางออกไปจนเกิดการกระทบกระทั่งเรื่องสิทธิสภาพอาณาเขตเหนือเกาะเล็กเกาะน้อยบางแห่งที่ไม่มีความสำคัญอันใดในทางเศรษฐกิจการค้า
หรือกระทั่งการเดินเรือเพราะที่ตั้งห่างจากเส้นทางหลัก แต่ว่าจีนทำท่าจะถือเป็นเขตอิทธิพลทางทะเลของตน
จึงไม่แปลกที่รัฐบาลโอบาม่าตอนปลายสมัยแรกประกาศยุทธศาสตร์เข็มชี้ไปสู่เอเซียตะวันออก
(Pivot to East Asia) โดยสหรัฐเข้ามามีส่วนร่วม
(Engaging) กับกิจกรรมของภูมิภาคมากขึ้นในเรื่องของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
และการพาณิชย์ โดยเฉพาะในขอบข่ายชุมชนเศรษฐกิจเอเซีย (APEC) พร้อมกันนั้นก็มีการแสดงแสนยานุภาพทางทหารให้ปรากฏด้วยการจัดตั้งฐานทัพนาวิกโยธินอเมริกันขนาดใหญ่ที่มีกองกำลังประจำการ
๒๕๐๐ นาย ขึ้นที่เมืองดาวินในภาคเหนือของออสเตรเลีย ตามข้อตกลงความร่วมมือทางทหารของสองประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
มาครั้งนี้ประธานาธิบดีโอบาม่าออกเยือนสามประเทศในเอเซียอาคเนย์เป็นแห่งแรกหลังได้รับเลือกตั้งซ้ำเพื่อจะย้ำนโยบายสกัดการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน
ที่นอกจากจะเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกแล้ว
ยังกำลังจะเป็นพี่เอื้อยทางทหารอีกรายด้วย โดยเรียกการต่อยอดยุทธศาสตร์เข็มชี้เสียใหม่ว่าเป็นการสร้างสมดุลใหม่ในภูมิภาค
(Rebalancing)*(3)
การเยือนพม่าอย่างเป็นประวัติการณ์ของประธานาธิบดีอเมริกันที่ยังอยู่ในตำแหน่งครั้งนี้
ทั้งที่ได้รับการตำหนิว่าเหมือนจะรับรองรัฐบาล (ท่าที) ใหม่ของพม่าเร็วเกินไป แท้จริงจุดหมายอยู่ที่การช่วงชิงพื้นที่จากจีน
และเป็นก้างขวางคอเกาหลีเหนือไปด้วยในตัว
ข่าวลือที่ว่ามีการสร้างอุโมงก์ขนาดยักษ์ในพม่าเตรียมไว้สำหรับบรรจุขีปนาวุธปรมาณูโดยเกาหลีเหนือนั้น
ในแวดวงเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอเมริกันไม่ใช่เรื่องล้อเล่น หรือปล่อยให้ผ่านหูซ้ายไปหล่นออกทางหูขวาได้ง่ายๆ
ดังที่นายเบ็น โร้ด รองที่ปรึกษาความมั่นคงบอกแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันเสาร์
ก่อนที่ประธานาธิบดีโอบาม่าจะเดินทางถึงกรุงเทพฯ ว่า “ประธานาธิบดีจะคุยกับรัฐบาลพม่าให้ลดหย่อนสัมพันธภาพกับเกาหลีเหนือลงบ้าง”*(4)
สื่อตะวันตกส่วนใหญ่จึงมองว่าการแวะเยี่ยมไทยของประธานาธิบดีโอบาม่าเป็นเพียงน้ำจิ้ม
หลังจากที่ทีมโอบาม่าฝ่ายความมั่นคง กลาโหม และต่างประเทศแยกไปประสานกับออสเตรเลียก่อนที่นางฮิลลารี่
คลินตันจะตามมาสมทบกับประธานาธิบดีที่กรุงเทพฯ แต่นายลีออน แพเน็ตต้า รมว.
กลาโหมล่วงหน้าไปกัมพูชาเพื่อปรับพื้นที่สำหรับการร่วมประชุมสุดยอดของประธานาธิบดีตั้งแต่วันศุกร
ที่นั่น
รมว. กลาโหมอเมริกันกล่าวปาฐกถาต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า “การจัดสมดุลใหม่ของสหรัฐต่อภูมิภาคเอซีย-แปซิฟิคนี้เป็นเรื่องจริงจัง
มันทนน้ำทนไฟ และจะดำเนินไปไม่หยุดยั้งตลอดเวลานานแสนนาน”
คำว่า “นานแสนนาน”
นี้อาจหมายความว่ามีตัวอย่างประเทศไทยให้เห็นอยู่แล้ว ประเทศเจ้าภาพสนใจจะลองดูบ้างก็ยินดี
แม้รัฐบาลของประเทศเจ้าภาพจะถูกองค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง
อีกทั้งอยู่ในอำนาจมานาน (๒๗ ปี) จนเป็นที่กังขาว่าบริหาร/ปกครองประเทศสอดคล้องกับแนวทางประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด
การที่รัฐบาลโอบาม่าเข้าไปโอบอุ้มกัมพูชา
แม้จะไม่ด่วนได้อย่างพม่าก็ยังไม่ค่อยมีจังหวะจะโคนที่ดีนัก
กรณีการสังหารนายฉัตร
วัตตี้ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของกัมพูชาซึ่งต่อสู้กับการโค่นทำลายป่า
(ที่มีชื่อของเขมรคือไม้มะค่า) และการล่าสัตว์พันธุ์หายากที่ควรสงวน
แบบเดียวกับสืบ นาคะเสถียรของไทย
เมื่อไม่นานมานี้นั้นเป็นเรื่องราวที่ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ใช้เป็นข้อโจมตีรัฐบาลของสะเด็ดฮุนเซ็นว่าใช้วิธีการฆ่าตัดตอนเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงภายในให้เด็ดขาด
ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์บอกว่าถ้าประธานาธิบดีโอบาม่าไม่ยอมพูดถึงปัญหาละเมิสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา
นายกรัฐมนตรีฮุน เซ็น จะตีความว่านั่นเป็นการให้ท้ายที่จะทำอะไรตามอำเภอใจ*(5)
แม้รัฐมนตรีประชาสัมพันธ์เขมร
นายเขียว กัณหะริธ จะปฏิเสธว่าเป็นธรรมดาขององค์การสิทธิมนุษยชนมักร้องแรกแหกกระเฌอเสมอเวลามีการประชุมนานาชาติ
แต่สำหรับสหรัฐยากที่จะลบรอยเปื้อนได้ง่าย ในเมื่อสหรัฐเองกำลังทำในสิ่งที่ส่อให้เห็นว่าส่งเสริมกัมพูชาในประเด็นที่ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์กล่าวหา
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์*(6)เสนอรายงานเมื่อวันที่
๑๕ พฤศจิกายนนี้เองว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้ขยายความช่วยเหลือในการฝึกหน่วยรบพิเศษต่อต้านผู้ก่อการร้ายของกัมพูชา
หน่วยรบดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๑
โดยกองบัญชาการรบพิเศษภาคพื้นแปซิฟิคของสหรัฐ ซึ่งขณะนั้นมีความวิตกว่าสายลับอัลไคดาห์จะใช้กัมพูชาเป็นฐานดำเนินการ
หลังจากพบว่าเมื่อห้าปีก่อนหน้านั้นมีแกนนำอัลไคดาห์จากฐานปฏิบัติการในอินโดนีเซียไปหลบซ่อนตัวอยู่ในกัมพูชา
หน่วยรบต่อต้านผู้ก่อการร้ายของกัมพูชาได้รับการฝึก
และยุทโธปกรณ์จากสหรัฐล้วนๆ โดยมอบหมายให้พลโทฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของสะเด็ดฮุน
เซ็น เป็นผู้บัญชาการ ฮุน มาเนตนี้กล่าวกันว่าถูกวางตัวให้เป็นผู้สืบอำนาจต่อจากพ่อ
ปัจจุบันเขามีตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก
เขาเรียนจบวิชาการทหารจากสำนักเวสต์ป๊อยท์ของสหรัฐ
แล้วยังจบปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค (NYU) อีกด้วย
ลูกชายอีกสองคนของสะเด็ดฮุน
เซ็นก็ได้รับความเอื้อเฟื้อจากสหรัฐเช่นกัน ฮุน มานิต ลูกชายคนกลาง
เป็นนายทหารผู้ชำนาญด้านสืบราชการลับ
กระทรวงกลาโหมสหรัฐจัดการให้ไปฝึกพิเศษด้านการต่อต้านผู้ก่อการร้ายที่เยอรมนี (ข้อมูลนี้มาจากเคเบิ้ลสถานทูตสหรัฐเปิดเผยโดยวิกิลี้ค)
ส่วนคนเล็ก ฮุน มานี วัย ๒๙ ปี
สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านการวางแผนยุทธศาสตร์การทหารที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติเพื่อการป้องกันประเทศในกรุงวอชิงตันเมื่อปีที่แล้ว
ด้วยทุนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ
ความเกี่ยวพันระหว่างฝ่ายการทหารสหรัฐกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาแบบส่วนตัวปนส่วนรวมเช่นนี้ย่อมนำไปสู่ความผูกพันแบบส่วนรวมต่อส่วนรวมได้ไม่ยาก
ตราบเท่าที่ฮุน เซ็น ยังเป็นผู้กุมอำนาจหลักในกัมพูชา
และความเกี่ยวพันส่วนตัวระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ของไทยกับสะเด็ดฮุน เซ็น ก็นำมาสู่ความผูกพันระหว่างรัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลชุด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เห็นแล้ว
การพัฒนาไปสู่ความผูกพันสามเส้า
สหรัฐ-กัมพูชา-ไทย ไม่ใช่เรื่องคิดเล่นๆ อีกต่อไป
ผู้ที่ติดตามการเมืองไทยใกล้ชิดคงจำกันได้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่แล้วนี่เอง
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์กำหนดเดินทางไปนครเสียมเรียบ กัมพูชาอย่างกระทันหันตามคำเชิญของนางฮิลลารี
รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน บรรดาสื่อเสื้อเหลืองไม่ว่าจะเป็นเครือผู้จัดการ
ข่ายเนชั่น หรือเข่งไทยโพสต์โจมตีกันหนักหน่วง ตั้งแต่ว่าผิดมารยาททางการทูต
มีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย
และเป็นแผนสมรู้ให้กัมพูชาฮุบเขาพระวิหาร
แต่ลงเอยแล้วเป็นการประชุมแบบฟอรั่มของธุรกิจเอกชนอาเซียนกับอเมริกัน
มีนักธุรกิจของบริษัทใหญ่ๆ จากสหรัฐไปร่วมกันมาก แต่ไม่มีการเชิญเจ้าหน้าที่ไทย
นางฮิลลารี่จึงได้ส่งเคเบิ้ลเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นการด่วน
เมื่อจบลงปรากฏว่าการไปร่วมสัมมนาครั้งนี้สร้างผลดีสองเด้ง นอกจากนายกฯ
คนสวยได้รับการชื่นชมจากแวดวงนักธุรกิจนานาชาติแล้ว ยังได้สายสัมพันธ์ใหม่ๆ กับนักธุรกิจ
นักลงทุนอเมริกันเกี่ยวกับ โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย
และท่อลำเลียงก๊าซ และน้ำมันระหว่างฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย
เช่นนี้จะเห็นว่าการแวะเยี่ยมไทยของประธานาธิบดีสหรัฐน่าจะไม่เพียงแค่เปลี่ยนเครื่องเท่านั้น
และการที่สื่อตะวันตกพากันโหมประโคมเรื่องการไปพม่าว่าเป็นประวัติการณ์คงจะไม่ใช่ความตั้งใจแท้จริงของทีมโอบาม่า
หากดูตามกำหนดการเยือนสามประเทศ แวะไทย ๑๘-๑๙ พ.ย. ไปพม่า ๖ ชั่วโมงวันที่ ๑๙
แล้วอยู่กัมพูชา ๑๙-๒๐ พ.ย. บ่งบอกได้ไม่มากก็น้อยว่าไทย และกัมพูชาคือเป้าหมายหลักในการขอคืนมิตรภาพ
และกระชับพันธกรณี
หากแต่การกระชับเป้าหมายทั้งสองแห่งเป็นไปตามวิถีทาง
และยุทธวิธีการเมืองแบบโบราณครั้งสงครามเย็นสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์
ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้อยู่ในอำนาจ กับอำมาตย์ หรือชนชั้นนำในสังคมการเมือง
มีการนำเอาความเกี่ยวพันส่วนตัวมาเป็นปัจจัยสำคัญควบคู่กับความผูกพันส่วนรวม และวางเฉยต่อเสียงที่ดังอื้ออึงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อความทัดเทียมของภาคประชาชน
ตราบเท่าที่มันขัดแย้งผลประโยชน์ของชนชั้นนำ
จนทำให้ ดร.
ปวิน วิเคราะห์ออกมาว่าเนื่องจากเป็นความไม่เข้าใจ และขาดความสนใจอย่างแท้จริงต่อการพัฒนาทางการเมืองของไทย
ทั้งในส่วนของกระทรวงต่างประเทศ และสถานทูตอเมริกันในกรุงเทพฯ*(7)
ถ้าเราย้อนกลับไปดูคำตอบของประธานาธิบดีโอบาม่าต่อคำถามถึงความเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยในประเทศไทยอีกครั้งที่ว่าก็เหมือนกับในสหรัฐ
(งานสร้างเสริม) ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง นั่นดูเป็นคำตอบที่ครอบกว้างเสียจนเกือบจะคลุมเครือ
ทว่าสามารถตีความได้ว่าต้องปรับไปตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย
หากแต่การปรับของรัฐบาลโอบาม่าอาจเชื่องช้ายืดยาดในบางกรณี
เห็นได้จากการปรับให้เข้ากับ “อาหรับสปริง” ที่ผ่านมา
ในกรณี “ไทยออธัม”
หรือใบไม้ผลัดใบสำหรับประเทศไทย
รัฐบาลโอบาม่าปรับตัวช้ามากไม่ทันใจของขบวนการประชาชน ซึ่งแท้จริงแล้วก็ยังอยู่ในสภาพที่ไม่เป็นปึกแผ่น
อาจมีมากกว่าสองขา (หลายคน) แต่เป็นที่เข้าใจว่ามีเป้าหมายร่วมกันในนาม “เสื้อแดง”
กระนั้นการเยี่ยม
และเยือนสามประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเริ่มต้นการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองของนายบารัค
โอบาม่า ก็พอแสดงให้เห็นแล้วว่าเขากำหนดนโยบายที่จะยืนอยู่ใกล้กับพรรค
หรือฝักฝ่ายการเมืองใด
*(1)
http://www.voanews.com/content/obama-asia/1548282.html
*(3)
นายธอมัส อี ดอนิลอน ที่ปรึกษาความมั่นคงของประธานาธิบดีโอบาม่ากล่าวในปาฐกถาไม่กี่วันก่อนหน้านี้ว่า
“เราไม่เพียงใช้นโยบายจัดสมดุลใหม่สำหรับเอเซียเท่านั้น
เรายังจัดสมดุลใหม่ภายในเอเซียด้วย”
ซึ่งเขาหมายถึงการเลือกที่จะเดินทางไปประเทศไทย พม่า
และกัมพูชาของประธานาธิบดีโอบาม่าครั้งนี้เพื่อที่จะเน้นว่าสหรัฐได้หันมาให้ความสำคัญแก่ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
และกลุ่มประเทศอาเซียนแทนที่เอเซียตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-20354355
*(4)
ก่อนหน้านี้นายโร้ดกล่าวด้วยว่ายุทธศาสตร์เข็มชี้ไปสู่เอเซียนี้จะเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายต่างประเทศสหรัฐสำหรับการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของประธานาธิบดีโอบาม่า
ชนิดที่เรียกได้ว่าจะเป็นตำนานผลงานของท่านเลยทีเดียว http://www.cbsnews.com/8301-250_162-57551506/obama-visits-asia-amid-lingering-issues-at-home/
*(5)
http://blogs.voanews.com/breaking-news/2012/11/16/obama-to-highlight-human-rights-on-southeast-asian-trip-officials/
No comments:
Post a Comment