Tuesday, September 18, 2012

บทบาทเสื้อแดงในช่วงเปลี่ยนผ่าน



ก่อนอื่นต้องนิยามคำสี่คำที่นำมาเรียงเป็นวลีจั่วหัวนี้เสียก่อนว่า

บทบาท หมายถึงการแสดงออกเพื่อให้เกิดผลดังมุ่งหวัง อันรวมทั้งสิทธิ และหน้าที่ในฐานะประชาชนไทยผู้ได้ชื่อว่าถืออำนาจอธิปไตยตามหลักการอันต้องตามสากลของลัทธิการเมืองประชาธิปไตย ไม่ยาวไม่สั้น ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้

เสื้อแดง หมายถึงประชาชนไทย และ/หรืออาจมิใช่ประชาชนในขอบข่ายของตัวบทกฏหมายอันเกี่ยวกับเชื้อชาติ และสัญชาติ หากแต่เป็นผู้มีความผูกพันในทางเชื้อชาติ และสัญชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง ด้วยความรัก ศรัทธา และเจตนามุ่งมั่นให้เกิดความเจริญในลักษณะสากลแก่ประชาชนไทย โดยที่คนเหล่านี้มีจุดมุ่งหมาย กระทำกิจกรรม แสดงความคิดเห็น และเรียกร้อง ให้ประเทศไทยปรับเปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามอุดมการณ์สากล ไม่สั้นไม่ยาว ไม่น้อยไม่มากไปกว่านั้น

ในช่วง หมายถึงระยะเวลาทั้งก่อน (ซึ่งก็คือตั้งแต่บัดนี้) และในขณะที่เป็นไปตามคำต่อท้ายคำนี้ กับหลังจากเลยจุดกำหนดดังกล่าวไปแล้ว จนกว่าจะสิ้นสุดการเคลื่อนไหว เข้าสู่สถานการณ์ราบรื่น และไหลนิ่ง ถ้าหากเกิดการสั่นคลอน หรือโคลงเคลงขึ้นจากผลของจุดกำหนดที่ว่านั้น

เปลี่ยนผ่าน หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของสถาบันสำคัญทางการเมือง และสังคมไทย ที่ไม่อาจระบุอย่างจะแจ้งได้ในขณะนี้ด้วยเหตุผลด้านสวัสดิภาพที่ปลอดจากการคุกคามของกฏหมายไม่เป็นธรรม จนกว่าการเปลี่ยนแปลงจะสำเร็จลุล่วงไปแล้ว และสถานการณ์เข้าสู่ลักษณะราบรื่นดังกล่าวไว้ในย่อหน้าก่อน จึงเป็นคำกล่าวอย่างอ้อมค้อมที่เข้าใจกันดีตามหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบสากล ไม่ยาวไม่สั้น ไม่มากไม่น้อยกว่านี้อีกแล้ว จึงไม่ต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมใดๆ

บทบาทเสื้อแดงในช่วงเปลี่ยนผ่าน นี้มีการพูดถึง และถกเถียงกันมาแล้วไม่น้อยในทางส่วนตัวเป็นหย่อมๆ และกึ่งสาธารณะ จะมีที่โผล่ออกมาในทางสาธารณะเต็มๆ ในระยะหลังๆ นี่ก็แต่ส่วนน้อย ตั้งแต่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งพูดถึงกรณีเสื้อแดงล้วนๆ มาถึง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งพูดถึงการเปลี่ยนผ่านตรงๆ ไปจนกระทั่งฝรั่งต่างชาติเขียนกันด้วยมุมมองทางวิชาการ ไม่อ้อมค้อม และมุ่งวิเคราะห์เข้าถึงแก่นของปัญหา ไม่ว่าจะเป็น แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล หรือ เซอร์ฮัท อูนาลดิ  กับนักวิชาการต่างชาติอื่นๆ อีกหลายคนต่างให้ข้อสรุปตรงกันว่า

ถ้าการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยเป็นไปโดยไม่มีการแก้ไขด้วยวิธีการเจรจา และสนธนากันโดยไม่อ้อมค้อม ในปัญหาอันเป็นแก่นกลางแห่งความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมากว่า ๖ ปี โดยที่ถ้าหากฝ่ายหนึ่งมุ่งแต่จะเอาชนะด้วยการทับถมผู้/พวกที่ตนถือว่าเป็นศัตรูร้ายแรง อีกฝ่ายก็มุ่งที่จะเอาชนะด้วยวิธีการลับลวงพรางเพื่อจะกลับไปได้เปรียบในลักษณะเดียวกับที่อีกพวกเคยเป็นละก็

ช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่จะมาถึงน่าจะเต็มไปด้วยความรุนแรง และเกิดการสูญเสียมหาศาลมากกว่าที่เคยปรากฏมา

ผู้เขียนขอลำดับแนวความคิดตามรายบุคคลที่ได้อ้างอิง โดยเริ่มที่อาจารย์นิธิซึ่งเขียนไว้ในบทความ อนาคตทางการเมืองของคนเสื้อแดง ว่าเสื้อแดงมีเป้าหมายทางการเมืองน่ายกย่อง แต่การใช้พรรคเพื่อไทย (ด้วยการออกเสียงเลือกพรรคนี้อย่างท่วมท้น) เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นไม่ได้ผล เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำอะไรที่สอดคล้อง หรือสนองต่อเป้าหมายทางการเมืองของเสื้อแดงเลย อจ.นิธิจัดหนักว่า ความใส่ใจของรัฐบาลมีอยู่เพียงอย่างเดียว คือขออยู่ในตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ แม้ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่างเดียวก็ไม่เป็นไร

อย่างไรก็ดี อจ.นิธิยอมรับว่าการที่เสื้อแดงจะบังคับให้เครื่องมือการเมืองของตน คือพรรคเพื่อไทยเดินตามเป้าหมายของเสื้อแดงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย "เพราะที่จริงแล้วยังไม่มีสมาชิกของพรรคการเมืองใดที่สามารถคุมพรรคของตนได้สักพรรคเดียว" จึงเสนอให้คนเสื้อแดงเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยโดยผลักดันให้เกิดระบบเลือกตั้งขั้นต้น (หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า ไพรมารี่) ทั้งไม่ใช่การรณรงค์เข้าไปเป็นตัวจักร และกรรมการของพรรคด้วย

นี่คือบทบาทของเสื้อแดงตามที่อจ.นิธิเสนอ*(1) ซึ่งถึงจะไม่บอกก็เข้าใจได้ว่าเป็นบทบาทในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจจะไม่ตั้งใจเจาะจงถึงการเปลี่ยนผ่านในความหมายลึกล้ำที่พูดไม่ได้ แต่ก็หมายถึงช่วงเวลาที่ "ทำให้ขบวนการเสื้อแดงไม่มีเป้าหมายทางการเมืองใดๆ นอกจากคอยต้อนรับทักาิณกลับบ้าน"

ซึ่งในที่นี้สามารถนำเอาแนวคิด และข้อเสนอของอาจารย์สมศักดิ์มาต่อยอดได้

อจ.สมศักดิ์เปิดประเด็นบนหน้าเฟชบุ๊คว่า ปัญหาใหญ่ที่ควรคิด ถาม หรืออภิปรายกันคือ

ในที่สุดแล้ว เป้าหมายในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของทักษิณ-เพื่อไทย-นปช. คืออะไร ไม่ว่าสำหรับรัชกาลนี้ หรือรัชกาลหน้า (โดยเฉพาะสำหรับรัชกาลหน้า เมื่อทักษิณ-เพื่อไทยเป็นที่คาดหวังว่าจะ comeback -กลับมา- เต็มที่)
จากนั้นอจ.สมศักดิ์ได้เพิ่มเติมว่า ในช่วงใกล้ๆ ที่ผ่านมา (แม้แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เมื่อนิยายยายไฮตอนใหม่ออกมา)*(2) ในหมู่คนเสื้อแดงมีการเชียร์พระบรมฯ กัน

ผมคิดว่าคำถามที่ควรถามคือ บรรดาท่านที่เชียร์พระบรมฯ มีความเห็น ความคาดหวัง หรือต้องการให้ ภายใต้รัชกาลใหม่ สถานะของสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างไร
กรณีที่ อจ.สมศักดิ์เอ่ยถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานะ หรือเป้าหมาย ในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในแวดวงวิชาการ และผู้ที่พยายามทำความเข้าใจปัญหาการแตกแยกทางการเมืองในประเทศไทยด้วยหลักการสากล ทั้งในด้านกฏหมาย และการสื่อสาร (เปิดข้อมูล) โดยเสรี มีความเห็นคล้ายคลึงกันว่าเกิดจากการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นข้ออ้าง (แม้กระทั่งใช้เป็นเครื่องมือ) กำจัด กีดกัน และกดขี่ฝักฝ่ายการเมืองที่ไม่ยอมคล้อยตามตน

มีการนำเอามายาคติมาเป็นสรณะ แต่ในขณะเดียวกันกำหนดมาตรฐานซ้อนขึ้นมาเหนือปกติ อาทิ คนธรรมดาสามัญถ้าหากกล่าวถึง อ้างอิง และวิจารณ์ โดยละไว้ หรือไม่ได้แสดงให้เห็นซึ่งความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ชั้นใน แม้ได้เสนอข้อเท็จจริงด้วยเจตนาที่จะให้ข้อคิดเป็นทางออกต่อปัญหาของประเทศ ก็จะถูกแจ้งโทษความผิดฐานบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ

แต่บุคคลชั้นสูงอย่าง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา กลับแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อองค์มกุฎราชกุมารได้ (ดังปรากฏใน เอกสารวิกิลี้ค) ไม่มีใครคิดจะกล่าวหาแต่อย่างใด อย่าว่าแต่การฟ้องร้องเอาผิด

ดังที่เอกอัคราชทูตแอริค จี. จอห์นเขียนไว้ในโทรเลขถึงกรุงวอชิงตันเมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๓ ว่ารัฐบุรุษของไทยทั้งสามกล่าวถึงองค์สยามมกุฏราชกุมารวชิราลงกรณ์อย่างค่อนไปในทางลบ ได้มีการสนทนาถึงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์โดยที่ พล.อ.อ.สิทธิ และนายอานันท์ เห็นพ้องว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจะทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดา แต่ทั้งสองคนแสดงให้เห็นว่าประเทศชาติจะไปในทางที่ดีกว่าถ้ามีการจัดเปลี่ยนในเรื่องนี้ให้เป็นอย่างอื่น

และขณะที่พล.อ.เปรมยอมรับว่าสมเด็จพระบรมฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทางใดทางหนึ่งในสัมพันธภาพต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พล.อ.อ.สิทธิปริวิตกว่า ถ้าหากพระบรมฯ ทรงเสด็จขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้วจะทรงยินยอมให้ทักษิณได้กลับประเทศไทย ซึ่งนายอานันท์ปรารภว่าน่าจะมีใครสักคนที่สามารถกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องนี้

ดร.สมศักดิ์เขียนในเฟชบุ๊คอีกว่า ไม่เป็นความลับว่าคนรักเจ้าชนชั้นกลางจำนวนมากมีปัญหาสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนผ่านนี้ กรณีที่ฮือฮากันเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับธนบัตรพิเศษที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์ขึ้น เป็นเพียงตัวอย่างล่าสุด

ประมวลได้ว่าความแตกแยกทางการเมืองถึงขั้นฝ่ายหนึ่งไม่ลดละ และจ้องจองล้างจองผลาญอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นเพราะมีปัญหากับการสืบราชสันตติวงศ์ร่วมอยู่ด้วย คือเกิดการไม่สบอารมณ์กันตั้งแต่ระดับอำมาตย์ลงมาถึงคนรักเจ้าชนชั้นกลาง จึงได้เห็นอีกฝ่ายแสดงออกบ้างว่าเลือกเจ้าเลือกนายเหมือนกัน ปรากฏการณ์คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งใส่เสื้อทีเชิ้ตเชิงสัญญลักษณ์ที่มีข้อความพาดหน้าอกว่า เรารักพระบรมฯ เริ่มเกิดถี่ขึ้น

ทำให้ข้อความย่อหน้าสั้นๆ ของดร.สมศักดิ์ที่ว่า ในอนาคตเราจะได้เห็นปัญญาชนรักเจ้าตั้งแต่ระดับบวรศักดิ์ไปจนถึงแอ๊คติวิสต์อย่างหมอตุลย์ หันมาเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ บางทีเผลอๆ อาจจะเกิดปรากฏการณ์ สวิทช์ข้าง คือสลับจุดยืนระหว่างฝ่ายเสื้อแดงกับฝ่ายคนรักเจ้า นี้ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นเลยจริงๆ

จึงมาถึงความเห็นของสื่อมวลชน (ซึ่งอิงนักวิชาการ) ต่างชาติอย่างนายแอนดรูว์ มาร์แชล อดีตนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งค้นคว้าเนื้อหาในโทรเลขสถานทูตอเมริกันกรุงเทพฯ ตามที่เปิดโปงโดยวิกิลี้ค แล้วตัดสินใจลาออกจากรอยเตอร์เพื่อจะได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทยโดยไม่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองตามแนวปฏิบัติของสำนักข่าวต่างประเทศ

นายแอนดรูว์เขียนไว้ในบทความขนาดยาวที่เดิมทีตั้งใจให้เป็นการตอบกลับต่อหนังสือเล่มใหม่เรื่อง พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชกรณีกิจในชีวิต อันมีนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นหัวหน้าคณะกรรมการบรรณาธิการ โดยนัยยะที่จะแก้ต่างหนังสือพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกเล่มหนึ่งที่ต้องห้ามของพอล แฮนลี่ย์ อดีตผู้สื่อข่าวนิตยสารฟาร์อีสเทิร์นเอคอนอมิครีวิวประจำประเทศไทยเรื่อง เดอะคิงเน็ฟเวอร์สไมล์

นายแอนดรูว์เขียนไว้ในตอนต้นๆ ของบทแรกว่า

การเพิ่มขึ้นของความขัดแย้งทางสังคม และการเมืองที่เกาะกินประเทศไทยยุคใหม่เป็นการกระเสือกกระสนหาคำตอบอันถูกต้องต่อคำถามทั้งหลายที่รุมล้อม ว่าประชาชนไทยสมควรมีสิทธิเท่าเทียมกันหรือไม่ ระบบประชาธิปไตยจะใช้ได้ผลอย่างไรในประเทศไทย ความเป็นไทยหมายความว่าอย่างไร...ประชากรของประเทศจำเป็นต้องหาคำตอบเพื่อที่จะเยียวยาบาดแผลจากความแตกแยกอันขมขื่น เพื่อเปิดทางให้ประเทศชาติเคลื่อนต่อไปข้างหน้า มีทางเดียวเท่านั้นที่จะพบคำตอบต่อปัญหาอันเร่าร้อน และสำคัญเหล่านั้น ประชาชนไทยต้องหันหน้าเข้าเจรจากัน
.
ทว่าความหวัง (ดี) เช่นนั้นคงจะเกิดขึ้นได้ยาก หากดูจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ในระดับของชนชั้นนำนั้นต่างฝ่ายต่างก็ไม่ต้องการที่จะพูดถึงเรื่องที่ทางอันเหมาะสมของสถาบันกษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตยสากล หรือก็คือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้ทันสมัย ไม่ตกเป็นเครื่องมือ และแอบอ้างเพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ดังที่ดร.สมศักดิ์บอกว่า แต่จนบัดนี้ ไม่มีใครยอมพูดกันออกมา ไม่ยอมให้มีการอภิปรายเรื่องสำคัญนี้ในที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมา

ดูเหมือนจะไม่มีใครในสถานภาพที่สามารถจัดการให้เกิดการสนทนาอภิปรายดังว่าขึ้นได้ จะยินดี หรือมีแก่ใจทำตามนั้น ดังคำอ้างแบบที่นายอานันท์กล่าวกับทูตอเมริกันแอริค จอห์นว่า ดูแล้วไม่มีใครที่จะทำได้ดังนั้น ล้วนสงวนท่าทีรอให้พ้นการเปลี่ยนผ่าน หรือไม่ก็นิ่งไว้ในขณะที่พยายามเตะสกัดตัดขาไม่ให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปในทางที่พวกตนไม่ต้องการ

ทั้งๆ ที่ความสมเหตุผลของการถกปัญหาในทางสาธารณะสามารถยกขึ้นมาให้เห็นได้อย่างชัดเจนดังที่นายแอนดรูว์เขียนอีกตอนหนึ่งว่า

การตั้งคำถาม และถกเถียงในเรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไม่ได้หมายความไปถึงว่าจะต้องให้ล้มเลิกสถาบันแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามการถกเถียงอย่างเปิดเผย และเห็นอกเห็นใจกันจะก่อให้เกิดข้อสรุปต่อขอบข่าย และขีดจำกัดพระราชอำนาจอันเป็นที่ยอมรับได้แก่ทุกฝ่าย ซึ่งจำเป็นแก่การดำรงอยู่สืบไปในระยะยาวของสถาบันกษัตริย์ไทย

ขณะที่คนไทยยังคงอมพะนำต่อไปไม่ยอมปริปากกัน นักวิชาการต่างชาติบางรายไปไกลถึงขั้นเสนอทางออกให้ในลักษณะที่ก้าวล้ำหน้าไปไกลกว่าคนไทยทั่วๆ ไปจะคำนึงถึง

นายเซอร์ฮัท อูนาลดิ ซึ่งกำลังเป็นแคนดิเดทปริญญาเอกในสาขากิจการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยฮัมโบ๊ลด์ ประเทศเยอรมนี  เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทยในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน เขาเอ่ยถึงการสืบราชสันตติวงศ์ไทยว่า

แม้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมิได้ทรงมีสิ่งที่นักปรัชญาการเมืองชาวเยอรมันเรียกว่า บุคคลิกภาพทางสายเลือด (Hereditary Charisma) อันศักดิ์สิทธิ์ (sacred) เฉกเช่นพระราชบิดา การลดหย่อนภาพพจน์ของสถาบันกษัตริย์ลงได้ จะทำให้สอดประสานกับความรู้สึกสาธารณะในขณะนี้ที่มิได้มุ่งหวังอะไรกับสถาบันกษัตริย์มากนักและออกผลอย่างทันตาเห็นก็ได้ ดังที่มีชาวไทยคนหนึ่งตอบคำสัมภาษณ์ของเขาว่า รู้สึกใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้นเมื่อสถาบันฯได้ผ่อนคลายบทบาทโดดเด่นลง

คนเสื้อแดงที่สวมเสื้อข้อความ เรารักพระบรมฯ จะรู้สึกเหมือนกันเช่นนั้นทั้งหมดหรือเปล่าไม่ใช่ปัจจัยชี้นำต่อการมีบทบาทของพวกเขาในสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ คนเสื้อแดงในฐานะที่เป็นคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองที่อิงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งขาดลอยทุกครั้งที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางได้ชัยชนะในครั้งต่อไป (เพราะผลกรรมที่ทำไว้สมัยเป็นรัฐบาล และผลบุญที่ไม่เคยได้ทำเลยเมื่อกลับมาเป็นฝ่ายค้าน) จะวางตนอย่างไรในการเป็นกำลังที่แข็งขันขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยขึ้นไปสู่ระดับมาตรฐานสากล ทั้งในจิตสำนึกการเมืองประชาธิปไตย การกำหนด และบังคับใช้กฏหมาย กับการยอมรับความจริงในเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ทุกคนที่มีมาตั้งแต่ปฏิสนธิ

การนี้จึงต้องย้อนกลับไปยังข้อเขียนของ อจ.นิธิอีกครั้งที่ได้สรุปเป้าหมายทางการเมืองของคนเสื้อแดงเอาไว้ว่า 

"เรียกร้องความเป็นธรรมให้คุณทักษิณ และให้แก่ตนเอง ในกรณีที่ถูกสังหารโหดในปี ๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓ ยุติการใช้กฏหมาย และอำนาจรัฐรังแกประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายอำนาจ คัดค้านการรัฐประหารในปี ๒๕๔๙ และต่อต้านการรัฐประหารซึ่งอาจมีขึ้นอีกในอนาคต ส่งเสริม และรักษาระบอบประชาธิปไตย จึงต่อต้านอำนาจนอกระบบที่ปรากฏตัวในรูปแบบต่างๆ"

เหล่านั้นล้วนแต่มีรายละเอียดที่ลงลึกถึงข้อเท็จจริงไม่สามารถมองข้าม หรือละเลยได้ แต่ดูเหมือนว่าจะมีการหลงลืมในรายละเอียดเหล่านี้กันอยู่ โดยมีม่านของการ ค่อยเป็นค่อยไป และ ไม่หักด้ามพล้าด้วยเข่า พรางตาอยู่ในท่าทีของส่วนการนำ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์

การสังหารโหดในปี ๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓ ยังมีโจทย์ที่จะต้องแก้ตกค้างอีกมาก จำนวนผู้ต้องขังด้วยข้อหาก่อการร้ายเพราะไปร่วมชุมนุมเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาลยังมีเหลืออีกหลายสิบ ข้อสำคัญการเกี้ยเซี๊ยปรองดองไม่เอาผิดกับผู้ที่สั่ง และลงมือฆ่าประชาชนแบบเดียวกับการขยิบตาสมานฉันท์หลังเหตุการณ์มหาวิโยค ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นั้นทำหลงลืมไม่ได้

การใช้กฏหมาย และอำนาจรัฐรังแกประชาชนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามศูนย์อำนาจ นี่ก็สำคัญมาก ในกรณีกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ องค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติ รวมทั้งที่อยู่ในสังกัดสหประชาชาติ ชี้ให้เห็นหลายครั้งแล้วว่าเป็นกฏหมายที่กำหนดโทษเกินกว่าความผิด ซ้ำร้ายการบังคับใช้ และการพิจารณาคดีโดยศาลไทยเต็มไปด้วยความลำเอียง เลี่ยงบาลี และปฏิเสธมาตรฐานสากล 

ดังที่นายเซอร์ฮัทคาดว่าถึงอย่างไรหลังการเปลี่ยนผ่านไปแล้วจะไม่มีการแตะต้อง ม.๑๑๒ แน่นอน ใครก็ตามที่อ้างอย่างเสล่อๆ ว่ากฏหมายมีไว้ไม่มีปัญหาถ้าไม่มีใครคิดละเมิด โดยเฉพาะพวกรักเจ้าไม่เท่าเทียมที่ออกมาค้านหัวชนฝาไม่ยอมให้แก้ไข หรือยกเลิก รอไว้ให้การเปลี่ยนผ่านตามครรลองเสร็จสรรพเสียก่อน คงได้รู้กันว่า ม.๑๑๒ นั่นเจ๊หรือจ่า

การต่อต้านรัฐประหารก็ดูจะเป็นไปแต่ในทางสัญญลักษณ์มากกว่าที่จะเอาจริงเอาจัง ตราบเท่าที่ยังไม่มีการนำเอาข้อเสนอลบล้างผลพวงของการรัฐประหารโดยคณะนิติราษฎร์ไปศึกษาหาทางทำให้เป็นรูปธรรม อย่างน้อยๆ น่าที่จะนำเอาจุดเริ่มของขบวนการเสื้อแดงที่มาจากการรวมตัวกันต่อต้าน ขัดขืนรัฐประหารโดยกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการมาเป็นเครื่องเตือนใจไว้บ้างก็ยังดี

ประเด็นท้ายสุดเกี่ยวกับการต่อต้านอำนาจนอกระบบ นี่จัดว่าสำคัญเหนืออื่นใดในภาวะแห่งการเปลี่ยนผ่าน ในเมื่อขบวนการเสื้อแดงปฏิเสธ และพยายามต่อสู้กับอำนาจนี้ที่มาจากกลุ่มชนชั้นนำ อำมาตย์ ก็ไม่ควรที่จะกลับกลายเป็นมือไม้ให้กับอำมาตย์ชุดใหม่เพียงเพราะช่วยกำจัด ขับไล่อำมาตย์ชุดเก่าออกไปได้

ด้วยประสพกรรม และความชอกช้ำที่ได้รับ เสริมด้วยความรู้ และทักษะในด้านจิตวิญญานการเมืองประชาธิปไตยที่เรียกว่า ตาสว่าง คนเสื้อแดงน่าที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างดีแล้ว การยืนหยัดอยู่กับเจตนาบริสุทธิ์ในทางประชาธิปไตยโดยไม่ไขว้เขว ไม่อมพะนำ ไม่ต้องเดินหมากให้มันหลายชั้นนัก ว่ากันตามตรง เว้ากันซื่อๆ ไม่ต้องมีลับลวงพราง

ปัญหาความแตกแยกในชาติของไทยที่แม้บัดนี้ยังมองไม่เห็นทางที่จะทำให้อยู่ร่วมกันโดยสันติได้นั้นอยู่ที่เรามี สลิ่ม กับ ขนมชั้น แข่งขัน แก่งแย่งกันอยู่ 

ลองผละจากขนมชาววังทั้งสองไปชิมขนมเค็กแบบที่ชาวฝรั่งเศสเคยเจอสมัยพระนางมารีอังตัวเน็ตดูบ้าง อาจจะช่วยให้ประชาชนทั้งมวลเปลี่ยนไปหาสรณะเดียวกันแบบสากลที่ทุกคนล้วนเสรี และเท่าเทียม ไม่มากไม่น้อย ไม่ต่ำไม่สูงไปกว่ากันได้


*(1) และได้รับการสนองจากแกนนำ นปช. ในการปาฐกถางานรำลึกครบรอบ ๖ ปีรัฐประหาร ๒๕๔๙ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อคืนวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๕ โดยนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ กล่าวว่าข้อเสนอนักวิชาการอย่าง อจ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ให้เสื้อแดงถอยห่างจากพรรคเพื่อไทยนั้นเป็นอุดมการณ์ของ นปช. อยู่แล้ว คือการก้าวสองขาที่ฉีกแยกจากกันไม่ได้ มัดรวมกันก็ไม่ได้ แต่กับข้อเสนอของ อจ.ใจ อึ๊งภากรณ์ ให้เสื้อแดงแยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองสังคมนิยมของตนเองขึ้นใหม่ นายวีระกานต์บอกว่า มีทั้งคนชอบ และคนสลดหดหู่ใจ แต่ไม่บอกว่า ความคิดนี้เป็นความคิดที่คนเสื้อแดงควรรับฟัง เหมือนของ อจ.นิธิ
*(2) นิยายยายไฮ เป็นการลงข้อความ (โพสต์) ของผู้ใช้นามว่า Hi s ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ที่ปัจจุบันใช้ชื่อ ชุมชนคนเหมือนกัน ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๒ หัวข้อกระทู้ว่า รายงานความคืบหน้าอาการป่วยของxxx” ซึ่งมีผู้ติดตามอ่านเป็นจำนวนมากถึงกว่า ๑๖ ล้านคลิก ขณะเขียนบทความนี้มีการโพสต์ล่าสุดของ Hi s หมายเลข #35713 แต่การโพสต์ซึ่ง อจ.สมศักดิ์เอ่ยถึงเป็นหมายเลข #35693 เรื่องราวที่โพสต์อ้างว่าเป็นนิยายของครอบครัวเจ้าของโรงงานปลากระป๋องที่มีลุงกับป้าเป็นเสาหลัก โดยที่ลุงมีอาการป่วยหนัก ในการเข้าไปร่วมแสดงความเห็นของผู้อ่านเคยมีการสันนิษฐานว่าผู้เขียนเป็นราชนิกุลฝ่ายหญิง หรืออาจเป็นข้าราชบริพารใกล้ชิดพระองค์ ที่มักเขียนเชิดชูพระองค์หนึ่งเหนืออีกพระองค์หนึ่ง แม้ในการโพสต์พาดพิงในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งมีผู้เสนอฟันธงว่ายายไฮเจตนายกย่อง เมพ ขณะที่ตั้งใจกด จ่า

No comments:

Post a Comment