Friday, January 14, 2011

จริยธรรมสองสถาน

อ่านเอาเรื่อง :

ต้องถือว่าเป็นความบังเอิญที่ได้อ่านข้อเขียนสองชิ้นในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันเมื่อเช้าวาน แล้วเกิดความรู้สึกร่วมในเชิงเปรียบเทียบต่อประเด็นสำคัญทางการเมืองไทยเวลานี้


ข้อเขียนชิ้นหนึ่งเป็นบทวิจารณ์ของนายพอล ครักแมน ศาตราจารย์มหาวิทยาลัยพริ้นซตันผู้เคยได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปัจจุบันเขาเป็นคอลัมนิสต์อ็อป-เอ็ดประจำหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ (http://www.nytimes.com/2011/01/14/opinion/14krugman.html?nl=todaysheadlines&emc=tha212)

อีกชิ้นหนึ่งเป็นรายงานข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน (http://www.nytimes.com/2011/01/14/world/africa/14tunisia.html?_r=1&nl=todaysheadlines&emc=tha2)


ว่ากันถึงข้อเขียนของนายครักแมนก่อน

เขาว่าถึงปาฐกถาของประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าในพิธีไว้อาลัยผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากการกราดยิงด้วยปืนกลมือของหนุ่มสติฟั่นเฟือนในเมืองทูซอน มลรัฐอริโซน่า ซึ่งกลายเป็นประเด็นวิพากษ์อย่างหนักในสังคมอเมริกันเนื่องจากผู้ถูกยิงเข้าศีรษะท่านหนึ่งจนบัดนี้อาการร่อแร่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (House) สตรี ที่เคยถูกหมายหัวเพื่อขจัดจากตำแหน่งด้วยเป้าตาวัวของขบวนการทีพาร์ตี้ (Tea Party) และฝ่ายการเมืองขวาจัด (Ultra Conservative) ที่สนับสนุนนางแซร่าห์ เพ-ลิน อดีตผู้เข้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๘ คู่เคียงวุฒิสมาชิกจอห์น แม็คเคน


ข้อวิพากษ์เริ่มมาจากการเขียนบนเว็บบล็อกของฝ่ายซ้ายเสรีนิยม (Liberals) เชื่อมโยงเหตุร้ายน่าสลดที่เกิดขึ้นกับบรรยากาศทางการเมืองที่ฝ่ายขวา (โดยเฉพาะนางเพ-ลิน) มักใช้ถ้อยคำรุนแรงกล่าวหา และโจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะประธานาธิบดีโอบาม่า ว่าเป็นเผด็จการสังคมนิยมแบบคีเนีย (เชื้อชาติข้างบิดาของประธานาธิบดี) บ้าง หรือโครงการปฏิรูประบบประกันสุขภาพของรัฐบาลบรรจุแผนงาน สั่งฆ่า (Death Panel) บ้าง


และเมื่อปีที่แล้วนี่เองก่อนการเลือกตั้งกลางสมัย (Mid-term) ปลายปีที่ผ่านมา นางเพ-ลินได้รณรงค์หาเสียงให้แก่ผู้สมัครที่ขบวนการทีพาร์ตี้สนับสนุนโดยการออกแผนผังท้องที่ต่างๆ ของผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครทที่เป็นเสรีนิยม โดยใช้เป้าตาวัวปักหมุดว่าจะต้องกำจัดออกให้ได้


อาจเป็นการบังเอิญที่ผู้ตกเป็นเป้าหนึ่งในจำนวนนั้นคือส.ส.หญิง เกเบรียล กิ๊ฟฟอร์ด แห่งอริโซน่า แต่อาจจะไม่บังเอิญที่นางเพ-ลินเคยปราศรัยเจาะจงตัวนางกิ๊ฟฟอร์ด เพราะเธอเป็นส.ส.ในท้องที่มีสมาชิกทีพาร์ตี้หนาแน่น แต่ประกาศจุดยืนต้านนโยบายของขบวนการอย่างแข็งขัน


ภูมิหลังทางการเมืองเช่นนั้นทำให้ประธานาธิบดีปราศรัยในพิธีไว้อาลัยเมื่อวันพุธ (ที่ ๑๒ มกรา) ให้ประชาชนอเมริกันใช้การสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องนำทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน และทำความเข้าใจกันและกันในจุดยืนทางจริยธรรมของแต่ละฝ่ายให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป


คำปราศรัยของประธานาธิบดีได้รับการชื่นชมจากทั้งซ้ายและขวาของขั้วการเมืองอเมริกัน แต่นายครักแมนท้วงว่าการแบ่งขั้วในสังคมอเมริกันมันลงลึกมากกว่าที่คำปลอบประโลมใดๆ จะผสานได้ เพราะความแปลกแยกทางการเมืองของคนอเมริกันไม่ใช่ปัญหาในทางปฏิบัติที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้นๆ


แก่นแท้ของความจริงในเรื่องนี้ก็คือ สังคมอเมริกันมีมาตรฐานทางจริยธรรมแบ่งแยกกันเป็นสองสถาน ครั้นเมื่อเปรียบเทียบอย่างอนุโลมในทางหลักการ จะเห็นได้ว่าการเมืองไทยก็มีการแบ่งขั้วเพราะสังคมแบ่งแยกเป็นสองแนวทางตรงข้ามเช่นกันในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมของการนิยามคำว่า ประชาชน


ซึ่งเราไม่สามารถนำเอาหลักจริยธรรมตามประเพณีมาเป็นตัวตั้งตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างได้อีกต่อไป ในเมื่อจริยธรรมเหล่านั้นก่อให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้น ที่ส่วนหนึ่ง (ดูเหมือนจะจำนวนน้อยกว่ามากมาย) ติดยึดกับนามธรรมของการเป็น คนดี หรือเป็นผู้จงรักภักดี และซื่อสัตย์ อีกส่วน (ใหญ่) กลายเป็นคนระดับรากหญ้า บ้างอาจประชดตนเองว่า ไพร่ แต่ก็ถูกอีกฝ่ายขนานนามไว้ให้เสียแล้วว่า บ้านนอก และขาดการศึกษา


นายครักแมนบอกว่าสิ่งที่คนอเมริกันควรทำในขณะนี้ไม่ใช่พยายามที่จะผสาน และแก้ไขให้ความแตกต่างหมดไป ในเมื่อมันยังไม่เห็นทางเป็นได้


จึงน่าที่จะต่างฝ่ายต่างต้องจำกัดการแสดงจุดยืนของตนให้อยู่ในขอบเขตเหมาะควรจะดีเสียกว่า


ทางออกที่นายครักแมนเสนอนี้เองเป็นหลักการที่สามารถนำมาปรับใช้กับความแปลกแยกแตกขั้วทางการเมืองของไทยได้อย่างเหมาะเจาะ หากเราสับเปลี่ยนเนื้อหาแห่งสถานการณ์ทางการเมืองของไทยเข้าไปแทนของอเมริกา จะได้ความแปลกแยกระหว่างเหลืองกับแดงที่ทุกวันนี้คนจำนวนมากยิ่งขึ้นเริ่มเกิดความรู้สึกว่า สุดที่จะหาหนทางเยียวยาได้แล้ว


ความรู้สึกเช่นนั้นดูจะเกิดกับฝ่ายที่ถูกตราหน้า หรือทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นรอง และด้อยกว่า มากกว่าฝ่ายที่ถือตนว่าเหนือกว่าเพราะมี จริยธรรมที่ฝันใฝ่ (ดังคำที่นายครักแมนใช้ว่า Moral imaginations )


และนี่นำไปสู่การเปรียบเปรยกับเนื้อหาในพาดหัวข่าววันเดียวกันที่ว่า เบื้องหลังความวุ่นวายในตูนิเซีย ความคั่งแค้นต่อทรัพย์ศฤงคารแห่งตระกูลผู้ปกครอง ซึ่งให้รายละเอียดคืบหน้าของสถานการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเผาสถานที่ และทรัพย์สินต่างๆ อันเป็นของประธานาธิบดีซีน เอล อบิดีน เบ็น อาลี และตระกูลทราเบลสิ ของภรรยาประธานาธิบดีคนที่สอง


ตูนิเซียเป็นประเทศมิตรสนิทของสหรัฐในแถบทะเลแคริเบียนที่มีประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันมาแล้ว ๒๓ ปี และเหลือเวลาอีกหนึ่งปีก็จะหมดสิทธิต่ออายุอีกแล้วตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากแต่ประชาชนยังไม่เชื่อว่าประธานาธิบดีจะหาทางบิดพริ้วเพื่อครองอำนาจต่อไป แม้ประธานาธิบดีจะออกมาแถลงเมื่อวันก่อนว่าจะไม่ทำเช่นนั้น หลังจากเกิดการจลาจลเผาเมืองประท้วงเสียหายยับเยินไปแล้ว


ความขัดแย้งภายในตูนิเซียยังมีเรื่องของความแตกต่างห่างกันลิบลิ่วทางรายได้ และปากท้องความเป็นอยู่ระหว่างประชาชนทั่วไปกับกลุ่มผู้ปกครองในเครือข่ายครอบครัวอันใหญ่โตของประธานาธิบดี และภริยา ที่พอจะเทียบเคียงไม่ห่างนักกับความแตกต่างระหว่าง อำมาตย์ และ รากหญ้า ในประเทศไทย


แรงคุกรุ่นแห่งกระแสความไม่พอใจของชาวบ้านตูนิเซียต่อพฤติกรรมกอบโกยสร้างความมั่งคั่งแก่คนในครอบครัวของผู้ปกครองเป็นที่ทราบดีของทางการอเมริกัน ยืนยันได้จากวิกิลี้คเผยบันทึกรายงานของเอกอัครราชทูตอเมริกันตรงตามนั้น และที่กลายเป็นเพนียงจุดไฟการประท้วงให้ออกมาสู่ท้องถนน เสริมด้วยการกระพือโหมอย่างแพร่หลายบนเฟซบุ๊ค ลุกลามเป็นเหตุร้ายเผาผลาญวายวอด


โชคดีที่เหตุร้ายในเมืองไทยยังไปไม่ถึงขั้นตูนิเซีย


แม้นว่าการเผาห้างเซ็นทรัลเวิร์ล โรงภาพยนตร์สยาม และสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ หลังจากรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ และศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน (ศอฉ.) ส่งขบวนรถถัง และหน่วยแม่นปืน (สไน้เปอร์) เข้ากวาดล้างการชุมนุมของเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตกว่า ๙๐ คน และบาดเจ็บเกือบสองพัน หายสาปสูญอีกนับร้อย จะมีการให้ร้ายป้ายสีว่าเป็นฝีมือเสื้อแดงก็ตาม


แต่หลักฐานทั้งภาพนิ่ง และคลิปวิดีโอ ที่ปรากฏออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งทางการรัฐบาลยังทำเฉยไม่รับรู้นั้น แย้งให้เห็นว่าน่าจะเป็นน้ำมือของฝ่ายทหารเอง และหน่วยก่อกวนของฝ่ายตรงข้ามเสื้อแดงมากกว่า


ทั้งมวลของการเปรียบเทียบข้างต้นย่อมเป็นเรื่องจากสถานการณ์ และพื้นฐานที่ต่างกัน แต่ในทางเปรียบเปรยแล้วละก็ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมไทยเวลานี้ก็มีความคุกรุ่นที่ละม้ายคล้ายกันอยู่ อีกทั้งในแก่นลึกของความแปลกแยกทางการเมืองไทย ยังเป็นเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมสองสถานทำนองเดียวกับที่นายครักแมนเอ่ยถึงในบทวิพากษ์สังคมอเมริกันของเขาด้วย


เช่นนี้ความพยายามปรองดองของรัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วยการสร้างนโยบาย ประชาวิวัฒน์ ให้เห็นว่าต้องการเอาใจแรงงานนอกระบบอันเป็นส่วนหนึ่งของปวงชนที่เรียกกันว่ารากหญ้า ในขณะที่ยังใช้ความพยายามไม่ลดละในการปกปิดความรับผิดกรณีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเกือบร้อยด้วยกระสุนของทหาร รวมทั้งการแสร้งทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ใยดีต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขัง คดีความไม่ขยับเขยื้อน แสดงเจตนาที่จะถ่วงเวลาให้คนทั่วไปที่ไม่เดือดร้อนลืมเลือนความโหดเหี้ยม และเปื้อนเลือดไปเสีย


นั่นยิ่งเป็นการสุมไฟให้กระพือขึ้นไปไม่หยุดยั้ง ดังปรากฏในการนัดหมายพบกันเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในวันที่ ๑๐ และ ๑๙ แต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมมากขึ้นทุกคราว จากหลายพันเป็นหลายหมื่น ไม่นานคงเป็นหลายแสน


หากท่าทีของผู้ปกครองไทยยังแถกแถทำเป็นไม่สะทกสะท้านเช่นนี้ เหตุร้ายแบบตูนิเซีย หรือกระทั่งเนปาลอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่หาทางหลีกเลี่ยงเสียแต่บัดนี้


ทั้งที่ทางเลี่ยงก็ยังมี อย่างง่ายๆ ไม่ต้องวิเคราะห์วิจัยให้ซับซ้อน ก็ด้วยการนำหลักการที่นายครักแมนเสนอไว้แก้ปัญหาสังคมอเมริกันมาปรับใช้ นายครักแมนสรุปในบรรทัดสุดท้ายบทวิพากษ์ของเขาว่า


เราล้วนต้องการความสมานฉันท์ แต่เส้นทางไปสู่เป้าหมายนั้นเริ่มที่ความเห็นพ้องต้องกันเสียก่อนว่า ความแปลกแยกระหว่างกันจะปรับประสานแก้ไขได้ด้วยหลักเกณฑ์ของกฏหมายเท่านั้น


สำหรับประเทศไทย หลักเกณฑ์ของกฏหมาย หรือ Rule of Law มิได้หมายถึงกฏหมายตราสามดวง กฏมณเฑียรบาล หรือหลักการตุลาการภิวัฒน์ แต่จักต้องเป็นหลักเกณฑ์ของกฏหมายที่ยอมรับกันในทางสากล และยึดมั่นอยู่กับสิทธิส่วนบุคคลในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น


การตีความ Rule of Law ไปเป็นอื่นนอกเหนือจากนั้น ย่อมเป็นการดึงดันไม่ต่างกับพฤติกรรมของประธานาธิบดีตูนิเซีย

No comments:

Post a Comment