Saturday, February 23, 2013

วิภาษวิธีอย่างเสื้อแดง หาหนทางนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง


(ตีพิมพ์ครั้งแรก ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ที่ไทยอีนิวส์)
 
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ปรากฏบทความของอาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ์ โตจิราการ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เรื่อง การแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ประชาชน (๒) ซึ่งขอตั้งข้อสังเกตุในที่นี้ว่าใช้วิธีเขียนเคร่งขลึม น่ายำเกรงอย่างนักทฤษฎี*(1)

บทความนี้อ้างอิงความต่อเนื่องกับบทความอีกชิ้นหนึ่งของ อจ.ธิดาเช่นกัน ที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ในวันที่ ๖ เดือนเดียวกันโดยประชาไทชื่อ ความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชน และหลักการแก้ปัญหา

โดยเนื้อหาของบทความทั้งสอง ที่ส่วนใหญ่พูดถึงหลักการจากฐานที่มั่นปลดแอกประชาชนไทยในอดีตสามอย่าง คือ สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี’ ‘รักษาโรคเพื่อช่วยคนและ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างอันพอเข้าใจได้ว่าเป็นการตอบโต้ (นัยว่าอย่างมิตรต่อมิตร) ต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ในท่าที และการตอบสนองเรื่องนิรโทษกรรมผู้ต้องโทษทางการเมือง ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นปช.

ชัดเจนในตอนท้ายของบทความชิ้นแรกที่ว่า มิใช่เป็นดังคำพูดที่นักวิชาการบางท่านโจมตีว่า นปช. มิได้ทำอะไร แต่มาเขียน พรก. เสนอตัดหน้ากลุ่ม ๒๙ มกรา หรือนักวิชาการบางท่านไปพูดในรายการ Wake Up Thailand ที่ Voice TV ว่า นปช. รอให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสร็จก่อน นี่จึงเป็นเรื่องจงใจบิดเบือนความจริง

ในการเสวนา ๒๙ มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ที่บริเวณลานพระรูปทรงม้า เมื่อค่ำวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา อันมีนักวิชาการสี่ท่าน กับนักหนังสือพิมพ์อีกหนึ่งท่าน คือ ผศ. ดร.สุดา รังกุพันธ์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ดร. พวงทอง  ภวัครพันธุ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ บรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวเนชั่น รศ. ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ. ดร.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. และอดีต สสร. ๒๕๔๐

นอกเหนือจากให้ข้อมูลอันเป็นความจริงที่ถูกมองข้าม ละเลยจากสื่อสายหลัก หรือออกมาไม่ถึงประชาชน ดังที่ อจ.พวงทองเล่า (ในคลิปยูทู้ปช่วงนาฑีที่ ๒๘ : ๑๕) ว่ามีข้อมูลเพิ่มเติมคำให้การของนายตำรวจนอกราชการยศ พ.ต.ท. ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอัคคีภัยของเครือเซ็นทรัล ว่า

เย็นวันที่ ๑๙ (พ.ค.๕๓) ฝ่ายรักษาความปลอดภัยมั่นใจว่าเซ็นทรัลเวิร์ลอยู่ในครอบครองของทหารแล้ว ทั้งเก้าผู้ต้องหาเผาเซ็นทรัลเวิร์ล ซึ่งปัจจุบัน ๗ คนได้รับการยกฟ้อง อีกสองคนยังสู้คดีอยู่ เป็นผู้ไปหลบภัยในอาคาร ไม่มีความสามารถพอที่จะเผาอาคารขนาดใหญ่อย่างนั้นได้ โดยเฉพาะในคดีของนายสายชลที่เพิ่งสืบพยานนั้น อัยการมีเพียงหลักฐานภาพถ่ายไม่ชัดเจนที่อ้างว่าเป็นนายสายชลถือกระป๋องอยู่ ไม่ปรากฏรอยสักเต็มแขนเหมือนที่นายสายชลมีอยู่จริง

นักวิชาการบางท่านพูดเสวนาในคืนนั้นตำหนิรัฐบาล ว่า ขอเป็นรัฐบาลไปนานๆ รักษาอำนาจไว้ เมื่อได้จังหวะเหมาะเมื่อไรแล้วค่อยทำให้ (ฟัง อจ.พนัส ในยูทู้ปนาฑีที่ ๑:๕๙ และ ๑๒:๑๙) ทั้งวิพากษ์ว่าไม่น่าจะแสดงอาการเกรงใจ หรือพยายามปรองดองกับฝ่ายค้านมากไป เพราะ อันที่จริงคู่ต่อสู้เขาไม่ใช่ฝ่ายค้าน คู่ต่อสู้แท้จริงคือองค์กรอิสระ กับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทหารด้วย (นาฑีที่ ๑๓:๐๐)

หนักที่สุดเห็นจะเป็นจาก อจ. สมศักดิ์ (นาฑีที่ ๑๗:๔๕) พูดว่า สิ่งที่อยากเรียกร้องต่อรัฐบาล ต่อคุณทักษิณ คือความจริงใจต่อการช่วยมวลชน เขาอยู่ในคุกเกือบสามปีแล้ว ทีนี้อาจารย์ธิดา ซึ่งผมก็รู้จักดี พี่เหวง ไปพูดที่สิชลเมื่อวาน เมื่อคืน บอกว่า โอเค รัฐบาลช่วย นปช. ก็ช่วย นี่พูดตรงๆ นะ อย่างไม่เกรงใจเลย เท่าที่ช่วยมันไม่สะท้อนความจริงใจเท่าไร แล้วมันน้อยเกินไป

ผมยกตัวอย่างก็ได้ เอ้า อย่างนี้ทำไมต้องมีอาจารย์หวานมานั่งทำกิจกรรมนี้ ผมสงสัยทำไม นปช. ไม่ทำเอง กิจกรรมแบบนี้ ทุกคนคงจำได้เมื่อแกนนำโดนจับ นปช. ชุมนุมหน้าศาลทุกสัปดาห์เลย หลังจากแกนนำออกมาแล้ว นปช. เคยชุมนุมหน้าศาลประท้วงศาลบ้างไหม

ซึ่งในตอนท้ายของบทความ อจ.ธิดาชิ้นที่สองก็ได้ตอบว่า เพื่อตอบคำถามว่าทำไมไม่ไปกดดันรัฐบาลด้วยการชุมนุม เพราะเราใช้หลักความเป็นมิตรไม่สร้างหรือขยายความขัดแย้งในหมู่ประชาชน แต่จุดยืน และเนื้อหานั่นต่างหากที่แสดงออกถึงความมั่นคง ยืนหยัดต่อข้อเรียกร้องบนผลประโยชน์ของการต่อสู้ของประชาชน

นี่แหละเป็นวิภาษวิธีอย่างเสื้อแดง ซึ่งอาจมีสลิ่มอยากเขื่องโดยแสดงอาการเกลียดทักษิณ และข่มเสื้อแดงนำไปใส่สีตีไข่แปะไว้ตามโซเชียลมีเดียให้เห็นว่าเป็นการแตกแยกบ้างแล้วก็ได้ ถ้าหากสลิ่มเหล่านั้นฉลาดด้วยเล่ห์นำเอาข้อความบางตอนไปขยายผล

อาทิตอนที่บอกว่า สิ่งที่เร่งความขัดแย้ง เพิ่มความขัดแย้งในหมู่ประชาชนให้พุ่งขึ้นสูง ที่สำคัญมิใช่ท่วงทำนองประหนึ่งเป็นศัตรู แต่เป็นเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริงโดยจงใจบิดเบือน ใส่ร้าย ให้มิตรถูกดูถูกเหยียดหยามและถูกเกลียดชัง เพราะถ้าจงใจใส่ความเท็จ นี่จะเป็นตัวเร่งความขัดแย้งให้พุ่งสูงขึ้นทันที

ตัวเร่งอย่างหนึ่งอาจมาจากคำให้สัมภาษณ์ของนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร บนหน้าหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ที่ว่า นายก็รู้ นายก็ปวดใจเหมือนกันว่าคอนโทรลไม่ได้ บอกแล้วไม่เชื่อฟังกัน ที่ผ่านมาพ.ต.ท.ทักษิณ บอกแล้วว่ายังไม่ถึงเวลาในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรจะต้องลงประชามติ แต่นางธิดา กลับมาพูดเรื่องการโหวตวาระ ๓ อีก ซึ่งเป็นการกระทำที่สวนทางกับพ.ต.ท.ทักษิณ แสดงให้เห็นว่าคุณไม่ฟังจากคนแดนไกลแล้ว ถือเป็นสิ่งผิดพลาดในการก้าวเดินของ นปช.

ซึ่งถึงจะมีบางคนไปโต้แย้งทางเว็บบอร์ดว่าเนื้อหาคำให้สัมภาษณ์ในคมชัดลึกไม่ตรงกับที่นายขวัญชัยพูด แต่จากข่าวกลายเป็นว่าขณะนี้เสื้อแดงมีอย่างน้อยสามเส้า และ นปช. ตกที่นั่งถูกสองรุมหนึ่ง นี่อาจเป็นไปตามการประเมินของ อจ.ธิดา ได้ว่า เนื่องมาจากขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น ปัญหาการเลือกตั้งท้องถิ่น การคัดสรรผู้นำ หรือตัวแทนอันก่อให้เกิดการได้เสียผลประโยชน์ อำนาจ บทบาทการต่อรอง

แม้นว่าจะเป็นการประเมินอย่าง สามัคคี วิจารณ์ สามัคคีด้วยการบอกว่า มองในแง่ดีก็แสดงว่าที่โจมตีกันเพราะถือว่าอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บทบาทการนำของประชาชนอยู่ในฐานะที่มีเอกภาพ และค่อนข้างมีพลังสูงในหมู่ประชาชน จึงต้องการให้มีลักษณะอนาธิปไตยเพื่อลดทอนภาวะการนำที่มีเอกภาพสูง...นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภาวะการนำให้มีภาวะการนำหลายกลุ่ม

แต่ถ้าตีความตามตัวอักษร การใช้คำว่า อนาธิปไตย และ ให้มีภาวะการนำหลายกลุ่ม ก็อาจเข้าข่ายทฤษฎีที่ อจ.ธิดาอ้างเองว่า ไม่สำรวจ ไม่มีสิทธิวิจารณ์ก็ได้ ในเมื่อขบวนการเสื้อแดงนั้นมีลักษณะมาแต่แรกเริ่มดังที่ อจ.ธิดาเขียนไว้อยู่แล้วว่า

เนื่องจากฝ่ายประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนี้มีจำนวนประชาชนนับสิบล้านคน มีความแตกต่างหลากหลายทางชนชั้น ทางผลประโยชน์ วิธีคิด วิธีทำงาน องค์ความรู้ และข้อมูล มิได้เป็นเอกภาพ แม้จะมีอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อความยุติธรรมเหมือนกัน แต่มีรายละเอียดการปฏิบัติ และเป้าหมายเฉพาะหน้าแตกต่างกันมาก

นอกจากลักษณะที่เป็นอยู่ไม่ใช่อนาธิปไตยแล้ว ภาวะการนำหลายกลุ่ม แบบ Collective leadership ไม่น่าจะเสียหลาย ถ้าหากแกนนำใหญ่ไม่สามารถสนองความต้องการของมวลชนได้ มิพักจะพูดถึงการสนองเป้าหมายเฉพาะกิจของแกนนำเท่านั้น 

การร่วมกันต่อสู้โดย แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างและละเว้นการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันอย่างสิ้นเชิงก็อาจนำไปสู่ชัยชนะได้ และเมื่อถึงจุดนั้นแล้วค่อยว่ากันถึงแกนนำสูงสุด และลำดับขั้นสายการบังคับบัญชาจะดีกว่า

แท้ ที่จริง ๓ สิ่งอันเป็นข้อเรียกร้องของ นปช. ดังปรากฏในบทความ อจ.ธิดา นั้นเป็นหลักการที่เหมาะสม และน่าชื่นชมอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าโหวตวาระสามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ การประกาศรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ และการออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ต้องคดีอาญาอันเป็นผลจากความขัดแย้ง ทางการเมือง ล้วนมีเสื้อแดงหลากหลายกลุ่มเห็นพ้อง

แต่ สิ่งที่นักวิชาการในการเสวนา ๒๙ มกราเรียกร้องอย่าง 'สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี' ฟังแล้วก็เห็นว่าไม่ได้เจาะจงเรื่องเป้าหมาย และหลักการของ นปช. หากแต่เป็นการปฏิบัติที่ขาดตก ไม่รักษาระนาบเดียวกับหลักการมากกว่า นักวิชาการเหล่านั้นมองว่ารัฐบาลหงอให้แก่ฝ่ายค้านมากเสียจนน่าสงสัยจะไปแอบ เป็นชู้กับเจ้านายของฝ่ายค้านนั่นหละ

ในตอนท้ายของการเสวนา ๒๙ มกรา อจ. พนัสพูดชัดเจนว่า ข้อเสนอนิรโทษกรรมที่มีอยู่ขณะนี้ ๓ แนวทาง คือ การออกเป็นพระราชกำหนดตามข้อเสนอของ นปช. การร่างรัฐธรรมนูญหมวดใหม่ตามข้อเสนอนิติราษฎร์ และการออกเป็นพระราชบัญญัติตามที่ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน  คอ. นธ. เสนอนั้น รัฐบาลจะรับไปทั้งสามแนวทางแล้วดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด แม้แต่ออกเป็นคำสั่งคณะรัฐมนตรีเองก็ยังทำได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าต้องรีบทำ ต้องแสดงความจริงใจ ไม่ใช่เพียงรับไปพลางๆ ปล่อยให้สวรรค์เท่านั้นบัญชาว่าลงมือทำได้เมื่อไหร่

ผู้เสวนาท่านหนึ่งบอกว่า การโยนเรื่องไปให้กฤษฎีกาพิจารณาเหมือนโยนเข้าไปในหลุมดำนั้นอาจเป็นการสรรพยอกอย่างตลกร้าย แต่ในความเป็นจริงทางปฏิบัติที่เป็นไปได้เรื่องอาจจมหายอย่างที่ว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีเจตนาจะรีบเร่ง หรือบังเอิญมีจุดยืนแบบเดียวกับนายขวัญชัย ไพรพนา ให้รอถึงปีสุดท้ายของวาระรัฐบาล และ ไม่ควรตะบี้ตะบันต้องทำในขณะนี้”*(2)

หรือแม้แต่กรณีที่รัฐบาลมอบให้นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำคนหนึ่งของ นปช. ไปคุยกับนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่หนึ่งเป็นตัวกลาง แล้วมีความเห็นต้องกันให้รัฐสภาเป็นผู้ร่างกฏหมายนิรโทษกรรมสองฉบับ ฉบับหนึ่งสำหรับนิรโทษกรรมทันทีเฉพาะผู้ชุมนุมไม่มีแกนนำ อีกฉบับให้มีกรรมการพิจารณาว่าบุคคลใดอีกบ้างสมควรได้รับนิรโทษกรรม

เสร็จแล้วปรากฏว่านายปานเทพนำไปเขียนบนเฟชบุ๊คว่า ร่างฯ ฉบับที่จะนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมไม่มีแกนนำนั้นจะเดินตามข้อเสนอของนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ซึ่งเสียชีวิตระหว่างควบคุมกำลังทหารขอคืนพื้นที่การชุมนุมเสื้อแดงที่สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ จากผลของระเบิดเอ็ม ๗๙

ข้อเรียกร้องนี้มีประเด็นหลักอยู่ที่ต้องไม่นิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่การปรองดอง นายปานเทพยังระบุด้วยว่าเขาไม่ขอมีส่วนร่วมในการร่างกฏหมายอีกฉบับเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งอันนี้เป็นจุดยืนของ พธม.

ข้อ น่าคิดสำหรับกรณีที่จะต้องร่างกฏหมายนิรโทษกรรมตามข้อเสนอของนางนิชาดัง กล่าวก็คือ ทำไมไม่นำนางพะเยา อัคฮาด มารดาของน.ส.กมลเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาสมัครผู้ถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนสไน้เปอร์ของชายชุดพรางบนรางรถ บีทีเอสตรงข้ามวัดปทุมวนาราม หรือญาติใกล้ชิดของผู้เสียชีวิตอื่นๆ อีกเกือบร้อยคนเข้ามาร่วมให้หลักเกณฑ์เป็นแนวทางด้วย

การแสดงจุดยืนของ นปช. ต่อกรณีข้อเสนอนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองนั้นเป็นปฏิกิริยาอันเหมาะควรแกฐานานุรูปแห่งองค์กร อีกทั้งเนื้อหาของบทความทั้งสองชิ้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแท้จริงในชาติ หาก นปช. จะใช้ความใกล้ชิดกับรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยชี้แนะ และชักนำให้เกิดการกระทำเพื่อผ่อนคลายทุกข์โศกของประชาชนจำนวนหนึ่ง ที่แม้จะเหลืออีกไม่มาก แค่ ๒๔ คน แต่ก็มีญาติพี่น้องรายล้อมที่ 'ตกทุกข์' รวมทั้งเพื่อนพ้องที่เห็นใจอย่างน้อยจำนวนหมื่น

คนเหล่านี้ 'ได้ยาก' เพราะออกมาชุมนุมทางการเมืองจนเป็นผลให้เกิดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หาก นปช. จะช่วยพวกเขาให้มากกว่านี้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนก็จะดี

รวมถึงบทบาทในการเจรจากับฝ่ายตรงข้าม และคู่กรณีทางการเมืองอย่าง พธม. อย่าปล่อยให้เขาไฮแจ็คฉกชิงเอาการนำไปแสดงง่ายๆ เช่นที่เกิดขึ้นในการเชิดชูแนวทางนิชาเหนือกว่าหม้ายเสื้อแดงนับร้อย



*(1) นี่เป็นอนุมานตามผู้ใช้นาม สนามหลวงซึ่งไปเขียนความเห็นแย้งต่อท้ายบทความดังกล่าวทำนองว่า อจ.ธิดาใช้ทฤษฎีม้าร์คซิสต์ และคติพจน์ประธานเหมาประกอบการเขียน

No comments:

Post a Comment