Sunday, January 18, 2009

บล็อกนี้สร้างขึ้นสำหรับตีพิมพ์ข้อมูลและข้อคิดเห็นบางอย่างเกี่ยวกับการเมืองไทย
เพื่อจุดประสงค์บั้นปลายในการรื้อฟื้น (Revive) หรือจัดตั้งใหม่ (Re-establish)
ให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยมีความสมบูรณ์ในลักษณะที่เป็นของประชาชน
เพื่อประชาชนและโดยประชาชนอย่างแท้จริง

1 comment:

  1. อ่อนนอก แข็งใน
    โดย ชัด
    ประกาศพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๖ ของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๑ น่าจะทำให้ผู้ติดตามการเมืองพวกทางสายที่สาม (แต่ไม่ใช่ทั้งตุ๊ดและอีแอบ) แบบผมหายอึดอัดไปได้โข
    นอกจากนายกรัฐมนตรีคนนี้เมื่อยังเป็นเพียงผู้ได้รับเสนอชื่อได้รับการวิจารณ์ในทางที่ดีมาเป็นส่วนใหญ่จากแวดวงต่างๆ ทางการเมือง ทั้งจากผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลอย่างนายเสนาะ เทียนทอง และผู้นำพรรคฝ่ายค้านอย่างนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ (ที่ต่อมาแถลงปฏิเสธแต่ก็ยังอยู่ในแนวที่ว่า “รับได้” แม้กระทั่งนายชวน หลีกภัย ที่แบ่งรับแบ่งสู้ตามสไตล์ ก็ยังจัดได้ว่า “ไม่ต่อต้าน”) แล้ว
    สาเหตุที่การขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมชายทำให้ผมรู้สึกว่าบรรยากาศทางการเมืองผ่อนคลาย อยู่ที่นายสมชายสามารถต่อสายคุยกับพันธมิตรฯ ได้
    ที่ผ่านมาพันธมิตรฯ ไม่ยอมเจรจากับใครซึ่งหาทางผ่อนคลายความตึงเครียดจากการประท้วงมาราธอน (รวมทั้งผู้นำวุฒิสภา) ยืนกระต่ายขาเดียวให้รัฐบาลยอมสยบ ลาออกไปเสียก่อน
    การที่ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ คนหนึ่งออกมาแถลงว่านายสมชายได้โทรศัพท์คุยกัยนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำอีกคนหนึ่ง สามวันก่อนหน้าที่นายสมชายจะได้รับพระบรมราชโองการฯ นั้นจัดว่านายสมชายสร้างผลงานแก้ปมการเมืองในขั้นต้นที่น่าจะได้รับคำชมพอควร
    เพราะตลอดเวลาหลายๆ เดือนที่ผ่านมาการเมืองไทยสั่นเป็นเจ้าเข้ามองไม่เห็นทางว่าจะนิ่งได้ เนื่องจากการประท้วงของพันธมิตรฯ ที่ผมเชื่อว่าจุดหมายเหนืออื่นใดเป็นการพยายามกำจัดองคาพยพต่างๆ ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรให้หมดสิ้น จนกระทั่งกลายมาเป็นเรียกร้อง “การเมืองใหม่” และ “ประชาภิวัฒน์” ที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง แต่ก็ยังอลุ่มอล่วยให้เป็นบรรไดสามขั้น คือยอมให้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ก่อน แล้วเพิ่มอีก ๑๐ ในขั้นที่สอง และลงเอยที่เลือกตั้ง ๓๐ สรรหา ๗๐ ในท้ายที่สุด (นี่เก็บมาจากคำปราศรัยของนายสนธิ ลิ้ม บนเวทีประท้วง มิพักที่แกนนำคนอื่นพยายามแก้เกี้ยวว่าเป็นเพียงตุ๊กตาตั้ง)
    วัดจากผลการดำเนินการที่ผ่านมานับแต่การประท้วงทักษิณซึ่งนำไปสู่การรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มาจนถึงการประท้วงรัฐบาลสมัครจนกระทั่งนายสมัครยอมถอนตัวจากที่ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ อีกครั้ง จัดว่าพันธมิตรฯ ทำงานบรรลุผลตามเป้าหมายเนื่องจากยึดมั่นในบุคคลิกภาพ “แข็งนอก แข็งใน” ของตน
    ส่วนที่ว่าพันธมิตรฯ จะสามารถขจัดเส้นสายของทักษิณออกไปให้หมด และจัดตั้งการเมืองใหม่ สถาปนาประชาภิวัฒน์ได้สำเร็จต่อไป ด้วยวิธีการแข็งนอกแข็งในหรือไม่ เป็นเรื่องที่หลายๆ คนรวมทั้งผมเฝ้าจับตาดูด้วยความระทึกใจว่ามันจะเกิดการแตกหักร้ายแรงเสียก่อน
    ที่ต้องระทึกใจเพราะพันธมิตรฯ มีประสิทธิภาพเหลือหลาย โดยเฉพาะในด้านแข็งนอกนั้นคือการทำงานมุ่งมั่นและแกร่งกล้า ดูตัวอย่างความแข็งนอกของพันธมิตรฯ ได้จากเมื่อคราวที่นปช. ยกขบวนไปก่อกวนการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล มุ่งปิดกั้นไม่ให้มีการเสริมกำลังผู้ประท้วงเข้าไปในที่ชุมนุมได้ (แต่ยอมให้ออก) หมายจะบีบคั้นให้พันธมิตรฯ อ่อนร้าและยอมสลายตัวไปจากทำเนียบ
    ผลปรากฏว่าฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่เพียงเข้มแข็งตีฝ่ายนปช. กระเจิงออกมา แต่กลับแรงกว่า ทำเอาคนของนปก. ตายไปหนึ่ง ล่าสุดที่ยืนยันความแรงกว่าของพันธมิตรฯ จากการแพร่ภาพข่าวของทีวีช่อง ๗ สี เห็นกลุ่มนักรบศรีธัญญาเสื้อเหลืองรุมตีชายคนหนึ่ง พอเห็นนักข่าวบันทึกวิดีโอก็เอาผ้าพล้าสติกมากางกั้นทัศนะวิสัยเสีย เชื่อว่าจากนั้นก็ยังรุมตีกันต่อ
    ดูคลิปวิดีโอช่องเจ็ดสีแล้วยิ่งทำให้นักประชาธิปไตยใจฝ่ออย่างผมเครียดหนัก เครียดด้วยความกลัวว่าถ้าพันธมิตรฯ แข็งนอกกันอย่างในวิดีโอไปเสียหมดแล้วจะทำอย่างไร ต่อไปถ้าพันธมิตรฯ ได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินผมต้องอกแตกตาย เพราะเมื่ออยากจะวิจารณ์พันธมิตรฯ (อย่างเรื่องตุ๊กตา ๓๐/๗๐) ก็ไม่กล้ากลัวถูกรุมตี หรือถ้าขืนกล้าก็คงต้องเจ็บตัว เผลอๆ ถึงตาย
    ทว่าการที่พันธมิตรฯ สนธิรับโทรศัพท์ของนายสมชาย แม้แค่รับสายเฉยๆ ไม่ได้มีการเจรจาต้าอ้วยหรือทำท่าจะต่อรองอะไรกัน ก็ช่วยคลายเครียดได้อักโข เกิดความหวังว่าพันธมิตรฯ ท่านยอม “อ่อนนอก” ให้นิดๆ แล้ว
    การขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมชาย จึงเป็นนิมิตรหมาย (ค่อนข้าง) ดี สำหรับผม เหมือนเป็นลมเย็นชะโลมบันเทาความรุ่มร้อนทางการเมืองให้ผ่อนคลาย ต่างกันมากมายกับตอนที่นายสมัครขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เหมือนยิ่งสุมไฟ
    แม้นายสมัครจะอ้างชาติตระกูลที่เคยรับราชการใกล้ชิดราชบัลลังก์ แต่พื้นฐานทางการเมืองที่เคยห้ำหั่นขบวนการนักศึกษา การเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสื่อมวลชนถึงขนาดเขียนหนังสือชื่อ “สันดานหนังสือพิมพ์” และการประกาศตัวห้าวหาญเป็น “นอมินี” ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ทำให้พันธมิตรฯ ปักหลักไม่เอาสมัครตั้งแต่วินาฑีแรกถึงวินาฑีสุดท้าย
    แต่สำหรับนายสมชาย ผู้ที่เกี่ยวดองเป็นน้องเขย พ.ต.ท. ทักษิณ อีกซ้ำนางเยาวภา วงสวัสดิ์ ภรรยาของเขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในพรรคพลังประชาชนปัจจุบัน และพรรคไทยรักไทยในอดีต ดังที่คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐท่านหนึ่งเอ่ยถึงนายสมชายว่ายิ่งกว่านอมินี่ เขาเป็น “แฟมิลี่” ของสิ่งที่พันธมิตรฯ ทุ่มเททั้งชิวิตตนเองและอนาคตบ้านเมืองเพื่อกำจัดให้สิ้นซาก
    เขาจะทัดทานไหว และไปรอดหรือ
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย วิเคราะห์โชคชะตารัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ไว้ว่า เป็นเพียงซื้อเวลาประมาณสองเดือนจนเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชนแล้วจะต้องมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง
    แต่ผมก็ยังใจชื้นที่อย่างน้อยๆ ภายในสองเดือนโอกาสที่จะเกิดการปะทะถึงเลือดตกยางออกมีความน่าจะเป็นน้อยลงไป
    ก็คงต้องยกผลประโยชน์ความดีตรงนี้ให้กับบุคคลิกภาพทางการเมืองของตัวนายสมชายเอง ตลอดระยะเวลาสองสามปีที่นายสมชายขึ้นมามีฐานะทางการเมืองระดับนำ เขาถูกจับตามองและสรุปแล้วว่าอยู่ในประเภท “อ่อนนอก”
    ส่วนจะแข็งหรืออ่อนภายในยังไม่ปรากฏ ซึ่งก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องตัดสินในขณะนี้ เนื่องจากความต้องการของการเมืองเวลานี้อยู่ที่บุคคลิกภาพภายนอกของเขา ที่เคยเอาความนุ่มนวลสยบความร้อนแรงของการเมืองภายในกระทรวงยุติธรรมลงไปได้ แม้ว่าตัวอย่างที่ผมยกมานี้ผู้ที่สนับสนุนคุณหญิง พญ.พรทิพย์ จะเห็นต่างก็เถอะ
    ความอ่อนนอกของนายสมชายยังรวมถึงปัจจัยด้านถิ่นเกิด และวิชาชีพด้วย เป็นความอ่อนในแง่ที่ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน “รับได้”
    นั่นคือการเป็นคนใต้ (ชาวเมืองนครศรีธรรมราช) ทำให้ประชาธิปัตย์พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ครองเสียงภาคใต้ ไม่รู้สึกแปลกแยก และการรับราชการสายตุลาการ และกระทรวงยุติธรรมมาตลอด ทำให้พันธมิตรฯ ซึ่งเคยเชิดชูกระบวนตุลาการไม่ปฏิเสธนายสมชายอย่างเด็ดขาด (ที่ผมใช้คำว่า “เคย” เนื่องจากการที่แกนนำพันธมิตรฯ ฝืนคำสั่งศาลไม่มอบตัวสู้คดี แม้จะได้รับอภิสิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ ก็ถือว่าไม่ยอมรับกระบวนการตุลาการในขั้นต้น)
    จัดได้ว่านายสมชายอยู่ในฐานะที่จะหยิบฉวยโอกาสทำการคลี่คลายข้อขัดแย้งทางการเมือง และดำเนินการปรับปรุงการเมืองให้พ้นจากความเสี่ยงที่คุกคามระบอบประชาธิปไตยในขณะนี้ได้
    ในบรรดานายกรัฐมนตรีของไทยที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งนาน (สองสมัย) สองท่าน คือนายชวน หลีกภัย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีบุคคลิกทางการเมืองที่ต่างกันอย่างตรงข้าม และต่างไม่เข้าข่าย “ยอดนิยม” ตามมาตรฐานไทยด้วยกันทั้งคู่ นายชวนจัดว่าประเภท อ่อนนอก อ่อนใน ถูกวิจารณ์ว่าทำงานเชื่องช้า อ่อนเกินไป รอแต่รายงานไม่ยอมตัดสินใจ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นทั้งแข็งนอก แข็งใน ถูกโจมตีว่าตัดสินใจเร็วเกินไปไม่ค่อยฟังใคร เป็นที่เกลียดชังของสื่อและนักวิชาการ
    ความอ่อนใน หรือ แข็งใน ณ ที่นี้ วัดจากความมุ่งมั่น และปฏิบัติตามหลักการของตนเหนียวแน่นแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นหลักการทุนนิยม ประชาธิปไตย หรืออำมาตยาธิปไตย
    ยังมีนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในตำแหน่งนาน (๘ ปี) มีบุคคลิกภาพเข้าสเป็ค “อ่อนนอก แข็งใน” จัดให้เป็นยอดนิยมได้ เสียแต่ว่าท่านไม่ได้มาในวิถีทางเลือกตั้งประชาธิปไตย และดูจะไม่ชอบระบอบเลือกตั้งเสียด้วย (อ้างได้ด้วยงานวิจัยของ ดร. นิยม รัฐมริต หัวข้อ “Re-Establishing Democracy: How Kriangsak and Prem Managed Political Parties” ตีพิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้าฯ พ.ศ. ๒๕๔๙) แบบนี้ที่ผ่านไปแล้วพอยอมกล้อมแกล้มเลยตามเลยได้ แต่จะกลับมาใหม่ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับ
    ถ้า “อ่อนนอก แข็งใน” แล้วส่งเสริมเชิดชูประชาธิปไตยด้วยละก็ สุดยอดในฝันเลยทีเดียว

    ReplyDelete