Wednesday, August 23, 2017

จากไผ่ถึงยิ่งลักษณ์ :ความพยายามหักด้ามพล้าด้วยเข่าในกระบวนยุติธรรมไทยสมัยอำนาจรัฐประหาร

ในการสืบพยานคดีนักศึกษากลุ่มดาวดิน ชูป้ายต้านรัฐประหารอันถือเป็นความผิดฐานขัดขืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๕๘ ห้ามชุมนุมตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไป ท่ามกลางผู้ไปให้กำลังใจ ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทร์ไพศาล กันเนืองแน่นกว่า ๖๐ คน รวมทั้งตัวแทนกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ที่บริเวณศาลทหารในมณฑลทหารบกที่ ๒๓ เมื่อ ๒๒ ส.ค. ๖๐

ผู้บังคับกองร้อยสารวัตรทหาร พยานโจทก์ ให้การตอบคำซักค้านของทนายจำเลยอย่างเหลือเชื่อว่า “พยานทราบว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค. ๕๗ คสช. ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ แต่พยานไม่เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นกบฎในราชอาณาจักร

แต่เป็นการกระทำที่น่าชื่นชมและสนับสนุน จำเลยจึงไม่ควรมาคัดค้าน การกระทำของจำเลยกับพวกที่ไปชูป้าย คัดค้านรัฐประหาร นั้น แม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่เป็นการทำลายประชาธิปไตย สมควรได้รับโทษและปรับทัศนคติ”


มิพักจักมองความเห็นของนายทหารพยานฝ่ายรัฐประหารคนนี้ว่าเป็น ตรรกะวิบัติ ในหลักกฎหมายและการปกครองสากล หากแต่ยังชี้ถึงการพยายามบิดเบือนทั้งนิติรัฐและนิติธรรม ให้คล้องจองกับการกุมอำนาจการเมืองการปกครองของคณะรัฐประหาร ที่เรียกตัวเองว่า คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

นับเป็นการดึงเอากระบวนการยุติธรรมไทยมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง ให้แก่พวกผู้ยึดอำนาจและฝักฝ่ายที่สนับสนุนคณะรัฐประหาร

ดังการวิเคราะห์ของ ดร.เออร์จินี่ แมริเยอ แห่งสถาบันรัฐศาสตร์ Sciences Po ปารีส (ต่อการตัดสินคดีความเสียหายโครงการจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) อันตกอยู่ในครรลองของการใช้อำนาจบิดเบือนเช่นเดียวกัน ที่ว่า

“สะท้อนว่าประเทศไทยยึดถือหลักกฎหมายสองแบบ คือหลักนิติธรรม (rule of law) และหลักนิติวิธี (the rule by law)” และ

“ศาลถูกใช้เป็นกลไกจัดการกับนักการเมือง และนโยบายการบริหารประเทศ ภายใต้แนวคิด 'ตุลาการภิวัฒน์' บทบาทของฝ่ายตุลาการในการเข้าร่วมกับกองทัพเพื่อสร้าง 'รัฐซ้อนรัฐ' ปรากฏชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”


คดีไผ่ อัยการทหารพระธรรมนูญ ถึงกับพยายามที่จะให้มีการลงทัณฑ์จำเลยหนักมากขึ้นไปอีก ด้วยการร้องต่อศาล “มิให้หักวันคุมขังคดีนี้ออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา

เนื่องจากทับซ้อนกับวันรับโทษจำคุกในคดี” ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ ของประมวลกฎหมายอาญา หมายเลขแดงที่ ๑๙๔๕/๒๕๖๐ ซึ่งศาลจังหวัดขอนแก่นได้ตัดสินจำคุกไผ่ ๕ ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ ๒ ปี ๖ เดือน เพราะจำเลยสารภาพ และจะหักกลบเวลาที่ไผ่ถูกคุมขังมาแล้วระหว่างรอการพิพากษาด้วย

ในคดีจำนำข้าวที่จะมีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ ๒๕ สิงหาคมนี้ เกิดกระแสการให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คุกรุ่นมาเป็นแรมเดือนทั้งในฝ่ายที่สนับสนุนเธอ (และอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย)
และฝ่ายตรงข้ามที่เป็นผู้เปิดประเด็นเรื่องก่อความวุ่นวาย นำร่องให้รัฐบาล คสช. วางมาตรการป้องกันด้วยการส่งทหารลงพื้นที่ฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ขอ ไม่ให้เดินทางไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์กันในวันตัดสิน

บางแห่งถึงกับจับมือ (ขอ) ให้แกนนำบางคนเขียนคำสัญญาและลงลายเซ็นไว้เป็นคำมั่นว่าจะไปพาคนเดินทางไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ในวันที่ ๒๕ สิงหา

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคมนี้เอง ผู้ประสานงาน นปช. พะเยา คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ “มาเชิญตัวไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงพะเยา” ที่สถานีตำรวจภูธร

เจ้าหน้าที่ได้ให้เหตุผลว่าเกรงจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จึงเตือนหลีกเลี่ยงหรืองดร่วมให้กำลังใจดังกล่าว เพราะการเดินทางอาจจะไม่สะดวก หรืออาจจะเป็นเป้าทางการเมืองด้วย” นายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา บอกกับผู้สื่อข่าว

อีกทั้งยังได้มีการจัดกำลังตำรวจจำนวนไม่ต่ำกว่า ๒๔ กองร้อย เพื่อรับมือประชาชนที่จะไปให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่บริเวณศาลฎีกา “และทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะมีการตรวจค้นคัดกรอง รถที่ผ่านบริเวณดังกล่าว” โดยตั้งด่านตรวจตามเส้นทางต่างๆ เข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าศูนย์ราชการ


คดีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มไปทั่วโลก ดังที่สำนักข่าวบีบีซีไทยเสนอรายงานไว้ ดังเช่น

ดร.แพทริค โจรี (Patrick Jory) อาจารย์อาวุโส ด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิด และบทลงโทษอย่างน้อยที่สุดก็จะถูกห้ามไม่ให้เล่นการเมือง” และ

“อ.ยาสุฮิโตะ อาซามิ (Yasuhito ASAMI) แห่งมหาวิทยาลัย โฮเซ (Hosei University) กล่าวว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากมองโครงการจำนำข้าวในแง่ลบ แต่พวกเขาก็มองว่าวิธีการดำเนินการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทางกฎหมายก็เป็นเรื่องสองมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมของไทยเช่นกัน”

แม้ว่าในรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า แกนนำเสื้อแดงที่ขอนแก่นคนหนึ่งผู้ขอสงวนนามเผยว่าจะมีปฏิกิริยาต่อต้านจาก พลังใต้ดินเกิดขึ้นแน่นอน หากศาลตัดสินให้ยิ่งลักษณ์มีความผิด

“มีแผนในการเผายางรถยนต์ตามจุดต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น ๑๐ แห่ง”

ทว่า ตระกูล มีชัย อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ (ผู้ซึ่งเมื่อปลายปี ๒๕๕๘ ให้ความเห็นผ่าน นสพ.ไทยรัฐว่า “รับได้กับแนวทางร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ และไม่มองว่าเป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจโดยตรง อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/551402)

มาครั้งนี้เขาให้ความเห็นต่อบีบีซีไทยว่า “การออกมาประท้วงขนาดใหญ่ (ต่อคำตัดสินลงโทษยิ่งลักษณ์) น่าจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากคณะทหารสามารถกุมอำนาจไว้ได้อย่างเหนียวแน่น”

แต่กระนั้น ไม่ว่าคำตัดสินออกมาเช่นไร จะมีผลกระทบต่อการเมืองไทยอย่างแน่นอนชนิดที่เป็น ‘litmus test’ หรือ “การทดสอบความเป็นกรด ของนักการเมืองไทยในอนาคตว่าจะบริหารประเทศกันอีท่าไหน”


แต่ก็เป็นไปได้ว่าการทดสอบนั้นขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองใดได้เข้าไปเป็นรัฐบาลด้วย

หากเป็นพรรคประชาธิปัตย์และพรรคสนับสนุนทหาร (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอาทิ) ก็อาจจะไม่ต้องทดสอบ เพราะจะไม่มีตุลาการ ภิวัฒน์ คอยจ้องจับผิด เหมือนดังที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปลอดรอดมาแล้วในโครงการประกันราคาข้าว

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตอบข้อซักถามกรรมาธิการ (กมธ.) ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอนหนึ่งเมื่อ มกราคม ๒๕๕๘ ว่า

การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวแม้จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกร ยกระดับพืชผลการกษตร แต่มีช่องโหว่เยอะ ดังนั้นในงานวิจัย (โดยทีดีอาร์ไอ ที่ ปปช.ร้องขอ) จึงเสนอให้ทำนโยบายประกันราคาข้าวแทน แบบสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ “ไม่ได้หมายความว่า นโยบายประกันราคาข้าวไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น แต่พบว่ามีการทำให้เกิดสิ่งทีเรียกว่าการทุจริตเชิงนโยบายได้” และ ปปช.ก็ทำการไต่สวน “ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้สองมาตรฐาน

เพียงแต่ว่าการไต่สวนของ ปปช.ไม่ไปถึงไหน “ถามว่าทำไมคดีนายอภิสิทธิ์ถึงยังไม่จบ เพราะมีปัญหาเรื่องการส่งเอกสารต่าง ๆ และการให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.)” แม้นว่า “ได้สรุปความเห็นแล้วว่าต้องมีคนผิด ไม่ผิดไม่ได้ เพราะว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริง” นายวิชา กล่าว


ครั้งนั้น โครงการจำนำข้าวซึ่งพนักงานอัยการได้อ้างในคำฟ้องถึงต้นแบบดั้งเดิมในงานวิจัยของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ทักษิณนำมาปรับเปลี่ยนเป็นวิธีการประกันราคาข้าว แต่ยังคงใช้ชื่อเดิมและดำเนินการในรัฐบาลยิ่งลักษณ์

“มีผลกระทบมากมายต่อตลาดข้าวในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ยังมีมาตรการช่วยเหลือชาวนาแบบอื่นที่จะไม่ก่อให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง

อัยการชี้ให้เห็นอีกว่า การดำเนินนโยบายจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่กำหนดราคารับจำนำสูงเกินกว่าตลาดประมาณ ๕๐-๖๐% จึงถือเป็นการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด”

(ดูรายละเอียดเรื่อง “แม้วคิดปูทำ! อัยการชี้จำนำข้าวไร้งานวิจัยรองรับ แค่หาเสียงชาวนาเพื่อต้องการชนะเลือกตั้ง” https://www.isranews.org/israne…/58850-isranews-58850dd.html)

เห็นชัดว่ายิ่งลักษณ์ (และทักษิณ) โดนคดีจำนำข้าวเพราะ ปปช. ชงแล้วส่งให้ทีดีอาร์ไอใส่นมใส่น้ำตาล ส่วนคดีประกันราคาข้าว (ของอภิสิทธิ์) รอดเพราะไม่ได้คิดเอง แต่ใช้สูตรที่ทีดีอาร์ไอคิดให้ ถึงจะเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนกว่าแสนล้าน ปปช. ก็ไม่ติดใจ และไม่มีใครคิด (ใช้คำสั่งทางปกครอง) จองล้างตามทวงให้ชดใช้

เส้นทางอภิวัฒน์ของตุลาการไทยจากไผ่ถึงยิ่งลักษณ์ ถึงจะด่วนก็มิใช่ชินคันเซ็นแบบญี่ปุ่น แต่เร็วปานกลาง แวะเก็บเกี่ยวระหว่างทาง อย่างจีน (เส้นคุนมิง เชียงของ โคราช มาบตาพุด ที่ในไทยจะเริ่มตุลานี้)

ดังปรากฏในคดีที่นายวัฒนา เมืองสุข คนของพรรคเพื่อไทย มือซ้ายยิ่งลักษณ์ มือขวาทักษิณ โดนข้อหาก่อความวุ่นวายมาตรา ๑๑๖ ฐานโพสต์ข้อความชักชวนคนออกไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์

ระหว่างไปรายงานตัวต่อศาล พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องให้ออกหมายขังนายวัฒนา ๑๒ วัน ขณะที่ทนายของอดีต รมว.พาณิชย์ยื่นขอประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างโต้แย้งกันนั้นพนักงานสอบสวนลุแก่โทสะ โพล่งออกมาว่า “เต็มที่ก็เอาปืนยิงกรอกปากกัน

ซึ่งนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความส่วนตัวนายวัฒนา และดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่าคำพูดดังกล่าวเป็นการข่มขู่ และอาจสร้างความเสียหายต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม


จึงได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ให้ทำการไต่สวน “ว่าการกระทำของพนักงานสอบสวนนอกจากจะเป็นการแสดงอำนาจที่มิชอบ

แล้วยังถือเป็นการประพฤติตัวไม่เหมาะสมและไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ข้อกล่าวหาคงจะได้แค่นั้น “เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างในอนาคต

เพราะในกระบวนยุติธรรมไทย การไม่ต้องรับผิด หรือ impunity มีอยู่แล้วล้นหลาม มาเพิ่มหลักนิติวิธี ‘the rule by law’ เข้าให้อีก เลยกลายเป็นผู้วิเศษกันไปทั้งยวง

Thursday, May 14, 2015

Dilemma เรื่องประชามติ เอาไงดีทั้งที่ไม่มีหวัง



จะว่าเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกก็ใช่ ประเด็นการรณรงค์ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๘ ที่ถกเถียงกันพอดูในหมู่ผู้ต้องการวิถีประชาธิปไตยแท้และเลือกตั้ง มากกว่าลากตั้งรัฐบาล คนดี

โดยที่ร่าง รธน. อันเต็มไปด้วยโวหารคุณธรรม หากแต่หมกเม็ดอำนาจเผด็จการไว้ให้อยู่กับคณะยึดอำนาจและองค์กรวิเศษแต่งตั้งจากกลุ่มชนชั้นนำผู้สนับสนุนวิถีรัฐประหาร ที่ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้ร่างเรียกว่า เรือแป๊ะ แต่ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้รู้ (วิชาการ) ท่านหนึ่งเห็นว่าเป็น ประชาชังนั้นกำลังรอ ‘water breaking’ จะคลอดมิคลอดแหล่

หากประเมินตาม สภาพัฒนาการเมือง โดย ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ที่ว่าร่างฯ นี้ “ไม่แก้ปัญหาการเมือง มีการกำหนดองค์กรที่มีหน้าที่ปราบปรามจำนวนมาก แก้ปัญหาปลายน้ำ ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหาเลย ทั้งยังมีความล้าหลังไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก...รวมถึงการตั้งสภาขับเคลื่อนซึ่งถือเป็นสภาสืบทอดอำนาจชัดเจน” และ “เสนอให้ต้องมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ”

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า “หากทำก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗) วันนี้ถามอยู่ได้ว่าจะทำหรือไม่ อย่างไร ถามกันอยู่ได้ อะไรกันนักหนา ซึ่งนักข่าวถามทุกวันจนถึงวันนี้ตนรู้สึกรำคาญและจะไม่ตอบอีกแล้ว

ไม่ว่าหัวหน้า คสช. จะรำคาญแค่ไหน ข้อเท็จจริงก็คือร่าง รธน. ฉบับนี้ยี้มากๆ จนหลายฝ่ายอยากให้ทำประชามติตัดสิน ซึ่งปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แยกแยะไว้ว่ามีสี่กลุ่ม

กลุ่มแรกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างบางคน รวมถึงพวกที่ต้องการให้มีประชามติโดยไม่มีข้อเสนอสำหรับภาวะการณ์ที่ผลประชามติออกมาไม่รับร่างฯ กลุ่มนี้อาจเพียงต้องการความชอบธรรมสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยความหวังว่าจะผ่านประชามติ

อีกสองกลุ่มเป็นฝ่ายการเมืองคนละขั้วที่บังเอิญมาเห็นพ้องต้องกันว่าร่างฯ ฉบับนี้ไม่เหมาะ เพราะออกแบบให้พรรคการเมืองไม่เพียงเป็นไก่รองบ่อน หากแต่ต้องอยู่ในกำกับของ นักการเมืองลากตั้ง ในคราบผู้ทรงคุณธรรม สุดยอดมืออาชีพและคนดีชุมชน

ทั้งสองกลุ่มมุ่งหวังให้มีการเลือกตั้งที่พวกตนได้ร่วมกิจกรรมอีกครั้งโดยไว ทั้งสองกลุ่มมุ่งหมายให้มีการทำประชามติเพื่อยกเลิกร่าง รธน. 'ศรีธนญชัย' นี้เสีย แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ถูกคณะยึดอำนาจยกเลิกไปกลับมาใช้ดำเนินการ พรรคเพื่อไทยต้องการรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์อยากได้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ (ทั้งสองฉบับถูกยกเลิกโดยคณะทหารชุดเดียวกันที่เปลี่ยนชื่อจาก คมช. มาเป็น คสช.)

กลุ่มที่สี่ที่ อจ. ปองขวัญระบุว่า “เป็นการแสดงออกที่ประนีประนอมและสันติที่สุด เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน” โดยหากประชามติไม่รับร่างฯ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และให้ประชาชนออกเสียงอนุมัติ

ข้อเสนอของกลุ่มที่สี่ดังกล่าว (http://docdro.id/z75r) มีศูนย์กลางอยู่ที่ กลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย (รปป.) อันมาจากการรวมตัวของนักวิชาการ ศิลปิน นักกิจกรรม และนักประชาธิปไตยพันธุ์แท้ไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ คน จัดว่าเป็นทางออกที่ตอบโจทย์วิธีการ มัดมือชก และ คลุมถุงชน ของ คสช. ได้เนียนที่สุด

แม้นว่า อจ.ปองขวัญ ได้ยกประเด็นขัดข้องที่ว่า กลุ่มต่อต้านการรัฐประหารบางส่วนก็แสดงความเห็นต่อต้านการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่การลงประชามติจะเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์โปร่งใส และปล่อยให้มีการรณรงค์กันอย่างกว้างขวาง ปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ...

ผลสุดท้ายปรากฏว่ามีเสียงยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากกว่า จะเท่ากับเป็นการตีตราให้ความชอบธรรมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2550 เมื่อเป็นเช่นนี้ การรณรงค์ที่น่าจะเป็นผลมากกว่าคือการ ข้ามช็อตเรียกร้องให้ทั้งพรรคการเมืองและประชาชนบอยคอตการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จากร่างรัฐธรรมนูญอันไม่เป็นประชาธิปไตยฉบับนี้จะดีกว่า”

การนี้ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นหนึ่งในผู้ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ขอให้มีประชามติ ทั้งที่หัวหน้า คสช. ไม่ค่อยจะแยแสเท่าไร “ส่วนเรื่องการทำประชามติจะพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวในทำนองเดียวกันหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อ ๑๔ พฤษภาคม ไม่ยี่หระถึงขนาดบอกว่า “ทุกวันนี้ต่างประเทศไม่ค่อยถามตนถึงเรื่องประชาธิปไตยแล้ว


ความรู้สึกผมตอนนี้คือ มีความเป็นได้เพิ่มมากขึ้นที่ คสช. เองอาจจะให้มีประชามติจริงๆก็ได้ แต่มีภายใต้สภาพแบบปัจจุบันนี่แหละ คือปิดกั้นไม่ให้มีการเคลื่อนไหวการเมืองต่อไป (ประเภทกำหนดวันนัดให้ลงประชามติ แล้วถึงเวลาก็ให้ประชาชนมาลงเท่านั้น) ไม่มีการอนุญาตให้รณรงค์สาธารณะ ชุมนุมประท้วง ประณามร่าง รธน. ฯลฯ (เพราะถ้ายอมให้ทำแบบนั้น ก็เท่ากับยอมให้มีเคลื่อนไหวการเมืองคัดค้าน คสช. นั่นเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้)”

ยิ่งกว่านั้น โดยการที่ คสช. สามารถกำหนดว่าถ้าไม่รับก็กลับไปเริ่มใหม่ ก็เท่ากับ แบล็กเมล์ ประชาชนว่า ถ้าอยากให้จบๆ มีเลือกตั้งใหม่ ก็ลงรับๆไปเสีย บวกกับการที่ว่า ถ้าให้ทำประชามติก็คงทำภายใต้สภาพแบบปัจจุบันที่ยังปิดกั้นการเคลื่อนไหวการเมืองต่อไปดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในสภาพถูกแบล็กเมล์ (และไม่มีโอกาสได้รับข่าวสารจากการรณรงค์คัดค้านด้วยดังกล่าว) จะยอม รับๆไปซึ่งก็คือ เข้าทาง คสช. ที่เอาไปอ้างความชอบธรรม”

(สมาชิกเฟชบุ๊คดูโพสต์เต็มๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/somsakjeam?fref=nf)

แต่กระนั้น ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ (ฝ่าย รปป.) เขามีคำตอบให้

“คนที่เรียกร้องประชามติก็รู้ว่า ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่คสช. จะยอม แล้วเรียกร้องทำไม? ถ้ากระแสเรียกร้องประชามติมาแรงแล้วเขาดื้อไม่ให้มีประชามติ ดันทุรังผ่านรธน. ออกมาจนได้ คำตอบคือ ดีเหมือนกัน รธน.๕๘ จะยิ่งขาดความชอบธรรม ซึ่งจะกระทบไปถึงการจัดการเลือกตั้งด้วย

แต่ถ้าเขายอมให้มีประชามติ คำตอบคือ ดีเหมือนกันอีก เพราะจะเกิดการอภิปรายในพื้นที่สาธารณะประเด็น รธน.ต้องมาจากปชช. รวมทั้งอภิปรายร่างรธน.๕๘ นี้ ถึงเขาห้ามพูด ก็เชื่อว่าจะห้ามไม่อยู่ พรรคการเมืองก็จะมีบทบาทในขั้นนี้ได้ง่ายกว่า

ถ้าผลประชามติคือ ไม่ผ่าน แล้วเขายังจะขัดขืน วนกลับไปเริ่มต้นจุดเดิมด้วยสภาปฏิรูปชุดใหม่อีกรอบ ในทางการเมือง เขา สูญเสีย อย่างหนัก

ถ้าผลประชามติคือ ผ่าน ก็มีเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ได้คือ ได้เปิดประตูอภิปรายประเด็น ที่มาของรธน.และได้วิพากษ์ร่างรธน. ๕๘ ไว้แล้ว ประเด็นเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไป และพร้อมที่จะกลับมาอีกครั้งเมื่อรธน. ๕๘ ถูกฉีกในที่สุด”


แล้วก็มีคำตอบย้อนกลับมาอีก ครานี้จาก sidekick หรือไม่ก็ sideline (แสดงว่าแต่ละข้างมีพลานุภาพหนักแน่นพอทัดทานกัน)

ผู้ใช้นาม วิบูลย์ แซ่ลิ้มให้ความเห็นว่า “๑) ฝ่าย ปชต. เปนคนเรียกร้องประชามติเอง ๒) เกิด คสช. ตกลงให้มีประชามติ ๓) หากไม่ผ่านก็ดีไป แต่ถ้าเกิดผ่านประชามติจะด้วยปัจจัยใดก็ตามแต่ นั่นเท่ากับฝ่าย ปชต. ต้องยอมรับโดยปริยาย

ต่างกับการที่ คสช. ประกาศใช้เลย นั่นเท่ากับเป็นการยัดเยียด รธน. นี้ให้แก่ ปชช. ในกาลครั้งหน้าถ้ามีปัจจัยบวกด้านอื่นมาเสริม ฝ่าย ปชต. สามารถลุกขึ้นอย่างชอบธรรมในการต่อต้าน หรือแม้แต่ล้มล้าง รธน. นี้อย่างชอบธรรม
 
๔) ในกรณีที่ คสช. ให้มีการลงประชามติเอง โดยที่กลุ่มประชาธิปไตยใด ๆ ไม่ได้เรียกร้อง และกลุ่ม ปชต. ได้ออกแถลงไม่ยอมรับ รธน. ที่มีเนื้อหาสาระเช่นนี้ รธน.ที่ร่างขึ้นภายใต้อำนาจเผด็จการ การลงประชามติร่าง รธน. นี้จึงไม่ชอบด้วยทั้งตัว รธน. เอง และไม่ชอบทั้งการทำประชามติภายใต้บริบทเผด็จการ
 
นั่นเท่ากับฝ่าย ปชต. ยังยึดกุมความชอบธรรมไว้ตลอดกาล แม้ตอนนี้จะทำอะไรไม่ได้ แต่ในกาลข้างหน้าความชอบธรรมนี้อาจกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ปลุกกระแสมวลชนให้ลุกขึ้นมาได้

๕) ไม่มีอะไรการันตึได้ว่าผลประชามติจะออกมาแบบไหน ในบริบทที่อำนาจทุกอย่างอยู่ในมือ คสช. การรีโมทผลประชามติก็อาจทำได้
 
๖) และเมื่อเกิด รธน. ผ่านประชามติ นั่นเท่ากับฝ่าย ปชต. ต้องอยู่กับ รธน. นี้แบบยินยอมโดยปริยาย เพราะเป็นฝ่ายเรียกร้องเอง ทั้งที่ คสช. ก็บอกมาหลายครั้งว่าคงไม่ทำประชามติ

ที่สุด ผลประชามติถ้าผ่าน ก็จะเปนการปิดจ๊อบที่เฟอร์เฟคของเครื่อข่ายและ คสช. ผลของประชามติจะเป็นเสมือนอาวุธสำคัญที่กลับมาทิ่มแทงทุกสิ่งทุกเรื่องที่ฝ่าย ปชต. จะออกมาคัดค้านและโต้แย้งในกาลข้างหน้า และตลอดไป”

จุดเด่นของข้อโต้แย้งนี้อยู่ที่ กาลข้างหน้าและ ถ้าประชามติผ่านนั่นก็คือ รธน. ห่วยๆ ดันได้รับ ข้ออ้างความชอบธรรม นี่เองถึงได้เกริ่นแต่ต้นว่าเรื่องนี้มี dilemma ไม่ใช่แค่ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก แต่มันติดกึกติดกัก ชิบ...พร้อมกันไป

แล้วที่ติดก็ไม่ใช่อะไรอื่น ติดที่ คสช. กดหัว-บีบคออยู่ ดังที่ รปป. อ้างไว้ ขอใช้ประชามติด้วยความหวังว่าจะปฏิเสธร่าง รธน. คสช. ได้โดยไม่เกิดการสูญเสีย และ ไม่สันติ

เช่นนี้ อ่านเกมตามที่เห็นเกือบทุกเมื่อเชื่อวัน คสช. ย่อมไม่ยอมเบี่ยงเบนไปจาก โร้ดแม็พที่วางไว้ (ส่วนจะเปลี่ยนใจเองภายหลัง พวกเขาทำง่ายได้อยู่แล้ว) ดังประยุทธ์ย้ำว่า “ไม่ควรออกมาพูดวิจารณ์รัฐธรรมนูญให้เกิดความเสียหายในเวลานี้” และอ้างตีกัน “โดยเฉพาะผู้ที่เคยอยู่ในรัฐบาลต่าง ๆ” คือนอกจากไม่สนประชามติแล้วยัง ห้าม ติติงร่าง รธน. เสียด้วย

ดังนั้นประชากร ไม่ว่าจะเป็นราษฎรหรือพลเมือง ภาคส่วนที่ต้องการประชาธิปไตยแท้ๆ และการเลือกตั้งเสรี ไม่เพียงกระอักกระอ่วน หรือติดกัก หากแต่ ติดปลักเงื่อนงำ ความรุนแรง ที่คลึ้มอยู่หาก คสช. จะเอาอย่างคณะยึดอำนาจอียิปต์บ้าง (ดูข้อเขียนก่อนหน้าในบล็อกนี้)

ทางออกเหลืออยู่แต่ทำอย่างไรจะหลุดพ้นเงื่อนงำดังกล่าวข้างต้นได้ ทางเลือกอยู่ที่จะ สู้ อย่างไรและไม่รอ ในเมื่อมีทางสู้อยู่สองแนว สู้นิ่ม กับ สู้แน่วที่เป็น dilemma กันอยู่ ไม่รู้จะลงตรงไหนดี

ไฉนไม่ผสมกันเป็น พันธุ์ทางดูสิว่าออกมากลมกล่อมไหม ซึ่งก็น่าจะได้จุดร่วมอยู่ที่ ไม่เอาร่าง รธน.เรือแป๊ะ แน่นอน ไม่เช่นนั้นต้องแก้ไขเต็มพิกัด เปิดให้รุมวิพากษ์ และหากเขายอมให้มีประชามติต่อร่างฯ ก็ไม่รับ ยืนกรานสถานเดียวว่า รธน. ต้องเชื่อมโยงประชาชน

ข้อสำคัญต้องกล้า อย่าเย็บปิดหมดทวารทั้งสาม และต้องไม่กลัวความรุนแรง ไม่งั้นจะกลายเป็นหงอ

(ขออภัยที่หลาย ต้อง)

Wednesday, March 25, 2015

โร้ดแม็พอียิปต์ที่ คสช. คงอยากเอาอย่าง


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ซึ่งสถาปนาตัวเป็นนายกรัฐมนตรีมาจนกระทั่งบัดนี้ กล่าวในแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘ ไว้ว่า

“ในวันนี้มองว่าประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยทุกอย่าง ๙๙.๙๙ เปอร์เซนต์ ตอนนี้หากจะว่าใคร ผมก็ไม่เคยว่า แต่อย่ามาต่อต้านกัน เพราะถ้าเป็นประเทศอื่นเวลาควบคุมอำนาจสั่งติดคุกหมดแล้ว หรือถ้าไม่ทำตามสั่งติดคุก ยิงเป้า ไม่ต้องมานั่งปวดหัวแบบนี้”

ประเทศอื่นที่ บิ๊กตู่ อ้างคงจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากอียิปต์ ซึ่งคณะทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วทำการกวาดล้าง ปราบปรามพลพรรคและเครือข่ายทางการเมืองขององค์การ ภราดรภาพมุสลิม’ (Muslim Brotherhood) อันเป็นแก่นสำคัญแห่งรัฐบาลของนายโมฮาเม็ด มอร์ซี่ ที่ถูกโค่นล้มไป

คณะทหารอียิปต์อ้างว่าพวกภราดรภาพมุสลิมเป็นกลุ่มก่อการร้าย จึงทำการกวาดล้างไม่ยั้งอย่างถอนรากถอนโคน เมื่อปีที่แล้วศาลอียิปต์ซึ่งตัดสินคดีการเมืองอย่างลำเอียง จงใจลงโทษฝ่ายตรงข้ามกับคณะทหาร พิพากษาประหารชีวิตผู้สนับสนุนรัฐบาลมอร์ซี่ กว่าพันคน (๕๒๙ รายในเดือนมีนาคม และ อีก ๖๘๓ คนในเดือนเมษายน) ที่แม้ว่าต่อมาผู้ต้องโทษจำนวนมากได้รับการผ่อนปรนหลังอุทธรณ์ หรือกลับคำพิพากษาปล่อยตัวไป

ท้ายสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ศาลยืนกรานให้ประหารผู้สนับสนุนภราดรภาพมุสลิม ๑๘๓ คนที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ในการประท้วงเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ ทำให้มีตำรวจ-ทหาร เสียชีวิตไป ๑๔ คน แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อปลายปีที่แล้ว (พฤศจิกายน) ศาลกลับยกฟ้องคดีต่างๆ ที่ยังค้างคาอยู่ต่อฮอสนิ มูบารัค อดีตผู้เผด็จการคนก่อนจนหมดสิ้น รวมทั้งคดีสังหารผู้ประท้วง อาหรับสปริงกับคดีคอรัปชั่นที่ถูกคณะทหารชุดก่อนใช้อ้างในการปลดมูบารัคจากอำนาจในปี ๒๕๕๔

นอกจากนั้นยังมีการพิพากษาจำคุกผู้เยาว์ (อายุ ๑๓ ถึง ๑๗ ปี) อีก ๗๘ คน โทษฐานเป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองที่ถูกประกาศ (โดยคณะรัฐประหาร) ว่าอยู่ นอกกฏหมายซึ่งก็คือกลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮู้ดนั่นแหละทั้งนี้เนื่องจากเด็กเหล่านี้ไปร่วมชุมนุมคัดค้านรัฐประหารที่บราเธอร์ฮู้ดจัดขึ้น รายงานข่าวอัลจาซีราระบุว่านับแต่คณะทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลมอร์ซี่เป็นต้นมา มีประชาชน ๑,๔๐๐ คนถูกฆ่า อีก ๑๕,๐๐๐ ถูกคุมขัง รวมทั้งร้อยกว่าคนที่ถูกตัดสินประหาร

ทั้งสามกรณีดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าการขู่เข็ญ-คุมเข้มบรรดานักศึกษาที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง(ล่าสุด ๑๙-๒๕ มีนาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๑๗ ราย) ไปถึงการยัดข้อหาก่อการร้ายต่อผู้ที่ต่อต้านคณะรัฐประหาร การยกฟ้องหรือปล่อยให้คดีที่กลุ่มการเมืองฝักฝ่ายตนหมดอายุความ (คดี ปรส. ๘ หมื่นล้าน) ขณะที่รวบรัดคดีการเมืองเพื่อเอาผิดอาญาแก่นายกรัฐมนตรีและคณะในรัฐบาลชุดเลือกตั้งที่ถูกยึดอำนาจ

เลยไปถึงการใช้ยาแรงกำจัดผู้เห็นต่างด้วยข้อหาหมิ่นกษัตริย์ ซึ่งบัดนี้ยกระดับโดยใช้ข้อหาก่อการร้ายสมทบเข้าไปด้วย ล้วนเป็นลักษณะการกดขี่ข่มเหงประชาชน ในเส้นทาง (Road map) เดียวกับคณะทหารอียิปต์ทั้งสิ้น

เมื่อกลางปีที่แล้ว หลังจากคณะทหารบูรพาพยัคฆ์ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ไม่นาน ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตุท่าทีของหัวหน้าทีมรัฐประหารไว้ว่า ดูจะเอาอย่างเผด็จการอียิปต์ สร้างความชอบธรรมให้แก่ตนตามแบบนายพลอับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี ที่ขณะนั้นเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ด้วยคะแนนท่วมท้นไม่ธรรมดา

มาบัดนี้ สิบเดือนผ่านไป การยึดอำนาจที่หลายกลุ่มแสดงอาการสะใจ พวกปิดกรุงเทพฯ ป่วนเมือง ที่เรียกตนเองว่า กปปส. พากันไปฉลองใหญ่ในโรงแรมหรู แล้วจากนั้นบรรดาแกนๆ ก็พากันไปบวชหลีกลี้คดีสั่งฆ่าประชาชน เข้ายึดครองวัดสวนโมกข์ ไชยา เอามาเป็นที่ส้องสุมโดยแยบยล ขณะทหารจัดการกับเส้นสายและฐานกำลังของรัฐบาลเก่าโดยละม่อม

ทางด้าน เรือแป๊ะ ก็แล่นฉลุยไม่เหลียวหลัง เตรียมทางสะดวกสำหรับรัฐบาลชอบสั่ง (ไม่ค่อยชอบทำ) ที่จะมีกรรมการคัดสรรกันอย่างอิสระในหมู่คนดี คนเก่ง คนชั้นนำ และคนเหนือคน ไม่ต่างมากนักกับเผด็จการทหารอียิปต์ ที่ปูทางไปสู่ชัยชนะเลือกตั้งท่วมท้นด้วยการกำจัดบราเธอร์ฮู้ดคู่ต่อสู้ทางการเมืองหลักอย่างราบคาบจนไม่สามารถลงแข่งได้ จับหัวแถวตั้งแต่มอร์ซี่ลงมายัดใส่คุก เก็บหัวหอก ฮ้าร์ดคอร์ด้วยน้ำมือการ์ดฝ่ายปราบปรามและคำตัดสินประหาร ดังที่อัลจาซีรารายงานว่าตายเป็นพัน

หากแต่เส้นทางเรือแป๊ะกับเรือกอนโดล่านั่นผิดแผกกันอยู่ ประดุจดังความต่างของน้ำเจ้าพระยากับน้ำไนล์ ซึ่งว่ากันว่าคณะยึดอำนาจไทยชุดนี้ลงมือกระทำการด้วยปณิธานว่าจะไม่ยอมให้ เสียของเหมือนครั้งก่อน ครั้นพอกุมอำนาจได้มั่นมือแล้วจึงเป็นที่กระจ่างว่าการไม่เสียของก็คือ ไม่ปล่อยให้ตาอยู่ฉกเอาไปกินอีกนั่นเอง

ระยะนี้จึงเห็นมีเกจิในสายตาอยู่ออกมาบ่นเรื่อง ฝีหนอง กับ ของเสียเสียงดังทีเดียว แถมเตือนอย่างมีเลศซ่อนเร้นว่าเดือนเมษานี้แหละ ฝีจะแตก เลยทำให้เรื่องเส้นทางไปสู่การเป็นผู้ปกครองอย่างภาคภูมิในระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ตั้งด้วยการ แต่ง และ ลาก เห็นทีจะมีขวากหนาม

ถ้าจะเทียบเคียงดูว่าคณะยึดอำนาจไทยจะไปถึงที่สุดตามเส้นทางอียิปต์หรือไม่ ต้องดูที่พี่ใหญ่ยูเอสเพ็นตากอน คณะทหาร เอล-ซิซี แม้ตอนยึดอำนาจใหม่ๆ จะเคยถูก รมว. ต่างประเทศสหรัฐ จอห์น แคร์รี่ ตำหนิเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ก็ได้รับสัญญานดันก้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ เมื่อนายแคร์รี่บอกว่าพร้อมกลับมาจูบปากกันอีก แม้ว่าขณะนั้นรัฐบาลเอล-ซิซีตกเป็นเป้าตักเตือนโดยองค์การ ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ ค่อนข้างหนักเรื่องข่มเขงประชาชน

จนมาถึงขณะนี้นายพลเอล-ซิซีที่เปลี่ยนมาเป็นประธานาธิบดีเต็มตัว สามารถพูดกับสื่ออเมริกันอย่างเต็มปากชักนำให้เห็นความสำคัญของคณะตน ด้วยการกล่าวหาภราดรภาพมุสลิมว่าเป็นขบวนการก่อการร้าย ในการให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์ เขาพูดถึงศรัทธาในศาสนาอิสลามว่าดั้งเดิมมิได้แฝงด้วยอุดมการณ์รุนแรงแม้แต่น้อย แต่มาแปรเปลี่ยนไปในราวปี ค.ศ. ๑๙๒๘ เมื่อเกิดกลุ่มหัวแข็งอย่างภราดรภาพขึ้น

อีกเหตุที่ทำให้ผู้นำทหารอียิปต์ได้รับการยอมรับจากสหรัฐในฐานะประธานาธิบดีแห่งรัฐบาลพลเรือน อยู่ที่บทบาทของเขาในการต่อกรกับขบวนการรัฐอิสลาม (Islamic State) โดยส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดไปถล่มฐานที่มั่นไอเอสทั้งในซีเรียและอิรัก (แม้นว่าเพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการที่กลุ่มไอซิสกระทำการสำเร็จโทษตัดหัวชาวอียิปต์นับถือคริสต์ ๒๑ คน ในซีเรียก่อนหน้านั้นก็ตามที)

มิใยที่ สื่อกระแสหลักในสหรัฐบางส่วนวิพากษ์การที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบาม่ายังคงเอาใจรัฐบาลทหารอียิปต์ โดยคงไว้ซึ่งงบประมาณความช่วยเหลือทางทหารปีละ ๑.๓ พันล้านดอลลาร์ กับไม่ยอมปริปากถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน จับกุมคุมขังสื่อกับนักศึกษา ล่าสังหารพวกบราเธอร์ฮู้ด และจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

รัฐบาลทหารของนายพลเอล-ซิซี จึงน่าจะเป็นที่พิสมัย เอาเยี่ยงอย่างโดยคณะยึดอำนาจไทยได้อย่างดี

แต่การมิได้เป็นเช่นเดียวกัน กลับมีการส่งนายแดเนียล รัสเซิล เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายกิจการเอเซียตะวันออกในกระทรวงต่างประเทศไปเยือนกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งให้คณะรัฐประหารทราบว่า สหรัฐยึดมั่นในหลักสิทธิส่วนบุคคล ประชาชนเลือกรัฐบาลของตน และแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี ตามครรลองประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนกฏอัยการศึก ไม่เห็นด้วยกับการใช้ศาลยุติธรรมเป็นเครื่องมือทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ซ้ำร้ายคณะทหารไทยดันเล่นไพ่ผิดประเภท แทนที่จะเล่นโป๊กเกอร์กลับไปเล่นไพ่เก๋า เมื่อพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รมว. ต่างประเทศให้สัมภาษณ์ว่าถ้าไทยบาดหมางกับสหรัฐ ก็เชื่อว่าจะได้เกาหลีเหนือกับจีนมาหนุนหลัง หนักไปกว่านั้นพวกเบี้ยพลอยพยักในสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีหนังสือเรียกตัวอุปทูตอเมริกัน แพ้ทริก เมอร์ฟี่ ไปให้การตอบข้อซักถาม เลยถูกศอกกลับมาว่า ไม่มีระเบียบปฏิบัติที่ไหนให้ทำอย่างนั้น

อาการผิดผีผิดไข้ต่างๆ ที่คณะยึดอำนาจพลาดท่าเดินไม่ตรงโร้ดแม็พทั้งแบบอียิปต์และแนวสหรัฐ ซึ่งก็คงได้รับคำตอบจากผู้ช่วยโฆษกรัฐบาลคณะทหารแบบองุ่นเปรี้ยวได้ว่า เป็นแผนภาพเส้นทางที่ไม่อยู่ในสายตาของ คสช. เลยแม้แต่น้อย เพราะคณะยึดอำนาจมีโร้ดแม็พของตัวเองอยู่แล้ว

หากแต่โร้ดแม็พของ คสช. เองยังมองไม่เห็นช่องบรรลุได้โดยผ่องใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเป็นอยู่ ปากท้องประชาชน ที่กำลังเป็นดั่งน้ำเต้าน้อยถอยลงเวลานี้

หวังว่าเจ้าตัวหัวหน้าใหญ่จะสามารถไปชี้แจงให้แจ่มแจ้งในที่ประชุมนานาชาติ สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในนครนิวยอร์ค ตอนเดือนกันยายนนี้ได้อย่างดี โดยไม่มีตาอยู่ หรือหัวหมู่ไหนใจร้อนมาตัดหน้าเอาไปทำเองเสียก่อนก็แล้วกัน